วันสาดน้ำเป็นเทศกาลที่มีมาแต่ดั้งเดิมของชนเผ่าไต อาชาง เต๋ออ๋าง ปู้หล่าง และหว่า ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในมณฑลยูนนาน ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน
ชนเผ่าไตเรียกวันปีใหม่ว่า "จิงปีใหม่" ดังนั้น วันสาดน้ำจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งการสับเปลี่ยนระหว่างปีเก่ากับปีใหม่ตามปฏิทินชาวไต ซึ่งตรงกับกลางเดือนเมษายน หรือเดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติของเผ่าไต โดยมีระยะเวลา 3-5 วัน
ในวันแรกของเทศกาล ผู้คนจะจัดดอกไม้สดไปไหว้พระที่วัดตั้งแต่เช้าตรู่ และก่อเจดีย์ทราย 4-5 องค์ แล้วนั่งล้อมรอบเจดีย์ฯ ฟังเทศน์ หลังจากนั้น ก็อันเชิญพระพุทธรูปมาประดิษฐานกลางแจ้ง สตรีในหมู่บ้านจะหาบน้ำใสสะอาดมาสรงน้ำพระ จากนั้น หนุ่มๆ สาวๆก็สาดน้ำเล่นกันอย่างสนุกสนาน ถือเป็นการเริ่มต้นของกิจกรรมสาดน้ำ ผู้คนทั้งหลายใช้ภาชนะต่างๆ ทั้งกะละมัง และถังใส่น้ำเดินไปตามตรอกเล็กซอยน้อย เจอใครก็สาดน้ำใส่ ไม่ว่าเป็นคนรู้จัก หรือเป็นแปลกหน้าก็ตาม เนื่องจากเชื่อว่า เป็นน้ำสิริมงคล และน้ำให้พร สามารถจขจัดโรคภัยไข้เจ็บได้ ไม่ว่าใครก็ตาม แม้ถูกสาดน้ำจนเปียกทั้งตัว ก็ยังคงดีอกดีใจอย่างเต็มที่
นอกจากสาดน้ำแล้ว ยังมีกิจกรรมการร่วมร้องรำทำเพลงด้วย ไม่ว่าชายหญิงหรือเด็กเล็ก ต่างสวมเสื้อผ้าที่มีสีสันสดใส ล้อมกันเข้าเป็นวง เต้นระบำตามจังหวะเพลงของกลองพื้นเมือง บางคนเต้นระบำมนกยูงรำแพน บางคนก็เต้นตามใจชอบ ร้องเพลงไปรำไป เสียงเพลงไพเราะน่าฟัง จังหวะจะโคนก็คึกคัก สร้างบรรยากาศสนุกสนานครื้นเครงยิ่ง บางทียังร้องประสานเป็นเสียงเดียวกันว่า " สวย สวย สวย" เพิ่มสีสันให้บรรยากาศ
ช่วงเทศกาลสาดน้ำ ยังมีการแข่งเรือมังกรในแม่น้ำล้านช้าง โดยเรือแข่งถูกประดับประดาด้วยดอกไม้หลากสี เป็นรูปลักษณ์มังกร นกยูง และปลาตัวใหญ่ เป็นต้น ผู้แข่งที่เป็นหนุ่มๆ สาวๆ ร่วมแรงร่วมใจพายเรือไปตามสายน้ำ ผู้ชมที่อยู่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำต่างตีฆ้องตีกลอง ส่งเสียงเชียร์กันดังกึกก้อง หลังการแข่งขันสิ้นสุดลงแล้ว ก็พากันดื่มสุราฉลองรางวัล
ยามหัวค่ำ หมู่บ้านต่างๆ มีการจุดบั้งไฟ นับเป็นประทัดพื้นบ้านของชนเผ่าไต วิธีทำคือ นำไม้ไผ่ยาวลำหนึ่งอัดดินระเบิดเข้าไปพร้อมชนวน แล้วนำไปวางไว้บนแท่นสูงๆ จากนั้นก็จุดชนวนให้ระเบิด ลำไม้ไผ่ก็จะทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าดุจดั่งจรวด พร้อมจุดดอกไม้ไฟกลางลาน สร้างภาพที่สวยสดงดงามมาก เพิ่มสีสันให้ท้องฟ้าในเทศกาล คนที่จุดบั้งไฟสูงที่สุดจะได้รับคำชมเชย และได้รับเงินรางวัลด้วย
ช่วงวันสาดน้ำ ยังมีการโยนลูกช่วง ซึ่งเป็นรายการสำหรับหนุ่มๆสาวๆ เพื่อหาคู่ พอถึงยามนี้ หนุ่มสาวที่ยังไม่มีคู่ ในแต่ละหมู่บ้านหรือหมู่บ้านใกล้เคียงจะแต่งชุดสวยสดใสมาชุมนุมกันที่ลานหน้าหมู่บ้าน แล้วแบ่งฝ่ายชายหญิง ยืนเรียงหันหน้าเข้าหากัน โดยห่างกัน 7-10 เมตร แล้วโยนลูกช่วงให้กันและกัน ลูกช่วงทำจากห่อผ้ารูปกระจับบรรจุเมล็ดฝ้าย หรือเมล็ดต้นหญ้าต่างๆ แรกเริ่มนั้นเป็นการโยนเล่นกันไปมาอย่างไม่มีจุดหมาย กระทั่งพบคู่แล้ว สองฝ่ายจึงจงใจโยนให้กันและกัน จากนั้น ค่อยๆ ถอยห่างออกจากวงไปหาสถานที่แห่งใหม่ พูดคุยทำความรู้จักกัน นี่เป็นรูปแบบแสดงความรักอย่างหนึ่งของหนุ่มๆ สาวๆชาวไตในการเลือกคู่
นอกจากกิจกรรมดังกล่าวที่มีมาแต่ดั้งเดิมแล้ว ยังมีงานแสดงสินค้าตามชายแดน โดยมีพ่อค้าแม่ค้าของไทยมาขายสินค้าที่มีเอกลักษณ์ โดยจัดเป็นเวลา 3 วันในช่วงวันสาดน้ำ
(TON/DAI)