พุทธศาสนาในวัฒนธรรมจีน
  2012-04-19 18:44:16  cri

ชิว ซูหลุน

พุทธศาสนาเมื่อแรกแพร่เข้าสู่จีนนั้น มีเหตุต้องประสบกับการถูกกีดกันอย่างรุนแรงจากสำนักหยูเจีย (สำนักปรัชญาขงจื๊อ) และศาสนาเต๋าอันเป็นศาสนาที่เกิดขึ้นในจีนเอง ทั้งนี้ เพราะถูกมองว่าเป็นศาสนาของชาวต่างชาติที่แพร่เข้าสู่จีน แต่จากการยืนหยัดเผยแพร่พุทธธรรมของพุทธศาสนิกในจีนมาเป็นเวลาร่วมพันปี พุทธศาสนาก็เป็นที่ยอมรับของชาวจีนทั่วไปและกลายเป็นวัฒนธรรมอันสำคัญยิ่งส่วนหนึ่งของจีนมาตราบจนทุกวันนี้ วัฒนธรรมพุทธส่งผลกระทบต่อขนบประเพณี ศิลปะ ภาษาและวรรณกรรมจีนอย่างลึกซึ้ง ดังจะได้แยกกล่าวเป็นข้อ ๆ ดังต่อไปนี้

ขนบประเพณีที่มาจากวัฒนธรรมพุทธ

ขนบประเพณีการกินเจและอาหารเจ

ประเพณีการกินเจของชาวจีนนั้น มีมาแต่โบราณกาลก่อนพุทธศาสนาจะแพร่เข้าไปถึง แต่การกินเจในเวลานั้น จะทำกันแต่เฉพาะในหมู่ชนชั้นสูงหรือชนชั้นปกครองของสังคมเท่านั้น จะจัดทำพิธีก็ต่อเมื่อมีการประกอบพิธีบวงสรวงหรือพิธีสังเวย อันถือกันว่าเป็นพิธีที่สำคัญและศักดิ์สิทธิ์ในสมัยนั้นเท่านั้น การกินเจในจีนแพร่ขยายออกไปสู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง จนกลายเป็นประเพณีพื้นเมืองก็หลังจากที่พุทธศาสนาได้แพร่เข้าไปแล้วเท่านั้น

พุทธมามกะและอุบาสกอุบาสิกาจะยึดถือประเพณีการกินเจอย่างเคร่งครัด ประชาชนทั่วไป จะมีวันกินเจต่าง ๆ กันไป แล้วแต่จะศรัทธา แต่วันที่ค่อนข้างจะแน่นอนและตรงกันคือ วัน "ชูอี" (วันขึ้น 1 ค่ำ) กับวัน "สืออู่" (วันขึ้น 15 ค่ำ) นอกเหนือจากวันดังกล่าว ยังมีการถือศีลกินเจเพื่อวัตถุประสงค์อื่นอีก เช่น ขอบุตร ขอโชคลาภ ขอให้พ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ เป็นต้น ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ปีหนึ่ง ๆ จะมีการกินเจหลายครั้งหลายหนด้วยกัน เช่น กวนอินไจ (เจเจ้าแม่กวนอิม) คนที่กินกวนกินไจหรือเจเจ้าแม่กวนอิมนี้ ปีหนึ่งจะกินอยู่หลายเดือน คือ จะต้องกินตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ จนถึงวันแรม 4 ค่ำ และในวันสำคัญ ๆ ทางศาสนา เช่นวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งตามคติมหายานถือว่าเป็นวันตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ก็จะมีการกินเจกันอย่างใหญ่โต ทั้งในวัด ในราชสำนักและชาวบ้านร้านถิ่นทั่วไป

ประเพณีกินเจ กลายเป็นบ่อเกิดประเพณีการผลิตอาหารเจขึ้นอย่างเป็นล่ำเป็นสัน อาหารเจของจีนเป็นอาหารที่ผลิตจากเต้าหู้เป็นสำคัญ และมีกรรมวิธีการปรุงอย่างเคร่งครัด ลักษณะและรสชาติของอาหารจะไม่แตกต่างไปจากอาหารที่ทำจากหมู เห็ด เป็ด ไก่เลย ในประเทศจีนแม้จนกระทั่งทุกวันนี้ อาหารเจยังคงเป็นนิยมของคนทั่วไป โดยเฉพาะในหมู่ผู้สูงอายุ ถือว่าการกินอาหารเจจะช่วยให้สุขภาพแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน

