第三十课:我要回国了。
บทที่ 30: ฉันจะกลับประเทศแล้ว
พิธีและธรรมเนียมปฏิบัติ 6: ประเพณีการดื่มเหล้าและการส่งแขกหรือผู้ที่จะออกเดินทาง
1. ประเพณีการดื่มเหล้าของจีน
เหล้า ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องดื่มเท่านั้น หากแต่หล่อหลอมเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ตามประเพณีโบราณของจีน เหล้าเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในงานเลี้ยง เนื่องจากชาวจีนถือว่าการดื่มเหล้าเป็นกิจกรรมพื้นฐานในการแลกเปลี่ยนและสร้างความเข้าใจระหว่างกัน ดังนั้นหากมีการเลี้ยงแขกก็มักจะมีการดื่มเหล้าเป็นสิ่งคู่กันเสมอ ในโอกาสเทศกาลและวันสำคัญต่างๆ ของจีน จะมีกิจกรรมการดื่มเหล้าที่มีความหมายแตกต่างกันออกไป
"เหล้าครบเดือน" (หม่านเย่ว์จื่ว) หรือ "เหล้าร้อยวัน" (ป่ายรื่อจิ่ว) เป็นประเพณีอย่างหนึ่งที่ปฏิบัติกันทั่วไปในกลุ่มชนชาติต่างๆ ของจีน การดื่มเหล้าครบเดือนนี้จะทำกันในโอกาสที่เด็กมีอายุครบหนึ่งเดือน โดยจะมีการจัดโต๊ะเหล้าหลายโต๊ะ และเชิญญาติสนิทมิตรสหายมาร่วมฉลอง ปกติผู้ที่มาร่วมงานจะต้องเตรียมของขวัญหรืออั่งเปามามอบแก่เจ้าภาพด้วย
"เหล้าอายุยืน" โดยทั่วไปจะดื่มกันในโอกาสฉลองครบรอบวันเกิดของผู้สูงอายุที่มีอายุครบ 50, 60 และ 70 ปีหรือสูงขึ้นไป ซึ่งเรียกว่า "ต้าโซ่ว" งานเลี้ยงเหล้าอายุยืนนี้มักจัดโดยลูกหลานของผู้สูงอายุ และเชิญเพื่อนฝูงญาติพี่น้องมาร่วมงาน
"เหล้าขึ้นแป" (ซั่งเหลียงจิ่ว) และ "เหล้าขึ้นบ้านใหม่" (จิ้นอูจิ่ว) เป็นเหล้าที่ดื่มกันในโอกาสสร้างบ้านใหม่ ในชนบทจีนการสร้างบ้านถือเป็นเรื่องใหญ่ และในระหว่างการก่อสร้างนั้น ขั้นตอนการขึ้นแปบ้านถือเป็นขั้นตอนสำคัญ ดังนั้นจึงมีประเพณีดื่มเหล้าฉลองในวันที่มีการขึ้นแป เมื่อบ้านสร้างเสร็จก็จะมีการดื่มเหล้าเฉลิมฉลองในวันขึ้นบ้านใหม่ ประเพณีการดื่มเหล้าขึ้นบ้านใหม่นี้มีจุดประสงค์หลักสองประการคือ ดื่มฉลองที่บ้านใหม่สร้างเสร็จและอวยพรให้ผู้อยู่อาศัยประสบแต่ความสุขสวัสดี อีกประการหนึ่งก็เพื่อเซ่นไหว้เทพเจ้าและบรรพบุรุษให้มาปกปักษ์รักษา
"เหล้าเปิดกิจการ" (ไคเยี่ยจิ่ว) และ "เหล้าแบ่งอั่งเปา" (เฟินหงจิ่ว) เป็นประเพณีการดื่มเหล้าที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการค้า เหล้าเปิดกิจการจะดื่มกันในโอกาสฉลองเปิดกิจการหรือโรงงานใหม่ เพื่ออวยพรให้กิจการรุ่งเรืองก้าวหน้า ส่วนเหล้าแบ่งอั่งเปานั้นจะดื่มในโอกาสแบ่งเงินปันผลหรือเงินโบนัสในช่วงปลายปี
"เหล้าเลี้ยงส่ง" (จ้วงสิงจิ่ว หรือ ซ่งสิงจิ่ว) จะดื่มกันในโอกาสเลี้ยงส่งเพื่อนที่จะเดินทางไกลเพื่อเป็นการแสดงความรู้สึกอำลาอาลัย
2. การส่งแขกหรือผู้ที่จะออกเดินทาง
ตามธรรมเนียมปฏิบัติของจีน หากแขกที่มาเยี่ยมที่บ้านต้องการเดินทางกลับ เจ้าบ้านจะต้องส่งแขกตั้งแต่แขกก้าวออกจากประตูบ้านและยืนรอจนกว่าแขกจะลับสายตาไป การทำเช่นนี้ถือว่าเป็นการให้เกียรติต่อแขกผู้มาเยือน โดยปกติเมื่อมีแขกมาเยี่ยมที่บ้าน เจ้าบ้านจะต้องรอให้แขกเป็นผู้บอกลาก่อน หากเจ้าบ้านเป็นผู้บอกลาก่อนย่อมทำให้แขกรู้สึกว่าเจ้าบ้านไม่ต้อนรับหรือต้องการไล่แขก ดังนั้นหากไม่มีความจำเป็นเจ้าบ้านจึงไม่ควรเป็นผู้บอกลาก่อน เมื่อแขกต้องการลากลับ โดยทั่วไปเจ้าบ้านจะต้องพูดโน้มน้าวให้แขกอยู่ต่อสักครู่เพื่อแสดงถึงน้ำใจในการต้อนรับของตน หากแขกยืนยันว่าต้องการลากลับ เจ้าบ้านจะต้องรอให้แขกเป็นผู้ลุกจากที่นั่งก่อนแล้วจึงลุกขึ้นตาม มิฉะนั้นจะถือเป็นการเสียมารยาท
ส่วนธรรมเนียมการส่งแขกที่จะเดินทางกลับจะต้องเดินไปส่งแขกในระยะทางที่เหมาะสม เช่น เดินไปส่งที่รถ หรือไปส่งถึงสถานีขนส่งหรือสนามบิน เมื่อไปถึงสถานที่ส่ง ควรกล่าวอำลากับแขกและยืนส่งจนกว่าแขกจะเดินทางออกจากสถานที่นั้น
ในการกล่าวอำลา แขกผู้มีเยือนมักพูดว่า "jiù cǐ gào cí" (ขอลาตรงนี้) "hòu huì yǒu qī" (โอกาสหน้าพบกันใหม่) ส่วนเจ้าบ้านก็มักกล่าวว่า "yí lù shùn fēng" (ขอให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ) "lǚ tú píng' ān" (ขอให้ปลอดภัยตลอดการเดินทาง) บางครั้งทั้งเจ้าบ้านและแขกต่างก็กล่าวคำว่า "zài jiàn" (แล้วพบกันใหม่) ต่อกันหรือต่างฝ่ายต่างกำชับให้ "duō duō bǎo zhòng" (รักษาเนื้อรักษาตัวให้ดี) หรืออาจฝากทักทายเพื่อนร่วมงานและคนในครอบครัวของแต่ละฝ่าย