ระหว่างวันที่ 7-9 พฤศจิกายนนี้ การประชุมอินเตอร์เน็ตโลกครั้งที่ 5 จัดขึ้นที่อำเภออูเจิ้นด้วยความราบรื่น ระยะเวลา 3 วันของการจัดประชุมนี้ มีการจัดหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันว่า ทำอย่างไรจึงจะสามารถร่วมกัน "สร้างสรรค์โลกดิจิตอลที่เชื่อถือกัน ร่วมมือกันรังสรรค์ประชาคมที่มีอนาคตร่วมแห่งโลกอินเตอร์เน็ต"
จนถึงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อัตราความครอบคลุมของอินเตอร์เน็ตทั่วโลกสูงกว่า 55% มีประชาชนราว 4,200 ล้านคนได้รับข้อมูลต่างๆผ่านอินเตอร์เน็ต นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหนทางแสวงหาความรู้ วิถีชีวิต แนวความคิด และค่านิยมต่างๆ
ดังนั้น เนื้อหาที่เผยแพร่ผ่านอินเตอร์เน็ตนั้นจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง อินเตอร์เน็ตไม่ได้ห้ามการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารภัยพิบัติทางธรรมชาติ อุบัติเหตุหรือเรื่องอื้อฉาว และก็ไม่ได้ห้ามการเผยแพร่การเปิดเผยเบื้องลึกเบื้องหลังใดๆ ขอเพียงเนื้อหานั้นเป็นเรื่องจริง มีที่มาถูกต้องตามกฎหมาย และรายงานไปตามความเป็นจริงอย่างมีคุณธรรมจริยธรรม ไม่เปิดเผยความลับส่วนตัวของบุคคลเพื่อดึงดูดสายตาของผู้คน แต่ในความเป็นจริงแล้ว สภาพที่มนุษย์เรากำลังเผชิญหน้าและเป็นเนื้อหาของข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่ไปอย่างรวดเร็วที่สุดในโลกอินเตอร์เน็ต กลับเป็นข้อมูลเท็จที่มักจะก่อผลกระทบเชิงลบขึ้นเสมอ
เซอร์ ทิม เบอร์เนอร์ส-ลี (Sir Tim Berners-lee) ชาวอังกฤษผู้คิดค้นและประดิษฐ์อินเตอร์เน็ตภายใต้ชื่อ Mesh ขึ้นเมื่อค.ศ.1989 และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น เวิลด์ไวด์เว็บ(WWW) ในค.ศ.1990 นั้น เขาได้ตระหนักถึงเรื่องนี้ดี และเนื่องในโอกาสที่การถือกำเนิดขึ้นของอินเตอร์เน็ตจะครบรอบ 30 ปีในปี 2019 ที่ใกล้จะมาถึงนี้ เซอร์ ทิม เบอร์เนอร์ส-ลี กล่าวว่า เขาค่อนข้างรู้สึกผิดหวังต่อการพัฒนาอินเตอร์เน็ตในปัจจุบัน เพราะมีบริษัทอินเตอร์เน็ตรายใหญ่ซึ่งเป็นจำนวนน้อยนิดเกาะกุมอำนาจเอาไว้ในมือ ข้อมูลส่วนบุคคลถูกนำไปใช้โดยมิชอบ อารมณ์ความรู้สึกเกลียดชังกันได้แพร่กระจายบนอินเตอร์เน็ตอย่างกว้างขวาง ทั้งหมดนี้ห่างจากเจตนารมณ์แต่แรกเริ่มของเขาเป็นอย่างยิ่ง ในการสร้างอินเตอร์เน็ตให้ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกใบนี้
รศ.เทเลอร์ โอเวน (Taylor Owen) จากมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย(UBC) กล่าวว่า การที่จะบรรลุเป้าหมายซึ่งการบริหารจัดการโลกอินเตอร์เน็ตให้มีระเบียบแบบแผนนั้น นอกจากให้ความสำคัญด้านเนื้อหาแล้ว ยังต้องโฟกัสที่โครงสร้างและรูปแบบผลกำไรของอุตสาหกรรมอินเตอร์เน็ตในปัจจุบันด้วย โดยเฉพาะกรณีที่บริษัทอินเตอร์เน็ตรายใหญ่รวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลและนำไปหาผลประโยชน์ รศ.ไทเลอร์ โอเวนชี้ว่า เราจะหวังให้บริษัทอินเตอร์เน็ตรายใหญ่ดำเนินการควบคุมตนเองนั้น เป็นเรื่องที่ไม่มีความเป็นไปได้ เช่นเดียวกับที่ธนาคารใหญ่และสถาบันการเงินต่างๆ ไม่สามารถดำเนินการควบคุมตนเองได้ จึงทำให้เกิดวิกฤตการเงินโลกเมื่อค.ศ. 2008 ดังนั้น สังคมโลกจำเป็นต้องจับมือร่วมกันปรับปรุงระบบควบคุมบริหารจัดการอินเตอร์เน็ตให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อให้โลกอินเตอร์เน็ตของเรามีความโปร่งใส ความยุติธรรมและความเป็นระเบียบเรียบร้อยมากยิ่งขึ้น
(Yim/Zi/Zheng)