ประเพณีทางเทศกาลที่มีที่มาจากวัฒนธรรมพุทธ

ประเพณีทางเทศกาล (เทศกาลที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ หมายถึงเทศกาลพุทธตามคติมหายานในจีน และช่วงเวลาที่พูดถึงก็เป็นช่วงเวลาตามคติมหายานในจีน) เทศกาลพื้นเมืองต่าง ๆ ในจีน มีอยู่ไม่น้อยที่มีบ่อเกิดจากวัฒนธรรมพุทธ เทศกาลที่ใหญ่ที่สุดที่สืบเนื่องมาจากเทศกาลพุทธ คือเทศกาล "อี้หลันเผิน" ซึ่งก็คือเทศกาลเทกระจาดในไทยนั่นเอง เทศกาลนี้จะจัดกันในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 อันตรงกับวันออกพรรษา เทศกาลนี้เริ่มขึ้นจากการที่ชาวราชวงศ์ซีจิ้น(ไซจิ้น 265-317) ได้แปลพุทธคัมภีร์เกี่ยวกับตำนานของพระโมคคัลลานว่า มารดาของพระโมคคัลลานตกเป็นเปรตอยู่ในนรก ต้องอดอยากทุกข์ทรมานแสนสาหัส พระโมคคัลลานก็มิรู้ที่จะช่วยมารดาของตนได้อย่างไร จึงได้ทูลขอให้พระพุทธเจ้าช่วย พระพุทธเจ้าตรัสว่า มารดาของพระโมคคัลลานนั้นบาปหนาหนักนัก ลำพังบุญบารมีของพระโมคคัลลานคนเดียวไม่พอที่จะช่วยมารดาให้พ้นทุกข์ได้ จำต้องนิมนต์พระภิกษุแสนรูปจากทศทิศมาร่วมแรงร่วมใจแผ่ส่วนกุศลไปให้พร้อมเพรียงกัน จึงจะหลุดพ้นจากห้วงทรมานได้ พระองค์ทรงแนะนำให้พระโมคคัลลานจัดอาหารใส่ลงใน "เผิน" (ภาชนะใส่อาหารชนิดหนึ่ง คล้ายกะละมัง ) สำหรับถวายพระภิกษุแสนรูป ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 อันตรงกับวันออกพรรษา เพื่อให้พระภิกษุแสนรูปนั้น ช่วยกันแผ่ส่วนบุญไปให้มารดาของพระโมคคัลลานโดยพร้อมเพรียงกัน และเมื่อพระโมคคัลลานได้ปฏิบัติตามดังที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำแล้ว ก็สามารถช่วยมารดาของตนให้พ้นจากความเป็นเปรตได้สมดังหมาย

อรรถสาระของพุทธตำนานเรื่องนี้ เป็นเรื่องราวของความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ให้กำเนิด จึงเป็นที่ยอมรับของชาวจีนทั่วไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว ประเพณีดังกล่าวเมื่อแพร่เข้าสู่ราชสำนักในสมัยราชวงศ์หนันเฉา (ค.ศ. 402-589) ก็พัฒนาเป็นเทศกาลใหญ่โตและมีการจัดงานอี้หลันเผินขึ้นในกลุ่มชนทุกระดับชั้นของสังคมติดต่อกันมาหลายยุคหลายสมัย แต่เมื่อล่วงเข้าสู่ราชวงศ์ซ่ง (960-1279) ประเพณีนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากพิธีกรรมการจัดอาหารถวายพระ เพื่อแผ่ส่วนกุศลให้ผู้บังเกิดเกล้า ค่อย ๆ เลือนไป กลายเป็นการแผ่ส่วนกุศลให้กับผีไม่มีญาติและได้เพิ่มการละเล่นต่าง ๆ เข้าในพิธีกรรมหลายอย่าง เช่น การลอยประทีป การแสดงอุปรากรต่าง ๆ และในช่วงเวลาที่มีงานอี้หลันเผินนี้ ชาวบ้านยังนิยมจัดให้มีการเล่นงิ้วเรื่อง "พระโมคคัลลานช่วยแม่" เป็นประจำทุกปี เทศกาลนี้ได้สืบทอดกันมาจนถึงปลายราชวงศ์หมิง(1368-1644) ก็สิ้นสุดลง

เทศกาลทางพุทธที่สำคัญอีกเทศกาลหนึ่ง คือ เทศกาลสรงน้ำพระพุทธรูป หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เทศกาลวันประสูติของพระพุทธเจ้า พิธีสรงน้ำจะจัดทำกันในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ซึ่งทางฝ่ายมหายานถือว่าเป็นวันประสูติของพระพุทธเจ้า ตำนานมหายานมีว่า ในกาลสมัยที่พระพุทธ

