เบียร์ถือว่าเป็นเครื่องดื่มที่เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของโลก และเบียร์ชิงเต่าเองก็มีอายุมาร้อยกว่าปีแล้ว และมีพิพิธภัณฑ์ที่ใครๆ ไปเที่ยวชิงเต่าจะต้องไม่พลาดเข้าชม ซึ่งชาวจีนนั้นรู้จักเมืองชิงเต่าเป็นอย่างดี และก็รู้ว่ามีทั้งเบียร์ชิงเต่าและเมืองชิงเต่านั้นมีความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์สำคัญยุคหนึ่งของจีน ในช่วงที่เยอรมันเข้ามายึดครองในปี 1897 และบังคับให้ทางการชิงเต่าเซ็นสัญญาให้เช่าพื้นที่บริเวณอ่าวเจียวโจวในปี 1898 และหลังจากนั้นจึงค่อยกำเนิดเบียร์ชิงเต่าขึ้นมาเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ปี 1903
ทุกคนในโลกรู้กันเป็นอย่างดีและยอมรับว่าเยอรมนีเป็นประเทศที่ผลิตเบียร์ได้อย่างยอดเยี่ยม เมื่อพวกเขาเข้ามายังชิงเต่าก็ไม่วายเอาวัฒนธรรมเบียร์เข้ามาด้วย โดยในครั้งนั้นนักธุรกิจชาวอังกฤษและเยอรมันได้ร่วมทุนกันจัดตั้งโรงงานขึ้น โดยใช้เงินลงทุน 400,000 เหรียญเงินเม็กซิกัน ดอลล่าร์ ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นเงินในระบบปัจจุบันคำนวนแล้วออกมาเท่าไร
ในสมัยแรกเริ่มนั้น แม้จะมีกำลังการผลิตเพียงปีละ 2,000 ตัน และมีเพียงเบียร์ธรรมดาและเบียร์ดำเท่านั้น แต่ก็เริ่มส่งออกไปขายยังเมืองใกล้เคียงอื่นๆ ด้วย อาทิ เซี่ยงไฮ้ ต้าเหลียน เทียนจิน และฮ่องกง ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากนักดื่มเป็นอย่างดี เพราะเบียร์ชิงเต่าถือว่าเป็นเบียร์ยี่ห้อแรกของจีน และยังใช้กรรมวิธีการผลิตสไตล์เยอรมัน อุปกรณ์ในโรงงานก็นำเข้ามาจากเยอรมันเช่นกัน เลยยิ่งได้รับการยอมรับมาก
ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ นอกจากประวัติศาสตร์ความเป็นมาแล้ว ที่นี่ยังรักษาอาคารต่างๆ ที่มีมาตั้งแต่ยุคเริ่มแรกไว้อย่างสมบูรณ์ อย่างเช่นตึก เอ และ ตึก บี ที่สร้างด้วยอิฐแดงตามแบบสถาปัตยกรรมเยอรมันที่แต่ก่อนเป็นที่ตั้งของโรงงาน ก็ถูกอนุรักษ์ไว้อย่างดี โดยปัจจุบันใช้เป็นที่แสดงภาพถ่าย อุปกรณ์การผลิตในยุคเก่า พัฒนาการของขวด โลโก้ และรางวัลต่างๆ มากมายที่เบียร์ชิงเต่าเคยได้รับมา
ที่นี่มีบริการพาเที่ยวด้วยพนักงานหน้าตาแฉล่มแช่มช้อย แต่นำชมด้วยภาษาจีนเพียงเท่านั้นแต่ก็สามารถเดินดูเองได้อย่างสบายมาก เพราะทุกจุดแสดงงานนั้นมีคำบรรยายเป็นภาษาอังกฤษไว้ควบคู่ไว้ด้วย
เบียร์ชิงเต่านั้น มีความเป็นสุดยอดมากมายหลายอย่างทีเดียว ซึ่งได้แก่
1.เบียร์ชิงเต่า เป็นยี่ห้อแรกที่ผลิตขึ้นในจีน ตั้งแต่ปี 1903 อันนี้พี่คงรู้แล้ว
