ตอบจดหมายผู้ฟัง เรื่อง อาหารธาตุเย็น
  2011-03-31 17:17:13  cri

食物的阴阳和食物的5色5味

ล. สวัสดีค่ะท่านผู้ฟังที่รัก ดิฉัน หลิว หรง และคุณอินทนิน ปลดเปลื้อง มาพบกับท่านผู้ฟังในรายการ คุยกันวันละประเด็น ทุกวันเสาร์ค่ะ

อ. ในรายการวันนี้ เราจะตอบจดหมายจากท่านผู้ฟัง คำถามจากคุณนวาง เขาอยากได้ชื่ออาหารธาตุเย็นค่ะ เพราะคุณแม่มีอาการคล้ายคนเป็นร้อนในมากๆ หน้าแดงกล่ำ คันไปหมด (หาหมอก็งงๆ ให้แต่ยาแรงๆมากิน เบาๆเอาไม่อยู่ ยานี้ก็เป็นยาอันตรายด้วย ใหม่ๆกิน 1 เม็ดก็เอาอยู่ แต่เดี๋ยวนี้ต้องกินถี่ขึ้น ถ้าทราบช่วยกรุณาแนะนำด้วย)

ล. แพทย์แผนโบราณของจีนระบุว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกใบนี้ แบ่งเป็น 2 ประเภทตามทฤษฎีหยิน-หยาง ถือเป็นพลังธรรมชาติที่ตรงกันข้าม ซึ่งร่วมกันรักษาความสมดุลของสิ่งมีชีวิต ตามความเข้าใจของชาวตะวันตกก็คือ ในโลกมีพลัง 2 อย่างคือ พลังหดตัวและพลังขยายตัว อาหารก็เช่นกัน แบ่งเป็นอาหารหยินหรืออาหารลักษณะหดตัว และอาหารหยางหรืออาหารลักษณะขยายตัว

อ.ใช้แล้ว สำหรับอาหารธาตุเย็น ก็หมายถึงอาหารหยิน มีมากมายหลายอย่าง ผลไม้และผักสดส่วนใหญ่เป็นอาหารเย็น อย่างผลไม้ มีสาลี่ ส้ม สตรอเบอร์รี เชอร์รี ใส้เม็ดบัว ลิลี่ ลูกพลับ ส้มโอ กล้วยหอม มะเฟือง มะเดื่อ กีวี อ้อย แตงโม แตงหวาน องุ่น กระจับ ผักหยินหรือผักลักษณะเย็นมี มะเขือเทศ ผักชีฝรั่ง ผักขึ้นฉ่าย มะเขือ ผักน้ำมัน ผักปวยเล้ง เต้าหู้ รากบัว ฟักเขียว มันเทศ บวบ สาหร่ายทะเล เห็ด ผักบุ้ง หน่อไม้ มะระ กะหล่ำดอก

ล.นอกจากผลไม้และผักต่างๆ นานาแล้ว เนื้อสัตว์ก็แบ่งเป็นเนื้อสัตว์หยิน และหยางเช่นกัน เนื้อสัตว์หยินมีเนื้อเป็ด รวมทั้งไข่เป็ดด้วย เนื้อม้า เนื้อปู(ปูทะเลและปูน้ำจืด) หอย หอยนางรม หอยทาก ปลาหมึก อีกทั้ง ชาเขียว น้ำผึ้ง ดอกเก๊กฮวย สะระแหน่ ซีอิ๊ว เกลือ ก็เป็นอาหารลักษณะเย็นเช่นกัน

อ.เกี่ยวกับอาหารหยินและหยางนั้น เราพยายามหาข้อมูลมาไม่น้อย เราเอามาเล่าให้ท่านผู้ฟังทราบกันดีไหมคะ