เจ้าประสูตินั้น มีมังกร 9 ตัว (บางตำนานก็ว่า 2 ตัว) ได้มาช่วยกันพ่นน้ำสรงพุทธกุมารเมื่อประสูติแล้ว จึงเกิดประเพณีสรงน้ำพระขึ้นในวันนี้ วัดวาอารามต่าง ๆ จะตั้งรูปพุทธกุมารปางประทับยืน โดยพระหัตถ์ข้างหนึ่งชี้ขึ้นสู่ฟ้า พระหัตถ์อีกข้างหนึ่งทรงชี้ลงสู่ดิน ซึ่งมีความหมายว่า เหนือฟ้า ใต้ฟ้า พระองค์ท่านประเสริฐสุดยิ่งกว่าผู้ใด น้ำที่นำมาสรงนั้น เป็นน้ำที่ปรุงขึ้นจากเครื่องหอมต่าง ๆหลายชนิด รูปพระพุทธกุมารจะตั้งอยู่กลางภาชนะที่สามารถรองรับน้ำ เมื่อสรงเสร็จแล้ว คนสรงน้ำก็จะเอาน้ำนั้นลูบไล้กายตน เพื่อความเป็นสิริมงคล พิธีนี้จัดทำกันจนถึงทุกวันนี้ โดยทางวัดจะจัดให้พุทธศาสนิกเข้าร่วมพิธีด้วยทุกปี

เทศกาลขึ้น 8 ค่ำ เดือน 12 ก็เป็นอีกเทศกาลหนึ่งที่ชาวบ้านทั่วไปจัดทำกัน ชาวจีนเรียกเทศกาลนี้ว่า เทศกาลวัน "ล่าปา" "ล่า"หมายถึงเดือน 12 และ "ปา" หมายถึง "แปด" ซึ่งก็คือวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 12 นั่นเอง ชาวพุทธในจีนถือกันว่าวัน "ล่าปา"เป็นวันตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เชื่อกันว่า เมื่อพระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาจนพระวรกายผ่ายผอมแทบจะทรงอยู่มิได้ มีหญิงเลี้ยงสัตว์คนหนึ่ง นำเอาข้าวต้มน้ำนมวัว (ข้าวมธุปายาส) มาถวาย และเมื่อพระองค์ทรงฉันอาหารที่หญิงเลี้ยงสัตว์ถวายแล้ว ก็ทำให้พระกำลังวังชาทรงกลับคืนมาอีก และทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวัน "ล่าปา"นี้เอง พุทธศาสนิกในจีนจึงได้มีประเพณีการกิน "ล่าปาโจว" (ข้าวต้มล่าปา) กันขึ้นในวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 12 ทุกปี จนกลายเป็นประเพณีพื้นบ้านจีนมาจนถึงทุกวันนี้ ข้าวต้มล่าปานี้ ปรุงขึ้นจากถั่วต่าง ๆ หลายชนิด เช่น ถั่วลิสง ถั่วแดง และงาเป็นต้น ซึ่งจะต้มผสมกับข้าวเหนียวปนกับข้าวจ้าว เวลากินเติมน้ำตาลลงไปด้วย

นอกจากเทศกาลที่มีบ่อเกิดจากวันสำคัญ ๆ ทางศาสนาที่มีหลักฐานอ้างอิงทางประวัติศาสตร์แล้ว ยังมีเทศกาลที่ชาวพุทธในจีนเองริเริ่มขึ้น เช่น เทศกาลวันประสูติของพระศรีอาริยเมตตรัย เทศกาลวันประสูติของพระมัญชุศรี เทศกาลวันประสูติ วันบรรลุธรรมและวันออกบวชของเจ้าแม่กวนอิม เทศกาลวันประสูติของพระอมิตาภะ เป็นต้น วันเทศกาลต่าง ๆ เหล่านี้ สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะพิเศษของพุทธศาสนาในจีนได้เป็นอย่างดี

อิทธิพลของพระพุทธศาสนาต่อศิลปะและวรรณกรรมจีน

วัฒนธรรมทางศาสนาย่อมเป็นบ่อเกิดของศิลปะ-ภาษาและวรรณกรรม ไม่ว่าจะโลกตะวัน ออกหรือโลกตะวันตก วัฒนธรรมพุทธเป็นวัฒนธรรมทางศาสนาที่มีอิทธิพลต่อชาวตะวันออกอย่างลึกซึ้ง ซึ่งรวมทั้งต่อชาวจีนด้วย อิทธิพลของวัฒนธรรมพุทธที่มีต่อวัฒนธรรมจีนนั้น มิได้ส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมจีนแต่เพียงฝ่ายเดียว หากยังส่งผลสะท้อนกลับไปสู่วัฒนธรรมพุทธอีกด้วย

