2020-10-12 10:08CMG
ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” เป็นแนวคิดของนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน มีชื่อเต็มว่า “แถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม” และ “เส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21” ย้อนกลับไปในเดือนกันยายน ค.ศ. 2013 ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เสนอข้อริเริ่มให้ร่วมมือกันสร้าง “แถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม” เป็นครั้งแรก ระหว่างการกล่าวปราศรัยที่ประเทศคาซักสถาน โดยเรียกร้องให้เสริมสร้างการแลกเปลี่ยนด้านนโยบาย การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม ความสะดวกทางการค้า การหมุนเวียนเงินตรา และความเข้าใจระหว่างประชาชน ต่อมาในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง กล่าวปราศรัยที่รัฐสภาอินโดนีเซียว่า ตั้งแต่โบราณกาลมา ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นชุมทางสำคัญของ “เส้นทางสายไหมทางทะเล” จีนยินดีเสริมสร้างความร่วมมือทางทะเลกับประเทศอาเซียน โดยใช้กองทุนความร่วมมือทางทะเลจีน-อาเซียนที่รัฐบาลจีนตั้งขึ้นให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความสัมพันธ์หุ้นส่วนความร่วมมือทางทะเลให้ดี เพื่อร่วมกันสร้าง “เส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21”
หลายปีมานี้ ภายใต้การนำอันแข็งแกร่งของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ความร่วมมือและการสร้าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ได้พัฒนาจากแนวความคิดกลายเป็นปฏิบัติการ และจากวิสัยทัศน์กลายเป็นความจริง อีกทั้งยังได้รับการยอมรับและชื่นชมจากประชาคมโลกมากขึ้น ตลอดจนประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลล่าสุดจนถึงปัจจุบัน จีนกับ 138 ประเทศ และ 30 องค์กรระหว่างประเทศ ได้ลงนามเอกสารเกี่ยวกับความร่วมมือในการสร้าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” รวม 200 ฉบับ ร่วมกันดำเนินโครงการความร่วมมือกว่า 2,000 โครงการ ทั้งนี้ ความร่วมมือได้ลงลึกและเป็นรูปธรรมมากขึ้น อีกทั้งยังประสบความสำเร็จเกินคาด
จากการร่วมสร้าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ประเทศมัลดีฟส์มีสะพานข้ามทะเลแห่งแรก ประเทศมอนเตเนโกรมีทางด่วนสายแรก และประเทศลาวกำลังดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว โครงการความร่วมมือต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” เปลี่ยนจากวิสัยทัศน์กลายเป็นความจริง จากข้อริเริ่มกลายเป็นผลิตภัณฑ์สาธารณะที่ได้รับความนิยมจากทั่วโลก
ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าระหว่างจีน-ยุโรปได้ขนส่งสินค้านำเข้าและส่งออกเพิ่มขึ้น 30.9% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ทำให้ห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศมีความมั่นคง ขณะที่ ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ วิสาหกิจจีนลงทุนโดยตรงในประเทศรายทาง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” คิดเป็นมูลค่า 11,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 31.5% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่แล้ว ช่วงเกิดการระบาดของโควิด -19 โครงการความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น ทางรถไฟฮังการี-เซอร์เบีย สะพานข้ามแม่น้ำปัทมาที่เชื่อมจีน-บังกลาเทศ และอุโมงค์ “มั่นม่าย” หมายเลข 1 ของทางรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวได้ก่อสร้างคืบหน้าไปอย่างราบรื่นท่ามกลางมาตรการป้องกันและควบคุมโควิด-19 อย่างเข้มงวด “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” สมเป็นชื่อเส้นทางแห่งสุขภาพ เส้นทางแห่งความร่วมมือ และเส้นทางแห่งการพัฒนา นอกจากนี้ เส้นทางสายนี้ยังเติมพลังสำคัญและชี้ทางออกที่ถูกต้องแก่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
สาเหตุสำคัญที่โครงการความร่วมมือต่าง ๆ ในการสร้าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ประสบความสำเร็จ คือ จีนยึดหลักการร่วมปรึกษาหารือ ร่วมสร้าง และร่วมแบ่งปันผลประโยชน์กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยจีนและฝ่ายต่าง ๆ พยายามแสวงหาจุดร่วมแห่งความร่วมมือที่ได้รับชัยชนะร่วมกันอย่างต่อเนื่อง
ช่วงที่จีนปฏิบัติตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 13 จีนได้จัดการประชุมสุดยอดว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในการสร้าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” สองครั้งด้วยความสำเร็จ การประชุมฯ ครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2017 ได้มีการทำข้อตกลงรวม 279 โครงการ ใน 76 ประเภท และ 5 ด้าน โดยข้อตกลงดังกล่าวเหล่านี้ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมภายในช่วงเวลา 2 ปี ต่อมาในการประชุมฯ ครั้งที่สอง ซึ่งจัดขึ้นในเดือนเมษายน ค.ศ. 2019 ได้มีการทำข้อตกลงความร่วมมือรวม 283 โครงการ ใน 6 ประเภท ทั้งนี้ ทำให้การร่วมสร้าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ก้าวสู่ช่วงที่มีการลงรายละเอียดมากขึ้น
ภายใต้การนำของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เมื่อเผชิญกับความเสี่ยงและความท้าทายต่าง ๆ ระดับโลก จีนได้ร่วมกับทุกฝ่ายสร้าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” เพื่อพัฒนาเส้นทางสายนี้ให้กลายเป็นเส้นทางแห่งความร่วมมือที่สามารถรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ เส้นทางแห่งสุขภาพที่เป็นประโยชน์ต่อการดูแลรักษาสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชน และเส้นทางที่เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการฟื้นฟูสังคม และเศรษฐกิจโลก ตลอดจนเป็นประโยชน์ต่อการปลดปล่อยศักยภาพแห่งการพัฒนาของโลก
TIM/CAI/LU