ลักษณะพิเศษของพุทธศาสนาในจีน
  2012-04-19 18:43:26  cri

ชิว ซูหลุน

ประเทศอินเดียอันเป็นแหล่งกำเนิดของพุทธศาสนา พุทธศาสนาได้ผ่านระยะแห่งความ เจริญรุ่งเรืองมา 3 ระยะด้วยกัน คือ

1. ระยะความรุ่งเรืองของพุทธศาสนานานานิกายในสาวกยาน ในช่วง 5 ศตวรรษหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพาน

2. ระยะความรุ่งเรืองของพุทธศาสนาฝ่ายลัทธิมหายาน

3. ระยะความรุ่งเรืองของพุทธศาสนาฝ่ายลัทธิตันตระยาน

ส่วนในจีนนั้นพุทธศาสนาหาได้มีวิวัฒนาการตามขั้นตอนพุทธศาสนาในอินเดียไม่ ในจีนพุทธศาสนาแพร่ขยายออกไปพร้อม ๆ กับการแปลพระคัมภีร์ต่าง ๆ สู่ภาคภาษาจีนในช่วงที่พุทธศาสนาเริ่มแพร่เข้าสู่จีนนั้น เป็นช่วงที่พุทธศาสนามหายานกำลังเจิรญ รุ่งเรืองอยู่ในอินเดีย ดังนั้น พุทธศาสนาที่แพร่เข้าสู่จีนนั้น จึงเข้ามาพร้อม ๆ กันทั้งมหายานและหินยาน แต่ที่มีอิทธิพลต่อชาวจีนคือลัทธิมหายาน ดังจะเห็นได้จากตัวเลขที่ว่า ตั้งแต่ปลายราชวงศ์ฮั่น จนถึงราชวงศ์ซ่ง (ซ้อง) ซึ่งนับได้เป็นเวลาพันห้าร้อยปี ได้มีการถ่ายทอดพระคัมภีร์ต่าง ๆ สู่ภาคภาษาจีนถึง 6,000 กว่าหมวด คัมภีร์เหล่านี้เป็นคัมภีร์มหายานเกือบทั้งหมด มีข้อที่น่าสังเกตข้อหนึ่ง คือ คัมภีร์ต่าง ๆ ที่มหายานในอินเดียยกย่องว่าสำคัญยิ่งยวด เช่น คัมภีร์มหาปรัชญาปารมิตาสูตร คัมภีร์มาธยมิกศาสตร์ของนิกายศูนยวาทิน กับคัมภีร์สันธินิรโมจนสูตร และคัมภีร์โยคาจารภูมิศาสตร์ของนิกายวิชญาณวาทินนั้น กลับไม่ได้รับความสนใจนักในจีน นิกายตันตระซึ่งพระวัชรโพธิและพระอโมฆวัชรนำเข้าสู่จีนในปี ค.ศ. 716 นั้น ก็ไม่ได้มีวิวัฒนาการเท่าที่ควร ตรงกันข้าม พระสูตรต่าง ๆ ที่ถือกันว่าไม่ค่อยสำคัญในอินเดีย เช่น มหาปรินนิรวาณสูตร วิมลเกียรตินิเทศสูตร สัทธรรมปุณฑริกสูตร พุทธาวตังสกมหาไวปุลยสูตร ลังกาวตารสูตร อมิตาภะสูตร (จุลสุขาวตีวยูหสูตร) กลับได้รับยกย่องบูชาอย่างสูงและเป็นที่เชื่อถือเลื่อมไสในหมู่พุทธศาสนิกชนในจีน ด้วยเหตุนี้ นิกายสัทธรรมปุณฑริก (เทียนไทจง) นิกายอวตังสก (หัวเอี้ยนจง) นิกายสุขาวดี (จิ้งถู่จง) และนิกายฌาณหรือเซ็น (ฉันจง) ซึ่งนับถือบูชาพระสูตรใดพระสูตรหนึ่งที่กล่าวมานี้ จึงมีวิวัฒนาการรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วและกลายเป็นนิกายที่สำคัญที่มีผู้นับถือศรัทธายิ่งกว่านิกาย อื่น ๆ ซึ่งมีอยู่มากนิกายด้วยกันในจีน ดังนั้นพุทธศาสนาในจีน ถึงแม้ว่าจะเป็นศาสนาที่แพร่เข้าไปจากอินเดีย แต่อรรถสาระและภาพพจน์ก็มีลักษณะแตกต่างไป จากพุทธศาสนาในอินเดียมาก งานเขียนชิ้นนี้ มีวัตถุประสงค์ที่จะนำเสนอลักษณะพิเศษของพุทธศาสนาในจีนว่ามีอะไรบ้าง และอะไรเป็น รากฐานที่ก่อให้เกิดลักษณะพิเศษเหล่านี้ขึ้น

ลักษณะพิเศษ 3 ประการของพุทธศาสนาในจีน

ลักษณะพิเศษของพุทธศาสนาในจีน แบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะดังนี้