เมื่อพุทธศาสนาแพร่เข้าสู่ดินแดนจีน พุทธปรัชญาว่าด้วยโลกุตรธรรมของพระพุทธเจ้า กลายเป็นความรับรู้ใหม่อย่างสิ้นเชิงของชาวจีนทั้งมวล เป็นสิ่งที่ชาวจีนไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน สิ่งแรกที่ทำให้ชาวจีนทั่ว ๆ ไปเกิดความรู้สึกแปลกใหม่ ตื่นตาตื่นใจก็คือ ทฤษฎีการมุ่งสู่นิพพานและหนทางที่จะมุ่งสู่นิพพาน ในวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีน แม้จะมีการแสดงออกถึงความเบื่อหน่ายโลก เบื่อหน่ายสังคม เบื่อหน่ายสิ่งแวดล้อมรอบตัวเหมือนกัน แต่วิถีทางหลุดพ้นของพวกเขาจะหยุดอยู่แค่ "ขี่วัวออกไปนอกเมือง" หรือไม่ก็ "กลายเป็นอินทรีบินไปสุดสวรรค์ชั้นเก้า" แม้แต่ยอดปรัชญาเมธีอย่างขงจื๊อ ก็คิดหลบหนีโลกอันอลเวงเพียงแค่ "ล่องแพออกไปสู่สมุทรกว้าง เมื่อศีลธรรมในสังคมเสื่อมสูญ" ทัศนคติเหล่านี้ ล้วนเป็นทัศนคติของคนที่ต้องการหนีโลกอันชุลมุนวุ่นวาย ซึ่งเต็มไปด้วยกิเลส ตัณหาร้อยแปด ไปแสวงหาความสงบ สันโดษ อันเป็นการตัดจากโลกภายนอก แต่การตัดโลกชนิดนี้ เป็นการตัดในขั้นกระพี้เท่านั้น ต่อเมื่อพุทธปรัชญาว่าด้วย โลกุตรธรรมและทฤษฎีว่าด้วยการเข้าสู่นิพพานได้เป็นที่รับรู้ของชาวจีนแล้ว ชาวจีนจึงได้ก้าวจากวงเวียนความรับรู้แต่ดั้งเดิมมา ด้วยการปฎิเสธโลกที่เป็นอยู่อย่างสิ้นเชิง แสวงหาทางหลุดพ้นที่องอาจกล้าหาญยิ่งขึ้น ซึ่งก็คือการปฏิบัติตนเพื่อบรรลุสู่นิพพาน แทนที่จะหยุดอยู่แค่ "ขี่วัวออกไปนอกเมือง" หรือ "กลายเป็นอินทรีบินไปสุดสวรรค์ชั้นเก้า"อย่างแต่ก่อน สิ่งซึ่งตามมากับความรับรู้ใหม่คือ ความ รู้สึกพะว้าพะวัง ความรู้สึกหวาดหวั่น เกรงขามเมื่อแหงนหน้าขึ้นมองฟากฟ้ากว้าง อันเชื่อว่าที่สุดแห่งนิพพานนั้นอยู่ที่นั่นว่า ดูช่างสูงส่งและห่างไกลเหลือประมาณ ซึ่งนี่แหละคือฐานแห่งแนว ความคิดของศิลปะการสร้างพระพุทธรูปอันสูงใหญ่กว่ามนุษย์ชาวพาราหลายร้อยหลายพันเท่า ที่สร้างไว้มากมายในป่าเขาลำเนาไพรบนผืนแผ่นดินจีน เช่น พระพุทธรูปหินแกะสลักที่ตุนหวง ที่หยุนกั่ง ที่ต้าจุ๊ ป็นต้น พระพุทธรูปในสมัยแรกเริ่มนั้น จะมีลักษณะเหมือนกันอยู่ข้อหนึ่งคือ องค์พระพุทธรูปจะสูงใหญ่มหึมา ดูน่าเกรงขาม น่าหวาดหวั่นสำหรับผู้ที่คิดจะใกล้ชิด อันเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกคนในยุคนั้นที่มีต่อพระพุทธศาสนาและทฤษฎีว่าด้วยการบรรลุซึ่งนิพพานว่าช่างสูงส่งและห่างไกลเหลือที่จะประมาณ

