ย้อนอดีตภาคภาษาไทยกับนายจง เจี้ยนเซิง
  2010-04-27 18:46:47  cri

อิน สวัสดีค่ะท่านผู้ชมค่ะ ในโอกาสครบรอบ 60 ปีภาคภาษาไทย วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2553 นี้ ในโอกาสนี้ ภาคภาษาไทยซีอาร์ไอได้รับเกียรติจากบุคคลสำคัญท่านหนึ่ง ซึ่งเรียกได้ว่าท่านเป็นผู้บุกเบิกภาคภาษาไทยซีอาร์ไอ และจากที่ทราบมา ก่อนที่จะเข้าร่วมทำงานที่ภาคภาษาไทยซีอาร์ไอเมื่อเดือนมิถุนายนปี 1949 ท่านเข้าร่วมในคณะปฏิวัติก่อนที่จะมีการสถาปนาจีนใหม่ในวันที่ 1 ตุลาคมปี 1949 ค่ะ และได้เข้าทำงานที่ซีอาร์ไอภาคภาษาไทยปี 1950 เป็นต้นมา แน่นอนนะคะว่า ตลอดช่วงระยะเวลา 47 ปีของการทำงานที่นี่ย่อมมีคุณค่าและมีสิ่งที่ต้องการให้เราย้อนรอยให้ผู้ฟังได้ทราบกันอย่างเต็มที่เลยทีเดียว ขอต้อนรับคุณจง เจี้ยนเซิงนะค่ะ สวัสดีค่ะ คุณจง เจี้ยนเซิง ท่านเป็นผู้บุกเบิกภาคภาษาไทย อยากจะขอความกรุณาให้ท่านย้อนอดีตให้ฟังสักนิดหนึ่งว่า ตั้งแต่ช่วงการเริ่มทำงานที่ซีอาร์ไอเมื่อปี 1950 เป็นต้นมา จนกระทั่งเกษียณไปนั้น มีสิ่งที่น่าสนใจอะไรบ้าง

จง ผมเข้าทำงานในภาคภาษาไทยของวิทยุปักกิ่งเมื่อเดือนเมษาฯ ปี 1950 ตั้งแต่นั้นมาก็นับว่าราบรื่นตลอด ไม่มีอะไร ถึงจะมีการเคลื่อนไหวต่าง ๆ แต่ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เป็นผู้ประกาศเวลาไม่นาน เป็นผู้แปล ตอนหลังผมก็ทำงานแปลกับตรวจแก้ มาเกษียณเมื่อปี 1997

อิน ในสายตาของท่าน การทำงานในช่วงเวลาก่อนการสถาปนาความสัมพันธ์กับไทยกับหลังการสถาปนาความสัมพันธ์กับไทย ท่านคิดว่าท่านมีอิสระในการทำงานมากน้อยแค่ไหนคะ

จง ก็มีความอิสระตลอดมา ไม่มีอะไรบังคับ คือว่าสิ่งที่อ่านก็มีบรรณาธิการเขาทำเรียบร้อยแล้ว. จากภาษาจีนมาแปลเป็นไทย และก็อ่านตามที่แปล มีงานด่วน บรรณาธิการก็ทำด่วน เสร็จแล้วเอามาก็อ่าน ออกอากาศสด ๆ ก็ไม่ใช่ เราก็อัดเสียงกัน

อิน ทราบมาว่าท่านเกิดที่ไทย ขอความกรุณาท่านเล่าย้อนอดีตให้ฟังสักนิดหนึ่งว่า ท่านเกิดที่ไทยแล้วก็เดินทางมาที่กรุงปักกิ่ง คือเดินทางมาที่จีนตั้งแต่เมื่อไร ยังไงคะ

จง ผมเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปเซี่ยงไฮ้ก่อน เวลานั้นปี 1948 เรียนที่เซี่ยงไฮ้ได้ปีเดียว เซี่ยงไฮ้ก็ปลดแอก เมื่อเดือนมิถุนาฯ เริ่มที่เซี่ยงไฮ้แล้วก็เดินทัพจากเซี่ยงไฮ้ไปถึงเซียะเหมิน ก็ไม่รู้สึกอะไร ตอนนั้นยังหนุ่ม อยู่เซียะเหมินก็เป็นสารวัตรของสถานีตำรวจ

