สารกระตุ้นเป็นมะเร็งร้ายสำหรับวงการกีฬา จีนได้พยายามปราบปรามพฤติกรรมการใช้สารกระตุ้นอย่างเข้มงวดมาโดยตลอด สำหรับการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์กว่างโจวที่ใกล้จะถึงนี้ นายต้วน ซื่อเจี๋ย รองผู้อำนวยการสำนักงานการกีฬาแห่งชาติจีนกล่าวที่กรุงปักกิ่งเมื่อเร็วๆ นี้ว่า คณะผู้แทนการกีฬาจีนในเอเชียนเกมส์กว่างโจวจะใช้มาตรการต่อต้านการใช้สารกระตุ้นที่ "เข้มงวดที่สุดในประวัติศาสตร์"
จีนในฐานะประเทศเจ้าภาพกีฬาเอเชียนเกมส์กว่างโจว 2010 จะจัดส่งทีมนักกีฬาที่มีสมาชิกรวมกว่า 900 คนเข้าร่วมการแข่งขัน ซึ่งนับเป็นคณะผู้แทนเอเชียนเกมส์ที่มีจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของจีน โดยเฉพาะนักกีฬา ผู้ฝึกสอน และเจ้าหน้าที่การกีฬาทุกคน ล้วนถูกบังคับต้องเข้าร่วมกิจกรรม ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับกับการต่อต้านการใช้สารกระตุ้น ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานการกีฬาแห่งชาติ และต้องลงนามในหนังสือว่าด้วยความรับผิดชอบส่วนตัว ที่สัญญาว่าจะไม่ใช้สารกระตุ้นโดยเด็ดขาด ถ้าไม่ลงนาม จะไม่มีสิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งนี้ ที่จริง วิธีนี้เคยใช้มาแล้วครั้งหนึ่งในกีฬาโอลิมปิกเกมส์ปักกิ่ง 2008
นายต้วน ซื่อเจี๋ย รองผู้อำนวยการสำนักงานการกีฬาแห่งชาติจีนกล่าวว่า คณะผู้แทนนักกีฬาในเอเชียนเกมส์ครั้งนี้จะเน้นหลัก 2 ประการในด้านการต่อต้านสารกระตุ้น หนึ่งคือ ต้องทำให้บรรดานักกีฬารู้ว่า การใช้สารกระตุ้นเป็นพฤติกรรมหลอกลวง สองคือ ให้นักกีฬาได้รู้วิธีการป้องกันสารกระตุ้น เราจะบอกกับนักกีฬาว่า ต้องรักษาความเคยชินด้านชีวิตประจำวันที่ดี อย่างเช่น นักกีฬาอาชีพจะไม่ดื่มน้ำและทานอาหารจากภายนอก โดยเฉพาะเมื่อมีอาการป่วย ต้องไปพบแพทย์ที่ระบุโดยเฉพาะ ซึ่งเคยได้รับการฝึกอบรมความรู้เกี่ยวกับการต่อต้านสารกระตุ้น จึงจะสามารถให้ยาได้อย่างถูกต้อง หรือได้รับการรักษาที่ไม่ผิดจากข้อบังคับด้านการต่อต้านสารกระตุ้น
แต่สำหรับคณะผู้แทนนักกีฬาจีนที่เข้าร่วมการแข่งขันเอเชียนเกมส์ก็ยังมีปัญหาพิเศษอย่างหนึ่ง คือ รายการแข่งขันของเอเชียนเกมส์มีความแตกต่างอย่างมากกับกีฬาโอลิมปิกเกมส์ กีฬาเอเชียนเกมส์กว่างโจวครั้งนี้มีรายการแข่งขันประเภทย่อย 168 รายการที่ไม่ได้บรรจุไว้ในกีฬาอลิมปิกเกมส์ นายต้วน ซื่อเจี๋ย กล่าวว่า นักกีฬาจีนที่เข้าร่วมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ได้รับการอบรมเกี่ยวกับการต่อต้านสารกระตุ้นมานานแล้ว จึงใช้ชีวิตอย่างมีความระมัดระวัง แต่นักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันที่ไม่ได้บรรจุไว้ในกีฬาโอลิมปิกเกมส์นั้น ส่วนใหญ่เป็นนักกีฬาสมัครเล่น จึงไม่ค่อยให้ความระมัดระวังต่อปัญหาการต่อต้านสารกระตุ้น จึงมีโอกาสที่จะใช้สารกระตุ้นโดยไม่ได้ตั้งใจได้
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเป็นการใช้สารกระตุนโดยตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจก็ตาม คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติจีนและสำนักงานการกีฬาแห่งชาติจีนมีท่าทีชัดเจนต่อพฤติกรรม นั้นก็คือจะห้ามใช้สารกระตุ้นโดยเด็ดขาด ดำเนินการตรวจสอบอย่างเข้มงวด และลงโทษนักกีฬาที่ใช้สารกระตุ้นตาม "ข้อบังคับว่าด้วยการต่อต้านสารกระตุ้นโลก" นายต้วน ซื่อเจี๋ย กล่าวว่า
"เราจะไม่อดทนแม้สักนิด ถ้าโค้ชทำผิด จะถูกห้ามทำงานนี้ตลอดชีพ ถ้านักกีฬาทำผิด จะมีการลงโทษตามรายการแข่งขันที่ต่างกัน นอกจากนั้น คณะกรรมการโอลิมปิกสากลก็มีข้อกำหนดว่า นักกีฬาที่ถูกตรวจสอบและพบว่าใช้สารกระตุ้น จะห้ามเข้า่ร่วมการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ครั้งต่อไป"
เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา นายอาร์เน ลุนควิสต์ ประธานคณะกรรมการด้านการแพทย์ของคณะกรรมการโอลิมปิกสากลมาเยือนจีน และกล่าวชื่นชมงานต่อต้านสารกระตุ้นของจีนว่า จีนได้เข้าสู่กลุ่มประเทศที่นำหน้าด้านการต่อต้านสารกระตุ้นแล้ว จีนเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากมายขนาดนี้ แต่สามารถให้ความสนใจมากพอสมควรต่องานต่อต้านสารกระตุ้น นับเป็นตัวอย่างของประเทศอื่น
(Ton/Lin)