หลังจากเวิล์ดคัพแอฟริกาใต้สิ้นสุดลงแล้ว แฟนบอลจีนและบุคคลแวดวงกีฬาฟุตบอลจีนล้วนคิดกันว่า แล้วฟุตบอลจีนต้องเดินต่อไปอย่างไร ควรแก้ปัญหาอะไรบ้าง เพื่อให้ได้เข้ารอบสุดท้ายของบอลโลกโดยเร็วอย่างมีหน้ามีตา
ปัญหาแรกคือ ต้องเรียนรู้อย่างเอาจริงเอาจัง
หลายสิบปีที่ผ่านมา ฟุตบอลจีนมีช่วงหนึ่งนิยมการเล่นของบราซิล แต่ไม่สำเร็จ ต่อมาไม่นานก็หันไปตามอย่างสโมสรบาร์เซโรน่า แต่ยังไม่ได้เรื่อง ก็รีบหันไปเลียนแบบเยอรมนีอีก แต่ก็ไม่ได้ผลใด ๆ เช่นกัน การเลียนแบบทุกครั้งเป็นการเรียกขวัญกำลังใจเท่านั้น หากไม่ใช่ทำอย่างเอาจริงเอาจัง ที่จริงน่าจะหันกลับมาเลียนแบบญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศเอเชียและเป็นชาวผิวเหลืองเช่นกัน
เลียนแบบญี่ปุ่นค่ือต้องทำตามท่าทีและวิธีการพัฒนาฟุตบอลของญี่ปุ่น วงการฟุตบอลญี่ปุ่นได้กำหนดเส้นทางที่จะ "เลียนแบบบราซิล" แต่ไม่ใช่การเรียกเพื่อเป็นคำขวัญเท่านั้น คือได้ปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจัง ตั้งแต่ญี่ปุ่นได้เริ่มต้นเจลีกเป็นต้นมา ได้จ้างโค้ชจากบราซิลจำนวนมากอย่างมีขั้นตอน ทั้งยังส่งเสริมให้สโมสรต่าง ๆ นำเข้านักเตะจากบราซิลจำนวนมาก เวลาผ่านไป 10 กว่าปี ปัจจุบัน "ฟุตบอลเชิงเทคนิค"ของญี่ปุ่นจึงลงตัวแล้ว
ปัญหาที่สอง ลีกฟุตบอลต้องพัฒนาไปอย่างสมเหตุสมผลและยั่งยืนฟุตบอลโลกครั้งนี้ แม้ว่าทีมอังกฤษและทีมอิตาลีโชว์ฟอร์มไม่ค่อยดี แต่ลีกฟุตบอลยังคงเป็นพื้นฐานของการพัฒนากีฬาฟุตบอล 4 ทีมสุดท้ายของเวิลด์คัพครั้งนี้ โดยเฉพาะสเปนและเยอรมนี ล้วนมีลีกฟุตบอลที่สมบูรณ์แบบและดำเนินมานานแล้ว
บุนเดสลีกาของเยอรมนีเป็นลีกฟุตบอลที่สามารถทำกำไรเพียงหนึ่งเดียวใน 5 ลีกฟุตบอลใหญ่ของยุโรป โดยสโมสรฟุตบอลต่าง ๆ ล้วนควบคุมราคาในการซื้อขายนักเตะอย่างเข้มงวด ซึ่งจะไม่ให้เกินกว่า 45% ของรายจ่ายทั้งหมดของสโมสร และต้องพยายามหารายได้กลับเข้ามาสโมสรให้ได้ ทำให้สโมสรสามารถพัฒนาไปอย่างยั่งยืน ไม่ว่าลีกฟุตบอลสเปน พรีเมียร์ลีกหรือบุนเดสลีกา ล้วนมีผลกำไรมหาศาล สโมสรฟุตบอลต้องได้รับผลกำไร เพื่อใช้ในการพัฒนาตัวเอง ซึ่งแตกต่างกับลีกฟุตบอลจีนคือ สโมสรลงทุนส่วนใหญ่ แต่กำไรที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะไหลเข้ากระเป๋าสมาคมฟุตบอลที่เป็นของรัฐบาล และนายกสมาคมฟุตบอลมีอำนาจมากเกินไป จึงง่ายที่จะเกิดปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น ขณะนี้ นายหนานหย่ง อดีตนายกสมาคมฟุตบอลจีนยังต้องรับการสอบสวนเกี่ยวกับคดีรับสินบนมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว
ในประวัติศาสตร์ของสโมสรฟุตบอลจีนนั้น การซื้อขายนักเตะมักจะดำเนินไปอย่างไม่มีเหตุผล เรื่องที่สโมสรแห่งใดแห่งหนึ่งลงทุนร้อยล้านจัดซื้อนักเตะชื่อดังมาร่วมกัน และประกาศตั้งเป้าจะสร้างสโมสรที่มีประวัติศาสตร์นับร้อยปี แต่อีกไม่นานก็เงียบลงและหายลับไป
ปัญหาที่สาม พื้นฐานประชากรเล่นบอลน้อยมาก
แฟนบอลจีนมักจะคุยกันด้วยอารมณ์โกรธว่า "ทำไมจีนมีประชากรกว่า 1 ,300 ล้านคน แต่ไม่สามารถคัดเลือกคนเล่นบอลแค่สักสิบกว่าคนได้"
จีนมีประชากรมากที่สุดในโลก แต่ไม่ใช่ประเทศที่มีประชากรที่ชอบเล่นฟุตบอลจำนวนมาก
คำว่า "ประชากรเล่นฟุตบอล"หมายถึงจำนวนประชากรที่ถือการเล่นฟุตบอลเป้นอาชีพหรือกึ่งอาชีพ ทั้งได้ลงทะเบียนไว้ในสมาคมฟุตบอลของประเทศตน สเปนมีประชากรประมาณ 50 ล้านคน มีประชากรเล่นฟุตบอล 3.5 ล้านคน เยอรมนีมีประชากรประมาณ 80 ล้านคน มีประชากรเล่นฟุตบอล 6.5 ล้านคน เป็นสัดส่วนที่สูงมาก แม้แต่ญี่ป่นุก็ยังมีประชากรเล่นฟุตบอลถึง 1.1 ล้านคน แล้วจีนมีเท่าไร สถิติล่าสุดจากสมาคมฟุตบอลจีนปรากฏว่า จีนมีประชากรประมาณ 1,300 ล้านคน แต่มีประชากรเล่นฟุตบอลแค่ 25,000 คนเท่านั้น เป็นที่น่าขบขัมและน่าอายจริง ๆ การขาดพื้นฐานประชากรเล่นฟุตบอล ไม่สามารถคัดเลือกนักเตะที่มีฝีมือยอดเยี่ยมในวงกว้างได้ และยังไปแต่ฝากความหวังไว้ให้กับการจ้างโค้ชเก่ง ๆ จากต่างประเทศหรือเลียนแบบวิธีการเล่นของประเทศใดประเทศหนึ่ง เพื่อกลายเป็นประเทศที่เข้มแข็งด้านกีฬาฟุตบอลนั้น เป็นความคิดต่ำต้อยมาก
หลังฟุตบอลโลก 2010 สิ้นสุดลงแล้ว นายหลิวเผิง ผู้อำนวยการสำนักงานการกีฬาแห่งชาติจีนได้ไปดูงานที่ศูนย์ฝึกกีฬาฟุตบอลของโรงเรียนมัธยมสังกัดมหาวิทยาลัยประชาชนจีนในกรุงปักกิ่งและกล่าวกับสื่อมวลชนว่า "ปัจจุบัน เศรษฐกิจจีนพัฒนาไปมาก พ่อแม่สมัยนี้ส่วนใหญ่เลยไม่ยอมส่งลูกไปฝึกเป็นนักกีฬาอาชีพ เพราะไม่าอยากให้ลูกเหนื่อยเกินไป หรือไม่สามารถหางานทำที่ดีในอนาคตได้ ทำให้จีนขาดแคลนบุคลากรด้านการกีฬา โดยเฉพาะกีฬาฟุตบอล ระบบอบรมบุคลากรพังเกือบหมดแล้ว จีนเกือบจะไม่มีนักเตะรุ่นใหม่ให้เลือกเลย จึงต้องพยายามสร้างระบบฝึกอบรมนักกีฬาฟุตบอลขึ้นมาใหม่ "
(Ton/Lin)