อินทนิล: สวัสดีค่ะท่านผู้ชมคะ วันนี้ สถานีวิทยุีซีอาร์ไอภาคภาษาไทยของย้อนอดีต 60 ปีในการก่อตั้งภาคภาษาไทยซีอาร์ไอเมื่อปี 1950 ค่ะ ท่านที่จะย้อนอดีตในวันนี้ เป็นท่านที่เป็นโฆษกเสียงใสของซีอาร์ไอภาคภาษาไทย แต่น่าเสียดายว่า ท่านทำงานอยู่ที่ซีอาร์ไอภาคภาษาไทยแค่ 25 ปี หลังจากนั้น ได้ไปประกอบธุรกิจส่วนตัว อย่างไรก็ตาม ในช่วง 25 ปีของการทำงานที่ภาคภาษาไทยซีอาร์ไอ ท่านผู้นี้มีสิ่งที่ประทับใจมากๆ และได้เก็บประวัติศาสตร์ในการสานสัมพันธ์ไทยจีน หลังจากไทยและจีนมีความสัมพันธ์ทางการทูตกัน 5 ปี มีเสี้ยวประสบการณ์ที่น่าสนใจจากท่านนี้อย่างไรบ้าง? เรามาพบกับคุณติง ฉู่หยุน สวัสดีคะคุณติงคะ
ติง: สวัสดีค่ะ
อินทนิล: คงจะต้องขอความกรุณาเล่าเรื่องการทำงานที่ซีอาร์ไอโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเหตุการณ์สำคัญเมื่อปี 1980 ย้อนอดีตให้ท่านผู้ชมฟังนิดหนึ่งคะ
ติง: ท่านหม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมชมาเยือนประเทศจีน ได้มีโอกาสไปดื่มเหล้า ติดตามท่านไป ท่านหั้ว กั๋วเฟิง ขณะนั้นเป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราว ท่านรองนายกฯหลี่ เซียนเนี่ยนได้พบท่านค่ะ ได้คุยกันอย่างเพื่อนเ่ก่า ท่านยังได้เดินทางไปยูนนาน ไปสิบสองปันนา ผู้ที่ไปต้อนรับท่านนั้นคือชนชาติไต เป็นผู้นำชนชาติไตชื่อ เจ้าคำเมือง อีกท่านคือเ้จ้าองศ์คำ ก็มีรูปเหมือนกันตอนล่องแม่น้ำโขง
อินทนิล: คือช่วงเวลานั้นเนี่ย พี่ติงทำหน้าที่เป็นล่ามให้กับหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช จึงได้ติดตามท่านไปตามสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะเดินทางไปทางใต้ เมื่อมีการเปิดความสัมพันธ์ระหว่างไทยจีน ความเข้าใจระหว่างไทยจีนน่าจะกระจ่างชัดขึ้นในด้านต่างๆ ในช่วงระหว่างนั้นยังจำได้ไหมคะ ในการพบปะพูดคุยระหว่างผู้นำของฝ่ายไทยและฝ่ายจีน พูดคุยเรื่องอะไรเป็นสาระสำคัญคะ
ติง: ก็ท่านคึกฤทธิ์ที่คุยกับท่านผู้ใหญ่ก็เรื่องในสมัยนั้นนะคะ ที่ไปเที่ยวที่ต่างๆ ท่านผู้นำแต่ละที่ก็ช่วยแนะนำเรื่องราวในสถานที่นั้นๆ
อินทนิล: ในขณะที่พี่ทำหน้าที่เป็นล่าม ได้ทำหน้าที่สื่อข่าวกลับเข้ามาเพื่อเผยแพร่ให้กับผู้ฟังให้ฟังด้วยไหมคะ
ติง: ตอนนั้นมีผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวซินหวาตามไปทำหน้าที่นะคะ ดิฉันก็เพียงแต่เป็นล่าม
อินทนิล: สังเกตดูว่า ในช่วงของการเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ ของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้รับความสนใจจากชาวจีนไหมคะ
ติง: สนใจมากอยู่ค่ะ ท่านก็มีความสนใจกับสภาพชีวิตของประชาชนจีนในสมัยนั้น ท่านเห็นที่ปักกิ่ง พอตอนเช้าตื่นขึ้นมา เขาเอารถม้าบรรทุกแตงหรือผักสดเข้ามาแล้วก็เทเป็นกอง ท่านก็ว่า เอนี่ทำไม เขาไม่เอาหีบกระดาษหรืออะไรใส่มันให้เรียบร้อยพวกนี้ เวลาไปเที่ยวที่อื่น ก็เหมือนกัน ท่านก็สนใจอะไรก็ถาม ถามว่าอย่างโน้นอย่างนี้ ก็อธิบายให้ท่านฟัง
อินทนิล: ทราบมาว่า พี่ติงได้รับของขวัญที่สำคัญชิ้นหนึ่งจากหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช พอจะกรุณาเล่าให้ฟังได้ไหมคะ
