ผู้สื่อข่าวซีอาร์ไอรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2010 เนื่องในโอกาสวันศาลาไทยใกล้ถึง ภาคภาษาไทย สถานีวิทยุซีอาร์ไอได้สัมภาษณ์นางกานดา วัชราภัย ประธานอำนวยการศาลาไทย และรองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รายละเอียดของการสัมภาษณ์มีดังนี้
ถาม ก่อนอื่นขอความกรุณาท่านประธานแนะนำศาลาไทยคร่าวๆ
ตอบ ศาลาไทยในงานเวิลด์เอ็กซ์โป 2010 ที่นครเซี่ยงไฮ้เป็นการก่อสร้างในพื้นที่ 3,117 ตารางเมตร อยู่ในโซนบี อาคารศาลาไทยมีรูปลักษณ์เป็น "Thai Perspective" ก็คือว่ามีสถาปัตยกรรมแบบไทย มีหลังคาโบสถ์ เป็นหลังคาที่ทุกคนที่มองเห็นก็สามารถที่จะบอกได้ว่าอันนี้เป็นศาลาไทยแน่นอน ซุ้มประตูข้างหน้าก็เป็นซุ้มประตูที่จำลองจากวัดเบญจมบพิตรฯ ในกรุงเทพฯ นอกจากนั้น ยังมีฝาผนังที่เป็นภาพวาดในผนังโบสถ์ ซึ่งแสดงถึงวิถีชีวิตของคนไทยและคนจีนในสมัยก่อนในกรุงเทพฯ เพื่อแสดงให้เห็นว่าไทยจีนมีความสัมพันธ์มาช้านานแล้ว นอกจากนั้น ตรงข้างหน้าถ้าสังเกตเห็นก็จะมีลั่นถันเป็นตุ๊กตาจีน และอินทรชิตซึ่งเ้ป็นยักษ์ไทย ซึ่งยืนคู่กันที่หน้าประตูศาลาไทย อีกประเด็นที่อยากจะเรียนให้ทราบก็คือ เรามีรูปปั้นสัมฤทธิ์มังกร และ พญานาคซึ่งพญานาคก็เป็นสัตว์ในวรรณคดีที่เป็นของมงคล มังกรก็เป็นของมงคลในความเห็นของชาวจีนเหมือนกัน เพราะฉะนั้นจึงเป็นรูปปั้นสัมฤทธิ์ที่อยู่หน้าศาลาเหมือนกัน นอกจากนั้น เรายังมีศาลาจตุรมุขที่มีการก่อสร้างแบบไทย เป็นศาลาสำหรับการแสดงภายนอก พูดถึงอาคารศาลาไทยภายนอกไปแล้ว อยากจะขอพูดถึงเรื่องอาคารศาลาไทยข้างในนิดหนึ่งนะคะ ศาลาไทยมีคำจำกัดความของเราว่า วิถีความเป็นไทย วิถีที่ยั่งยืน ต้องการที่จะนำเสนอวิถีชีวิตความเป็นไทย วัฒนธรรม และมรดกต่างๆ ของไทยที่ถ่ายทอดเป็นภูมิปัญญาจากสมัยโบราณจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ เรามีห้องนิทรรศการ 3 ห้องด้วยกัน ห้องแรกว่าด้วยเรื่องของวัฒนธรรมของไทยที่มีเกี่ยวกับสายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวันลอยกระทง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบวช ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแข่งเรือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสงกรานต์ ไม่ว่าจะเป็นพิธีแต่งงาน กิจกรรมเหล่านี้ล้วนมีน้ำเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้ัองทั้งนั้น เป็นการปูพื้นให้คนที่เข้าชมได้เห็นว่าวิถีความเป็นไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแรกๆ ที่เราตั้งประเทศนั้นส่วนใหญ่ชุมชนก็จะอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ถือว่ามีความอุดมสมบูรณ์ สามารถที่จะใช้น้ำเป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ ในห้องนิทรรศการห้องแรกนี้ เรายังใช้ไอทีมาช่วย ซึ่งทำให้มีปฏิสัมพันธ์กับคนที่เข้าชมเหมือนกัน ก็คือว่ามีจอ LED มีม่านน้ำลงมา และก็มีจอใต้น้ำด้วย นำเสนอภาพทั้ง 4 ด้านซึ่งเป็นภาพไม่เหมือนกันแต่อยู่ในเรื่องเดียวกัน ยังมีฝนตกลงมา ซึ่งในเวลาร้อนๆ คนที่เข้ามาในห้องนิทรรศการห้องแรกของเราก็จะมีความเย็น และสบายใจ ส่วนในห้องนิทรรศการที่ 2 เราพยายามจะบอกเรื่องความสัมพันธ์ไทย-จีน และประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนกระทั่งถึงกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงรัตนโกสินทร์ที่ชาวจีนเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนพอสมควรทีเดียว และวิถีชีวิตของชาวจีน และวิถีชีวิตของชาวไทยในช่วงนั้นซึ่งผสมผสานกลมกลืนเข้าหากัน ทั้งนี้มีสิ่งที่บ่งบอกเป็นประจักษ์พยานได้ก็คือ ภาพวาดบนฝาผนังโบสถ์ และศิลปะถ้วยชามต่างๆ ที่อยู่ในเมืองไทย เรามีลูกเล่นนิดหนึ่งก็คือ "น้องไทย"ซึ่งเป็นมาสคอต เราเอายักษ์ตัวที่มีความชีวิตชีวา และน่ารักชื่อ "น้องไทย" เป็นมาสคอต ขณะเดียวกันเราก็จัดให้มีหุ่นยนต์ซึ่งสูงที่สุด 3.5 เมตร เป็นหุ่นยนต์อินทรชิตที่พูดได้ พูดกับภาพแอนิเมชั่นในจอ ซึ่งอินทรชิตกับลั่นถันก็จะคุยกันเกี่ยวกับความเป็นไทยของเรา อันนี้ก็สร้างความสนใจ และความตื่นตาตื่นใจให้กับคนชมได้พอสมควร โดยเฉพาะอย่่างยิ่งเรามีจอ 270 องศาคือจอสามด้านที่คนเข้าไปแล้วสามารถดูได้ทั้งสามด้าน ผลสุดท้ายในห้องนี้เราก็บอกว่าจากอดีตจนถึงปัจจุบัน หน้าตาปัจจุบันของประเทศไทยเป็นอย่างไร แต่ความเป็นทันสมัยก็ไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยลืมอารยธรรม หรือวัฒนธรรมที่มีมาแต่ดั้งเดิม เรายังคงความเป็นคนไทยที่มีอารยธรรม และมีวัฒนธรรมที่ยังปลูกฝัง และรักษาไว้อย่างเหนียวแน่น ในห้องที่สาม ซึ่งเป็นห้องสุดท้าย เราตั้งใจกันว่าอยากให้ห้องนี้มีบทบาทที่ว่า เวลาคนเข้าชมจะได้จดจำประเทศไทยได้มากที่สุด หมายถึงว่าพอเข้าไปเขาจะได้ทราบว่าความสุขแบบไทยๆ เป็นยังไง วิถีของไทยเป็นยังไง และความเอื้ออาทร ความเื้อื้ออารีของคนไทย เวลาที่มีคนแปลกหน้ามา หรือมีแขกมาเยี่ยมเยือนจะเป็นยังไง เราใช้เทคนิค 4D ซึ่งมีทั้งรูป มีกลิ่น มีสัมผัส มีน้ำตกลงมาและมีลมปะทะด้วย คิดว่าด้วยเทคนิค 4D เป็นที่กล่าวขวัญของคนชม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ชมที่เป็นชาวจีนซึ่งมีจำนวนมากประมาณ 97% ก็จะกล่าวขวัญถึงห้องที่สามของเราอย่างมาก อันนั้นคือเรื่องย่อๆ เกี่ยวกับเรื่องศาลาไทยว่าเรามีอะไร
Jiang/Zhou/CiCi