อิน ขณะนั้น ตอนที่บ้านเมืองกำลังเปลี่ยนแปลง มาเป็นสารวัตรในสถานีตำรวจ มีคดี มีเหตุการณ์เกิดขึ้นที่เข้าสู่โรงพักเยอะไหมคะ

จง ไม่มีครับ ทุกอย่างรู้สึกว่าสงบเรียบร้อยดี

อิน จากการเป็นสารวัตรที่สถานีตำรวจ พลิกผันชีวิตยังไงถึงมาที่ภาคภาษาไทยคะ

จง ผมมีเพื่อนมาอยู่ปักกิ่ง ตอนนั้นกำลังตั้งภาคภาษาไทย คนที่อยู่ปักกิ่งมาตั้งภาคภาษาไทยก่อน และคนที่มาตั้งภาคภาษาไทยเขารู้ว่าผมอยู่เซียะเหมิน ก็สั่งให้ผมมาอยู่ปักกิ่ง ก็บุกเบิกภาคภาษาไทยด้วยกัน

อิน เรียกได้ว่า ผู้ที่ทำงานในภาคภาษาไทยในช่วงเริ่มแรก เป็นการเชิญชวนกันเข้ามาจากคนที่รู้จักกันใช่ไหมคะ หมายถึงว่ารู้ว่าเป็นคนที่รู้ภาษาไทยดีและก็รู้ภาษาจีนดีด้วยแล้วชวนกันมา

จง ใช่ คนที่มาทำภาคภาษาไทย คุณแซ่โค้ว เขาอยู่ปักกิ่ง เขาเรียนทีปักกิ่ง และทางองค์การก็รู้ว่าคนนี้รู้ภาษาไทย อยากให้เข้ามาอยู่วิทยุ และคุณแซ่โค้วเขาก็รู้ว่าผมอยู่เซียะเหมิน สั่งให้ผมมาที่นี่

อิน ค่ะ ช่วงนั้นมาเจ้าหน้าที่กี่คนคะ

จง ช่วงนั้นก็มีสัก 3 คน

อิน เป็นผู้ชายล้วน

จง ผู้ชาย

อิน แล้วก็แต่ละคนก็ช่วยกันทำหน้าที่ มีการออกอากาศในช่วงแรกนานไหมคะ

จง ช่วงแรกออกอากาศวันละ 15 นาที

อิน ในช่วงไหนคะ

จง ช่วงค่ำ

อิน ถ้าเรียนถามท่านตรง ๆ ว่า ท่านจากเมืองไทยมา แล้วการที่มาเซี่ยงไฮ้คือมีวัตถุประสงค์เพื่อมาเรียน เมื่อมาเรียนแล้ว คิดไหมคะว่า ชีวิตเราจะต้องอยู่จีนตลอด

จง ไม่ได้คิด ตอนนั้น ไปเรียนที่เซี่ยงไฮ้คิดว่าเรียนจบก็กลับเมืองไทย และคือว่าเรียนแค่ปีเดียว ตอนนั้นมีเพื่อน ๆ บางคนเป็นคอมมิวนิสต์อยู่แล้ว ก็ชวนกันร่วม เราก็เดินทาง เราก็เรียกได้ว่าเดินทัพจากเซี่ยงไฮ้ไปมณฑลฮกเกี้ยนไปอยู่ที่ฮกสิว ก็มีคนอยู่ที่ฮกสิว และผมไปถึงเซียะเหมิน

อิน จากการที่ท่านอยู่ที่ภาคภาษาไทยซีอาร์ไอมานานที่สุด เท่าที่ทราบมาว่าคือ 47 ปี ท่านเห็นว่าการทำงานที่ภาคภาษาไทยกับปรัชญาของการทำงานในภาคภาษาไทยที่ต้องการให้ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยจีน ให้คนไทยคนจีนมีความเข้าใจกัน แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และก็แม้แต่ระหว่างรัฐบาลก็มีส่วนเกี่ยวข้องกันด้วย ท่านมองว่าภาคภาษาไทยได้ทำหน้าที่ตรงนี้มากน้อยแค่ไหน

จง รู้สึกว่ามันมีผลไม่น้อย ทำให้ผู้ฟังเข้าใจประเทศจีนดีขึ้นมากขึ้น ผมเชื่อว่าคนที่ได้ฟังวิทยุปักกิ่งมาแล้ว เข้ามาร่วมในเมืองจีนมีไม่น้อย

