2021-05-06 08:36CRI
ปีนี้เป็นปีที่ 9 ที่จีนเสนอและเดินหน้าข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา ข้อริเริ่มดังกล่าวได้อัดฉีดแรงขับเคลื่อน และเพิ่มเสถียรภาพให้แก่ความร่วมมือระหว่างประเทศท่ามกลางปัจจัยที่ไม่แน่นอนต่าง ๆ
วันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดการประชุมฟอรัมเอเชียโป๋อ๋าว ประจำปี 2021 ว่า “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” เป็นเส้นทางเพื่อการพัฒนาร่วมกันของทุกประเทศ ไม่ใช่เส้นทางส่วนตัวของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด คำพูดดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า จีนในฐานะผู้ริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” มุ่งมั่นที่จะแบ่งปันโอกาสการพัฒนาแก่ทุกประเทศทั่วโลก
เมื่อทั่วโลกเผชิญความท้าทายที่ไม่เคยมีมาก่อนอันเกิดจากการระบาดของโควิด-19 ลัทธิเอกภาคีและลัทธิกีดกันทางการค้าเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น โลกจึงมีความต้องการเร่งด่วนที่จะให้ทุกฝ่ายใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ส่งเสริมความสามัคคี ความร่วมมือ ทั้งยังสนับสนุนเสรีภาพ ความสะดวกทางการค้า และการลงทุนข้ามชาติ ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” จึงมีความหมายสำคัญยิ่งต่อการส่งเสริมการเชื่อมต่อและประสานงานกันระหว่างประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งการขับเคลื่อนความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ระหว่างประเทศ
จากข้อมูลล่าสุด การลงทุนโดยตรงของวิสาหกิจจีนในประเทศรายทาง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ในปี 2020 เพิ่มขึ้น 18.3% โดยมียอดการลงทุนสูงถึง 17,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
การสร้าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ยังส่งเสริมการเจริญเติบโตทางการค้าระหว่างประเทศ ช่วงเกิดการระบาดของโควิด-19 จีนได้จัดส่งเวชภัณฑ์และยารักษาโรคจำนวนมากที่ประเทศรายทาง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ต้องการอย่างเร่งด่วน
ไตรมาสแรกปีนี้ ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรปมีการเดินรถรวม 3,398 เที่ยว เพิ่มขึ้น 75% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จนถึงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรปยังได้ขนส่งสินค้าป้องกันการระบาดของโควิด-19 รวม 89,000 ตัน
ปัจจุบันจีนกำลังใช้ความพยายามร่วมมือกับทุกฝ่ายที่ยินดีมีส่วนร่วมสร้าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” เพื่อสร้าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ให้เป็นเส้นทางแห่งการบรรเทาความยากจนและเส้นทางแห่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ รายงานฉบับหนึ่งของธนาคารโลกคาดการณ์ว่า จนถึง ค.ศ. 2030 การร่วมสร้าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” จะช่วยให้ประชากร 7.6 ล้านคนพ้นจากภาวะยากจนสุดขีด และประชากร 32 ล้านคนพ้นจากภาวะยากจนระดับปานกลาง
จนถึงปลายเดือนมกราคมปีนี้ จีนได้ลงนามข้อตกลงเกี่ยวกับความร่วมมือสร้าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” กับ 171 ประเทศและองค์กรระหว่างประเทศรวม 205 ฉบับ
ปัจจุบัน นับวันยิ่งมีประเทศจำนวนมากขึ้นเข้ามามีส่วนร่วมในการร่วมสร้าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” จีนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในอนาคตทุกประเทศจะร่วมกันรับมือความท้าทายระดับโลกในด้านต่าง ๆ เช่น การระบาดของโควิด-19 การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ปัญหาความยากจน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น โดยไม่ต้องยึดติดกับความแตกต่างทางภูมิภาค เชื้อชาติ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และระบบสังคม
(tim/cai)