2. ชิงเต่าเป็นเบียร์ยี่ห้อแรกของจีนที่ได้รับรางวัลระดับนานาชาติระดับเหรียญทองจากงานแสดงสินค้าแห่งเมืองมวนิคในปี 1906
3. เป็นเบียร์ยี่ห้อแรกที่ได้รับรางวัลเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอร์ดีเด่นระดับชาติของจีนในปี 1963
4. เป็นเบียร์ยี่ห้อแรกที่วางกฎเกณฑ์การผลิตที่แน่นอน มี "คู่มือการผลิตเบียร์ชิงเต่า" ในปี 1964
5. ได้รับรางวัลสินค้าจีนที่มีชื่อเสียงในปี 1991
6. เป็นบริษัทเบียร์แห่งแรกของจีนที่เข้าสู่ตลาดโลก และเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง
7. เป็นเบียร์ยี่ห้อแรกของจีนที่ได้รับรางวัลการควบคุมคุณภาพและการผลิตดีเด่นปี 2002
8. ได้รับรางวัลแบรนด์ที่มีคุณค่าอันดับหนึ่งของจีนประเภทเบียร์ ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 7.583 ล้านหยวน ในปี 2002
9. เป็นเบียร์ยี่ห้อแรกที่ได้รับรางวัลระดับชาติด้านขั้นตอนการผลิตที่ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์
10. ตั้งแต่ปี 1903 เป็นต้นมา สามารถครองยอดขาย การจ่ายภาษี และนำเงินเข้าประเทศได้มากที่สุดค่ะ
ดูเหมือนว่าชิงเต่าจะมีเส้นทางที่สวยงามตั้งแต่ก่อตั้งมาใช่ไหมครับ จริงๆ มิได้เป็นชั้นนั้นเลย เบียร์ชิงเต่าที่มีอายุ 100 ปีนี้ย่อมต้องผ่านห้วงสงครามมาพร้อมกับประวัติศาสตร์จีนด้วย อย่างในช่วงญี่ปุ่นเข้ายึดครองจีน ก็ได้ทำการสวมอำนาจการบริการเบียร์ชิงเต่าด้วยเช่นกัน พอจีนทำสงครามต่อด้านจักรวรรดินิยมจนสำเร็จ แม้เบียร์ชิงเต่าจะกลายมาเป็นของจีน ซึ่งยังคงใช้แบรนด์เดิมคือ "ชิงเต่า" ที่สะกดตามอย่างเจ้าของชาวเยอรมันว่า "Tsingtao" และทำการผลิตตามรูปแบบเดิมทุกอย่างจนสามารถส่งไปขายตามประเทศชายฝั่งทะเล และไกลจนถึงสิงคโปร์ด้วยก็ตาม แต่ฐานะของเบียร์ชิงเต่าก็ยังไม่ได้กระเตื้องขึ้นนัก ยิ่งในปี 1948 เศรษฐกิจตกต่ำลงถึงที่สุด ทำให้ขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต รวมถึงน้ำมันเชื้อเพลงด้วย ทางโรงงานจึงลดกำลังการผลิตลง ซึ่งจากแต่ก่อนที่ผลิตอยู่ที่ 2,800 ตัน เหลือเพียง 1,200 ตันต่อปีเท่านั้น จนถึงช่วงที่จีนเปิดประเทศสู่โลกภายนอกนั่นแหละบริษัทผลิตเบียร์ชิงเต่าถึงได้เติบโตขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
พอถึงปี 1986 มีสถิคิว่าเบียร์ชิงเต่าเป็นเบียร์ยี่ห้อแรกของจีนที่มีกำลังการผลิตเกิน 100,000 ตัน และเพิ่มมากขึ้นถึง 240,000 ตันต่อปี ในปี 1992 และสามารถส่งออกไปจำหน่ายในกว่า 30 ประเทศ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 85 ของเบียร์จีนที่ส่งออก นอกจากนี้ยังสามารถเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ทั้งที่ฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ด้วย