ติง: ดิฉันก็เคารพท่านอย่างผู้ใหญ่นะ ท่านก็พูดว่ารักอย่างลูกอย่างหลาน ตอนนาทีแรกๆ ท่านก็จะให้นะ ถามว่า อ่านหนังสือของท่านหรือเปล่า ตอบว่าชอบอ่านเรื่องสี่แผ่นดิน ท่านก็เอาหนังสือของท่านแล้วก็เซ็นให้ ก็ขอบคุณท่านมากๆ ตอนที่จะจาก ท่านก็ว่า หนู รักเหมือนลูกเหมือนหลานนะ แล้วก็ถอดนาฬิกาจากมือของท่านให้ไว้เป็นที่ระลึกค่ะ ดิฉันก็เก็บไว้ ไม่ได้เอามาใช้ อยู่ที่ภาคใต้ อากาศมันค่อนข้างชื้น ก็เลยเก็บมานาน
อินทนิล: เป็นของที่ระลึกที่ทรงคุณค่ามากๆ ในหนังสือสี่แผ่นดินที่ให้ ท่านได้เซ็นข้อความให้ด้วยใช่ไหมคะ
ติง: ใช่ค่ะ เซ็นว่า ขอมอบกับคุณติง ฉู่หยุนที่นับถือ ไว้เป็นที่ระลึกแล้วเซ็นชื่อ
อินทนิล: ทำงานที่ซีอาร์ไอภาคภาษาไทย คงเป็น 25 ปีแห่งความภาคภูมิใจและประทับใจ มีเหตุการณ์อะไรที่พี่ติงอยากจะเล่าให้ท่านผู้ชมได้ทราบบ้าง
ติง: อ๋อ ก็ที่ประทับใจมากที่สุด ก็ตอนมาถึงในภาคภาษาไทยใหม่ๆ นะ ก็รู้สึกดีใจมากว่า เราเกิดที่เมืองไทยเป็นลูกจีนก็จริง แต่่ว่ามาเรียนหนังสือที่เมืองจีน ได้มาทำงานในสมัยนั้นเรียกว่าสถานีวิทยุกระจายเสียงปักกิ่ง จะได้เป็นเหมือนสะพานเชื่อมโยงประชาชนประเทศทั้งสอง จะไ้ด้มีความเข้าใจกัน ได้รับรู้สภาพของเมืองจีน ก็รู้สึกดีใจมากที่ได้ทำงานนี้ค่ะ สมัยนั้น เราตื่นเช้าขึ้นมาก็ลงไปฝึกเสียง สมัยนั้นที่สถานีวิทยุเก่านั้นมีสระน้ำพุใหญ่ๆ แต่ละหน่วย สหายที่มาใหม่ก็ลงไปหัดฝึกเสียงตรงสระน้ำพุนั้นก็อ่านออกเสียง "กออออ" "ขออออ" อ่านให้ชัด เวลาเข้าห้องอัดเสียงพวกพี่ๆ เขาก็สอนจับมือสอน
อินทนิล: เคล็ดลับไหมคะี่ที่ต้องฝึกเสียงกับน้ำพุในช่วงเช้าๆ
ติง: ก็พวกโฆษกจีนเขาก็ทำอย่างนี้ พวกนักร้องเขาก็ทำอย่างนี้ ก็รู้สึกว่า ฝึกอย่างนี้ออกเสียงได้ดี เวลาเราอ่านจะได้ไม่ต้องติดขัดเวลาหายใจ
อินทนิล: ตอนเราได้ย้อนกลับมารวมพลกันที่ภาคภาษาไทยซีอาร์ไอในโอกาสจัดงานฉลองครบรอบ 60 ปี ภาคภาษาไทยที่โรงแรม China World Hotel เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา พี่ติงได้มาร่วมงานและเฝ้ารับเสด็จฯด้วย รู้สึกอย่างไงบ้างคะ
ติง: รู้สึกดีใจมากค่ะ ขณะที่สำเด็จพระเทพฯเดินผ่านเสียด๊ายเสียดายที่ไม่ได้เอากล้องติดตัวมาจะได้ถ่ายใกล้ๆ สมัยเรียนหนังสือนั้น โรงเรียนติดกับพระราชวัง สมัยนั้นเคยเห็นท่านตอนที่ยังเยาว์วัย เคยมองข้ามรั้วไปดู เวลาเรากลับไปเี่ยี่ยมญาติๆ ที่เมืองไทย ดูโทรทัศน์ รู้สึกว่าท่านรักประเทศจีนรักวัฒนธรรมจีน ท่านพูดภาษาจีนเก่ง เขียนพู่กันจีนก็เขียนดี รู้สึกตื่นเต้นมากดีใจมากค่ะ
อินทนิล: จากสมัยเรียนหนังสือจนกระทั่งปีนี้น่าจะประมาณสัก 50 กว่าปีไหมคะ
ติง: ก็ปีนี้ 65 สมัยนั้นก็อายุ 11-12 ก็ 50 กว่าปี
อินทนิล: เป็นครั้งแรกที่มีโอกาสเฝ้ารับเสด็จฯ
ติง: เฝ้ารับเสด็จสมเด็จพระเทพฯครั้งแรก เฝ้ารับเสด็จครั้งแรกก็คือสมัยในหลวงทรงผนวชที่วัดบวรนิเวศวิหาร สมัยนั้นเคยไปนั่งเฝ้ารับเสด็จ
อินทนิล: มองในเชิงของภาคธุรกิจแล้วความสัมพันธ์ระหว่างไทยจีนขณะนี้เป็นอย่างไรบ้างคะ
ติง: รู้สึกดีใจมากที่ความสัมพันธ์มิตรภาพไทยจีนได้ขยายกว้างและดีขึ้นเรื่อยๆ เดี๋ยวนี้ดิฉันอยู่ฮ่องกง คนไทยเยอะนะคะ มีไมตรีจิตกันเหมือนพี่น้อง
อินทนิล: ถ้าเทียบกันแล้วพี่ติงก็เป็นผู้ที่โชคดีเหมือนเคยทำงานอยู่ในบ้านหลายหลังด้วยกัน เมื่อกลับมาฉลองครบรอบ 60 ปีของบ้านหลังหนึ่งก็คือซีอาร์ไอภาคภาษาไทยพี่ติงจะอวยพรอย่างไรบ้างนะคะ
ติง: ขอให้งานของเราเจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นนะคะ