1.ลักษณะประนีประนอมกับลัทธิ – ศาสนาอื่น

2.ลักษณะปรองดองระหว่างพุทธนิกายด้วยกัน

3.ลักษณะความเรียบง่าย

ลักษณะประนีประนอมกับลัทธิ – ศาสนาอื่น

ในประเทศจีน ถ้าจะพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาพุทธ กับลัทธิขงจื้อและศาสนาเต๋าแล้ว จะเห็นได้ว่าพุทธเป็นศาสนาที่มีลักษณะประนีประนอมกว่าอีก สองศาสนาของจีนเอง วิวัฒนาการเป็นพัน ๆ ปีของพุทธศาสนาในจีน ทำให้สามารถมองเห็นลักษณะนี้ของพุทธได้อย่างชัดเจน

พุทธศาสนาเมื่อแรกแพร่เข้าสู่จีนนั้น ต้องประสบอุปสรรครอบด้าน ต้องปะทะขับเคี่ยวและต่อสู้กับอารยธรรมดั้งเดิมของจีน กับอำนาจอันล้นฟ้าของจักรพรรดิ กับทฤษฎีและหลักปรัชญาของขงจื้อและศาสนาเต๋าตลอดมา แต่ถ้ามองโดยลักษณะรวมแล้ว จะเห็นว่า ชาวพุทธในจีนจะใช้วิธีประนีประนอมกับฝ่ายตรงข้าม แล้วค่อย ๆ แทรกตัวเองเข้าเป็นวัฒนธรรมส่วนหนึ่งของจีน มากกว่าที่จะปะทะกันถึงในขั้นแตกหัก ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ตลอดช่วงระยะเวลาเกือบสองพันปีที่ผ่านมา นอกจากในสมัยราชวงศ์สุยและถัง (ค.ศ. 581–907) ซึ่งเป็นสมัยที่พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองสูงสุด มีความเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่แล้ว ในรัชสมัยอื่น ๆ พุทธศาสนาจะอยู่ในฐานะเป็นเพียงส่วนประกอบส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมจีนเท่านั้น

ความหมายของคำว่าประนีประนอมในที่นี้ หมายถึงการยอมรับ การยินยอมคล้อยตามแนวคิดและทัศนคติจากภายนอก ซึ่งก็คือหลักทฤษฎีของขงจื้อและเต๋านั่นเอง พุทธศาสนาทำการประนีประนอมกับแนวคิดภายนอก ได้ดำเนินคู่ขนานไปกับการเปลี่ยนแปลง ของกระแสแนวคิดของสังคมแต่ละสมัย ดังนั้นจึงมีลักษณะของยุคสมัยอย่างเด่นชัด ดังเช่น ในสมัยฮั่นตะวันออก (ค.ศ.25–220) ถึงสมัยสามก๊ก (ค.ศ.220–280) เป็นช่วงที่ไสยศาสตร์ของเต๋าเจริญรุ่งเรืองมาก ชาวพุทธในจีนรวมทั้งพระอาจารย์ที่เดินทางเข้า ไปจากเมืองพุทธอื่น ๆ ได้พยายามศึกษาไสยศาสตร์ในยุคนั้นไว้เพื่อเป็นเครื่องมือในการดึงดูดใจผู้คนให้เกิดความสนใจในพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาใหม่ที่เพิ่งเผยแพร่เข้าไป พอเข้าสู้ยุคราชวงศ์จิ้น (ค.ศ.256–420) กับราชวงศ์หนานเป่ยเฉา (ค.ศ.420–589) ปรัชญาเสียนเซียะได้เข้าแทนที่ไสยศาสตร์เต๋า ชาวพุทธในจีนก็พยายามปรับปรุงตนให้สอดคล้องกับปรัชญาของเสียเซียะด้วยการนำเอาแนวคิด คำศัพท์ต่าง ๆ ของเสียเซียะมาอรรถาธิบายหลักปรัชญาปารมิตาสูตร

การนำเอาหลักทฤษฎีความคิดของเต๋าและขงจื้อมาอรรถาธิบายหลักทฤษฎีและปรัชญาของพุทธนั้น มีให้เห็นอยู่ทั่วไป เช่น การเอาหลัก "อู๋อุ๋ย" ซึ่งมีความหมายว่าการคล้อยตามความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติมาอธิบายหลักนิพพานของพุทธ ซึ่งในทางเป็นจริงแล้ว ปรัชญาทั้งสองข้อนี้แตกต่างกันมาก แต่ชาวพุทธในจีนในสมัยนั้นก็พยายามที่จะอรรถาธิบายปรัชญาพุทธด้วยวิธีนี้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ตนเอง ปักหลักลงได้บนแผ่นดินใหม่ผืนนีให้ได้ นักพุทธศาสตร์สมัยนั้น เวลาถ่ายทอดหรือเรียบเรียงพุทธคัมภีร์ออกสู่ภาคภาษาจีน ก็จะพยายามปรับให้ไม่ขัดต่อหลักของ ขงจื้อ ตัวอย่างเช่นในสิคาโลวาทสูตร ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูก พี่กับน้อง ครูกับศิษย์ สามีกับภรรยา นายกับบ่าวว่า ทั้งสองฝ่ายมีความเสมอภาคกัน เช่นนายกับบ่าว นายต้องให้ความนับถือบ่าว บ่าวต้องจงรักภักดีต่อนาย เป็นต้น แต่เมื่อพระอาจารย์อันลิเกาพระภิกษุชาวปาเธียร์แปลมาถึงข้อความตอนนี้ ก็ได้ตัดเนื้อหานี้ออก ทั้งนี้เพราะทัศนคติที่ว่านี้ขัดต่อความรับรู้ในความสัมพันธ์เหล่านี้ว่า ต้องมีลดหลั่นต่ำสูงตาม ประเพณีจีน

