อิน: สวัสดีค่ะ ท่านผู้ชมคะ วันนี้ภาคภาษาไทย ซีอาร์ไอ จะเฉลิมฉลองวันครบรอบ 60 ปี ซึ่งตรงกับวันที่ 10 เมษายน 2553 ด้วยการย้อนอดีต จะนำท่านผู้ชมไปพบปะพูดคุยกับผู้จัดรายการวิทยุ ผู้ประกาศ ผู้สื่อข่าวซีอาร์ไอในช่วงอดีตที่ผ่านมา วันนี้ได้รับเกียรติจากซูจิ่นนะคะ มาพูดคุยเกี่ยวกับบรรยาศการทำงานในซีอาร์ไอ ภาคภาษาไทย ในยุคสมัยนั้นว่า มีึความสะดวก มีเครื่องใม้เครื่องมือ หรือวิธีการทำงานอย่างไร และรวมไปถึงเรื่องการสื่อสารระหว่างผู้จัดรายการวิทยุกับผู้ฟังรายการ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้จัด ผู้ฟังทั้งจีนและไทยเป็นอย่างไรด้วย สวัสดีค่ะ คุณซูจิ่น
ซูจิ่น: สวัสดีค่ะ
อิน: ขอความกรุณาให้คุณซูจิ่นเล่าให้ฟังว่า ในการทำงานของคุณซูจิ่นที่ซีอาร์ไอเริ่มตั้งแต่เมื่อไร และได้ทำหน้าที่อะไรบ้างคะ
ซูจิ่น: ดิฉันมาทำงานที่ภาคภาษาไทย ซีอาร์ไอ ซึ่งตอนนั้นเรียกว่าสถานีวิทยุกระจายเสียงปักกิ่ง ตั้งแต่เมื่อปีค.ศ.1975 ค่ะ ถ้าจะเทียบกับเดี๋ยวนี้นะคะ เงื่อนไขต่างกันมากค่ะ แต่ก่อนเครื่องอัดเสียงไม่ใช่แบบอัตโนมัติเหมือนเดี๋ยวนี้ แล้วตอนนั้นเราต้องหัดเป็นผู้อ่าน ผู้ประกาศ รู้สึกว่าช่วงนั้นหัวหน้าก็เข้มงวดกับพวกเรามาก สมมุติว่าตอนบ่ายจะอ่านข่าว เราต้องอ่านเองก่อน แล้วไปหาคนมาฟัง แล้วก็ไปอัดเสียง จะต้องมีคนคุมเครื่อง ไม่เหมือนเดี๋ยวนี้เป็นแบบอัตโนมัติ มีอะไรผิดนิดหนึ่งก็นั่งแก้ได้ แต่ก่อนเราต้องเตรียมอย่างดี เพราะมีคนอัดเสียงอยู่ ถ้าเราหยุดเครื่องเรื่อยก็ไม่ได้ เพราะคนอัดเสียงจะไม่รู้ภาษาไทย เขาจะรำคาญ เฉพาะฉะนั้น เราต้องเตรียมอย่างดี พยายามอ่านไม่ให้ต้องหยุดเครื่องค่ะ
อิน: ทราบว่าบางช่วงได้จัดเป็นรายการละคร หรือนิทาน บางทีผู้ควบคุมเสียงก็ต้องเป็นผู้เล่นด้วย ผู้แสดงด้วย ขอให้เล่าบรรยากาศช่วงนั้นหน่อยนะคะ
ซูจิ่น: ช่วงนั้น รายการของเรายังมีนวนิยาย เวลาเราทำรายการนวนิยาย ต้องมีการประกอบเสียง ต้องอ่านก่อนแล้วค่อยมาประกอบทีหลัง ซึ่งการประกอบเสียงก็ไม่ง่ายเหมือนช่วงเดี๋ยวนี้นั่งประกอบสบายเลยค่ะ เราต้องใช้คนคุมเครื่องประกอบค่ะ เป็นเครื่อง 3 เครื่อง เราต้องวิ่งไปวิ่งมา ลำบากกว่าเดี๋ยวนี้มากค่ะ
อิน: ถ้างั้น คงเป็นส่วนหนึ่งที่จะบอกว่า คนทำงานในสมัยก่อน ช่วงเช้าจะต้องไปตามกันมาทำงาน บรรยากาศการทำงานมีความสุขมากๆ และสนุกกันมากๆ