นอกจากข้อมูลด้านประวัติศาสตร์และตัวเลขแล้ว ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังมีการแสดงกรรมวิธีการผลิตด้วย ทั้งเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ การเก็บข้าวมอลต์ การบรรจุขวด การแปะฉลาก รวมถึงการขนส่งในรูปแบบเก่าด้วย ซึ่งเวลาบรรจุลังนั้นจะต้องเอาเศษฟางข้าวมาหุ้มขวดกันกระแทกด้วย รวมถึงการบรรจุลงถังเบียร์สดอย่างที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีห้องบ่มที่ควบคุมอุณหภูมิ พร้อมทั้งมีแผ่นป้ายบรรยายขั้นตอนกว่าจะมาเป็นเบียร์หนึ่งแก้วให้เราได้ดื่ม
วัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตเบียร์ก็คือ ข้าวบาร์เล่ย์ ซึ่งจริงๆ แล้ว ข้าวขาวปกติก็ใช้ทำเบียร์ได้เช่นกัน แต่ว่าไม่ค่อยเป็นที่นิยม ซึ่งเมืองไทยนั้นก็มีภูมิปัญญาดั้งเดิมในการทำเบียร์จากข้าวมานมนานแล้ว ที่เรียกว่า "สาโท" แต่เราไม่ได้มีการควบคุมการผลิตที่ดี จึงอาจจะเสาะท้องได้ง่ายสำหรับกระเพาะของคนที่มีภูมิต้านทานไม่ดี
วิธีการผลิตเบียร์โดยทั่วไปก็คือจะเอาข้าวบาร์เลย์มาผ่านการเพาะให้แตกรากและใบอ่อนนิด แล้วเอาไปทำให้แห้ง ขัดรากและใบทิ้งไป ซึ่งจะเรียกชื่อใหม่ว่าข้าวมอลต์ จากนั้นก้เอามอลต์นี้ไปหมัก และเติมยิสต์ซึ่งเป็นเชื้อราประเภทหนึ่งลงไป เพื่อในกินน้ำตาลในมอลต์ ในคายออกมาเป็นแอลกอฮอร์และคาร์บอนไดอ็อกไซค์ ซึ่งก็คือฟองเบียร์นั่นเอง จากนั้นก็เติมดอกฮอพ ซึ่งที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้ปลูกต้นให้เลื้อยขึ้นตามเสาอยู่ในแปลงเกษตรให้ได้ดูแบบสดๆ ด้วย ดอกฮอพนั้นจะช่วยแต่งกลิ่นและความขม ซึ่งขาดเสียไม่ได้เลยในกรรมวิธีการผลิตเบียร์ จนถูกเรียกว่า "วิญญาณของเบียร์" แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ "น้ำ" และแหล่งน้ำที่ดีก็จะทำให้รสชาติของเบียร์ดีตามไปด้วย ซึ่งเบียร์ชิงเต่านั้นใช้น้ำจากภูเขาเหลาซาน และน้ำบาดาลของชิงเต่าเองที่มีคุณภาพดีมาก
อ่านดูแล้วคอเบียร์ทั้งหลายอาจจะตะหนกได้ว่าที่แท้สิ่งที่ดื่มด่ำอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้คือน้ำผสมเชื้อราดีๆ นี่เอง ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ แต่ยิสต์ในเบียร์นี้เป็นเชื้อราที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยเฉพาะระบบขับถ่าย ช่วยเคลือบกระเพาะไม่ให้น้ำย่อยทำลายกระเพาะมากเกินไป และเบียร์ในปริมาณที่พอเหมาะก็ทำให้เลือดลมหมุนเวียนดี ยิ่งสตรีระหว่างมีประเดือนยิ่งช่วยได้มาก