อิน มีโอกาสได้กลับไปเมืองไทย ไปพูดคุยกับคนที่เมืองไทยว่า ท่านมาทำงานที่สถานีวิทยุแห่งนี้มากไหมคะ

จง 7-8 ครั้งที่ได้กลับไปเมืองไทย

อิน แต่ละครั้งที่กลับไปเมืองไทย มีความคิดไหมคะว่า เราได้ทำหน้าที่สำคัญ แม้แต่ตอนสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างไทยจีน ว่าเราได้ทำหน้าที่สำคัญในการสร้างความเข้าใจให้กับคนไทยคนจีน รัฐบาลไทยรัฐบาลจีน

จง ความคิดก็เป็นอย่างนั้น เพราะว่าเราโฆษณาให้คนจีนและคนไทยในเมืองไทยเข้าใจประเทศจีนดีขึ้น ความเข้าใจผิดอาจจะหายไปจากความรู้จากภาคภาษาไทย

อิน จากภาพที่คนไทยมองว่า การเป็นคอมมิวนิสต์น่ากลัว จนกระทั่งถึงในปัจจุบันนี้ที่คนไทยมองว่า ระบอบคอมมิวนิสต์ไม่ใช่ระบอบที่น่ากลัว

จง ความจริงก็คืออย่างนั้น ก็รู้สึกว่าควรเป็นอย่างนั้น คือจีนไทยมีความสัมพันธ์เป็นพัน ๆ ปี หลังจากที่คอมมิวนิสต์เข้าครองเมือง มีโฆษณาที่ทำให้ส่วนหนึ่งในเมืองไทยเข้าใจผิด ผมไปคุยกับคนที่พบผม ทำให้มีความเข้าใจคอมมิวนิสต์ดีขึ้น เพราะว่าเขาไม่รู้สึกว่าผมมีอะไรไม่เสรี ไม่อิสระ

อิน ปีนี้จะเป็นปีครบรอบ 35 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ไทยจีน ท่านมองว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยจีนในขณะนี้ ในสายตาที่ท่านเป็นสื่อและนั่งมอง นั่งสัมผัส นั่งเกี่ยวข้องอยู่ด้วย เมื่อเทียบกับช่วงก่อน ๆ เป็นยังไงบ้างคะ

จง ผมว่าดีขึ้น เพราะรู้สึกว่าสัมพันธภาพระหว่างไทยจีนในขณะนี้ดีมาก

อิน แล้วมีส่วนของการมองการไกลของรัฐบาลจีนที่ทำประชาสัมพันธ์ให้กับประเทศต่าง ๆ ได้ทราบด้วยกันใช้สถานีวิทยุซีอาร์ไอ โดยแบ่งออกเป็นภาคต่าง ๆ ในส่วนตรงนี้ เป็นการมองการไกลของรัฐบาลจีน ซึ่งมุ่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับผู้คน ซึ่งดิฉันมองว่า ไม่ได้เกี่ยวแต่เฉพาะเรื่องของการให้เข้าใจจีน แต่ยังเกี่ยวเนื่องไปถึงการให้เข้าใจถึงระบอบสังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์ของจีน และแม้แต่พรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วย ท่านมองตรงนี้ยังไงบ้างคะ

จง ก็ควรจะเป็นอย่างนั้น เพราะว่าเราออกอากาศ ทำวิทยุก็เพื่อให้ทุกคนหรือว่าทุกประเทศเข้าใจคอมมิวนิสต์ดีขึ้น ถูกต้องขึ้น เพราะว่าคอมมิวนิสต์ไม่ใช่พรรคที่ไม่ดี เขาเรียกว่าโฆษณาชวนเชื่อทำให้ผู้คนเข้าใจพรรคคอมมิวนิสต์ผิด ความจริงพรรคคอมมิวนิสต์ ผมรู้สึกว่าเป็นพรรคที่ดีมาก ดีกว่าพรรคก๊กมิ่นตั๋งแน่นอน เพราะว่าถ้าไม่ดี ก๊กมิ่นตั๋งก็ไม่ถูกโค่น

จง ผมคิดว่าวิทยุก็ยังมีบทบาทสำคัญ ไม่เปลี่ยนแปลง มีความสำคัญที่ทำให้ผู้ฟังเข้าใจคอมมิวนิสต์ได้ถูกต้อง