ซูจิ่น: คือเดี๋ยวนี้บางทีเราเล่าถึงเวลาทำงานในสมัยก่อน ถึงแม้ว่าไม่สะดวกหรือรวดเร็วเหมือนปัจจุบัน แต่พวกเรามีความสนุกมากค่ะ เพราะว่าแต่ละท่านตระหนึกถึงความสำคัญของงานที่เราทำอยู่ ในการสื่อสารให้คนไทยเข้าใจสภาพของจีน เวลาออกข่าว จะออกแบบทางการมาก ช่วงนั้นเรามีข่าวช่วงเช้า แต่การติดต่อกันไม่เหมือนเดี๋ยวนี้มีโทรศัพท์มือถือ โทรถึงกันได้ โทรศัพท์บ้านก็มีแต่บ้านหัวหน้า พอมีข่าวอะไรที่สำคัญและด่วน หัวหน้าจะต้องเป็นคนปั่นจักรยานไปเรียกเราตั้งแต่ตี 4 ตี 5 เพราะเราต้องเป็นคนแปล แล้วค่อยอ่านอีก จะไม่สะดวกเช่นปัจจุบัน พออ่านเสร็จแล้ว เป็นเทป ต้องวิ่งไปส่งที่ห้องอัดเสียง ซึ่งเราเล่ากันว่า เป็นนักแข่งวิ่งร้อยเมตร จริงๆค่ะ พออ่านข่าวเสร็จต้องรีปเอาเทปไปส่งที่ห้องกระจายเสียง เพื่อให้เขาออกอากาศทันเวลา โฆษกของเรา เช่น ท่านหง เค่อหนาน และพี่มาณี เป็นผู้ประกาศอาวุโสเก่าแก่ อ่านดีสุดๆเลยค่ะ และมีความเชี่ยวชาญ จนกระทั่งคนไทยก็ยังสงสัยว่าเป็นคนไทยหรือเปล่า
อิน: พูดถึงว่าคนไทยสงสัยว่าเป็นคนไทยหรือเปล่า ทราบมาว่า คุณซูจิ่นทำงานสำคัญของภาคภาษาไทยซีอาร์ไอ ด้านหนึ่งก็คือตอบจดหมายท่านผู้ฟัง ผู้ฟังมีจดหมายเข้ามามากมาย มีความสัมพันธ์อย่างไรกับผู้ฟังคะ
ซูจิ่น: ดิฉันเคยทำรายการตอบจดหมายผู้ฟังอยู่สิบกว่าปี รู้สึกว่าการที่เราได้รับจดหมายจากผู้ฟังนี้ เป็นแรงใจอย่างหนึ่งของเราผู้ทำงานในภาคภาษาไทย ซีอาร์ไอ ไม่ว่าจะเป็นคำติชมหรือข้อเสนอแนะ เป็นการสนับสนุนให้เรามีแรงใจที่จะทำงาน แต่ก่อนเรามีรายการตอบจดหมายผู้ฟัง ไม่ว่าผู้ฟังเขียนจดหมายมาถามเรื่องอะไร ผ.อ.หยาง หุ้ยจวนจะตอบ ดิฉันเดี๋ยวนี้ยังมีจดหมายจากผู้ฟังว่า เขาได้รับจดหมายจากเราแล้วดีใจยังไง
อิน: พอจะอ่านให้ท่านผู้ฟังได้มั้ยคะ ให้ท่านผู้ฟังทราบว่าผู้ฟังมีความสัมพันธ์กับซีอาร์ไอเป็นอย่างไร และสื่อสารกันอย่างไรบ้าง
ซูจิ่น: เรามีจดหมายเก่าๆ อย่างเช่น คุณขวัญพันธุ์ เอื้อเฟื้อ คนพิการ เขามีจดหมายมาบอกว่าได้ฟังนวนิยายเรื่อง สาวตาบอด ที่คุณมาณีเป็นคนบรรยาย ก็รู้สึกให้กำลังใจเขามาก เขาเองเป็นคนขาพิการ ทีแรกเขาไม่กล้าบอกว่าเขาเป็นคนพิการ กลัวว่าเราจะรังเกียจ แต่ตอนหลังก็บอก เราก็เขียนจดหมายไปให้ และเล่าเรื่องคนพิการ บอกว่าคนเรานี้เลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกหนทางเดินเองได้ และเล่าเรื่องจาง ไห่ตี๋ คนพิการคนจีนที่ทำงานเพื่อให้ผลประโยชน์ประชาชนอย่างไร เขาฟังแล้วก็ได้กำลังใจ และมีการติดต่อสื่อสารกับเราเป็นเวลากว่า 20 ปีค่ะ ตอนหลังเขาก็มีกำลังใจไปผ่าตัดต่อขา เขาก็เขียนจดหมายมาบอกด้วย และติดตามฟังรายการของเราอยู่เรื่อย เมื่อเรามีกิจกรรมอะไรเกี่ยวกับประกวด เช่น ประกวดข้อเขียน เขาก็มาเข้าร่วม ถึงแม้ว่าเขาบอกว่าเขาไม่มีโอกาสไปเรียนหนังสือ แต่เขาพยายามเรียนเองและติดตามฟังรายการของคนจีน เนื่องจากเขาได้รับผลกระทบจากคุณพ่อ คุณพ่อเขาเป็นคนรับฟังรายการของวิทยุปักกิ่งมานานปี เสร็จแล้วเขาก็รับช่วงฟังจากคุณพ่อ ทำให้เขารู้จักเมืองจีนมากขึ้น แล้วเขาก็เข้าร่วมประกวดข้อเขียน และได้รับรางวัลที่สามค่ะ เขาดีใจมาก และเขียนจดหมายมาบอกเราว่าเขาไปต่อขา จดหมายยังเก็บไว้อยู่เยอะ อย่างเช่นผู้ฟังอีกท่านหนึ่ง จากโผวเล๊ง ที่เป็นผู้ฟังอายุมาก เป็นทหารบกประจำการ เขาบอกว่าคุณพ่อเป็นคนจีน แต่คุณแม่เป็นคนไทย เขาจึงอยากรู้สภาพความเป็นอยู่ของโผวเล๊งในปัจจุบัน ผ.อ.หยาง หุ้ยจวนก็เขียนจดหมายแนะนำโผวเล๊งให้ฟัง เขาดีใจมากค่ะ เอาไปอ่านให้คุณแม่ที่อายุ 96 ปีฟัง และบอกว่า ถ้าคุณพ่อยังอยู่ ถ้าอยู่จะมีอายุกว่า 100 ปีแล้ว จะดีใจมากค่ะ ทั้งนี้แสดงว่ารายการของเราแต่ก่อนทำให้คนจีนที่จากเมืองจีนไปนานรับรู้สภาพของจีนในปัจจุบันมากขึ้น เขายังบอกว่า พอเขาได้รับจดหมาย ก็เหมือนกับรับจดหมายจากญาติที่ห่างไกลกัน จากกันไปนานปี แสดงว่าเขามีจิตใจที่ผูกพันกับจีนมาก หลังจากเขาได้ฟังรายการของเรา
นอกจากนี้ เรายังมีผู้ฟัง เช่น ท่านพลโทกานต์ รัตนวราหะ ท่านก็เคยมาเยือนจีน กลับไปก็ติดตามฟังวิทยุกระจายเสียงปักกิ่ง ท่านก็ฟังมาโดยตลอด และเข้ารวมรายการประกวดข้อเขียนของเรา พอรายการของเรามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปนิดหน่อย ท่านก็ฟังออกได้ เช่นจดหมายฉบับนี้ ท่านพลโทกานต์บอกว่า ผมเองก็ฟังวิทยุปักกิ่งภาคภาษาไทยเวลา 20.30น. เสมอ รู้สึกว่าจัดรายการที่น่าฟังมาก เมื่อวันที่ 1 กันยายนนี้ มีแปลกออกไปนิดหนึ่งคือ เริ่มต้นด้วยการวิจารณ์ แล้วจึงอ่านข่าว (ปกติอ่านข่าวแล้วค่อยมีบทวิจารณ์) ก็ไม่เสียรสชาติประการใด ซึ่งจดหมายฉบับนี้แสดงว่าท่านช่างสังเกตุและเอาใจใส่รายการของเรามากๆ ติดตามข่าวของเราอยู่เสมอค่ะ
