第十课:你会打乒乓球吗?
บทที่ 10: คุณตีปิงปองเป็นไหม
มาสคอตการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 29 ปี 2008 กรุงปักกิ่ง
ฝูหวาเป็นมาสคอตของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 29 ในปี 2008 ที่กรุงปักกิ่ง แรงบันดาลใจและสีสันของฝูหวามีที่มาจากห่วงโอลิมปิกทั้งห้า ขุนเขา สายน้ำ แผ่นดิน แม่น้ำ ทะเลสาบและทะเลอันกว้างใหญ่ของจีน รวมไปถึงรูปลักษณ์ของสัตว์ที่เป็นที่ชื่นชอบของชาวจีน ฝูหวาจะเป็นทูตส่งสารแห่งมิตรภาพ สันติภาพและการก้าวไปข้างหน้า ตลอดจนความปรารถนาอันงดงามในการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนของคนและธรรมชาติไปสู่เด็กๆ ทั่วโลก
ฝูหวาเป็นตุ๊กตาน่ารัก 5 ตัว พวกมันถูกออกแบบจากรูปลักษณ์ของปลา หมีแพนด้า ละมั่งทิเบต นกนางแอ่นและคบเพลิงโอลิมปิก ตุ๊กตาฝูหวาทุกตัวมีชื่อที่เรียกติดปากง่าย คือ "Bèibei" "Jīngjing" "Huānhuan" "Yíngying" "Nīni" การตั้งชื่อโดยใช้การซ้ำพยางค์เช่นนี้เป็นวิธีการตั้งชื่อให้เด็กแบบดั้งเดิม สำหรับในภาษาจีนแล้ว ชื่อเหล่านี้จะฟังดูน่ารักน่าเอ็นดู เมื่อนำชื่อของตุ๊กตาฝูหวาทั้งห้ามาเรียงต่อกัน ก็จะอ่านออกมาเป็นประโยคได้ว่า "běi jīng huān yíng nín" ซึ่งหมายถึง "ปักกิ่งยินดีต้อนรับท่าน" กลายเป็นสารเชื้อเชิญชาวโลกจากไมตรีจิตของชาวจีน
ฝูหวาเป็นตัวแทนของความฝันและความปรารถนาของชาวจีนซึ่งจะนำเอาสารอวยพรไปสู่ทุกมุมโลก เครื่องประดับบนศีรษะของฝูหวาแต่ละตัวมีความหมายเชื่อมโยงกับทะเล ป่าไม้ ไฟ แผ่นดินและท้องฟ้า การออกแบบรูปลักษณ์ของฝูหวาใช้วิธีการแสดงออกแบบศิลปะจีนโบราณอันสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมอันรุ่งโรจน์ของจีน
ชาวจีนมีประเพณีการส่งสารอวยพรโดยใช้สัญลักษณ์แทนมาตั้งแต่สมัยโบราณ มาสคอตของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่จะจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่งนี้ก็เป็นสัญลักษณ์แทนคำอวยพรของชาวจีนในโอกาสนี้เช่นกัน ตุ๊กตาฝูหวาทั้งห้าล้วนเป็นสัญลักษณ์แทนของคำอวยพรอันงดงาม ได้แก่ ความเจริญรุ่งเรือง ความชื่นมื่น ความฮึกเหิม สุขภาพที่ดีและโชคดี ตุ๊กตาฝูหวาทั้งห้าจะส่งไมตรีจิตและคำอวยพรไปยังทั่วทุกมุมโลก เพื่อเชื้อเชิญประชาชนในประเทศต่างๆ มาร่วมเฉลิมฉลองงานมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2008 อันยิ่งใหญ่ที่กรุงปักกิ่ง
กังฟูจีน
กังฟูจีนเป็นชื่อเรียกรวมของหวู่ซู่หรือศิลปะการป้องกันตัววูซูและชี่กงของจีน ชนชาติจีนได้ก่อรูปร่างวัฒนธรรมกังฟูขึ้นจากการฝึกปฏิบัติจริงและการเรียนรู้เกี่ยวกับแขนขาและร่างกายมนุษย์มาเป็นระยะเวลาช้านาน กังฟูเป็นมรดกล้ำค่าทางวัฒนธรรมของจีนและยังเป็นกีฬาที่มีคุณค่าและเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้วย
ชนชาติจีนได้ปรับปรุงพัฒนาหวู่ซู่มาโดยตลอด จนท้ายสุดหวู่ซู่ได้วิวัฒนาการกลายเป็นกีฬาชนิดหนึ่ง หวู่ซู่มีช่วงการพัฒนาที่สำคัญคือ ในสมัยสังคมบรรพกาลหวู่ซู่มีจุดประสงค์เพื่อความอยู่รอด ในยุคจั้นกว๋อ(รัฐสงคราม) มีการใช้หวู่ซู่เพื่อประโยชน์ทางการทหาร ต่อมาหวู่ซู่ได้กลายเป็นวัฒนธรรมในหมู่ชาวบ้านและได้รับการเผยแพร่ไปอย่างกว้างขวาง และช่วงสุดท้ายได้มีการกำหนดให้หวู่ซู่มีระบบและเป็นมาตรฐานหลังจากก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน
ชี่กงเป็นการออกกำลังกายซึ่งมีรากฐานมาจากการเรียนรู้การเคลื่อนไหวของแขนขา ร่างกายและความเข้าใจในโครงสร้างร่างกายมนุษย์ของชนชาติจีน โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อบ่มเพาะคุณธรรมและยืดอายุให้ยืนยาว หลักการพื้นฐานของชี่กงคือการโน้มนำให้ร่างกายและอวัยวะภายในได้เคลื่อนไหวผ่านความคิดท่วงท่าลีลาและการปรับท่าทางการเคลื่อนไหวของแขนขา ร่างกาย ทำให้ร่างกายประสานกับความสามารถของเซลล์และสรีระ เคล็ดลับของชี่กงซึ่งได้รับการพัฒนามาเป็นเวลาหลายพันปีได้กลายเป็นสิ่งเร้นลับอย่างหนึ่งของวัฒนธรรมโลกตะวันออกไปแล้ว
กังฟูจีนแพร่หลายไปทั่วโลกพร้อมๆ กับการเปิดประเทศของจีน และเพื่อส่งเสริมให้ทั่วโลกมีการพัฒนาหวู่ซู่หรือศิลปะการป้องกันตัววูซูของจีนอย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการโอลิมปิกสากลจึงได้บรรจุกีฬาวูซูเข้าเป็นรายการแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกปี 2000 ที่กรุงซิดนีย์อย่างเป็นทางการ การบรรจุกีฬาวูซูเข้าในรายการแข่งขันของกีฬาโอลิมปิกมีส่วนช่วยอย่างยิ่งในการส่งเสริมวัฒนธรรมโบราณของจีน ให้ชาวโลกได้รู้จักและเข้าใจประเทศจีนมากขึ้น