ล. ค่ะ ข้อมูลที่เกี่ยวข้องระบุว่า อาหารธาตุเย็นมีลักษณะดังต่อไปนี้ คือเก็บไม่นาน หรือเก็บยาก เน่าง่าย มีรูเยอะ เบา น้ำซึมออกไปได้ง่าย ถ้าเป็นพืชก็เติบโตเร็ว เช่นหวาย ชอบอากาศอุ่นชื้น มีลักษณะเย็น ชื้น อ่อนนิ่ม มีน้ำเยอะ ฉ่ำ รสชาติหวาน เปรี้ยว หรือขมนิดหน่อย ส่วนใหญ่รับประทานสดๆ ได้ ใบใหญ่ เป็นรูปกลม สุกง่าย

อ. ส่วนอาหารธาตุหยางมีลักษณะเนื้อแน่น หนัก เก็บได้นาน ชอบอากาศหนาว เติบโตช้า แข็ง ต้องต้มให้สุกก่อนจะรับประทาน มีลักษณะอุ่นและแห้ง รสชาติเผ็ดหรือเค็ม เนื้อมีน้ำน้อย เปลือกแข็ง ใบเล็ก บางอย่างต้มยิ่งนานยิ่งแข็ง

ล. แล้วจะแยกอาหารหยินกับอาหารหยางอย่างไรคะ

อ.อาหารยินสามารถเพิ่มน้ำและสารโภชนาการให้กับร่างกาย ทำให้พลังงานในร่างกายลงไปข้างล่าง ส่วนอาหารหยางมีบทบาทส่งเสริมให้ร่างกายขจัดของเสียและเสริมสร้างของใหม่ ทำให้พลังงานในร่างกายขึ้นสู่ข้างบน

ล.ค่ะ เข้าใจง่ายๆ คือ อาหารที่ทำให้เราอ้วนขึ้น ทำให้เราจิตใจสงบ และอาหารที่แก้ร้อนในได้เป็นอาหารยิน ส่วนอาหารที่ทำให้เรามีแรงมากขึ้น ทำให้เรามีชีวพลัง ตื่นเต้น และขจัดความหนาวเย็นจากร่างกายคืออาหารหยาง

อ. ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกไม่เป็นหยินก็เป็นหยาง อาหาร น้ำ ฤดูหนาว กลางคืน ช่วงบ่าย อาหารเย็น เช่นสาลี่ ลูกพลับ สัตว์เลี้ยง อาหารรสเค็ม เปรี้ยว ขม และอาหารที่มีน้ำเยอะ เนื้อผลไม้เป็นหยิน ตรงกันข้ม ร่างกายมนุษย์ ไฟ ฤดูร้อน กลางวัน ช่วงเช้า อาหารร้อน เช่นลิ้นจี่ ลำไย สัตว์ป่า อาหารรสชาติเผ็ด ซ่า หวาน และอาหารที่มีน้ำน้อย เปลือกผลไม้เป็นหยาง

ล. วิธีปรุงอาหารจะกระทบถึงยินและหยางของอาหาร อาหารอย่างเดียวกันถ้าปรุงด้วยวิธีต่างกัน ก็จะเปลี่ยนความเป็นหยินหยางของอาหารได้ ถ้าต้องการอาหารหยางมากกว่า ก็ใช้วิธีต้มหรือปรุงนานๆ หรือใช้วิธีการปิ้ง ย่างทอด ถ้าอยากให้เป็นหยิน ก็ใช้วิธีลวก นึ่งหรือต้มด้วยไฟแรง หรือแช่เย็น

อ. มีอย่างหนึ่งที่คนเรามักมองข้ามคือ การใช้ไมโครเวฟอุ่นอาหารไม่มีประโยชน์ เพราะไม่ว่าอาหารอะไร เมื่อผ่านไมเครเวฟแล้ว พลังงานของอาหารจะสูญเสียไปหมด จนกลายเป็นอาหารที่มีหยินมาก ไม่มีประโยชน์ใดๆ ต่อสุขภาพร่างกาย เป็นวิธีการปรุงอาหารที่ทำลายสารโภชนาการของอาหาร เพราะฉะนั้น ให้ไมโครเวฟเป็นตู้เก็บของดีกว่า