อิน: ทราบว่าในส่วนจดหมายจากเมืองไทย มีมาจากทุกจังหวัดของไทย ใช่มั้ยคะ
ซูจิ่น: ใช่ค่ะ อย่างเช่น มีผู้ฟังจากอุดร ก็ติดตามฟังเรื่อย แล้วใครออกข่าวยังไงเขาก็เขียนมา ยังมีคุณซุน จินเลี้ยง ผู้ฟังจากราชบุรี สมัยก่อนจดหมายเขียนด้วยมือ เดี๋ยวนี้คือส่งอีเมล จดหมายจากคุณขวัญพันธุ์ เอื้อเฟื้อ เขียนจดหมายมาทีหนึ่งสามสี่หน้า เล่าถึงการฟังของเขา ความรู้สึก และความดีใจที่ได้รับจดหมายจากเราทุกครั้ง
อิน: ที่สำคัญที่สุดคือ จดหมายแต่ละหน้า แต่หน้าฉบับ สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ฟังตั้งใจที่จะติดต่อ สื่อสาร สะท้อนให้ซีอาร์ไอรับทราบจริงๆ มองดูแล้ว เหมือนกับคนที่สนิทสนมกันมานานปี และเขียนจดหมายมารายงาน หรือเล่าเรื่องต่างๆจากรอบตัวสะท้อนกลับมาให้ซีอาร์ไอได้ทราบ บางท่านแม้ตัวท่านเองจะล่วงลับไปแล้ว แต่รุ่นลูกรุ่นหลานยังสื่อสารกันมาด้วย ใช่มั้ยคะ
ซูจิ่น: ใช่ค่ะ อย่างเช่นลูกสาวของพลโทกานต์ รัตนวราหะ ก็มีจดหมายมาหา เมื่อท่านเสียไปแล้ว ลูกสาวที่พำนักอยู่อเมริกาก็ได้เห็นมีการติดต่อกับซีอาร์ไอ ก็ได้เขียนจดหมายมาบอกว่า คุณพ่อเสียไปแล้ว ถึงแม้ว่าไม่รู้จักกัน แต่เขายินดีที่จะเป็นคนประสานความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ไทยต่ออีก
อิน: ค่ะ อีกส่วนหนึ่งในการทำงาน นอกจากทำงานวิทยุอ่านข่าว แปลข่าวแล้ว ซีอาร์ไอมักจะได้รับหน้าที่สำคัญที่จะเป็นล่าม ในส่วนตรงนี้ มีประสบการณ์และความประทับใจอะไรที่จะเล่าให้ฟังคะ อย่างเช่นมีครั้งหนึ่งที่ชมกันว่า ผู้หญิงจีนต้องดื่มเก่งด้วย ทำนองนี้นะคะ
ซูจิ่น: ดิฉันเคยเป็นล่ามให้พลเอกทวิช เสนีย์วงค์ ณ อยุธยา และเป็นล่ามให้สมเด็จพระเจ้าพี่นางฯค่ะ และคุณกำพล วัชรพล ท่านก็เป็นเพื่อนเก่าของซีอาร์ไอ วิทยุปักกิ่ง ระหว่างการเป็นล่าม คณะของท่านพลเอกทวิชฯก็ส่วนใหญ่เป็นทหาร รู้สึกว่าท่านรู้จักประวัติของจีนมากค่ะ จำได้ว่าพอเดินทางไปเฉิงตู และชมสุสานของขงเบ้ง โจโฉพวกนี้ ตอนนั้นดิฉันเพิ่งจบมาใหม่ๆ บางอย่างยังไม่ค่อยมีความชำนาญเป็นล่าม พอเล่าเรื่องสามก๊ก ท่านพลโทกานต์และพลโทหิรัญก็บอก บางทียังไม่ทันที่จะแปล ท่านก็เล่าเรื่องดีกว่าเราอีก เขาบอกว่า ทหารไทยจะต้องอ่านสามก๊กกัน เล่ากันว่าคนที่อ่านสามก๊กสามรอบ คบกันไม่ได้ แต่ท่านบอกว่าท่านอ่านห้าครั้งแล้ว
