การพัฒนามาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (清迈倡议多边化)
  2013-10-15 19:06:13  cri

เพื่อกระชับความร่วมมือด้านการเงินระหว่างประเทศเอเชียตะวันออก และเพิ่มขีดความสามารถในการช่วยเหลือตนเองเมื่อเกิดวิกฤตในส่วนภูมิภาค เมื่อเดือนตุลาคม 2546 นายเวิน เจียเป่า อดีตนายกรัฐมนตรีจีนเสนอข้อเสนอเกี่ยวกับ "การพัฒนามาตรการริเริ่มเชียงใหม่ หรือ CMI ไปสู่การเป็นพหุภาคี" เป็นครั้งแรกในที่ประชุมผู้นำกลุ่มประเทศอาเซียน+3 ครั้งที่ 7 โดยเสนอให้ขยายความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน+3 จากรูปแบบที่จัดทำในลักษณะทวิภาคี (2 ประเทศ) เป็นการจัดทำในระหว่างประเทศลักษณะพหุภาคี (มากกว่า 2 ประเทศ) เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพของมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ที่มีอยู่ และเพื่อความร่วมมือทางการเงินในภูมิภาคอาเซียน+3 ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ซึ่งทั้งนี้ได้รับการตอบสนองอย่างแข็งขันจากผู้นำที่เข้าร่วมประชุม

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ในที่ประชุมสมัยวิสามัญของรัฐมนตรีการคลังอาเซียน+3 ที่เกาะภูเก็ต รัฐมนตรีประเทศต่างๆ เห็นชอบที่จะเร่งกระบวนการพัฒนามาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี โดยจะขยายขนาดของกองทุนสำรองเป็นจำนวน 1 แสน 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และต่อมาในที่ประชุมรัฐมนตรีการคลังเมื่อเดือนพฤษภาคมในปีเดียวกัน รัฐมนตรีการคลังต่างๆ ได้บรรลุความเห็นเป็นเอกฉันท์เกี่ยวกับการจัดแบ่งสัดส่วน โครงสร้างการลงเงิน ขนาดการปล่อยกู้และกลไกการกำหนดนโยบาย

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2553 รัฐมนตรีการคลัง และผู้ว่าการธนาคารกลางของอาเซียน+3 ร่วมกับผู้อำนวยการบริหารการเงินของเขตบริหารพิเศษฮ่องกงประกาศว่า ความตกลงว่าด้วยการพัฒนามาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคีมีผลบังคับอย่างเป็นทางการ กองทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของเอเชียตะวันออกที่มีขนาดจำนวน 1 แสน 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐได้จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ

ตามความตกลงนี้ จีนซึ่งรวมทั้งเขตบริหารพิเศษฮ่องกงด้วยจะออกทุน 3 หมื่น 8 พัน 400 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นสัดส่วนร้อยละ 32 ญี่ปุ่นก็ลงเงิน 3 หมื่น 8 พัน 400 ล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นสัดส่วนร้อยละ 32 เช่นกัน ส่วนเกาหลีใต้ลงเงิน 1 หมื่น 9 พัน 200 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นสัดส่วนร้อยละ 20

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 มีการจัดการประชุมรัฐมนตรีการคลัง และผู้ว่าการธนาคารกลางของอาเซียน+3 ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ โดยเห็นชอบที่จะขยาดขนาดของกองทุนสำรองเงินตราต่างประเทศจาก 1 แสน 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐเป็น 2 แสน 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนั้น ยังจะขยายเวลาการใช้เงินกู้หลังเกิดวิกฤตและสร้างสมรรถนะในการป้องกันวิกฤตด้วย

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2556 นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนเสนอในที่ประชุมผู้นำจีน-อาเซียนซึ่งจัดขึ้นที่บรูไนว่า ต้องกระชับความร่วมมือเพื่อพัฒนามาตรการริเริ่มเชียงใหม่ และจัดตั้งกองทุนสำรองเป็นวงเงิน 2 แสน 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐให้สำเร็จโดยเร็ว

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040