นอกจากดำเนินนโยบายประนีประนอมดังได้กล่าวมาแล้ว ชาวพุทธในจีนก็ยังได้สร้าง หลักปรัชญาขึ้นใหม่ตามระบบความคิดดั้งเดิมของจีนเองอีกด้วย เช่น หลักทฤษฎีที่ว่า "สรรพสัตว์มีพุทธภาวะอยู่ด้วยกันทุกตัวตน แม้พวกอิจฉันติกะ ก็สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าได้ในที่สุด" หลักทฤษฎีนี้แม้จะมีอยู่จริงในมหาปรินิรวาณสูตร แต่ว่าก่อนที่พระสูตรนี้จะแพร่เข้าสู่จีน พระอาจารย์เต้าอันซึ่งมีชีวิตอยู่ในสมัยราชวงศ์จิ้นตะวันออก ( ค.ศ. 317-420) ก็ได้เสนอทฤษฎีนี้ขึ้นก่อนแล้ว โดยได้รับอิทธิพลจากหลักทฤษฎีของขงจื้อที่ว่า "ทุกคนล้วนเป็นเหยาและซุ่น" ﹡

หากจะถามว่าทำไมชาวพุทธในจีนต้องใช้นโยบายประนีประนอมเช่นนี้ คำตอบก็คือเพราะ จีนเป็นชาติที่มีอารยธรรมอันรุ่งเรืองเป็นปึกแผ่น เป็นตัวของตัวเองอย่างมั่นคงเหนียวแน่น การปรับตนเองให้สอดคล้องกับประเพณี แนวคิดต่าง ๆ ที่มีอยู่เดิม ย่อมจะได้ผลกว่าการใช้วิธีปะทะกันจนถึงขั้นแตกหัก การสามารถรวมตัวเองเข้ากับวัฒนธรรมดั้ง เดิมของจีนจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมจีนเคียงบ่าเคียงไหล่กับลัทธิขงจื้อและศาสนาเต๋าจึงเป็นคำตอบที่มีน้ำหนักที่สุด

ลักษณะปรองดองระหว่างพุทธนิกายด้วยกัน

ลักษณะนี้ก็เป็นลักษณะประนีประนอมชนิดหนึ่ง แต่เป็นการประนีประนอมภายในของ พุทธเอง การแพร่เข้าสู่จีนพร้อม ๆ กันทั้งมหายานและหินยาน ทำให้เกิดพุทธนิกายต่าง ๆ ขึ้นมากมาย เฉพาะนิกายสำคัญ ๆ ของฝ่ายมหายาน (ไม่นับสายตันตระ) ก็มีสิบกว่านิกายด้วยกัน นิกายต่าง ๆ เหล่านี้ แม้จะมีความขัดแย้ง มีปฏิกิริยาตอบโต้กันบ้าง แต่ก็มิได้ดุเดือดรุนแรงอย่างไร ตรงข้ามกับพุทธนิกายต่าง ๆ ในอินเดีย ซึ่งจะปฏิกิริยาต่อฝ่ายตรงข้ามอย่างรุนแรง จนบางครั้งมีการวางเดิมพันด้วยชีวิตก็มี ส่วนชาวพุทธในจีนบางคนอาจนับถือบูชาพุทธนิกาย

พร้อมกันทีเดียวสองสามนิกายก็ถือเป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่มีอยู่ทั่วไป