ครั้นพอล่วงเข้าสู่ยุคราชวงศ์ถัง(618-907) และซ่งความรู้สึกเกรงขาม ความรู้สึกที่ว่าช่างห่างไกลสุดไขว่คว้า ค่อย ๆ ลบเลือนไป ความรู้สึกสนิทสนม ใกล้ชิด อบอุ่น ได้ค่อย ๆ เข้ามาแทนที่ ความรู้สึกเหล่านี้ เราจะเห็นได้จากการสร้างพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ต่าง ๆ ในสมัยนี้ว่า จะอยู่ในอิริยาบถที่แสดงความเมตตา อารี เป็นที่อบอุ่นใจของผู้ที่คิดจะชิดใกล้ จึงมีขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ จนชั้นนำติดตัวไปไหนมาไหนได้ พระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ทั้งหลายทั้งมวล ซึ่งเคยมีรูปร่างสูงใหญ่มหึมา ก็เสมือนละจากแท่นดอกบัวอันสูงส่งบนกลีบเมฆ ละจากหุบเขาลำเนาไพรอันห่างไกล ซึ่งล้วนแล้วแต่ที่มนุษย์ไปไม่ถึง เข้ามาสถิตอยู่ในห้องพระ ในตู้พระของชาวบ้านร้านถิ่นทั่วไป

นักพุทธศาสตร์จีนเห็นว่า มีแต่เข้าสู่ยุคนี้แล้วเท่านั้น พุทธศาสนาจึงอาจจะพูดได้ว่า หยั่งรากลึกลงบนผืนแผ่นดินจีนแล้วและสิ่งที่ติดตามมาด้วยก็คือ การปรากฏขึ้นของรูปแบบวรรณกรรมประเภทหนึ่ง ที่สืบเนื่องมาจากการเผยแพร่พุทธคัมภีร์ รูปแบบวรรณกรรมที่ว่านี้ เรียกว่า "สูเจี่ยง" ซึ่งก็คือการเล่านิทานหรือตำนานต่าง ๆ ในพุทธคัมภีร์ด้วยภาษาตลาด บ่อเกิดแห่งวรรณกรรมประเภทนี้สืบเนื่องมาจากเพราะพุทธคัมภีร์มีความละเอียดลึกซึ้ง ยากต่อการเข้าใจของคนทั่ว ๆ ไป ประกอบกับผู้คนในสมัยนั้นรู้หนังสือน้อย ระดับความสามารถในการรับรู้ปรัชญาและทฤษฏีต่าง ๆ อยู่ในขั้นต่ำ ดังนั้น การจะเผยแพร่พุทธคัมภีร์หรืออธิบายพุทธปรัชญาต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องใช้ภาษาง่าย ๆ ที่ชาวบ้านทั่วไปฟังเข้าใจ ทั้งยังต้องมีความสนุกสนาน ดึงดูดใจผู้ฟัง ด้วยเหตุผลนี้ พระอาจารย์ที่ทำหน้าที่ "สูเจี่ยง" จึงใช้ทั้งวิธีขับ ร้อง อ่าน และเล่าประกอบกันไป บางท่านก็จะเล่าโดยปากเปล่า บางท่านก็จะเขียนต้นฉบับไว้ก่อน ต้นฉบับเหล่านี้ถือกันว่าเป็นต้นแบบวรรณกรรมหลายประเภทของจีนทีเดียว