อีกอย่างหนึ่ง รู้สึกว่าเวลาเป็นล่าม แขกชาวไทยก็คุยสนุก อย่างเช่นเรื่องดื่มเหล้า ดิฉันเป็นคนกินเหล้าได้บ้างค่ะ เวลานั้นพลเอกทวิชฯมา กินเหล้ากันพอดี ผู้นำที่ไปด้วยเป็นคนกินเหล้าไม่เป็น ก็ให้ดิฉันเป็นตัวแทน พอเขาบอกว่า "กันเปย" ก็ "กันเปย"แทน ท่านก็เลยล้อเล่นกันว่า จีนแดงนี้เก่งหมดทุกอย่าง แม้ว่าผู้หญิงก็ยังกินเหล้าเก่ง เป็นคนคุยสนุกค่ะ
อิน: พอพูดถึงความประทับใจที่ทำงานในภาคภาษาไทยซีอาร์ไอนี้ คุณซูจิ่นมีความประทับใจอะไรบ้างคะ
ซูจิ่น: ความประทับใจในการทำงานตลอดกว่า 30 ปี คือ รู้สึกว่าการที่ได้รับการสนับสนุนและความเอาใจใส่และคำติชมจากผู้ฟัง ให้ความประทับใจแก่ดิฉันมาก ดิฉันมีความประทับใจต่อการนี้ว่าเป็นแรงใจ ดิฉันเคยคุยไว้ว่า การทำงานมากว่า 30 ปี ที่สามารถยืนหยัดในจุดนี้ได้ก็เพราะว่ามีแรงรักกับแรงใจ แรงรักก็คือเรามีความตระหนักซึ้งในความสำคัญของงานของเรา ถึงแม้ว่าจะมีความลำบากหรือมีอะไรเกิดขึ้นเราก็ไม่ย่อท้อ อีกอย่างหนึ่งคือแรงใจ คือได้รับแรงใจจากท่านผู้ฟัง อย่างเช่นจดหมายที่ดิฉันเอามา ดิฉันเชื่อว่าคงไม่เฉพาะดิฉันคนเดียว เชื่อว่าซีอาร์ไอภาคภาษาไทยทุกคน จะได้แรงใจทุกคนค่ะ
อิน: รายการที่คุณซูจิ่นทำยังมีเรื่องของมณีวัจณะ โดยนำเอาวัฒนธรรมจีนหรือตำนานเกี่ยวกับจีนมาแปล แล้วก็อุปมาเทียบเคียงกับสุภาษิตของไทย ซึ่งผู้ฟังติดใจกันมาก อยากจะให้เล่าถึงแรงบันดันใจในเรื่องนี้ค่ะ
ซูจิ่น: คือตอนนั้นคิดว่าประเทศจีนมีประวัติศาสตร์เก่าแก่กว่า 5000 ปี สำนวนของจีนส่วนใหญ่จะเป็นสี่คำ เป็นคำง่ายๆ แต่กินความหมายลึกซึ้งมากค่ะ ทำรายการนี้ นอกจากจะให้ผู้ฟังเรียนถึงความกระทัดรัดของภาษา และจะเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของจีนด้วย เพราะว่าสำนวนทุกเรื่องที่เสนอไป ส่วนใหญ่เป็นสำนวนที่เกิดจากเหตุการณ์ นิทานหรือประวัติศาตร์ของจีน ฉะนั้น จึงคิดว่า ถ้าเราทำรายการนี้ จะทำให้ผู้ฟังเข้าใจและรู้จักกับจีนมากขึ้นในแง่ต่างๆนะคะ แล้วเพื่อให้คนไทยเข้าใจดียิ่งขึ้น ก็พยายามเทียบกับสำนวนไทยค่ะ