ลักษณะสำคัญที่ส่อให้เห็นถึงความปรองดองของพุทธนิกายต่าง ๆ ในจีนคือ การร่วมมือทำการวินิจฉัย จัดพระสูตรต่าง ๆ ให้เป็นหมวดหมู่ และจัดอันดับตามความสำคัญที่ลดหลั่นกันไป การวินิจฉัยและจัดอันดับพระสูตรนี้ในภาษาจีน เรียกว่า "พั่นเจี้ยว" การวินิจฉัยหรือพั่นเจี่ยวนี้ได้กระทำกันอย่างเคร่งครัด รัดกุม โดยถือหลักว่า พระสูตรต่าง ๆ นั้นเป็นพุทธวจนะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในวาระสถานที่และผู้ฟังที่แตกต่างกันไปจึงมีความ แตกต่างกันอันเนื่องด้วยวาระสถานที่และผู้ฟังที่แตกต่างกัน ดังนั้นการจัดอันดับความสำคัญมาก น้อย ก็จะตั้งอยู่บนพื้นฐานของการยอมรับกันเป็นเอกฉันท์ว่า พระสูตรต่าง ๆ ทั้งหมดนี้เป็นพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น การวินิจฉัยและจัดอันดับความสำคัญ ให้กับพระสูตรต่าง ๆ นี้ในอินเดียก็เคยทำไว้เหมือนกัน แต่ไม่ได้ทำกันจริงจังเหมือนดั่งในจีน และแตกต่างกันมากจนเกือบจะเป็นตรงข้ามกับจีนทีเดียว

หลังสมัยราชวงศ์ถัง พุทธศาสนาในจีนได้พัฒนาไปสู่การรวมตัวของพุทธนิกายต่าง ๆ การรวมตัวนี้เริ่มจากสำนักนิกายฌาน (เซ็นหรือฉันจง) ก่อน ด้วยการเผยแพร่ทฤษฎีฌานแขนงต่าง ๆ แท้จริงแล้วมีรากฐานความคิดอันเดียวกัน เมื่อนิกายฌานเริ่มรวมตัวกันแล้วต่อมาก็เป็นการร่วมตัว ของนิกายต่าง ๆ เข้ากับนิกายสุขาวดี และสุดท้ายเป็นการรวมตัวกันครั้งใหญ่ของนิกายต่าง ๆ โดยมีฌานและสุขาวดีเป็นศูนย์รวม

การประนีประนอมกันภายนอก และการปรองดองกันภายในในพุทธเอง ได้สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดและการแก้ปัญหาอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวจีน

ลักษณะความเรียบง่าย

ความเรียบง่ายก็เป็นลักษณะพิเศษอีกลักษณะหนึ่งของพุทธศาสนาในจีนและเป็นปัจจัย สำคัญที่สุดปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พุทธศาสนาอันเป็นศาสนาของชาวต่างชาติ สามารถหยั่งรากลงบน

ผืนแผ่นดินจีน

ความเรียบง่ายในที่นี้หมายถึง ความเรียบง่ายในวินัย และอรรถต่าง ๆ ในพุทธศาสนา พุทธศาสนาเมื่อแรกแพร่เข้าสู่จีนนั้น ในความรู้สึกของคนจีนทั่วไป จะรู้สึกว่ามีความยากยิ่งที่จะเรียนรู้หรือเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นในด้านบำเพ็ญตบะฌาน ในด้านการเรียนรู้อรรถคำสอนต่าง ๆ หรือในด้านการใช้ภาษา ก็ดูยากที่จะเข้าใจถ่องแท้ หรือปฏิบัติตามให้ถูกต้อง ที่เป็นเช่นนี้เพราะขัดแย้งกับนิสัยของความเรียบง่ายของชาวจีน จึงทำให้พุทธนิกายต่าง ๆ ที่ไม่ได้ปรับปรุงตนเองให้เรียบง่ายนั้นยากที่จะดำรงอยู่ได้ อาทิ นิกายโยคาจารที่พระถังซำจั๋งอาราธนาเข้าไปจากอินเดียนั้น เพราะความที่ท่านเคร่งครัดในระเบียบ วินัยและอรรถคำสอนต่าง ๆ ตามแบบดั้งเดิมของอินเดีย และไม่คิดที่จะปรับปรุงให้เรียบง่ายยิ่งขึ้นไปอีก โดยเฉพาะนิกายฌานและนิกายสุขาวดีได้ปลดตัว

เองจากวินัยและพิธีปฏิบัติทางศาสนาอันสลับซับซ้อนทั้งปวงจนหมดสิ้น นิกายฌาน (ฉันจง) ยึดหลักธรรมที่ว่า การบรรลุสู่พุทธภาวะจะกระทำได้โดยการรู้แจ้งอย่างฉับพลัน โดยถือว่าสรรพสัตว์มีพุทธภาวะอยู่ด้วยกันทั้งนั้น เป็นภาวะที่บริสุทธิ์แต่ดั้งเดิม ซึ่งก็คือจิตเดิมแท้ของแต่ละบุคคลนั่นเอง ดังนั้น การชี้ตรงไปยังจิตใจของคน ให้เห็นแจ้งในภาวะที่แท้จริงอย่างฉับพลัน ก็จะบรรลุซึ่งความเป็นพุทธะ นิกายนี้เห็นว่า คำพูดหรือตัวหนังสือหาเพียงพอที่จะอธิบายถึงสัจจะภาวะอันนี้ไม่ แต่จะหาได้จากการหันมา บำเพ็ญจิตใจของตน เพราะความจริงแล้วมันก็อยู่ภายในตัวเราเอง สิ่งที่อาจารย์ในนิกายฌาน (ฉันจง) ย้ำนักหนาจึงอยู่ที่การปฏิบัติทางจิต โดยการสำรวมจิตให้อยู่กับสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ปฏิบัติอยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่จำเป็นต้องทำอะไรเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากสิ่งที่มีอยู่ที่เป็นอยู่ใน เวลาธรรมดาเลย ไม่จำเป็นต้องมีการสวดมนต์ภาวนา ดังนั้นนิกายฌาน (ฉันจง) จึึงไม่ยึดติดกับสิ่งใดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นพระไตรปิฎก หรือพระสูตรใด ๆ ทั้งไม่นับถือวัตถุรูปปั้นและศาสนาพิธีต่าง ๆ