นอกจากเรื่องราวที่เล่ามานี้แล้ว ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือ พุทธศาสนาในจีน เมื่อวิวัฒนาการมาจนถึงสมัยราชวงศ์ถังและซ่ง(ซ้อง)แล้ว สิ่งที่ชาวพุทธในจีนให้ความเชื่อถือศรัทธาอย่างแก่กล้านั้น กลับไม่ใช่พระหรือโพธิสัตว์ที่เกิดในอินเดีย กลับเป็นพระอาจารย์ที่มีตัวตนจริง ๆ ในจีนเอง พระอาจารย์เหล่านี้ ได้รับยกย่องบูชาเป็นกึ่งเทพเจ้า กึ่งมนุษย์ พระอาจารย์ที่มีตัวตนจริง ๆ เหล่านี้ ได้รับยกย่องว่าเป็นพระโพธิสัตว์องค์ใดองค์หนึ่งที่กลับชาติมาเกิด เช่น พระศรีอริยเมตตรัย หรือที่ชาวพุทธในจีนเรียกกันว่า "หมีเล่อโฝ" นั้น โดยประวัติแล้ว ท่านเป็นพระโพธิสัตว์ที่มีการกล่าวถึงในพุทธคัมภีร์ เชื่อกันว่าท่านถือกำเนิดในตระกูลพราหมณ์ ต่อมาได้ออกบวชเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้า แต่มรณภาพก่อนหน้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงมีพุทธทำนายว่า พระศรีอาริยเมตตรัยนั้น จะเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตต่อจากพระองค์ท่าน ดังนั้น พุทธศาสนิกทั้งมวลจึงเคารพบูชาท่านในฐานะพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป เกี่ยวกับความเชื่อในเรื่องนี้ มีมาแล้วในจีนเป็นเวลายาวนาน รูปปฏิมาของท่านจะสร้างกันในลักษณะของพระโพธิสัตว์หรือไม่ก็สร้างเหมือนพระพุทธเจ้าเลยก็มี แต่พอเข้าสู่ยุคสมัย อู่ไต้ (907-960) ก็ปรากฏพระภิกษุรูปหนึ่ง ชื่อ ชิฉือ รูปร่างอ้วนเตี้ย พุงพลุ้ย หน้าตาอัปลักษณ์ เที่ยวเร่ร่อนบิณฑบาต ค่ำไหนนอนนั่น มิได้จำวัดเป็นหลักแหล่ง บนหัวไหล่จะมีย่ามที่ทำด้วยผ้าสะพายอยู่ตลอดเวลา ชาวบ้านจึงพากันขนานนามพระภิกษุรูปนี้ว่า "พระย่ามผ้า" เล่ากันว่าพระย่ามผ้านั้น ท่านมีหูทิพย์ตาทิพย์ สามารถทำนายทายทักโชคชะตา ทุกข์สุข เคราะห์ลางได้อย่างตาเห็น จึงเป็นที่เชื่อถือศรัทธาของผู้คนทั่วไป และก่อนที่จะถึงแก่มรณกรรม ท่านได้เขียนโศลกไว้บทหนึ่ง มีใจความว่า ท่านคือ "หมีเล่อโฝ" ที่แบ่งภาคมาเกิด เพื่อช่วยบรรเทาทุกข์ให้กับสรรพสัตว์โลก และนับแต่นั้นมา ก็มีปฏิมากรรมชิ้นใหม่อีกชิ้นหนึ่งอุบัติขึ้นในวงการพุทธศาสนาในจีน นั่นก็คือ พระพุทธรูปอ้วน พุงพลุ้ย หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส บ่งบอกความเมตตาอารี นั่งอยู่ในท่าขัดสมาธิ มีย่ามผ้าสะพายอยู่บนบ่าและนี่แหละคือ "หมีเล่อโฝ" หรือพระศรีอาริยเมตตรัยในมโนคติของชาวจีน

วัฒนธรรมพุทธกับภาษาจีน

ในภาษาจีนฮั่น ไม่ว่าจะเป็นนิทาน ตำนาน สุภาษิตหรือคำศัพท์ต่าง ๆ จะมีร่องรอยของวัฒนธรรมพุทธปรากฏให้เห็นได้ทั่วไป โดยเฉพาะสุภาษิตกับคำพังเพยจำนวนมากที่มาจากข้อคิดหรือปรัชญาพุทธ ดังจะยกตัวอย่างให้เห็นดังต่อไปนี้

"ทะเลแห่งความทุกข์นั้นเวิ้งว้าง หันกลับมาก็คือฝั่ง" คำว่า "หันกลับมา" มีความหมายว่ารู้แจ้งเห็นจริง " ฝั่ง" ในที่นี้มีความหมายว่า สู่นิพพาน สุภาษิตบทนี้เป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในหมู่ชาวจีนมาจนถึงทุกวันนี้ โดยจะเอามาใช้อุปมาว่า คนเราถ้าทำผิดแล้ว (คือตกอยู่ในทะเลอันเวิ้งว้าง) ก็ให้รีบกลับตัว คือถึงฝั่ง ซึ่งก็คือบรรลุนิพพานนั่นเอง

"วางมีดฆ่าสัตว์ลง ก็จะบรรลุซึ่งอรหันต์" สุภาษิตบทนี้เป็นพุทธภาษิตที่สอนให้คนเราละความชั่ว ทำความดี แต่ชาวจีนทั่วไปจะเอามาใช้ในความหมายว่า คนที่ทำชั่วนั้น ถ้าหากเลิกทำชั่วได้ ก็กลายเป็นคนดีได้

