มุมมองของนิพิฐพนธ์ พงศ์ภมร (เบนนี่)
เซินเจิ้น ทางเลือกที่ดีกว่า
เมื่อวานนี้ พูดถึงสามสิบปีเซินเจิ้น นอกจากจะเป็นความสำเร็จในการเปิดระบอบทุนนิยมของจีนแล้ว ยังได้พูดถึงคำว่า สร้างความอู้ฟู่ให้กับคนจำนวนมาก แม้กระทั่งคนระดับรากหญ้าที่ถูกเรียกว่าเป็นแรงงานต่างถิ่น เป็นที่ทราบกันดีว่า ยุคที่เปิดตัวเซินเจิ้นใหม่ๆ ผู้คนระดับรากหญ้าเดินทางเข้าเซินเจิ้นหวังมาหางาน หรือเรียกว่ามาขุดทอง
จากความมานะอดทน สู้ชีวิต ทำให้พวกรากหญ้าเหล่านี้กลายเป็นเศรษฐีหลายคน บางคนมีทรัพย์สินกว่า 20 ล้านหยวน ได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์อดีตแรงงานต่างถิ่นที่ได้เข้ามาเซินเจิ้นเมื่อปี 1985 เขารำลึกความหลังให้ฟังว่า เดินทางมาจากไห่หนาน ช่วงนั้นจำได้ว่า ขอเพียงแต่ได้งานทำ แต่ก็ไม่มีงานให้ทำ ก็ได้อาศัยพี่สาวที่ได้ย้ายมาอยู่ที่นี่ก่อนแล้ว จนได้ทำงาน แม้รายได้ในขณะนั้นยังไม่มากนัก แต่ก็ยังดีกว่าอยู่ที่บ้านที่ชนบท เพราะที่นั่นแร้นแค้น ไม่มีทั้งเงินและอาหาร มีความเป็นอยู่ที่อัตคัด ลำบากมาก
หลังจากสู้ชีวิตอยู่พักใหญ่ก็ได้งานทำ ชีวิตเริ่มดีขึ้นเพราะมีรายได้ จากนั้นก็แต่งงาน มีครอบครัว วันหนึ่ง ทางราชการมีตำแหน่งงานว่าง วิถีชีวิตก็เปลี่ยนไปอีกครั้งหนึ่ง จากคนรากหญ้าที่ขอแค่มีงานทำ ได้เข้าสู่งานราชการ หลังจากเก็บหอมรอมริบก็ได้มีโอกาสมีที่อยู่เป็นของตัวเอง ชีวิตในเซินเจิ้นเริ่มดีขึ้นเมื่อปี 1990 ทรัพย์สินมากขึ้น นอกจากมีบ้านของตัวเองแล้ว ยังสามารถซื้อบ้านให้เช่าเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง จากวันนั้นถึงวันนี้ นอกจากจะภูมิใจในความเป็นอยู่แล้ว สิ่งหนึ่งที่จะไม่ลืมก็คือ ถ้าไม่มีท่านเติ้งเสี่ยวผิง เขาก็จะไม่มีวันนี้ วันที่เซินเจิ้นให้โอกาสแก่เขา
นี่ก็เป็นการพูดคุยระหว่างสื่อไทยกับชาวเซินเจิ้น ผู้สร้างฐานะด้วยเงินติดตัวเพียงสองหยวน แต่วันนี้วันที่เซินเจิ้นครบรอบสามสิบปี เขามีทรัพย์สมบัติยี่สิบล้านหยวน กับความคิดที่อยากให้จีนเปิดเสรีทั่วประเทศ
นั่นก็เป็นความหวังของแรงงานต่างถิ่นที่มาปักหลัก สู้ชีวิต จนประสบความสำเร็จอยู่ในเซินเจิ้น