ส่วนนิกายสุขาวดี (จิ้งถู่จง) ได้ถือหลักทฤษฎี "ทางสะดวก" เป็นทางบรรลุสู่พุทธภาวะ นิกายนี้เห็นว่า การบรรลุสู่พุทธะนั้นมี 2 ทางด้วยกัน คือ "ทางทุรกันดาร" กับ "ทางสะดวก" การปฏิบัติตามอริยมรรค 8 ประการด้วยกำลังของตนเองโดยไม่มีกำลังช่วยจากภายนอกแล้วจะสำเร็จผลได้โดยยากยิ่ง ตรงกันข้ามถ้าได้พลังช่วยจากองค์พระอมิตาภะ อันถือว่าเป็นพลังช่วยภายนอก ก็จะสามารถไปเกิดยังแดนสุขาวดีได้ง่ายและสะดวกกว่ากันมาก วิธีปฏิบัติก็แสนง่าย เพียงแต่หมั่นท่องบ่นถึงพระนามขององค์พระอมิตาภะอยู่เสมอ ก็จะบังเกิดผลและเชื่อว่าบางคนท่อง เพียงครั้งเดียวก็อาจพาตนให้หลุดพ้นจากสังสารทุกข็ได้ วิธีปฏิบัตินิกายนี้ แม้จะแผกไปจากคำสอนดั้งเดิม แต่ความเรียบง่ายในการปฏิบัติก็ทำให้นิกายนี้แพร่หลายไปอย่าง กว้างขวาง ทั้งในเมืองใหญ่ เมืองเล็ก และทุกซอกทุกมุมในชนบทจีน

ทั้งนี้เพราะชนชั้นที่นับถือศาสนาในจีนนั้น จะเป็นชนชั้นประเภทหาเช้ากินค่ำเป็นหลัก โดยเฉพาะชนชั้นชาวนาซึ่งมีจำนวนมหาศาล เปรียบได้ดังหยดน้ำในมหาสมุทรและด้วยเหตุที่พวก เขามีการศึกษาน้อย ไม่อาจเข้าใจหลักทฤษฎีและปรัชญาอันลึกซึ้งยิ่งของพุทธคัมภีร์ต่าง ๆ ประกอบกับที่ต้องทำงานอย่างหามรุ่งหามค่ำ ไม่สามารถจะหาเวลาทำพิธีต่าง ๆ ทางศาสนาได้ ดังนั้น หลักทฤษฎีการบรรลุเป็นพุทธด้วยการรู้แจ้งอย่างฉับพลันของนิกายฌาน (ฉันจง) และการท่องบ่นแต่คำว่า "นะโมอมิตาภะ" ของนิกายสุขาวดี (จิ้งถู่จง) จึงง่ายและเหมาะสมกับสภาพของพวกเขา

ความเรียบง่ายของสองนิกายนี้ ได้ส่งผลให้ทั้งสองนิกายกลายเป็นพุทธนิกายที่ได้รับความ เชื่อถือศรัทธาและแพร่หลายมานับเป็นพัน ๆ ปีในจีนแม้จนกนะทั่งทุกวันนี้

รากฐานของลักษณะพิเศษของพุทธศาสนาในจีน

รากฐานของลักษณะพิเศษของพุทธศาสนาในจีนมีอยู่ 2 สถาน คือ รากฐานทางสังคมและรากฐานทางความคิด

รากฐานทางสังคม

ลักษณะพิเศษของพุทธศาสนาในจีน ก่อตัวขึ้นจากข้อจำกัดของสังคมจีนเอง เป็นภาพสะท้อนรวมของเศรษฐกิจ และการเมืองของสังคมจีนทั้งโดยทางตรงและทางอ้อมย้อน หลังไปมองดูประวัติศาสตร์จีนก็จะเห็นได้ว่า การก่อกำเนิด การเจริญรุ่งเรืองและการเสื่อมของพุทธศาสนาในจีนนั้น ได้เป็นไปตามครรลองประวัติศาสตร์ สังคมศักดินาของจีน คู่ขนานไปกับพัฒนาการและความเสื่อมของสังคมศักดินาของจีน ดังนั้น การศึกษาวิเคราะห์รากฐานทางสังคมของลักษณะพิเศษของพุทธศาสนาในจีน โดยเนื้อแท้แล้วก็คือ การศึกษาวิเคราะห์อิทธิพล เงื่อนไขจำกัดทางสังคม และบทบาทชี้ขาดของโครงสร้างสังคมศักดินาของจีนที่มีต่อพุทธศาสนาในจีน ซึ่งจะเห็นได้จาก ปัจจัย 4 ด้าน ดังนี้

