อาคารศาลาไทยในงานเวิลด์เอ็กซ์โป 2010 ที่เซี่ยงไฮ้ (1)
  2010-10-13 15:32:19  cri

มีประเทศและองค์การระหว่างประเทศต่างๆ เข้าร่วมงานเวิลด์เอ็กซ์โป 2010 ที่เซี่ยงไฮ้ถึง 242 ราย แยกเป็น 192 ประเทศ และ 50 องค์การระหว่างประเทศ ซึ่งทำลายสถิติงาน World Expo ที่เมือง ฮันโนเวอร์ (Hanover) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ที่มีประเทศและองค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วม 172 ราย

รัฐบาลไทยได้ตอบรับเข้าร่วมงานเวิลด์เอ็กซ์โป 2010 ที่เซี่ยงไฮ้โดยมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นหน่วยงานหลักในการเข้าร่วมงาน ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม – 31 ตุลาคม 2010

แนวคิดในการเข้าร่วมงานมหกรรมโลกของประเทศไทยครั้งนี้ นําเสนอในหัวข้อ "ความเป็นไทย วิถีแห่งความยั่งยืนของชีวิต" ด้วยการจัดแสดงนิทรรศการในอาคารศาลาไทยรวมทั้งจัดการแสดงด้านวัฒนธรรมต่างๆ ในพื้นที่ 3,117 ตารางเมตร

อาคารศาลาไทยเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ ที่ส่วนยอดของหลังคามีเครื่องยอดที่บรรพบุรุษของไทย ได้รับอิทธิพลความเชื่อมาแต่โบราณ เสมือนเป็นการถวาย เป็นพุทธบูชาและเทวะบูชา และเป็นการสร้างความโดดเด่นให้กับอาคารศาลาไทยในทุกมุมมอง

อาคารศาลาไทยได้มีการออกแบบโดยคำนึงความสัมพันธ์ไทย-จีน ดังนั้นจึงได้มีการจำลอง "หอระฆังมิตรภาพไทย-จีน" ซึ่งราชอาณาจักรไทยได้มอบให้กับสาธารณรัฐประชาชนจีน ในวาระครบรอบ 30 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการฑูต เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2005 เพื่อถ่ายทอดและแสดงถึงสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพ และสายสัมพันธ์อันยาวนานระหว่าง 2 ชาติ

นอกจากนั้นยังมีสัญลักษณ์อื่นๆ อาทิ ประติมากรรมมังกรพันพญานาค รวมถึงยักษ์อินทรชิต และลั่นถัน ซึ่งแสดงถึงสัญลักษณ์ของไทยและจีน ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าอาคารศาลาไทย รวมถึงจัดแสดงให้เป็นส่วนบอกเล่าเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-จีนในห้องจัดนิทรรศการห้องที่ 2 อีกด้วย

นอกอาคารศาลาไทย ยังมีศาลากลางน้ำ ซึ่งมีความวิจิตรงดงามมีลักษณะเป็น "ศาลาจัตุรมุข" เปิดโล่งทั้ง 4 ด้าน ประดับตกแต่งด้วยงานศิลป์ไทย วิถีชีวิตไทย ที่มีความผูกพันกับสายน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงศิลปวัฒนธรรมของไทยให้เป็นที่ประจักษ์ แก่ผู้เข้าชมศาลาไทยเป็นอย่างยิ่ง

การออกแบบสถาปัตยกรรมของอาคารศาลาไทยในงานเวิลด์เอ็กซ์โป 2010 ที่เซี่ยงไฮ้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อนำเสนอ "ประเทศไทย" และแสดง "ความเป็นไทย" ให้นานาประเทศได้รู้จัก ในฐานะประเทศที่มีเอกลักษณ์และวัฒนธรรมอันเก่าแก่ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และนำเสนอให้เห็นถึงความพร้อมของประเทศที่จะพัฒนา และก้าวทันกระแสโลกาภิวัตน์

การออกแบบศาลาไทยครั้งนี้ ภายใต้แนวความคิด ความเป็นไทย ที่ต้องการแสดงให้เห็นถึงการใช้ชีวิตวิถีไทยที่ทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติคุ้นเคยเป็นอย่างดี นำมาเรียงร้อย ให้เป็นเรื่องราว รวมทั้งได้หยิบยกเอาสถาปัตยกรรม และศิลปะของไทยที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น นำมาผสมผสานในการวางผัง และก่อสร้างอาคารศาลาไทย

การออกแบบภายนอกอาคารศาลาไทย ได้เน้นความสอดคล้องกับแนวความคิดหลักในการจัดแสดงนิทรรศการ ด้วยการผสมผสานศิลปะไทยให้เข้ากับอาคาร เพื่อสร้างเอกลักษณ์ที่โดดเด่นให้แก่ศาลาไทย อันเป็นสัญลักษณ์ของชาติที่งดงามด้วยศิลปะอันวิจิตรคู่กับประวัติศาสตร์อันยาวนาน รวมทั้งการบูรณาการให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน

การออกแบบและตกแต่งภายในศาลาไทย จะเน้นการตกแต่งด้วยลวดลายไทย ใช้สีสันที่มีความโดดเด่น เช่น สีแดง และสีทองมาใช้ตกแต่งส่วนประกอบต่างๆ ภายในอาคารอย่างวิจิตรตระการ เพื่อสร้างบรรยากาศความเป็นไทยตลอดทั้งอาคาร และห้องจัดแสดงนิทรรศการแต่ละห้อง

นอกจากนี้ ในส่วนของการแสดงนิทรรศการยังได้สร้างความแปลกใหม่ภายใน โดยใช้เทคโนโลยีในการนำเสนอ เพื่อให้ผู้เข้าชมนิทรรศการได้มีส่วนร่วม ตื่นตา ตื่นใจ และได้ประสบการณ์ที่แปลกใหม่ ให้ผู้เข้าชมสัมผัสกับประเทศไทยในแง่มุมที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040