สมเด็จพระเทพฯ พระราชทานสัมภาษณ์แก่คณะผู้สื่อข่าวซีอาร์ไอที่เมืองอู่ฮั่นของจีน
  2013-04-12 17:04:25  cri

1. -วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมา ใต้ฝ่าละอองพระบาทเสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในงานแนะนำหนังสือ "นารีนครา" บทพระราชนิพนธ์แปลนวนิยายจีนในใต้ฝ่าละอองพระบาท และทรงมีกระแสพระราชดำรัสแนะนำหนังสือ "นารีนครา" ด้วยพระองค์เอง ทรงมีแรงบันดาลใจในการแปลนวนิยายเรื่องนี้อย่างไรเพคะ

-เคยแปลหนังสือหลายเรื่องแล้ว วันหนึ่งเดินทางมาที่ประเทศจีน มีหนังสือพิมพ์มีหน้าที่ว่าด้วยวัฒนธรรม แล้วก็เขียนเรื่องนักเขียนฉือลี่ อ่านดูแล้ว พอกลับไปอาจารย์สอนภาษาจีนก็ไปเจอวารสารที่รวมเล่มวรรณกรรมจีน เป็นเรื่องนวนิยาย และหนังสั้น คิดว่าน่าจะแปลเรื่องนี้อีกครั้ง

2.-สังเกตว่า ในบทพระราชนิพนธ์แปลจากนวนิยายจีนเกือบทุกเรื่อง มักจะมีตัวละครเอกเป็นสตรี เหตุใดใต้ฝ่าละอองพระบาทจึงทรงสนพระทัยแปลนวนิยายที่มีตัวละครเอกเป็นสตรีเพคะ

-จริงๆ ก็ไม่ได้ตั้งใจ เพราะว่าก็แปลหลายเรื่อง เรื่องแรกเป็นเรื่องนักเขียนหวังเหมิง เรื่องนั้นก็มีตัวเอกทั้งชายหญิงอย่างปกติ ตอนหลังก็แปลเรื่องของนักเขียนสตรีฟางฟาง ตอนแรกก็ไม่สังเหตว่าผู้แต่งจะเป็นผู้หญิงทั้งหมด แต่เนื้อเรื่องก็มีทั้งเรื่องของผู้ชาย เรื่องของผู้หญิงในสังคมทั่วๆ ไป แต่อีกเรื่องที่ผู้เขียนก็เป็นผู้ชายคือผู้เขียนปาจีน เป็นส่านเหวิน คือเรื่องสั้นๆ ก็แปล แต่ว่ามาถึงเรื่องนี้ เพิ่งได้สังเกตตัวเองว่า ทำไมแปลเรื่องของนักเขียนสตรีหลายคน เป็นประเภทของการเขียนอย่างหนึ่ง รู้สึกว่าน่าสนใจดี ต่อไปอาจจะรวมเล่มเฉพาะนักเขียนสตรี คิดอย่างนั้น แต่จริงๆ แล้ว ตอนแปลไม่ได้ตั้งใจ

3.-ใต้ฝ่าละอองพระบาททรงชื่นชมบทกวีจีน โดยเฉพาะบทกวีในสมัยราชวงศ์ถัง และราชวงศ์ซ้อง หลายปีมานี้ใต้ฝ่าละอองพระบาทยังทรงแปลวรรณกรรมปัจจุบันชื่อดังของจีนเป็นภาษาไทยอีกหลายเรื่องด้วย เช่น นวนิยายเรื่อง "ผีเสื้อ" ของหวังเหมิง "เมฆเหินน้ำไหล" ของฟางฟาง ล่าสุดยังทรงแปลเรื่อง "นารีนครา" เหตุใดใต้ฝ่าละอองพระบาทจึงทรงสนพระทัยแปลวรรณกรรมปัจจุบันของจีน และในอนาคตทรงมีแผนที่จะแปลนวนิยายจีนเรื่องอื่นๆ อีกบ้างไหมเพคะ

