ตั้งแต่ต้นปี 2017 เป็นต้นมา มีอย่างน้อย 20 เมืองทั่วประเทศของจีน ทยอยกันประกาศนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสำมะโนครัวรูปแบบใหม่ อำนวยความสะดวกในการซื้อบ้าน และส่งเสริมการประกอบธุรกิจ เพื่อดึงดูดนักศึกษาให้ไปตั้งรกราก ยกตัวอย่างเมืองซีอาน มณฑลส่านซี ในวันแรกที่เทศบาลเมืองซีอานประกาศว่ายินดีต้อนรับนักศึกษา ที่ใกล้สำเร็จการศึกษาจากทั่วประเทศมาอยู่ที่เมืองซีอาน ก็มีนักศึกษากว่า 8,000 คน มาทำเรื่องกลายเป็นคนซีอาน
ขณะที่เมืองอู่อั่น เมืองเอกของมณฑลหูเป่ย ก็ออกนโยบายดึงดูดบุคลากร โดยพยายามจูงใจนักศึกษาที่มาเรียนในมหาวิทยาลัยจำนวนกว่า 1,000,000 คน ให้หางานทำในอู่ฮั่น ดูเหมือนในเวลาเพียงค่ำคืนเดียว เมืองขนาดใหญ่และขนาดกลางของจีน เริ่มเห็นความสำคัญของคนรุ่นใหม่ ทั้งนักศึกษาปริญญาตรี และผ่อนปรนเงื่อนไขในการอยู่อาศัย ในขณะที่เมื่อก่อนพุ่งเป้าไปยังบุคลากรในระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอกเท่านั้น ปัจจุบัน สังคมจีนกำลังเกิดกระแสการแข่งขันชิงบุคลากร โดยเฉพาะนักศึกษาปริญญาตรีระหว่างเมืองขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ
จำนวนนักศึกษาจีนที่จะสำเร็จการศึกษาในปี 2018 จะมากถึง 8,200,000 คน สร้างสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่สิ่งที่แตกต่างจากทุกปีที่ผ่านมาคือ จากเดิมที่มีแต่บริษัทหรือหน่วยงานแข่งขันกันรับสมัครผู้สำเร็จการศึกษา แต่ตอนนี้รัฐบาลท้องถิ่นของจีนก็ต้องมาแย่งชิงบรรดานักศึกษาจบใหม่เหล่านี้ด้วย ทำให้มีคำถามว่าวิกฤตประชากรของจีนมาถึงจริงๆ แล้วหรือ? ทำไมรัฐบาลท้องถิ่นยอมลงทุนเพื่อให้บรรดานักศึกษาจบใหม่มาใช้ชีวิตในเมืองต่าง ๆ
เงื่อนไขขอทำสำมะโนครัวในเมืองเอกในมณฑลต่างๆ ของจีนง่ายอย่างไม่เคยมีมาก่อน
ช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2018 ที่ผ่านมา "นโยบายขอทำสำมะโนครัวที่ทำได้ง่ายที่สุด" ประกาศโดยเทศบาลเมืองซีอาน โดยระบุว่า นักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศจีน ใช้เพียงแค่บัตรประจำตัวนักศึกษาและบัตรประชาชน ก็สามารถยื่นเรื่องขอทำสำมะโนครัวผ่านเว็บไซต์ทางการเมืองซีอาน ในขณะที่พนักงานต่างถิ่นที่ทำงานกับวิสาหกิจในซีอาน ถ้ามีอายุต่ำกว่า 35 ปี ก็จะได้บัตรประชาชนชาวเมืองซีอาน จากนโยบายนี้ในช่วง 3 เดือน มีผู้สมัครกว่า 300,000 คนมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองซีอาน
ระบบสำมะโนครัวในจีน เป็นเงื่อนไขบังคับของแรงงานเพื่อได้รับการรักษาพยาบาล การศึกษา และสวัสดิการสังคมในเมืองที่ดำรงชีวิตอยู่ เมื่อก่อนนักศึกษาต่างถิ่น ถ้าทำงานเป็นข้าราชการท้องถิ่น จึงจะได้รับสำมะโนครัวในเมืองนี้ ด้วยเหตุนี้ กลุ่มคนที่ทำงานที่เมืองเมืองหนึ่ง แต่ไม่มีสำมะโนครัวในเมืองนั้น ได้รับฉายาเป็น "กลุ่มคนลอยตัว"
กรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ เมืองกว่างโจวซึ่งเป็นเมืองที่เจริญมาก และเมืองเอกมณฑลหรือเขตปกครองตนเองที่เศรษฐกิจค่อนข้างพัฒนา ต่างมีกลุ่มคนลอยตัวที่ทำงานให้เมืองนี้เป็นเวลานาน แต่ไม่มีสำมะโนครัวที่จะอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิต จริงๆ แล้วคนกลุ่มนี้อยากได้สำมะโนครัว แต่เป็นเรื่องยาก เนื่องจากรัฐบาลไม่มีนโยบายสนับสนุน อาจจะเป็นเพราะว่า สวัสดิการทั้งการรักษาพยาบาลและการได้รับการศึกษาของแรงงานต่างถิ่น เป็นภาระที่หนักหน่วง
เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเมืองเอกหลายมณฑลต่างพากันแถลงนโยบายส่งเสริมบุคคลที่มีความสามารถ เปิดกว้างให้บัณฑิตปริญญาตรีได้รับสำมะโนครัว จนถึงปี 2018 หลายเมืองประกาศนโยบายและมาตรการที่ดึงดูดใจบุคลากร โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เช่น การอนุญาตให้ซื้อบ้าน ให้เงินอุดหนุน ยกระดับมาตรฐานรายได้ขั้นต่ำซึ่งถือเป็นนโยบายที่เทศบาลเมืองเหล่านี้ใช้และได้ผลดี
พิจารณาจากนโยบายของเมืองเหอเฝย เมืองเอกมณฑลอันฮุย สำหรับบัณฑิตที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป รวมถึงผู้สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ ที่สมัครใจไปทำงานที่เมืองนี้ ก็จะได้รับสำมะโนครัว ถ้าคนกลุ่มนี้ได้งานแล้วแต่ยังไม่มีศักยภาพซื้อบ้าน เมืองเหอเฝยก็จะแจกเงินอุดหนุนให้ซื้อบ้านของตนเอง สำหรับนักศึกษาที่มาถึงเหอเฝยเพื่อฝึกงาน ก็จะได้รับเงินอุดหนุนขั้นพื้นฐานเป็นเวลา 3 – 12 เดือน พยายามให้ใช้ชีวิตอยู่นานพอสมควร เพื่อดึงดูดให้ตั้งหลักแหล่งในเมืองนี้
เมืองหนานจิง ซึ่งเป็นตัวแทนเมืองเศรษฐกิจที่เจริญในภาคตะวันออกของจีน ก็ลงเล่นในสนามนี้ด้วย โดยประกาศอนุมัติให้บัณฑิตปริญญาตรีที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ทำสำมะโนครัวโดยตรง ส่วนบัณฑิตปริญญาโทและเอกไม่มีข้อจำกัดอายุในการทำสำมะโนครัว สำหรับนักศึกษาที่ไปหางานทำในเมืองนี้ ก็จะได้รับเงินอุดหนุนการเข้าสัมภาษณ์ในหน่วยงานคนละ 1,000 หยวน
นอกจากนี้ยังมีเมืองต่างๆ ที่มีนโยบายในรูปแบบเดียวกัน เช่นเมืองอู่ฮั่น เฉิงตู เสิ่นหยาง ฉางชุน จูไห่ ไหโข่ว เป็นต้น เมื่อเร็วๆ นี้ เทศบาลเมืองเซินหยาง เมืองเอกมณฑลเหลียวหนิงแถลงข่าวว่า จะสร้าง "บ้านพักบุคลากร" ให้นักศึกษาที่เดินทางมาหางานทำในเมืองนี้พักฟรี 10 วัน ขณะที่เมืองฉางชุน เมืองเอกมณฑลจี๋หลินกล้าลงทุนมากกว่า โดยบอกว่าถ้านักศึกษาปริญญาตรีจากสถาบันอุดมศึกษา ที่อยู่ในรายชื่อสถาบันอุดมศึกษากลุ่ม 211 ของกระทรวงศึกษาธิการจีน ยอมเซ็นสัญญาการทำงานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปกับหน่วยงานหรือบริษัทที่เมืองฉางฉุน กรมการคลังเมืองนี้ก็จะให้เงินอุดหนุนการตั้งถิ่นฐานคนละ 30,000 หยวน หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 150,000 บาท
และยังมีเรื่องที่น่าสนใจกว่านั้น คือนครเทียนจิน 1 ใน 4 เมืองที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลางของจีน ยอมลดเงื่อนไขให้ได้สำมะโนครัวกับนักเรียนที่จบจากโรงเรียนอาชีวศึกษาและมีอายุไม่เกิน 35 ปี ขณะที่เมืองอู่ฮั่นกระตุ้นให้นักศึกษาที่จะหางานทำหรือประกอบธุรกิจในอู่ฮั่น มีสิทธิในการซื้อหรือเช่าบ้านอยู่ในราคา 80% ของราคาในตลาด ส่วนเมืองจูไห่ตัดสินใจให้เงินอุดหนุนการตั้งถิ่นฐานกับนักศึกษาต่างถิ่น เมื่อได้งานแล้วยังยอมให้กรรมสิทธิ์บ้าน 50% แก่พลเมืองใหม่ด้วย