อิน: เนื้อหาของนิท่านที่เล่าเป็นการให้ข้อคิดกับคุณฟังและเป็นการให้ความสนุกสนานกับคุณฟัง เมื่อครู่คุณซูจิ่นเล่าถึงสมเด็จพระเทพฯเสด็จเยือนซีอาร์ไอ ได้ทรงให้สัมภาษณ์ว่า ฟังวิทยุปักกิ่งตั้งแต่ 10 กว่าพระชันษา รู้เรื่องนี้แล้ว มีความรู้สึกยังไงบ้างคะ
ซูจิ่น: ก็มีความปิติยินดี ท่านยังถามว่า ถ้าคนรุ่นสมัยนั้นยังอยู่ คงเจ็ดสิบแปดสิบแล้ว ตอนนั้นเป็นรุ่นหง เค่อหาน คุณโจว เซิง คุณมณี และคุณจง เจี้ยนเซิงค่ะ ยังไม่ใช่รุ่นดิฉันค่ะ คือรุ่นสวี่ เหนิงหมิ่น สวี่ เหนิงเฟย และหยาง หุ้ยจวนค่ะ ดิฉันเพิ่งเกษียนมาปีกว่านี้เท่านั้น ตอนนั้นยังไม่ได้มาทำงานในวิทยุ แต่พอได้ยินแล้ว ปลื้มมากที่รู้ว่าพระองค์ท่านรับฟังวิทยุ แสดงว่าพระองค์ทรงสนใจเมืองจีนมาก และแสดงว่ารายการของเราก็คงทำได้ดีนะคะ ท่านจึงติดตามรับฟัง รู้สึกปลื่มปีติจริงๆค่ะ
อิน: ทราบมาว่ายังติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับประเทศไทยอยู่ต่อเนื่อง
ซูจิ่น: ค่ะ ติดตามฟังอยู่ตลอดค่ะ
อิน: ในโอกาสที่จะครบรอบ 60 ปีในวันที่ 10 เมษายนนี้ คุณซูจิ่นจะส่งคำอวยพรให้ภาคภาษาไทยยังไงคะ
ซูจิ่น: ในภาคภาษาไทยที่เราทำงานมา ขอให้ทุกคนมีสุขภาพแข็งแรง และทำงานเพื่อสื่อสาร และเผยแพร่ความรู้ ประวัติต่างๆให้คนไทยมากยิ่งขึ้น อีกอย่างหนึ่ง ในโอกาสนี้ที่ได้มาทักทายกับท่านผู้ฟัง ดิฉันอยากจะเรียนท่านผู้ฟังว่า แรงใจจากท่านผู้ฟังยังคงเป็นของขวัญล้ำค่าแก่ซีอาร์ไอทุกคน อยากจะให้ท่านผู้ฟังสนับสนุนและมีจดหมายถึงภาคภาษาไทยต่อไปเรื่อยๆนะคะ
อิน: ในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญของภาคภาษาไทย คุณซูจิ่นมีข้อเสนออะไรบ้างมั้ยคะ
ซูจิ่น: ยังไม่กล้ารับว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ แต่ทำงานมาหลายปี มีประสบการณ์บ้าง บางทีดิฉันดูเว็บของเรา อยากจะให้แนะนำวรรณคดี วัฒนธรรมจีนให้มากขึ้น เพราะว่าคนต่างชาติเขาสนใจเรื่องนี้ค่ะ ดิฉันคิดว่าเราน่าจะทำข้อมูลที่ถูกต้องมากขึ้นให้คนไทยอ่านค่ะ
อิน: อยากส่งท้ายกับผู้ฟังที่เป็นที่รักอย่างไรบ้างคะ
ซูจิ่น: ขอบคุณท่านผู้ฟังทุกท่านที่ติดตามรายการของเรามาโดยตลอด และหวังว่าจะติดตามรายการของเราตลอดไป และพยายามส่งแรงใจมาให้แก่พวกเราชาวซีอาร์ไอมากยิ่งขึ้น เป็นแรงขับเคลื่อนให้พวกเขาทำงานให้ดียิ่งขึ้น และส่งเสริมงานของเราให้ก้าวหน้าไปมากยิ่งขึ้นค่ะ