ล. ค่ะ สังคมปัจจุบัน เรามักคิดว่า ใช้ไมโครเวฟอุ่นข้าวง่าย สะดวก รวดเร็ว แต่ลืมไปว่า มันมีประโยชน์ต่อสุขภาพหรือไม่ เพื่อนดิฉันหลายๆ คน เลิกใช้ไมโครเวฟแล้ว กลับไปใช้วิธีการปรุงอาหารธรรมชาติ เช่นต้ม ตุ๋น นึ่ง ผัด หรือกินสดๆ แม้เสียเวลานานหน่อย แต่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ใครเล่าจะไม่ยอมทำ

อ.การแพทย์แผนจีนยังระบุว่า การรับประทานอาหารต้องสอดคล้องกับฤดูกาล พูดง่ายๆ ก็คือ ในหน้าร้อนควรรับประทานอาหารหยินให้มาก เพื่อให้คลายเครียด ช่วยให้สมองสดใส ควรปรุงอาหารด้วยวิธีการนึ่งพอสุก ต้มพอสุก หรือลวก รับประทานอาหารสดๆ เพิ่มขึ้น และรับประทานอาหารที่มีใบเยอะ น้ำเยอะ และเป็นสีเขียวอ่อน เวลาปรุงอาหารไม่ควรใส่เกลือมาก รับประทานอาหารจืดดีกว่า นอกจากนั้น ควรปรุงอาหารด้วยเครื่องปรุงธรรมชาติต่างๆ เช่นขิงอ่อน มะนาว(เลมอน) น้ำส้มสายชู ไม่ควรรับประทานอาหารแช่เย็น และน้ำแข็งน้ำเย็นมาก เพราะทำอย่างนี้จะทำให้ความหนาวเย็นค้างอยู่ในร่างกาย

ล. ใช่ค่ะ ปกติในหน้าร้อนเราอยากดื่มอะไรเย็นๆ เพื่อแก้ร้อน แต่ความจริง ในหน้าร้อน ภายในร่างกายจะเย็นกว่าข้างนอก ที่เรารู้สึกร้อนคือข้างนอก ไม่ใช่ข้างใน ถ้ารับประทานของเย็นมาก จะทำให้อวัยวะภายในยิ่งเย็นลง และในหน้าหนาว ควรรับประทานอาหารหยางให้มาก เพื่อทำให้ร่างกายอุ่นขึ้น และมีพลังพอเพียงการปรุงอาหารควรใช้วิธีการผัดไฟแรง ตุ๋น ไม่ควรรับประทานอาหารทอด ปิ้งย่าง เพื่อไม่ให้ร่างกายแห้งเกินไปจนเกิดร้อนในขึ้น รับประทานอาหารที่เป็น กิ่ง ราก หรืออาหารทีมีเนื้อแน่น เช่นฟักทอง ผักกาด ไชเท้า กะหล่ำปลี เหยาะเกลือทะเลหรือ เต้าเจี้ยวพอเหมาะ รับประทานสาหร่ายทะเลเพิ่มขึ้น ปรุงอาหารด้วยขิงแห้ง อบเชย ยี่หร่า และจันทน์เทศ

อ.แหม การรับประทานอาหารก็ควรปฏิบัติตามทฤษฏียินหยางด้วยนะคะ โรคภัยไข้เจ็บส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับอาหารหยิน เพราะอาหารกับร่างกายเป็นหยิน-หยางคู่หนึ่ง อาหารเป็นหยิน ร่างกายเป็นหยาง การรับประทานอาหารที่ถูกต้อง ก็หมายถึงเอาหยินและหยางของอาหารมาช่วยรักษาความสมดุลระหว่างหยินกับหยางในร่างกาย สำหรับร่างกายเรา อาหารเกือบทุกอย่างเป็นหยิน คือหยางเป็นชีวิต ยินเป็นสารโภชนาการที่รักษาชีวิตให้อยู่รอดได้ อาหารบางอย่างมีสรรพคุณเสริมกำลัง กินแล้วทำให้ร่างกายมีกำลังวังชามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จึงมักถูกเรียกว่าอาหารหยาง เมื่อเรารับประทานอาหารยินมากเกินไป ก็ควรรับประทานอาหารหยางด้วยเพื่อรักษาความสมดุลของร่างกาย