1. การปกครองแบบเผด็จการของระบบสมบูรณาญาสิทธิราช

สังคมจีนนับตั้งแต่จักรพรรดิฉินซี (ฉินเสื่อหวง) ลงมา ได้ผ่านยุคสมัยต่าง ๆ มาจนถึงสิ้นราชวงศ์ชิง (เช็ง) นับเป็นเวลาถึงสองพันกว่าปี สองพันกว่าปีมานี้ จีนไม่ว่าจะอยู่ในสภาพรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือแตกแยกเป็นก๊กเป็นแคว้นในบางเวลา ก็ล้วนตกอยู่ภายใต้การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชทั้งสิ้น จักรพรรดิจะเป็นผู้ถือสิทธิอำนาจ การปกครองอย่างเด็ดขาดเพียงผู้เดียว สิทธิอำนาจของจักรพรรดิเป็นสิทธิอำนาจที่ไม่มีอำนาจใด ๆ จะมาล้มล้างหรือแบ่งแยกได้ จักรพรรดิจะยอมให้มีระบบสังฆราชที่มีอำนาจเหนือกว่าหรือทัดเทียม เท่า ดำรงคู่ขนานไปกับพระองค์ไม่ได้อย่างเด็ดขาด ด้วยเหตุนี้ ชะตากรรมของพุทธศาสนาจึงขึ้นอยู่กับองค์จักรพรรดิเพียงผู้เดียว หรือพูดในอีกแง่หนึ่งก็คือ พุทธศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองหรือเสื่อมก็อยู่ที่จักรพรรดินั่นเอง ฝ่ายจักรพรรดิก็จะให้ความอุปถัมภ์ ค้ำชูพุทธศาสนา เพื่อรักษาสถานะความมั่นคงของพระองค์เอง ในนัยเดียวกัน จักรพรรดิบางพระองค์ ซึ่งกีดกัน ทำลายพุทธศาสนาก็เพื่อรักษาสถานะของพระองค์ให้มั่นคงสืบไปเช่นกัน แต่ถ้ามองกันตลอดระยะ ประวัติศาสตร์แห่งสังคมศักดินาของจีน ก็จะเห็นว่าชนชั้นปกครองโดยส่วนใหญ่แล้ว จะใช้นโยบายที่ให้ทั้งความอุปถัมภร์ค้ำชูและจำกัดการเจริญเติบใหญ่ของพุทธศาสนาทั้งสิ้น ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาสถานะของพระองค์ไว้ให้มั่นคงดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

2. จริยธรรมที่สร้างอยู่บนระบบความสัมพันธ์ทางเครือญาติ

ความสัมพันธ์ทางระบบเครือญาติมีอิทธิพลครอบงำอย่างเหนียวแน่นในสังคมจีนมา ตลอดระยะประวัติศาสตร์อันยาวนาน เป็นแบบแผนการปฏิบัติตนในสังคม ที่ใครจะเปลี่ยนแปลงละเมิดหรือทำลายไม่ได้อย่างเด็ดขาด การ"บูชาเทิดทูนจักรพรรดิและบุพการี" เป็นหัวใจของระบบนี้ ดังนั้น "การจงรักภักดีต่อองค์จักรพรรดิ" และ "การกตัญญูกตเวทีต่อบุพการี" จึงเป็นคุณธรรมที่เป็นบรรทัดฐานสูงสุดของการครองความเป็นคนในสังคม

ภาวะแห่งจิตสำนึกทางด้านคุณธรรม และระบบเครือญาตินี้ เปรียบเสมือนตาข่ายที่ครอบคลุมภาวะจิตของผู้คนอย่างเหนียวแน่น และเป็นพลังต้านที่สำคัญต่อ การเผยแพร่พุทธศาสนา ทั้งยังเป็นโอกาสขนานวิเศษในการแปรสภาพพุทธศาสนาอินเดียให้กลาย เป็นพุทธศาสนาแบบจีนอีกด้วย

