ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (คนที่ 7 จากขวา) ถ่ายรูปร่วมกับคณะวิทยากร
ที่ร่วมงานสัมมนาเรื่อง "สัญญาณเตือน เมกะโปรเจคไทยและอุตสาหกรรมก่อสร้าง"
ตามที่รัฐบาลชุดปัจจุบันมีแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่หรือเมกะโปรเจค ไม่ว่าจะเป็นรถไฟความเร็วสูงไทยจีน ท่าเรือน้ำลึก สนามบิน มอเตอร์เวย์ รวมถึงโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC นับเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนให้การสนับสนุน แต่ปัญหาและอุปสรรคที่จะส่งผลลูกโซ่ถึงเมกะโปรเจคไทยคือการที่ผู้รับเหมาก่อสร้างไม่สามารถหาวัสดุประเภทหิน ดิน ทราย อันเนื่องมาจากอุปสรรคในการทำเหมืองแร่ นับตั้งแต่รอการกำหนดเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง ในวันนี้ 29 มีนาคม 2561 จึงจัดให้มีการสัมมนาเรื่อง "สัญญาณเตือน เมกะโปรเจคไทยและอุตสาหกรรมก่อสร้าง" ที่ห้องบอลรูม 2 โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ รัชดา กรุงเทพฯ เพื่อหาทางออกร่วมกันก่อนเจอวิกฤติในอนาคต
ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
การสัมมนานี้ได้รับเกียรติจาก ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "แผนการลงทุนเมกะโปรเจคของรัฐกับโอกาสการพัฒนาเมือง" ว่า ทางกระทรวงฯ เน้นด้านการเชื่อมโยงทุกประเภทแบบไร้รอยต่อไม่ว่าจะเป็นทางบก ทากน้ำ ทางอากาศ ในการดำเนินการมียุทธศาสตร์หลายด้านที่เป็นแผนระยะยาว ด้วยงบประมาณในการพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐานของปี 2017 อยู่ที่ 4 แสนล้านบาท และงบปีหน้าเตรียมงบไว้ 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 1,750,000 ล้านบาท) โดยเน้นเรื่องระบบรางอันได้แก่ 1.ระบบรถไฟพื้นฐาน (รถไฟรางคู่) บนเส้นทางสายหลักได้เซ็นต์สัญญาก่อสร้างไว้ 11 โครงการ ในระยะทาง 3,600 กิโลเมตรจะมีรั้วรอบขอบชิดเพื่อความปลอดภัยอันเป็นมาตรฐานทั้งหมด 2.รถไฟความเร็วสูง มีแนวเส้นทางรวม 4,000 กิโลเมตร ช่วงภาคเหนือสามารถเชื่อมโยงไปประเทศจีนได้ เป็นโครงการที่รัฐบาลไทยลงทุนเองโดยใช้วัสดุในไทย 100% นอกจากนี้รถไฟความเร็วสูงยังเชื่อมต่อกับการขนส่งทางอากาศไปยังสนามบินต่างๆ ได้อีกด้วย และ 3.ระบบรถไฟในเมืองและชานเมือง 10 เส้นทาง ได้มีการอนุมัติโครงการและดำเนินการเพื่อสนองการใช้งานของคนรุ่นใหม่แล้ว
ด้านการขนส่งทางน้ำ มีการจำกัดอัตราการขนส่งมากขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตของ EEC มีการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังให้รองรับเพิ่มเป็น 15 ล้านตู้คอนเทนเนอร์ และมีการเพิ่มการขนส่งจากรถไฟให้ขนส่งขึ้นเรือได้โดยง่ายโดยจะใช้ระบบอัตโนมัติทั้งหมด ทั้งนี้ก่อนสิ้นปีนี้คาดว่าจะได้บริษัทเอกชนมาลงทุนในโครงการ
ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพียงจังหวัดระยองจังหวัดเดียวมี GDP โตถึง 7% ดังนั้นทางกระทรวงฯ จึงต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเติบโตของ EEC และเมืองรองอย่าง ฉะเชิงเทรา ระยอง ชลบุรี จึงถูกเป็นจังหวัดให้รองรับการขยายตัวของเมืองหลวงกรุงเทพฯ และรองรับด้านการท่องเที่ยว เศรษฐกิจและทุกๆ ด้าน อีกทั้งยังพัฒนาทางพิเศษบูรพาวิถีเพื่อให้เชื่อมไปยังท่าเรือกรุงเทพฯ ทำให้การคมนาคมสะดวกสบายขึ้น
นางพจณี อรรถโรจน์ภิญโญ รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC
นางพจณี อรรถโรจน์ภิญโญ รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC กล่าวบรรยายในหัวข้อ "โครงการ EEC กับผลบวกต่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง" ว่า งบลงทุนใน 5 ปีข้างหน้าอยู่ที่ 1.7 ล้านล้านบาท โดยลงทุนเรื่องท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุด สนามบินอู่ตะเภา และในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเติบโตของ EEC จะใช้วิธีการร่วมทุนคาดว่าในปี 2566 จะมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน คือสุวรรณภูมิ ดอนเมือง อู่ตะเภา และในปลายเดือนกันยายนนี้จะได้บริษัทเอกชนมาบริหารจัดการโครงการ ซึ่งเรื่องนี้จะสอดคล้องกับข้อมูลที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมได้กล่าวไว้
การเสวนาเรื่อง "เมกะโปรเจคไทย ปัญหาและทางออกด้านวัสดุก่อสร้าง"
ในภาคบ่ายมีการเสวนาเพื่อร่วมกำหนดทิศทางและหาทางออกเรื่อง "เมกะโปรเจคไทย ปัญหาและทางออกด้านวัสดุก่อสร้าง" โดยผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ในวงการอุตสาหกรรมเหมืองแร่ต่างๆ ร่วมแสดงความคิดเห็น โดยมีประชาชนสนใจร่วมฟังการบรรยายตลอดทั้งงานกว่า 300 คน
--------------------------------------------------
ยุพินวดี คุ้มกลัด รายงาน
ณจักร วงษ์ยิ้ม ถ่ายภาพ