ล. สำหรับอาหารแก้ร้อนใน ก็มีมากมายหลายอย่าง ดิฉันขอแนะนำบางอย่างให้ท่านผู้ฟังทราบค่ะ

นม เรามักเห็นว่า ดื่มนมวัวแล้วจะทำให้ร้อนในรุนแรงขึ้น แต่ความจริง การดื่มนมในหน้าร้อนมิเพียงแต่จะไม่ทำให้เกิดร้อนใน ยังสามารถช่วยขจัดสารพิษออกจากร่างกาย และแก้ร้อนในในตับได้ด้วย การแพทย์แผนโบราณของจีนระบุว่า นมสามารถบำรุงหยิน แก้ร้อนใน อีกทั้งในนม 70% เป็นน้ำ การดื่มนมในหน้าร้อนยังสามารถช่วยเสริมน้ำให้ร่างกาย

สตรอเบอรี สตรอเบอรีไม่เพียงแต่อร่อย ยังมีสรรพคุณรักษาโรคได้ด้วย การแพทย์แผนจีนระบุว่า สตรอเบอรีมีสรรพคุณแก้ร้อนใน แก้ความร้อน และช่วยทำให้จิตใจสงบ

อ. นอกจากนมและสตรอเบอรีแล้ว ยังมีแตงโม ถั่วเหลือง และมะเขือเทศค่ะ ทุกคนรู้ว่า ในอากาศร้อนๆ เมื่อกินแตงโมแล้วจะรู้สึกเย็นฉ่ำ ชื่นใจ ก็เพราะว่าแตงโมเป็นของเย็น มีสารโปแตสเซียมมาก แต่มีข้อควรระวังคือ แตงโมไม่ควรเก็บในตูเย็นนานกว่า 3 ชั่วโมง เพื่อไม่ทำลายสารโภชนาการ ถั่วเหลืองนอกจากช่วยแก้ร้อนในได้แล้ว ยังสามารถเสริมโปรตีนที่ร่างกายต้องการในอากาศร้อน ส่วนมะเขือเทศ แม้จะชื้อจากตลาดได้ตลอดทั้งปี แต่ในหน้าร้อนมีมากที่สุด หวานที่สุดและมีสารโภชนาการอุดมที่สุด สามารถแก้ร้อนใน และขจัดสารพิษออกจากร่างกายได้

ล. เกี่ยวกับอาหารยินและอาหารหยาง เราขอแนะนำแค่นี้ก่อนนะคะ ต่อไปเรามาเล่าเรื่อ 5 สีและ 5 รสชาติของอาหารกับท่านผู้ฟังค่ะ

การแพทย์แผนจีนแบ่งอาหารธรรมชาติเป็น ๕ สี คือ เขียว แดง เหลือง ดำและขาว เพื่อจำแนกว่า อาหารประเภทใดมีคุณประโยชน์อะไร มีสารโภชนาการอะไรบ้าง และรับประทานอย่างไรจะดีที่สุด

อ. อาหารสีเขียว

คือผักสด ผลไม้สดสีเขียวชนิดต่างๆ อาทิ ผักบุ้ง พริกหยวก กุยช่าย แตงกวามะระ ถั่วลันเตา ฝรั่ง ลูกกีวี อาหารเหล่านี้อุดมด้วยสารเซลลูโลส สามารถช่วยย่อยอาหาร ป้องกันท้องผูก และมีแร่ธาตุหลายชนิด ทำให้ร่างกายมีความสมดุลระหว่างกรดกับด่าง อีกทั้ง อาหารสีเขียวยังมีวิตามินหลายอย่าง อาทิ วิตามินเอ วิตามิน บี วิตามิน ซี และกรดฟอลิค เป็นต้น เนื่องจากอาหารสีเขียวอุดมด้วยสารโภชนาการ ในแต่ละวันเราจึงควรรับประทานอย่างน้อย 4 ชนิด