-ที่สนใจเรื่องที่เป็นนวนิยาย เพราะว่าแต่ก่อนก็เรียนประวัติศาสตร์จีน ก็กล่าวถึงคนที่เป็นผู้นำในประวัติศาสตร์จีน ที่ได้ศึกษามา ก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องเล่าก็อาจแห้งแล้งหน่อย ถ้าเอาเป็นเรื่องที่เป็นนวนิยาย คือเริ่มสังเกตคือชอบนวนิยายจีนตั้งแต่อ่านหนังสือของท่านหวังเหมิง และรู้สึกประทับใจว่า คนในเรื่องเดี๋ยวก็ขึ้นเป็นผู้นำ เดี๋ยวชีวิตก็ตำต่ำมา ขึ้นๆ ลงๆ ชีวิตเขาก็ผ่านความรู้สึกต่างๆ ในเรื่องก็อ่านดูแล้วไม่เหมือนกับว่าอ่านเรื่องของวีรบุรุษ หรือเรื่องคนอะไรที่เป็นพิเศษ และก็ไม่รู้เรื่องภายในของเขา การอ่านนวนิยายก็ทำให้รู้จักคนเหมือนเป็นคนจริงๆ ที่จะรู้สึกเหมือนคนที่เราเจอกันทุกวันอย่างนี้ก็ได้ คิดว่าถ้าแปลแล้ว คนอ่านที่เป้นคนไทยก็จะทำให้เข้าใจคนจีนมากขึ้น ดีกว่าจะอ่านประวัติศาสตร์ แต่ว่าก็มีอีกประเภทที่คนไทยชอบก็คือ คนไทยชอบพวกหนังจีน เรื่องพวกนั้นก็เป็นอีกทางที่ทำให้คนไทยเข้าใจความรู้สึกของคนจีน ที่แปลหนังสือ และให้คนอ่านหนังสือเป็นอีกทางที่ทำให้อยากแปลนวนิยาย ต่อไปตอนนี้ก็ลองแปลเอาไว้แปลเรื่องเก่า เรื่องของปิงซิน นักเขียนรุ่นเก่า ปิงซินท่านเกิดเดือนตุลาคมปี 1900 ซึ่งเป็นปีเดียวเดือนเดียวกับสมเด็จย่า เลยรู้สึกว่าท่านปิงซิน พอดีก็ไม่รู้จักท่านเป็นส่วนตัวโดยตรง ไม่เคยพบ แต่ว่าการที่พออ่านประวัติแล้วรู้สึกว่าเป็นคนรุ่นเดียวกับย่า ก็น่าจะลองดู ก็จะเป็นความคิดของคนจีนในรุ่นเก่า ไม่ใช่ว่ารุ่นปัจจุบัน มีศัพท์สำนวนหลายอย่างที่อาจเป็นศัพท์เก่าๆ หน่อย แต่งขึ้นในช่วงเกือบร้อยปีมาแล้ว น่าสนใจถ้าคนอ่านก็จะได้เปรียบเทียบเหมือนกัน ต่อไปก็กำลังมองๆ ดูว่า จะแปลของคุณเถี่ยหนิง แต่ต้องดูก่อนว่าจะยากไหม ยังไม่ได้เริ่มต้น แต่ว่าของท่านปิงซินนั้นเริ่มต้นแล้ว

4.-ใต้ฝ่าละอองพระบาททรงมีความประทับพระทัยอย่างไรต่อเมืองอู่ฮั่น เรื่อง "นารีนครา" เกิดขึ้นที่เมืองอู่ฮั่น นวนิยายของฉือลี่แสดงเอกลักษณ์ของเมืองอู่ฮั่น อู่ฮั่นในนวนิยายกับอู่ฮั่นที่ใต้ฝ่าละอองพระบาททอดพระเนตรมีความเหมือนและความต่างกันอย่างไรบ้างเพคะ