นโยบาย "แย่งชิงบุคลากร" เป็นประโยชน์มากโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักศึกษาจบใหม่ ในการวางแผนการทำงาน และใช้ชีวิตในเมืองที่เจริญ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเมืองเอกของมณฑล ไม่จำเป็นต้องเผชิญกับแรงกดดันและต้นทุนชีวิตสูงพิเศษในเมืองใหญ่เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว และเซินเจิ้น ซึ่งผลที่ได้รับก็คือจำนวนนักศึกษาต่างถิ่นได้รับสำมะโนครัวใหม่ จากเมืองต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ในปี 2017 ที่ผ่านมา จำนวนนักศึกษาจบใหม่ที่ได้เป็นพลเมืองอู่ฮั่นมากถึง 142,000 คน มากเป็น 6 เท่าของปี 2016 เฉพาะไตรมาสแรกปี 2018 จำนวนนักศึกษาจบใหม่ที่ได้รับสำมะโนครัวเมืองซีอานมี 244,900 คน เป็น 1.2 เท่าของตัวเลขพลเมืองใหม่ที่ย้ายสำมะโนครัวจากต่างถิ่นเข้ามาที่ชเมืองนี้ตลอดทั้งปี 2017
ตามสถิติอย่างไม่เป็นทางการ ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เมืองที่เจริญในระดับรอง ๆ ของจีน 32 เมืองทั่วประเทศ เช่น ฉงชิ่ง เฉิงตู หางโจว หนานจิง ฝูโจว ฯลฯ ที่ประกาศต้อนรับนักศึกษาใหม่ที่สำเร็จการศึกษาจากทั่วประเทศ ต่างมีประชากรเพิ่มมากขึ้นเป็นจำนวนหลายหมื่นถึงหลายแสนคน
เมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต ที่แต่ละที่สนใจแต่จะชวนให้บุคลากรคุณภาพสูงเข้ามาตั้งรกรากเช่น นักวิยาศาสตร์ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อสมาชิกสภาวิทยาศาสตร์ และสมาชิกสภาวิศวกรรมศาสตร์แห่งชาติ นักวิชาการที่รับทุนการศึกษาวิจัยระดับชาติ หรือมีผลงานวิชาการระดับประเทศ นักวิทยาศาสตร์ที่สร้างผลงานโดดเด่นในต่างแดน หรือมีชื่อเสียงระดับโลก กระแสเหล่านั้นก็ถูกเปลี่ยนไป โดยในปัจจุบันเป้าหมายไปอยู่ที่บุคลากรในวัยหนุ่มสาว ให้น้ำหนักอายุและคุณภาพการศึกษามากกว่าผลสำเร็จด้านอาชีพการงานที่ต้องใช้เวลาบ่มเพาะประสบการณ์ ภายในชั่วข้ามคืน นักศึกษาจบใหม่ จากเดิมที่ต้องเผชิญกับปัญหาการหางานทำ กลายเป็นบุคลากรที่เป็นความต้องการของเมืองต่าง ๆ ในจีน
ศาสตรจารย์หยาง ลี่หัวจากสถาบันบริหารรัฐบาล มหาวิทยาลัยปักกิ่งวิเคราะห์ว่า "อันที่จริง "การแย่งชิงบุคลากร" นั้น คือความพยายามในการแย่งชิงประชากร เพราะตอนนี้อัตราการเกิดของจีนอยู่ในระดับต่ำมาหลายปี และจีนเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัยอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้จำนวนประชากรจีนเติบโตช้า เมื่อจำนวนคนเกิดลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันเมืองที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็วล้วนมีความต้องการแรงงานที่มากขึ้น ทำให้เกิดช่องว่างของประชากรโดยตรง"
ขณะนี้ อัตราการเกิดประเทศจีน มีตัวเลขเพียง 1.4% เท่านั้น และในช่วง 20 ปีข้างหน้า สังคมจีนจะเกิดปัญหาขาดแคลนประชากรในวัยหนุ่มสาว เข้าสู่สังคมผู้สูงวัย เพราะฉะนั้นหลายเมืองเมื่อมองเห็นปัญหาตรงนี้ก็พยายามดึงดูดบุคลากรวัยหนุ่มสาวมาเป็นฐานแรงงาน เพื่อให้เศรษฐกิจที่กำลังดำเนินต่อไปไม่หยุดชะงัก