ภายใต้โครงการแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างสถานีวิทยุซีอาร์ไอ และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ผู้สื่อข่าวซีอาร์ไอได้มีเดินทางไปยังท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี เพื่อเยี่ยมชมความคืบหน้าโครงการท่าเรือในเฟสที่ 3 ของท่าเรือแห่งนี้ ซึ่งถือเป็นท่าเรือสำคัญในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ของไทย และโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน
เรือโท ยุทธนา โมกขาว รองผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง ให้สัมภาษณ์กับซีอาร์ไอ ภาคภาษาไทย โดยระบุว่า
"ปริมาณตู้สินค้าที่ผ่านท่าเรือแหลมฉบังในปีที่ผ่านมา หรือปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 7.3 ล้านตู้ แต่คาดว่าในปี 2561 ตู้ที่ผ่านท่าเรือแหลมฉบังน่าจะอยู่ที่ประมาณ 8 ล้านตู้ แต่ท่าเรือแหลมฉบังยังมีอีกส่วนหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ คือ เราสามารถที่จะนำเข้าส่งออกรถยนต์ด้วย ในแต่ละปี เรามีรถยนต์ส่งออกต่างประเทศเกินกว่า 1 ล้านคันไปแล้ว ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศในอดีตมีการพัฒนาเป็นอย่างมากทีเดียว เพราะมีบริษัทยักษ์ใหญ่ในโลกจากหลาย ๆ ประเทศเข้ามาตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทย ดังนั้น ประเทศไทยมีการส่งออกรถยนต์เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ดังนั้น ถ้าเทียบปริมาณของตู้สินค้าที่นำเข้าส่งออก วันนี้ อันดับของท่าเรือ เราอยู่อันดับ 20 ของโลก ใน 10 อันดับแรก เป็นจีนสักประมาณ 7 อันดับ ที่เหลือจะเป็นสิงคโปร์ เกาหลี
"จริง ๆ มีโครงการอีกสัก 2 - 3 โครงการที่เป็นโครงการที่ท่าเรือแหลมฉบังดำเนินการอยู่ เราจะพบว่า ท่าเรือใหญ่ ๆ ทั่วโลกก็จะมีปัญหากับชุมชนทุกท่าเรือ เนื่องจากเวลามีการสร้างท่าเรือ ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็แล้วแต่ ท่าเรือจะไปดึงในเรื่องของอุตสาหกรรมต่าง ๆ เข้ามาอยู่รอบบริเวณท่าเรือ การดึงอุตสาหกรรมต่าง ๆ เข้าไปอยู่ท่าเรือนี่ ก็จะดึงเอาแรงงานเข้ามาด้วย อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องปกติที่ท่าเรือทั่วโลกเหมือนกันหมด ดังนั้นโครงการสำคัญ ๆ ที่เกิดขึ้นกับท่าเรือในวันนี้ เราต้องพยายามดูแลในเรื่องของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องภายในชุมชน ภายในอานาบริเวณโดยรอบ เราก็มีโครงการ CSR (Corporate Social Responsibility) ในการที่จะพัฒนาชุมชน ควบคู่ไปกับการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังไปด้วย เรามีโครงการที่มอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนในท้องที่ภายในบริเวณของท่าเรือ มีการดูแลเรื่องของป่าโกงกางที่อยู่ในอานาบริเวณของเท่าเรือ เรามีป่าโกงกางในพื้นที่ประมาณ 25 ไร่ ในจังหวัดชลบุรี อำเภอศรีราชา พื้นที่ป่าโกงกางของท่าเรือแหลมฉบังถือว่าเป็นพื้นที่ใหญ่ทีเดียว เราดูแลร่วมกับทางชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ เราดูแลร่วมกันทางเทศบาล และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ในการอนุรักษ์ป่าโกงกางตัวนี้ไว้ รวมถึง เราพยายามที่ใช้พลังงานสะอาด ก็จะมีโครงการที่จะใช้กังหันลมในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งมีกังหันอยู่ 83 ต้นด้วยกัน สามารถผลิตไฟฟ้าได้ต้นหนึ่งประมาณ 1 กิโลวัตต์ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการที่เรานำพลังงานลมมาใช้เพื่อให้เป็นพลังงานสะอาดต่อไปในอนาคต