-จริงๆ เคยมาอู่ฮั่นหลายเที่ยว ครั้งแรกจะมาดูมีสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในเรื่องของฟางฟาง จริงๆก็เป็นเรื่องในมหาวิทยาลัยอู่ฮั่น ก็ทำให้สนใจที่นั่น พอดีมีคนรู้จัก ท่านเป็นชาวต่างประเทศ เป็นอาจารย์ เคยมาสอนหนังสือที่อู่ฮั่น พอดีอู่ฮั่นมีความสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย เช่น AIT เกษตร มีศูนย์ที่เขาวิจัยเรื่องเกี่ยวกับการสำรวจทางไกลโดยใช้ดาวเทียม ก็เลยมีความสัมพันธ์กัน เขาก็สร้างสถาบันวิจัยเกี่ยวกับเรื่องภวพถ่ายดาวเทียมโดยที่ใช้ชื่อของฉัน ก็ให้เกียรติ ก็เคยมาสองหน เที่ยวนี้เขาก็เลยบอกว่าอยากให้ไปดูสถานที่ใหม่ ที่อยู่นอกเมืองออกไป เป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษที่สร้างใหม่ วันนี้ศูนย์ของมหาวิทยาลัยยังไม่เสร็จพร้อมทีเดียว แต่ก็เริ่มใช้แล้ว เขาก็มีกิจกรรมทำร่วมกับนักวิชาการจากประเทศไทย มีการวิจัย อบรมร่วม เป็นเรื่องที่แลกเปลี่ยนความรู้กัน แต่ว่าในชีวิตจริง จริงๆ ก็ไม่เคยดูอู่ฮั่นอย่างละเอียด พอมาอ่านหนังสือเล่มนี้ก็มีกล่าวถึงสถานที่หลายแห่งไม่เคยไป และก็พรุ่งนี้ อู่ฮั่นก็จะพาไปดูบางแห่งที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้ น่าจะสนุกดี จากหนังสือเล่มนี้ก็มีอีกเรื่องที่สนใจ มีการกล่าวถึงอาหารต่างๆ มากมาย อาหารพวกนี้ก็ไม่รู้จัก ก็เลยเรียนถามท่านเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยว่า อยากให้แม่ครัวพ่อครัวสถานทูตทำอาหารแบบนี้ แล้วก็ขอไปชิมได้ไหม ท่านทูตบอกว่าไม่ได้หรอก ทางสถานทูตบอกว่าสถานทูตไม่มีคนที่ทำอาหารแบบนี้เป็น ก็เลยติดต่อทางเมืองอู่ฮั่น ให้มณฑลหูเป่ยให้ส่งพ่อครัวมาทำอาหารให้หนหนึ่ง เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว เสร็จแล้วเขาก็บอกว่าจะจัดงานเทศกาลอาหารครั้งหนึ่ง พอดีทางสำนักพิมพ์เขาบอกว่า ถ้าหนังสือเล่มนี้เขาก็เร่งมือเต็มที่ว่า ถ้าพิมพ์ในวันเดียวกันก็จะได้เป็นแนะนำหนังสือ น่าจะสนุกดี เพราะว่ามีเรื่องหนังสือ และก็มีอาหารมาพร้อมกัน แต่วันนั้นที่พูดแนะนำก็ได้กล่าวอีกเรื่องหนึ่งคือ ในหนังสือเรื่องนี้ได้กล่าวถึงถนนสายหนึ่งเป็นถนนในวรรณกรรม และก็จะมีร้านขายหนังสือ มีสำนักพิมพ์ต่างๆ ที่มีชื่อเสียง เพราะสำนักพิมพ์อาจยังอยู่ บางสำนักพิมพ์ก็คงไม่มีแล้ว ก็จะพิมพ์หนังสือ และวารสารทางวรรณกรรมที่นักเขียนหลายท่าน เป็นนักเขียนที่อู่ฮั่น เป็นคนที่ให้ความนึกคิดต่างๆ เกี่ยวกับการปกครองประเทศ ทำให้ประเทศก้าวหน้า ที่จริงแล้ว นักเขียนเหล่นนี้ก็อาจเป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศจีนในปัจจุบันนี้ เป็นเรื่องที่เราน่าจะศึกษา และเป็นเรื่องที่น่าประทับใจว่า เหตุการณ์ที่ตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน การที่สาธารณรัฐประชาชนจีนก้าวหน้าถึงปัจจุบันนี้ ที่จริงแล้ว ประชาชน และปัญญาชนต่างๆ ก็มีส่วนร่วมด้วย ที่กล่าวถึงเรื่องนี้สักสองบรรทัดสามบรรทัด ทำให้นึกถึงเรื่องนี้ แล้วก็นำไปค้นคว้าในอินเตอร์เน็ตต่อถึงนักเขียนบางท่านที่กล่าวถึงในหนังสือ ก็อ่านพบบ้าง ไม่พบบ้าง ก็ได้ความคิดกว้างๆ ว่า เขามีแนวทางอย่างไร

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040