สุภาษิตต่าง ๆ เหล่านี้ บางบทมาจากพุทธศาสนาโดยตรง บางบทก็ได้รวมเอาทัศนคติของจีนเองแทรกอยู่ด้วย แต่มีข้อพึงสังเกตอยู่ข้อหนึ่ง คือการรับเอาวัฒนธรรมพุทธของชาวจีนนั้น ในบางครั้งภาพพจน์ของชาวพุทธจะถูกนำมาใช้ในทางเสียดสี หรือล้อเล่นหรือเอามาเปรียบเทียบกับสภาพใดสภาพหนึ่งในสังคม โดยการเสียดสีก็ดี ล้อเล่นก็ดีหรือเอามาเปรียบเทียบก็ดี จะเป็นไปในลักณะรักใคร่ หวังดี เป็นกันเอง มากกว่าจะเป็นไปในทางตรงกันข้าม เช่น คำพังเพยที่ว่า "พระ 3 รูปไม่มีน้ำจะกิน" เป็นคำพังเพยที่นำมาพูดเสียดสีว่า ยิ่งมีคนมากก็ยิ่งเกี่ยงงานกัน มีเรื่องเล่ากันว่า ณ วัดแห่งหนึ่ง เมื่อแรกมีพระจำวัดอยู่รูปเดียว พระรูปนั้นจะลงจากภูเขาไปหาบน้ำไว้ดื่มไว้ใช้วันละหาบทุกวัน ต่อมามีพระมาร่วมจำวัดด้วยอีกรูปหนึ่ง พระสองรูปจะช่วยกันไปแบกน้ำกลับมาได้วันละถัง ครั้นพอมีพระมาอยู่ร่วมด้วยอีกรูป เป็นสามรูปด้วยกัน ต่างคนต่างก็เกี่ยงจะให้อีกสองคนไปแบกน้ำ ในที่สุดก็เลยไม่มีน้ำจะกิน

"โพธิสัตว์ที่ปั้นด้วยดินลุยข้ามแม่น้ำ ช่วยตัวเองไม่ได้ " คำพังเพยนี้ ชาวจีนจะเอามาใช้ในความหมายว่า ตัวเองยังช่วยตัวเองไม่ได้ แล้วจะไปช่วยคนอื่นได้อย่างไร เพราะพระโพธิสัตว์ที่ปั้นด้วยดินนั้น เมื่อลุยข้ามแม่น้ำ ตัวเองก็จะถูกน้ำเซาะละลายไป แล้วจะไปช่วยคนอื่นที่ตกน้ำได้อย่างไร

"เป็นพระอยู่วัน ก็เคาะระฆังไปวัน " ใช้เสียดสีคนที่ทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม

นักพุทธศาสตร์จีนวิเคราะห์ว่า คำพังเพยประเภทนี้ สะท้อนให้เห็นว่า โดยส่วนลึกของวัฒนธรรมจีนแล้ว ก็ยังมีความรู้สึกกังขาว่า พุทธศาสนานั้น เป็นศาสนาของชาวต่างชาติที่แพร่เข้ามาในดินแดนของตนหลงเหลืออยู่ในความรู้สึก

วัฒนธรรมพุทธเป็นกำลังสำคัญที่สุดกำลังหนึ่ง

ในการเผยแพร่วัฒนธรรมจีน

ถ้ามองย้อนหลังไปดูประวัติศาสตร์จีน ก็จะเห็นได้ว่าการติดต่อกับต่างชาติของจีนมี 4 วิหนทางด้วยกัน

1. ทางกำลังทหาร เช่นการทำสงคราม

2. ทางการค้า เช่น การค้าขายบนเส้นทางแพรไหม

3. ทางการเมือง เช่น การแต่งงานระหว่างราชสำนัก

4. ทางการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม

4 หนทางที่กล่าวมานี้ หนทางที่ชนชั้นปกครองจีนนำมาใช้มากที่สุดและได้ผลที่สุดคือ การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ทั้งนี้เพราะนิสัยโดยส่วนรวมของประชาชาติจีนแล้ว มิใช่ชนชาติที่กระเหี้ยนกระหือรือในการทำสงคราม หรือมีความกระตือรือร้นที่จะสร้างความร่ำรวยด้วยการทำการค้าอย่างชาวยุโรปหรือชาวอาหรับ ดังนั้น ทั้งสองวิธีนี้ จึงไม่ได้เป็นหนทางหลักในการติดต่อกับชาวต่างชาติของจีน ส่วนการใช้นโยบายทางการเมือง คือ การเชื่อมสัมพันธ์ด้วยวิธีการแต่งงานนั้น ก็มีได้เพียงบางครั้งบางคราว ตามแต่โอกาสจะอำนวย ด้วยเหตุนี้ การแลกเปลี่ยนทางด้านวัฒนธรรม โดยเฉพาะวัฒนธรรมทางศาสนาจึงเป็นวิธีที่ใช้ได้ผลดีที่สุดและสำคัญที่สุด ในการติดต่อเชื่อมสัมพันธ์กับต่างชาติของจีน

เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า อำนาจของจิตที่มีความศรัทธาอย่างแรงกล้าในศาสนาใดศาสนาหนึ่งนั้น ย่อมจะแปรเป็นพลังอันแข็งแกร่งในอันที่จะเผยแพร่สิ่งที่ตนศรัทธาอยู่ พุทธมามกะในจีนก็เช่นกัน พวกเขามีความกระตือรือร้น มีความมุมานะอย่างแรงกล้าในอันที่จะเผยแพร่พระพุทธศาสนา ในอันที่จะเดินทางไปศึกษาเรียนรู้พุทธรรมทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะในอินเดียอันเป็นแหล่งกำเนิดของพุทธศาสนาโดยตรง ดังนั้น จึงมีพระอาจารย์จำนวนมาก มุ่งหน้าสู่อินเดียและประเทศต่าง ๆ ในเอเชียกลางในสมัยนั้น ขณะเดียวกัน ท่านเหล่านั้นก็ได้เผยแพร่วัฒนธรรมจีนไปด้วย ทำให้เกิดอิทธิพลวัฒนธรรมขึ้น 2 กระแ ส ทั้งกระแสตรงและกระแสสะท้อนกลับ กระแสตรงคือกระแสที่พุทธศาสนาแพร่เข้าสู่จีนและส่งผลกระทบต่อชีวิตหลาย ๆ ด้านของชาวจีน ส่วนกระแสสะท้อนกลับคือ วัฒนธรรมพุทธในจีนส่งอิทธิพลสะท้อนกลับออกนอกประเทศ ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้ มิได้เกิดกับลัทธิขงจื๊อและศาสนาเต๋าอันเป็นลัทธิและศาสนาที่เกิดขึ้นในจีนเอง

ปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมเช่นนี้ เราอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ระยะในประวัติศาสตร์

ระยะแรก พุทธศาสนาแพร่เข้าสู่จีน ส่งอิทธิพลด้านต่าง ๆ ต่อชาวจีนนับเป็นกระแสตรง และหลังจากนั้นก็เกิดกระแสสะท้อนกลับ ด้วยการมีพระอาจารย์จีนจำนวนมากเดินทางไปศึกษาพุทธคัมภีร์ยังนอกดินแดนจีน โดยเฉพาะที่อินเดีย พระอาจารย์จีนเหล่านั้นได้เผยแพร่วัฒนธรรมจีนตลอดเส้นทางที่เดินทางผ่านออกไปและเส้นทางที่เดินทางกลับ ได้นำพุทธคัมภีร์กลับสู่จีนเป็นจำนวนมหาศาล ทำให้พุทธศาสนาในจีนมีวิวัฒนาการที่สมบูรณ์ยิ่ง ๆ ขึ้น พระอาจารย์ที่เดินทางออกไปศึกษายังนอกดินแดนจีน ได้สร้างชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลกก็มีหลายท่าน เช่น พระอาจารย์ฝาเสี่ยน (ฟาเหียน) พระอาจารย์เสวียนจั้ง (พระถังซำจั๋ง) พระอาจารย์อี้จิง เป็นต้น

ระยะที่สอง อิทธิพลที่เป็นกระแสตรงในระยะนี้คือพุทธศาสนาในจีนได้ขยายออกไปสู่ประเทศใกล้เคียงหลายประเทศ โดยเฉพาะในญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม ส่วนกระแสที่สะท้อนกลับได้แก่กระแสที่พระอาจารย์จากนอกประเทศจำนวนหนึ่งเดินทางเข้าไปศึกษาพุทธศาสนาในประเทศจีน และเมื่อสำเร็จการศึกษากลับไปยังประเทศของตนแล้ว พระอาจารย์เหล่านี้ ก็ได้ตั้งตนขึ้นเป็นปฐมาจารย์นิกายใหม่ ๆ ขึ้นหลายนิกาย โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลี

ปรากฏการณ์ที่กล่าวมานี้ กลายเป็นเกลียวที่ผูกกระชับพุทธศาสนาในดินแดนจีนกับพุทธศาสนาในประเทศใกล้เคียงไว้อย่างแน่นแฟ้น และได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มวัฒนธรรมพุทธที่สำคัญมากกลุ่มหนึ่งของโลกตะวันออก

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040