นอกจากนี้ระบบเครือญาติยังมีอิทธิพลต่อระบบการสืบทอดทางศาสนาของ พุทธศาสนาในจีนอย่างลึกซึ้ง พุทธนิกายต่าง ๆ ในจีนได้รับเอาระบบทายาทสืบทอดตำแหน่งเจ้านิกายและทรัพย์สินของวัดเช่นเดียวกับทางโลก ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ เปรียบเสมือนความสัมพันธ์ของพ่อกับลูก มีการคัดเลือกทายาทเพื่อสืบทอดตำแหน่งเจ้านิกายและทรัพย์สินจำนวนมหาศาลของวัดจนกลาย เป็นประเพณีที่สืบทอดต่อ ๆ กัน ทุกยุคทุกสมัย ดังนั้น จึงเกิดการต่อสู้ขับเคี่ยว จนบางครั้งมีการประทุษร้ายคู่แข่งด้วยเล่ห์กลต่าง ๆ เพื่อแย่งชิงตำแหน่งเจ้านิกาย สภาพดังกล่าวจึงเป็นภาพสะท้อนถึงอิทธิพลของระบบเครือญาติของสังคมจีนที่มีต่อพุทธศาสนา อย่างเด่นชัด

3. เอกภาพทางการเมือง และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของประเทศจีน

สังคมจีนผิดกับสังคมอินเดีย เพราะโดยส่วนรวมแล้วจีนเป็นสังคมที่เป็นปึกแผ่น มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเป็นพื้นฐาน แม้ในบางช่วงของประวัติศาสตร์จะแตกแยกเป็นแคว้น เป็นก๊กบ้าง แต่ก็เป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เมื่อเทียบกับประวัติศาสตร์อันยาวนานของจีน สังคมศักดินาของจีน มีพระจักรพรรดิเป็นศูนย์รวม มีเศรษฐกิจที่มั่นคงและมีวัฒนธรรมอันรุ่งเรือง โดยเฉพาะในสมัยราชวงศ์สุยและถัง (ค.ศ.581-907) สภาพสังคมเช่นนี้ ส่งผลกระทบต่อวงการ พุทธศาสนาอย่างมาก ได้เรียกร้องให้ศาสนามีการรวมตัวเป็นอันหนึ่งอัน เดียวกันเฉกเช่นสังคม การประนีประนอมกับลัทธิศาสนาอื่น การปรองดองภายในพุทธนิกายเอง การวินิจฉัยและจัดอันดับ ความสำคัญแก่พระสูตรต่างๆในจีน เป็นภาพสะท้อนให้เห็นอย่างเด่นชัดถึงอิทธิพลดังกล่าวนี้

รากฐานทางด้านความคิด

1. สถานที่เป็นใหญ่ของความคิดอนุรักษ์นิยมของลัทธิขงจื้อ

ลัทธิขงจื้อเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมจีน มีอิทธิพลต่อแนวคิด ความรับรู้และเป็น แบบแผนปฏิบัติของชนชาวจีนทุกชั้นทุกวัยมาตลอดแม้จนในปัจจุบันนี้ หลักปรัชญาของขงจื้อ แม้ในส่วนปลีกย่อยจะมีอะไร ๆ หลาย ๆ อย่างที่คล้ายคลึงกับหลักปรัชญาของพุทธ แต่โดยแก่นแท้แล้วจะแตกต่างกันเป็นตรงกันข้ามเลยทีเดียว หลักปรัชญาของขงจื้อจะเน้นการ ปฏิบัติในทางโลก เน้นคุณธรรมทางโลก เน้นหน้าที่การรับผิดชอบต่อสังคมและครอบคลัว ตรงกันข้าม หลักปรัชญาของพุทธจะเน้นด้านโลกุตระ ที่สุดแห่งปรารถนาของชาวพุทธอยู่ที่การ บรรลุสู่นิพพาน เหตุฉะนี้ การสละทุกสิ่งทุกอย่างทางโลกด้วยการออกบวชของชาวพุทธ จึงถูกโจมตีอย่างหนักจากวัฒนธรรมของขงจื้อ อันเป็นวัฒนธรรมประจำชาติของจีนเอง ด้วยการถูก มองว่าเป็นการกระทำของผู้ที่ไม่มกษัตริย์ เป็นผู้ที่ทอดทิ้งบุพการี ซึ่งถือว่าเป็นอาชญากรรมเลย ทีเดียว จึงเป็นที่ยอมรับไม่ได้เลยในความคิดของชาวจีนทั่วไป และนี่คือคำตอบที่ว่า ทำไม กับ วัฒนธรรมขงจื้อแล้วชาวพุทธในจีนจึงต้องพยายามประนีประนอม จึงต้องยอมรับอิทธิพลทาง ความคิดของขงจื้อไว้ ทั้งนี้ก็เพราะเพื่อให้ตนเองสามารถ ปักหลักลงได้บนผืนแผ่นดินนี้นั่นเอง