ล. อาหารสีแดง

หมายถึงผักสดและผลไม้สดสีแดงหรือสีส้ม ตลอดจนเนื้อและตับของสัตว์ อาทิ เนื้อวัว เนื้อแพะ เนื้อหมู ตับหมู แครอต พริกแดง มะเขือ มะเขือเทศ แตงโม แอปเปิ้ลแดง พุทรา ลูกพลับ เชอรี่ ลูกไหน องุ่น ข้าวแดง ถั่วแดง ไวน์ อาหารเหล่านี้อุดมด้วยธาตุเหล็ก มีคุณประโยชน์ในการช่วยผลิดเซลล์เม็ดเลือด ส่วนวิตามิน เอ และสารเบต้า แคโรทีน สามารถช่วยรักษาความยืดหยุ่นของหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนได้คล่อง เนื้อสัตว์สีแดงมีโปรตีนและไขมันที่ดี สามารถทำให้เจริญอาหาร เสริมพลังงาน และแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการ

อ. อาหารสีเหลือง

ส่วนใหญ่เป็นราก หรือก้านของธัญพืช ถั่วและผักสด ผลไม้สดสีเหลือง อาทิ ข้าวโอ๊ต ข้าวกล้อง ข้าวโพด รากบัว ถั่วลิสง มันเทศ ฟักทอง ถั่วเหลือง เลมอน มะละกอ สับปะรด กล้วย ส้ม อ้อย อาหารประเภทนี้ประกอบด้วยแป้งตะกอนและน้ำตาล ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดความอุ่น และย่อยง่ายในกระเพาะและลำไส้ ส่วนโปรตีนเกษตร(โปรตีนจากพืช)และไขมันไม่อิ่มตัวในอาหารประเภทถั่วสามารถลดน้ำตาลในเลือดได้

ผักสดและผลไม้สดสีเหลืองอุดมด้วยวิตามิน ซี สารเบต้า แคโรทีน โดยเฉพาะเลมอน มีวิตามิน ซี มาก ดื่มน้ำเลมอนบ่อยๆ สามารถเสริมภูมิต้านทาน เป็นผลดีต่อสุขภาพ

ล.อาหารสีดำ

ส่วนใหญ่หมายถึงเห็ดสีดำ และสาหร่ายทะเล อาทิ ข้าวเหนียวดำ งาดำ เห็ดหูหนูดำ ถั่วดำ สาหร่ายทะเล เห็ดหอม พุทราดำ ไข่เยี่ยวม้า บ๊วยดำ ซีอิ๊ว อาหารประเภทนี้มีวิตามินหลายชนิด เป็นผลดีต่อกระดูกและระบบสืบพันธุ์ อุดมด้วยแร่ธาตุหลายอย่าง อาทิ สังกะสี แคลเซียม เหล็ก แมงกานีส ไอโอดีน และเซลีเนียม สามารถช่วยให้ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานเป็นปกติ อย่างเช่นเห็ดหอมมีคุณประโยชน์เสริมภูมิต้านทานของเซลล์ ป้องกันและยับยั้งเนื้องอกและมะเร็งได้

อ.อาหารสีขาว

หมายถึงข้าว นม ไข่ ปลา หน่อไม้ เมล็ดพืช เป็นต้น อาทิ เนื้อไก่ เนื้อปลา ข้าวสวย ข้าวเหนียว มันฝรั่ง เมล็ดบัว แป้วสาลี ฟักเขียว หน่อไม้ เห็ดฟาง เต้าหู้ น้ำเต้าหู้ ไข่ไก่ สาลี่ ลิ้นจี่ ส้มโอ มะพร้าว เห็ดหูหนูขาว ผักกาดขาว น้ำตาลทราย เป็นต้น อาหารประเภทนี้อุดมด้วยน้ำและเซลลูโลสที่ละลายในน้ำ สามารถปรับปรุงความสมดุลของน้ำในร่างกาย ทำให้ผิวสวย นอกจากนี้ ยังมีคุณประโยชน์ช่วยให้ลำไส้ใหญ่เคลื่อนตัว ป้องกันท้องผูก

