เหลย เฟิง (1)
  2018-08-22 10:28:17  cri

ทุกวันนี้ ไม่เพียงแต่เฉพาะจีนประเทศเดียวเอาอย่างเหลย เฟิง ประเทศอื่น ๆ ก็มีการเอาอย่างเหลย เฟิง อีกด้วย ที่ประเทศสวีเดน มีชาวสวีเดนสวมใส่เสื้อทีเชิร์ตที่มีการพิมพ์ภาพของเหลย เฟิง ไปทำความดี และช่วยเหลือผู้อื่น ที่โรงเรียนเตรียมทหาร West Point ของสหรัฐอเมริกาก็ได้เคยแขวนภาพของเหลย เฟิง เพื่อให้บรรดานักศึกษาเอาอย่างเหลย เฟิง ด้วย

เหลย เฟิง ชื่อเดิม ชื่อเหลย เจิ้งซิง เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1940 ในครอบครัวชาวนาฐานะยากจนในมณฑลหูหนาน ช่วงสงครามต่อต้านการรุกรานของทหารญี่ปุ่น ชีวิตครอบครัวจึงมีความยากลำบาก ทำให้ปู่ พ่อแม่ พี่ชาย และน้องชายของเขาทยอยเสียชีวิตไป เหลย เฟิง จึงกลายเป็นเด็กกำพร้าตั้งแต่อายุเพียง 7 ขวบ หลังสาธารณรัฐประชาชนจีนสถาปนาขึ้นในปี 1949 เหลย เฟิง ได้มีโอกาสเข้าโรงเรียน

ต่อมาปี 1960 เหลย เฟิง ได้สมัครเข้าเป็นทหารประจำการ และได้รับการเลื่อนขั้นเป็นหัวหน้าหมู่ในปีถัดมา ปี 1962 เหลย เฟิง ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตลงด้วยวัยเพียง 22 ปี

วันที่ 5 มีนาคมของทุกปีเป็นวันระลึกเหลย เฟิง เมื่อถึงวันนั้น ชาวจีนพากันจัดกิจกรรมเอาอย่างเหลย เฟิง มีการเล่านิทานเกี่ยวกับเหลย เฟิง อ่านบันทึกประจำวันของเหลย เฟิง ร้องเพลงรำลึกเหลย เฟิง นักเรียนนักศึกษา นายทหารและพลหทารจะพากันไปช่วยทำความสะอาดตามชุมชน และสถานที่สาธารณะต่าง ๆ อีกทั้งมีการไปเยี่ยมผู้สูงอายุตามสถาบันสงเคราะห์อีกด้วย

หลังจากเหลย เฟิง เสียชีวิตไปไม่นาน ประธานเหมา เจ๋อตง และผู้นำคนอื่น ๆ ในขณะนั้นได้รับรายงานเกี่ยวกับเรื่องราวการทำความดีของเหลย เฟิง แล้วต่างรู้สึกประทับใจ โดยเห็นว่าควรเผยแพร่เรื่องราวของเหลย เฟิง ให้เยาวชนและประชาชนทั่วประเทศได้ศึกษาและถือเป็นแบบอย่าง

วันที่ 5 มีนาคม ค.ศ. 1963 ประธานเหมา เจ๋อตง ได้เขียนคำขวัญ "เซี่ยง เหลย เฟิง ถง จื้อ เสวีย สี" หรือ "เอาอย่างสหายเหลยเฟิง" ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สำคัญ ๆ ของจีน ซึ่งรวมถึงหนังสือพิมพ์เหรินหมินรึเป้า หรือหนังสือพิมพ์ประชาชน หนังสือพิมพ์เจี่ยฟ่างจุนหรือหนังสือพิมพ์กองทหาร และหนังสือพิมพ์ชิงเหนียนหรือหนังสือพิมพ์หนุ่มสาวจีน พร้อมกับบทนำเกี่ยวกับเรื่องราวของเหลย เฟิง ผู้นำท่านอื่น ๆ ก็ต่างพากันเขียนคำขวัญสดุดีคุณงามความดีของเหลย เฟิงด้วย

กิจกรรมเอาอย่างเหลย เฟิง ที่มีขึ้นทุกปีช่วยสร้างจิตสำนึกและให้กำลังใจผู้ที่ทำดี เชิดชูจิตใจอันเสียสละทำงานอย่างจริงจัง นอกจากนี้ยังยินดียื่นมือช่วยเหลือผู้อื่นเสมอ รวมถึงช่วยส่งเสริมเยาวชนและประชาชนให้รักชาติ รักพี่น้องเพื่อนพ้อง และมีนิสัยโอบอ้อมอารีช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