2. อิทธิพลความคิดของศาสนาเต๋าในวัฒนธรรมจีน

ศาสนาเต๋ามีฐานะสำคัญในวัฒนธรรมจีนรองลงมาจากลัทธิขงจื้อ แม้ว่าชาวพุทธ ในจีนจะมีทีท่าค่อนข้างต่อต้านศาสนาเต๋าอยู่มาก แต่พระอาจารย์พุทธเป็นจำนวนมากในจีน ก่อนที่ท่านจะหันมานับถือพุทธ ท่านมักจะผ่านการศึกษาเล่าเรียนปรัชญาขงจื้อมาก่อน และรับการอบรมตามแนวคิดของเต๋าในกาลต่อมา สุดท้ายจึงจะหันมาออกบวชในศาสนาพุทธ เรียนรู้ทฤษฎีปรัชญาต่าง ๆ ของพุทธ โครงสร้างความรู้เช่นนี้ ย่อมจะส่งผลกระทบต่อการเข้าใจใน หลักทฤษฎีและปรัชญาพุทธของภิกษุจีนให้เคลื่อนคล้อยเข้ารอยแนวคิดเก่าและยิ่งพุทธศาสนา เมื่อแรกแพร่เข้าสู่จีนนั้น ได้พยายามปรับตัวให้เข้ากับไสยศาสตร์ท้องถิ่น อันเป็นบ่อเกิดของศาสนา เต๋าด้วยแล้ว อิทธิพลของแนวคิดเต๋าจึงมีอยู่ให้เห็นได้ทั่วไปในพุทธศาสนาในจีน

3. อิทธิพลของภาษาและการมองปัญหาแบบจีน

การเผยแพร่พุทธศาสนาในจีนอาศัยการแปลและการบรรยายพุทธคัมภีร์เป็นสื่อ แต่ภาษาและการมองปัญหาอันเป็นลักษณะของจีน ทำให้ความเข้าใจและการเรียนรู้คลาดเคลื่อนผัน แปรไปจากของอินเดีย และนี่ก็เป็นปัจจัยสำคัญอีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นบ่อเกิดลักาณะพิเศษของ พุทธ ศาสนาในจีน

จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จะเห็นได้ว่าพุทธศาสนาในจีนได้วิวัฒนาการจากการ ประนีประนอมกับลัทธิขงจื้อและศาสนาเต๋าเป็นอันดับแรก และจัดการแก้ปัญหาภายในของพุทธ เองด้วยการจับมือปรองดองกันเป็นอันดับต่อมา สุดท้ายมีการพยายามปรับตนเองให้มีลักษณะเรียบ ง่ายเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพของจีน และนี่คือ 3 ลักษณะเด่นของพุทธศาสนาในจีน

ลักษณะเหล่านี้ก่อตัวขึ้นได้โดยมีเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรมจีนเป็น รากฐาน มีวิธีมองปัญหา มีภาวะจิตสำนึกและอิทธิพลประเพณีประจำชาติของจีนเป็นเครื่องขีดคั่น และจำกัดให้ต้องเป็นไปเช่นนี้ ดังนั้นถ้ามองในแง่นี้แล้ว กูพูดได้ว่า การเจริญหรือเสื่อมของแต่ละ พุทธนิกายจึงขึ้นอยู่กับการที่นิกายเหล่านั้นมีลักษณะแบบจีนมากหรือน้อยเท่าไร

ในขณะเดียวกัน พุทธก็ส่งผลกระทบต่อปรัชญาของจีนอย่างลึกซึ้ง โครงสร้างทาง ปรัชญาของพุทธนิกายสัทธรรมปุณฑริก (เทียนไทจง) กับพุทธนิกายอวตังสก (หัวเอี้ยนจง) นั้นเป็น โครงสร้างปรัชญาของจีนเลย และได้ส่งผลกระทบต่อปรัชญาของขงจื้อในยุคราชวงศ์ซ่ง (ซ้อง) และราชวงศ์หมิง อันมีจูซีเป็นตัวแทนเป็นอย่างมาก ส่วนความคิดของนิกายฌาน (ฉันจง) ก็มีผลกระทบต่อสำนักลู่หวัง อันเป็นสำนักปรัชญาจิตนิยมที่มีชื่อมากในสมัยซ่ง(ซ้อง) และหมิงเช่น กัน

เชิงอรรถ

เอี๋ยวและซุ่น ชื่อจักรพรรดิจีนในตำนานยุคดึกดำบรรพ์ (ก่อน ค.ศ.2550-2140) พระเจ้าเอี๋ยวและซุ่นเป็นจักรพรรดิผู้ทรงทศพิธราชธรรมในสมัยนั้นของจีน ต่อมาใช้หมายถึงปรัชญาเมธีผู้อัจริยะ

หนังสือที่ใช้ศึกษาค้นคว้า

1. ฟังลิเทียน ศาสตราจารย์ พุทธศาสนากับวัฒนธรรมประจำชาติของจีน สำนักพิมพ์เหยินหมินเซี่ยงไฮ้ 1988

2. อุ้ยเฉิงซือ ศาสตรจารย์ ประมวลวิทยานิพนธ์วัฒนธรรมพุทธในจีน สำนักพิมพ์เหยินหมินเซี่ยงไฮ้ 1991

3. อภิชัย โพธิ์ประสิทธิ์ศาสตร์ พระพุทธศาสนามหายาน สภาการศึกษามหามกุฏราชวิลยาลัย 2527

4. บุณย์ นิลเกษ ดร. พุทธศาสนามหายานคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2526

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040