อาหารประเภทข้าวและเต้าหู้สามารถเสริมแป้งตะกอน โปรตีน และวิตามินที่ร่างกายต้องการ รักษาความอุ่น ส่วนเนื้อปลาสีขาว ไข่ ให้โปรตีนที่ดีกับร่างกาย สามารถรักษาความยืดหยุ่นของเซลล์ นมเสริมแคลเซียม เป็นผลดีต่อกระดูก

ล.ต่อไปขอแนะนำ 5 รสชาติของอาหารค่ะ 5 รสชาติหมายถึงเผ็ด หวาน เปรี้ยว ขม และเค็ม

รสเผ็ดสามารถกันหนาว ทำให้เลือดไหลเวียนได้คล่อง ทำให้อุณหภูมิร่างกายและความดันโลหิตสูงขึ้น นอกจากนี้ รสเผ็ดยังทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้เคลื่อนตัวเร็วขึ้น น้ำย่อยหลั่งมากขึ้น เป็นผลดีต่อการบำรุงเลือดลม อาหารรสเผ็ดมีมากมาย อาทิ พริก ขิง ยี่หร่า เหล้าขาว

รสหวานสามารถบำรุงเลือดลม ผ่อนคลายความเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อ มีบทบาทขจัดสารพิษ บำรุงกระเพาะอาหาร เจริญอาหาร คลายความเครียด อาหารรสหวานมีเห็ดหูหนูดำ แตงกวา ฟักทอง ผักกาดขาว น้ำตาล มะเขือ อ้อย แตงโม ปลา และเนื้อสัตว์ชนิดต่างๆ

อ.รสเปรี้ยวช่วยย่อยอาหาร ยับยั้งเหงื่อออกมาก เสริมสมรรถนะของตับ ช่วยร่างกายดูดซึมสารแคลเซียมและฟอสฟอรัส อาหารรสเปรี้ยวมีส้ม ลูกท้อ ลูกไหน บ๊วย เลมอน ลิ้นจี่ มะม่วง องุ่น ส้มโอ น้ำส้มสายชู

รสขมสามารถแก้ร้อนไน ขจัดสารพิษ บำรุงกระเพาะอาหารและม้าม ทำให้สมองสดใส แก้อาการกระหายน้ำ และขจัดเสมหะ อาหารรสขมมีมะระ ลิลี่ และแปะก้วยเป็นต้น

ส่วนอาหารรสเค็มมีแร่ธาตุหลายอย่าง มีคุณประโยชน์ขจัดเสมหะ บำรุงไต ขจัดเนื้องอก ป้องกันท้องผูก อาหารรสเค็มมีข้าวบาเล่ย์ ช้าวฟ่าง สาหร่ายทะเล เนื้อปู หอย เนื้อเป็ด เนื้อหมู เกลือ เป็นต้น

ล. ในรายการวันนี้ เราได้ตอบคำถามจากคุณนวาง เที่ต้องการอาหารธาตุเย็น เพื่อช่วยแก้อาการร้อนในของคุณแม่ ไม่ทราบว่าข้อมูลที่เราหามามีส่วนช่วยบ้างหรือเปล่า และนอกจากนั้น เราได้เล่าถึง 5 สี และ 5 รสชาติของอาหาร หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้ฟังในการรักษาสุขภาพบำรุงร่างกายค่ะ ถ้าท่านผู้ฟังมีข้อสนใจหรือข้อถามอะไร ขอส่งอี-เมลมาที่ tai@cri.com.cn เรายินดีที่จะให้ความช่วยเหลือตลอดค่ะ สวัสดีค่ะ ดิฉันหลิว หรง

อ.สวัสดีค่ะ ออ*

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040