"เรายังมีโครงการเล็ก ๆ อีกสองสามโครงการที่สำคัญ โครงการแรกก็คือโครงการ SRTO (Single Rail Transfer Operator / โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ) เป็นโครงการที่จะให้มีการขน ส่งตู้สินค้าทางรถไฟให้เพิ่มขึ้น ให้สอดคล้องกับแนวคิดของอีอีซี อีอีซีต้องการให้ท่าเรือแหลมฉบังสามารถที่จะส่งออกตู้สินค้าทางรถไฟให้ได้ประมาณ 30% ของตู้สินค้าที่นำเข้าส่งออกที่ท่าเรือแหลมฉบัง ดังนั้น โครงการนี้ก็อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ใกล้ที่จะแล้วเสร็จ ถ้าสามารถนำเข้าส่งออกทางรถไฟได้ ก็จะลดปริมาณตู้สินทางที่ขนส่งบนถนน ก็จะทำให้ปริมาณการจราจรทางถนนลดลงไป วันนี้ ปริมาณการขนส่งตู้สินค้าที่มาที่ท่าเรือแหลมฉบังทั้งหมดกว่า 80% ของประเทศที่มาท่าเรือแหลมฉบังทั้งหมดนั้น 90% มาทางถนน มาทางรถไฟประมาณ 6% มาทางน้ำ 4% ซึ่งน้อยมาก
"โครงการก่อสร้างย่านขนส่งสินค้าทางรถไฟ ก็จะทำให้ปริมาณตู้สินค้ามาทางรถไฟเพิ่มขึ้นจากอดีตประมาณ 600,000 ตู้ เป็น 2 ล้านตู้ ก็จะทำให้ปริมาณการขนส่งทางถนนลดลง เป้าที่เราตั้งไว้ คือ ประมาณ 30% ของปริมาณการขนส่งตู้สินค้าทั้งหมดของท่าเรือแหลมฉบัง
อีกโครงการหนึ่งที่เราได้ดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว คือโครงการก่อสร้างท่าเรือชายฝั่ง การขนส่งทางน้ำเป็นการขนส่งที่ถูกที่สุด เพราะมีการรวบรวมตู้มาในเรือลำเดียว ก็จะทำให้ค่าใช้จ่ายถูกแชร์ไปในปริมาณตู้ แต่ประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับการขนส่งทางน้ำภายในประเทศไม่มาก อาจจะติดขาดในเรื่องหลาย ๆ อย่าง เนื่องจากว่า การขนส่งทางน้ำในประเทศไทยเรามีแม่น้ำสายหลักอยู่เพียงสายเดียว ก็คือ แม่น้ำเจ้าพระยา และเรือที่มีขนาดใหญ่ไม่สามารถเข้าแม่น้ำเจ้าพระยาได้ ดังนั้น มีวิธีการคือ ต้องมีการขนส่งตู้สินค้าทางท่าเรือชายฝั่ง เรือชายฝั่งเป็นเรือที่มีขนาดไม่เกิน 100 เมตร และสามารถใส่ตู้สินค้ารวมได้ประมาณ 80-120 ตู้ แต่มันทำให้การขนส่งทางถนนภายในประเทศลดลงไป ซึ่งท่าเรือใหญ่ ๆ ทั่วโลกมีปริมาณการขนส่งตู้สินค้าที่ทางน้ำกับทางรถไฟมาก แต่ประเทศไทยของเราใช้การขนส่งทางถนนเป็นหลัก แต่ว่า การขนส่งทางถนนมีข้อได้เปรียบ เนื่องจากสามารถขนส่งแบบ door to door คือ จากต้นทางไปสู่ปลายทางได้เลย ไม่เหมือนกับการขนส่งทางน้ำและรถไฟที่ต้องมีการรวมกัน ดังนั้น ภาครัฐพยายามที่จะทำให้การขนส่งทางน้ำกับทางรางสามารถไปแข่งขันกับทางถนนได้ ด้วยการที่เราใช้ค่าให้บริการ (ค่าภาระ) ก็จะใช้มาตรการของ pricing เป็นหลัก ก็คือลดราคาไม่ให้สูงเกินไป โดยท่าเรือเองจะเป็นผู้ประกอบการทั้ง 2 โครงการที่ได้กล่าวไป ก็จะทำให้ต้นทุนในการให้บริการลดลง ทำให้ผู้ที่ขนส่งทางรางและทางน้ำสามารถที่จะไปแข่งขันกับทางถนนได้ ซึ่งทั้ง 2 โครงการต่างใกล้จะเปิดดำเนินการแล้ว คาดว่าในปีนี้ก็จะเปิดดำเนินการได้แล้วเสร็จ
"ในส่วนโครงการท่าเรือแหลมฉบังในระยะที่ 3 เราก็จะทำให้ท่าเรือสองฝั่งเป็นท่าเรือที่ใช้ขนส่งตู้สินค้า โดยจะพยายามพัฒนาเพื่อให้ทั้งสองฝั่งใช้ระบบ automation ในการยกขนตู้สินค้า สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประเทศไทยเข้าสู่ยุคดิจิทัล 4.0 ซึ่งเป็นยุคที่เราจะนำเทคโนโลยีมาใช้เกือบจะเต็มที่ ซึ่งในวันนี้ ท่าเรือใหม่ ๆ ทั่วโลกที่กำลังจะเปิดให้ดำเนินการนั้นใช้ระบบ automation ในการให้บริการ ยกตัวอย่างเช่น ท่าเรือหนันซาของจีนเกือบจะเป็น fully automation ด้วยซ้ำ โดยแทบจะไม่มีคนเข้าไปทำงานในท่าเรือ ก็จะทำให้ท่าเรือได้ในเรื่องของประสิทธิภาพในการให้บริการ" (0911)
(รายการคราวหน้า เรือโท ยุทธนา โมกขาว จะแนะนำถึงความสำคัญของท่าเรือแหลมฉบังในการเชื่อมเศรษฐกิจไทยกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะกับทางภาคใต้ของจีน)