จิตใจของเหลย เฟิง สอดคล้องกับศีลธรรมดั้งเดิมของจีน สรุปแล้วก็คือ การอุทิศให้กับความรัก หากกล่าวอย่างละเอียด อันดับแรก คือ ทำงานอย่างจริงจัง ทุ่มเทและมุ่งมั่นในการทำงานทุกตำแหน่ง เหลย เฟิง ไม่เลือกอาชีพ ไม่เลือกตำแหน่งงาน ไม่เกี่ยงงานหนักงานเบา เขารักงานที่ทำทุกอย่าง และทุ่มเทอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย อย่างสุดความสามารถ อดทนขยันขันแข็ง และพยายามทำงานให้ดีที่สุด 

เหลย เฟิง เริ่มทำงานตั้งแต่อายุเพียง 16 ปี เคยเปลี่ยนงานมา 4 ครั้ง เขาเคยรับราชการในอำเภอเมือง เคยทำงานในฟาร์มเกษตร เคยเป็นกรรมกรในโรงงานถลุงโลหะ ต่อมาได้เป็นทหารประจำการ อีกทั้งยังเคยได้รับเลือกเป็นผู้แทนประชาชนของสภาผู้แทนประชาชนส่วนถ้องถิ่น แต่ไม่ว่าทำงานอะไร เหลย เฟิงได้รับการคัดเลือกเป็นบุคคลดีเด่นทุกปี

เหลย เฟิง เคยเขียนในบันทึกประจำวันของเขาเองว่า จะพยายามใช้ชีวิตที่มีจำกัดนี้เพื่อรับใช้มวลชน ถือเป็นภาระหน้าที่ที่ไม่มีวันจบสิ้น เหลย เฟิง มักจะใช้เวลาในช่วงวันหยุดหรือเวลาพักผ่อนจากการทำงานไปช่วยเหลือผู้อื่น เมื่อพบเห็นใครที่ตกทุกข์ได้ยากหรือต้องการความช่วยเหลือ เขาก็ไม่ลังเลที่จะเข้าไปช่วยทันที

เรื่องเหลย เฟิง ช่วยเหลือคนอื่นมีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมายนับไม่ถ้วน ตัวอย่างเช่น เมื่อเหลย เฟิง นั่งรถไฟไปต่างถิ่น จะช่วยเหลือคนอื่นตลอดทาง ช่วยส่งน้ำดื่มให้ผู้โดยสาร ช่วยทำความสะอาดบนรถไฟ มีอยู่ครั้งหนึ่ง เขาเห็นผู้หญิงคนหนึ่งอุ้มเด็กนั่งเสียใจอยู่ที่สถานีรถไฟ เพราะทำตั๋วรถไฟและกระเป๋าเงินหาย เขาก็ซื้อตั๋วรถไฟใบหนึ่งให้แก่ผู้หญิงคนนั้นทันทีโดยไม่ลังเลและไม่สงสัยอะไรเลย

เหลย เฟิง ได้เคยเขียนในบันทึกประจำวันว่า การมีชีวิตอยู่ของเรา ก็เพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้อื่นดีงามยิ่งขึ้น การช่วยเหลือผู้อื่น เป็นความสุขที่ใหญ่ที่สุดของผม

เหลย เฟิง ยังเป็นคนประหยัดมัธยัสถ์ เหลย เฟิง มาจากครอบครัวยากจน จึงรู้จักประหยัดมาตั้งแต่เด็ก ตอนที่สาธารณรัฐประชาชนจีนสถาปนาขึ้นใหม่ ๆ ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนยังยากจนอยู่ รัฐบาลรณรงค์เรื่องการประหยัด คือ ไม่สิ้นเปลืองอาหาร ประหยัดการใช้น้ำและไฟฟ้า ด้วยเหตุนี้ เหลย เฟิง จึงเข้มงวดกับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของเขาเอง

ก่อนเข้าเป็นทหารประจำการ เหลย เฟิง เคยทำงานเป็นเวลากว่า 3 ปี เก็บสะสมเงินได้ 200 หยวน พอได้ข่าวว่า พื้นที่แห่งหนึ่งประสบภัยน้ำท่วม เขารีบนำเงิน 100 หยวนไปบริจาคให้ทันที ที่เหลืออีก 100 หยวน นำไปบริจาคให้กับกลุ่มเยาวชน

หลังจากเข้าเป็นทหารประจำการ แต่ละเดือนเหลย เฟิง ได้รับเบี้ยเลี้ยงเพียง 6 หยวนเท่านั้น นอกจากนำไปซื้อยาสีฟันและสบู่ซักผ้าแล้ว เขาไม่เคยใช้จ่ายซื้ออะไรอีกเลย แม้ว่าน้ำดื่มก็ไม่เคยซื้อสักขวด และถุงเท้าของเขาก็ใส่จนนิ้วเท้าโผล่ออกมา ก็ต้องปะแล้วปะอีก ก็ยังไม่ยอมทิ้ง แต่ถ้าเป็นเรื่องช่วยเหลือคนอื่น ต่อให้บริจาคจนหมดตัว เหลย เฟิง ก็ไม่เคยนึกเสียดายเลย

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040