อิน การใช้สื่อของรัฐบาลจีนเพื่อสร้างความเข้าใจในปัจจุบันนี้ ทั่วโลกกำลังมองว่า รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับเรื่องของการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจกับคนในประเทศและคนต่างประเทศ สิ่งที่พิสูจน์เรื่องนี้ก็คือการเกิดขึ้นของสถานีวิทยุซีอาร์ไอ ว่ามีส่วนสำคัญในการสร้างความเข้าใจทั้งคนในประเทศที่ทั้งใช้ภาษาแมนดารินและภาษาแต้จิ๋ว กวางตุ้งต่างกันไป และก็คนต่างประเทศทั่วโลก ในส่วนตรงนี้ ในฐานะที่ท่านเป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการทำงานกับการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศไทย ท่านรู้สึกประทับใจหรือว่าภาคภูมิใจอะไร ยังไงบ้างคะ

จง ก็ผมรู้สึกว่ามีความภาคภูมิใจมากที่ได้ทำงานที่ทำให้ชาวจีนในเมืองไทยหรือว่าคนไทยรู้จักพรรคคอมมิวนิสต์จีนดีขึ้น ถูกต้องขึ้น ผมรู้สึกภูมิใจ เพราะว่าทำให้คนที่มีความเข้าใจผิดมีความเข้าใจถูกต้อง เพราะว่าพรรคคอมมิวนิสต์ไม่ใช่พรรคที่ไม่ดีอะไรอย่างที่(พรรค)ก๊กมิ่นตั๋งเขาโฆษณา

อิน ในความรักและความผูกพันกับประเทศไทยและประเทศจีน สองแผ่นดินที่ท่านได้ เป็นแผ่นดินเกิดและก็แผ่นดินที่ท่านอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ ได้มีการสื่อสารกับญาติพี่น้องที่เมืองไทยบ้างไหมคะ

จง กับญาติพี่น้องที่เมืองไทยก็ติดต่อทางจดหมายมากกว่า ก็พูดเรื่องครอบครัวเรื่องส่วนตัว ไม่มีอะไรที่พูดถึงคอมมิวนิสต์อะไร และผมก็ว่าอยู่ที่นี่มีความสุข

อิน มีความสุขยังไงบ้างคะ

จง ทุกอย่างเลย เงินเดือนผมใช้ไม่หมด กินอยู่สบาย เงินเดือน 5 พัน

อิน เห็นความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองเยอะไหมคะ จากการบริหารของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

จง คงนับว่าเปลี่ยนแปลงมาก เรียกได้ว่าประชาชนก็อยู่ดีกินดี และก็มีความสงบ ไม่เหมือนสมัยก๊กมิ่นตั๋ง

อิน สมัยที่ท่านเข้ามาที่ปักกิ่งใหม่ ๆ พอจะนึกถึงสภาพบ้านเมืองในขณะนั้นแล้ว ขอความกรุณาเล่าให้ฟังสักนิดหนึ่งได้ไหมคะว่า ตอนนั้นสภาพบ้านช่องที่อยู่อาศัยในปักกิ่งเป็นยังไงบ้าง

จง ตอนนั้นก็เรียกว่าผิดกับเวลานี้มาก ส่วนมากเป็นบ้านชั้นเดียว มีลานบ้านใหญ่ และก็บ้านล้อมรอบลานบ้าน เขาเรียกว่าซื่อเหอย่วน

อิน ท้ายสุดนี้ขอความกรุณาให้ท่านอวยพรให้ภาคภาษาไทยซีอาร์ไอในโอกาสครบรอบ 60 ปีค่ะ

จง ขออวยพรให้ภาคภาษาไทย คนทำงานในภาคภาษาไทยทุกคนมีความสุขความสบาย สุขภาพแข็งแรง และภาคภาษาไทยก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ คนฟังในประเทศไทยดีขึ้น และก็มีผู้ฟังมากขึ้น

อิน ขอบพระคุณคุณจง เจี้ยนเซิง ท่านผู้บุกเบิกภาคภาษาไทยซีอาร์ไอที่กรุณาเข้ามาพูดคุยกับเราในวันนี้ ยังมีเรื่องดี ๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ 60 ปีภาคภาษาไทยซีอาร์ไออีก ขอบพระคุณมากค่ะ สวัสดีค่ะ

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040