แต่สำหรับคนที่แพ้แอลกอฮอร์เอามากๆ ก็ไม่ควรดื่ม และผู้ที่ขับรถยิ่งไม่ควรดื่มอย่างยิ่ง เพราะอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้จากความมึนเมา
ถ้าเลือกจะดื่มก็อย่าขับรถเด็ดขาด
หลังจากที่เราเดินผ่านห้องที่แสดงกรรมวิธีการผลิตไปแล้วนั้น ก็จะมาถึงห้องสำหรับพักผ่อน และมอบรางวัลสำหรับการเดินชม ซึ่งหลายคนอาจจะกำลังกระหายน้ำ เพราะทางเดินในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ค่อนข้างยาว หรือคอเบียร์ทั้งหลายที่เห็นกรรมวิธีการผลิตแล้วอาจจะกำลังกลืนน้ำลายด้วยความหนืดคอ พอถึงที่จุดพักแห่งนี้จะสามารถนำเอาหางบัตรมารับเบียร์สดได้คนละแก้วพร้อมทั้งถั่วเขียวไว้ขบเคี้ยวแกล้มเบียร์ได้ด้วย
เมื่อหายเหนื่อยแล้ว ยังมีเส้นทางให้เดินต่ออีกนิดหน่อย คือในส่วนของโรงงานที่สายการผลิตจริงๆ กำลังดำเนินอยู่ โดยมีทางเดินอยู่เหนือโรงงานที่สองข้างทางกรุกระจกใส เห็นคนงานกำลังควบคุมเครื่องบรรจุเบียร์ เครื่องปิดฝา จากนั้นสายพานก็จะลำเลียงทั้งแบบที่บรรจุขวดและกระป๋องแยกกันไปสู่ขั้นตอนการถ่ายลงลังเพื่อนำออกไปจำหน่ายต่อไป ทุกอย่างล้วนทำงานด้วยระบบโรงงานและคอมพิวเตอร์ มีพนักงานเพียงไม่กี่คนที่คอยตรวจสอบระบบ และในบางขั้นตอนที่ต้องใช้คนจริงๆ ดูแล ซึ่งก็ไม่ได้มากมายอะไรนัก
หลังจากนั้นก็เป็นอันว่าหมดแล้วสำหรับพื้นที่แสดงความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์เบียร์ชิงเต่า เหลือแต่เพียงส่วนของตั้งโชว์บางอย่าง เช่นบรรจุภัณฑ์หลากหลายรูปแบบในปัจจุบัน มีห้องซึ่งสามารถเข้าไปแล้วเมาได้ทันทีโดยไม่ต้องดื่มให้เล่นสนุกได้ด้วย เพราะในห้องนี้มีการสร้างแรงโน้มถ่วงใหม่ เข้าไปแล้วเวียนๆ กว่ากินเบียร์ไปหลายสิบแก้ว ซึ่งสามารถทำให้เราเดินเซไปมาได้ เพื่อนที่อยู่ข้างนอกก็จะเห็นคนภายในห้องได้ด้วยจอโทรทัศน์ที่ด้านหน้า เรียกเสียงหัวเราะจากอาการเมาจากแรงโน้มถ่วงได้อย่างสนุกสนาน
สุดท้ายและสุดท้ายจริงก๕ือส่วนของร้านจำหน่ายของที่ระลึกเกี่ยวกับเบียร์ชิงเต่าซึ่งมีมากมาย อาทิ ขวดเบียร์ กระป๋องเบียร์แบบชุดพิเศษ ที่เปิดขวด ที่เขี่ยบุหรี่ ฯลฯ และถ้าใครยังติดใจรสชาติของเบียร์ชิงเต่าที่เพิ่งชิมสดๆ มาจากห้องพักเหนื่อยก่อนหน้านี้ ก็สามารถบรรเลงวิชาหมักเมาต่อได้ที่บาร์ของพิพิธภัณฑ์ซึ่งอยู่หน้าร้านขายของฝากนั่นเอง
ซึ่งบรรยากาศก็ไม่เลว เพราะได้ดื่มด่ำกับเบียร์สดของแท้ในโรงงานผลิตเลยทีเดียว
หลังจากชมความงามของชายหาด ความคลาสสิกของตัวเมือง ภูเขาเหลาชานที่แสนยิ่งใหญ่ ลิ้มรสอาหารทะเลที่ขึ้นชื่อแล้ว ไม่ควรพลาดอย่างยิ่งที่จะได้มารับรู้ประวัติศาสตร์ของเบียร์ชิงเต่าที่พิพิธภัฑณ์แห่งนี้