จีน---ประเทศที่มีประวัติศาสตร์ 5 พันปี (23)

2019-02-13 09:53:20 | CRI
Share with:

图片默认标题_fororder_20190213上下五千年(23)3

เมื่อขึ้นครองราชย์ใหม่ๆ จูหยวนจาง ปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์หมิงทรงตระหนักดีว่า  สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนโดยทั่วไปอยู่ในสภาวะที่ยากลำบากมาก   เพราะชาวนาจำนวนมากต้องอพยพหนีภัยสงคราม  พลัดที่นาคาที่อยู่  ไม่มีที่ทำกิน  จูหยวนจางจึงทรงอนุญาตให้ชาวนาเหล่านี้เข้าจับจองที่ดินทำกินกันได้ตามท้องที่ที่รกร้างว่างเปล่าในบริเวณลุ่มแม่น้ำหวายเหอ  โดยทางรัฐบาลจัดหาวัวและพืชสำหรับเพาะปลูกให้ด้วย    ชาวนาเหล่านี้ไม่ต้องเสียภาษีและไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงานภายในเวลา 3 ปี   ด้วยนโยบายดังกล่าว  ชาวนารับจ้างที่ไม่มีงานทำตามบริเวณที่ราบลุ่มตอนล่างของแม่น้ำแยงซีจึงพากันอพยพไปยังบริเวณลุ่มแม่น้ำหวายเหอ  เพื่อจับจองที่ดินรกร้างว่างเปล่าและทำไร่ไถนากัน    ต่อมา    ราชวงศ์หมิงออกพระราชกฤษฎีกา กำหนดให้ชาวนาต้องสงวนที่ดินส่วนหนึ่งไว้ปลูกฝ้าย เพื่อสนับสนุนการผลิตผ้าฝ้าย   นอกจากนี้   ปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์หมิงยังสนพระทัยในการชลประทาน  เพื่อสนับสนุนการผลิตข้าวให้มีผลดียิ่งขึ้น   มาตรการต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ปริมาณการผลิตเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นอย่างมาก   สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไปดีขึ้นตามลำดับ   อุตสาหกรรมช่างฝีมือและ     พาณิชยกรรม ก็เจริญขึ้น   ยังผลให้จำนวนประชากรก็เพิ่มขึ้นด้วย

จักรพรรดิจูหยวนจางทรงนิยมชมชอบในฮั่นเกาจู่ ปฐมจักรพรรดิราชวงศ์ฮั่นเป็นพิเศษ เพราะมีกำเนิดมาจากชาวนา   และมีฐานะต่ำต้อยรวมทั้งต้องฟันฝ่าต่อสู้อย่างสาหัสสากรรจ์จนได้เป็นถึงจักรพรรดิเช่นเดียวกับพระองค์    จูหยวนจางจึงสนพระทัยเป็นพิเศษในประวัติศาสตร์ราชวงศ์ฮั่น โดยเฉพาะความรุ่งโรจน์และเสื่อมสลาย  ซึ่งสาเหตุแห่งความเสื่อมในประการแรกของราชวงศ์ฮั่นก็มาจากพระมเหสีของจักรพรรดิฮั่นเกาจู่รวบอำนาจไว้แล้วเข้าปกครองอาณาจักรเองเมื่อฮั่นเกาจู่สิ้นพระชนม์  ในแง่นี้  จักรพรรดิจูหยวนจางแตกต่างจากฮั่นเกาจู่   เพราะพระมเหสีหม่าหวงโฮ่วของจูหยวนจางเป็นสตรีที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด  แต่ไม่มีความทะเยอทะยานในอำนาจ  แม้ว่าจักรพรรดิจูหยวนจางดำริจะตั้งญาติพี่น้องของพระนางให้เป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่  พระมเหสีหม่าหวงโฮ่วก็ปฏิเสธอย่างหนักแน่น โดยยืนยันว่า  ญาติพี่น้องของพระนางไม่ได้มีความรู้อะไรในการปกครองบริหารบ้านเมือง  ถ้าจักรพรรดิจูหยวนจางขืนแต่งตั้งให้ญาติพี่น้องของพระนางเป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่  ก็มีแต่จะทำให้ญาติพี่น้องของพระนางตกอยู่ในภาวะอันตราย  

ในเมื่อราชสำนักฝ่ายในไม่เป็นปัญหาและพระมเหสีหม่าหวงโฮ่วก็สิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่ต้นรัชกาล  ประกอบกับจักรพรรดิจูหยวนจางมีความรักและอาลัยในพระมเหสีหม่าหวงโฮ่ว ซึ่งเป็นคู่ทุกข์คู่ยากของพระองค์     จักรพรรดิจูหยวนจางจึงไม่ยอมแต่งตั้งนางสนมคนใดขึ้นมาเป็นพระมเหสีองค์ใหม่   สาเหตุแห่งความเสื่อมของราชวงศ์ในประการแรกจึงไม่มีทางที่จะก่อให้เกิดเหตุร้ายแรงใดๆ      ส่วนสาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้ราชวงศ์ฮั่นเสื่อมสลายคือ  ปัญหาขันที   เพราะขันทีเคยเป็นสาเหตุสำคัญแห่งความเสื่อมจนถึงสลายของหลายราชวงศ์  จักรพรรดิจูหยวนจางทรงตระหนักถึงภัยจากขันทีเป็นอย่างดี  จึงได้วางข้อกำหนดห้ามไม่ให้ขันทีมีโอกาสศึกษาหาความรู้ เพราะทรงถือว่า  ถ้าขันทีมีความรู้สูงขึ้นก็จะยิ่งมีความทะเยอทะยานในการเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจการบ้านเมือง 

อย่างไรก็ดี  ไม่ว่าจักรพรรดิจูหยวนจางจะเพียรพยายามศึกษาข้อดีข้อด้อยของจักรพรรดิราชวงศ์ก่อนๆ และทรงพยายามหาทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมของราชวงศ์หมิง  แต่เหตุการณ์ที่นอกเหนือความคาดคิดของพระองค์ก็ยังเกิดขึ้นจนได้    จูเปียว โอรสองค์หัวปีของจักรพรรดิจูหยวนจาง  และเป็นรัชทายาทที่จูหยวนจางมั่นหมายว่าจะให้ขึ้นครองราชย์ในฐานะจักรพรรดิต่อจากพระองค์ต้องมาสิ้นพระชนม์โดยกะทันหัน    ขณะที่จูเปียวสิ้นพระชนม์นั้น  จูหยวนจางมีพระชนมายุกว่า 60 พรรษาแล้ว   เมื่อราชโอรสที่ทรงหวังไว้มากต้องมาสิ้นพระชนม์ก่อนพระองค์  จูหยวนจางย่อมเสียพระทัยอย่างมาก และก็ทรงตั้งบุตรชายของจูเปียว คือ จูหยุ่นเหวินขึ้นมาเป็นรัชทายาทคนต่อไป  

การตัดสินพระทัยของจักรพรรดิจูหยวนจางครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นความผิดพลาดครั้งหนึ่ง  ยังผลให้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นหลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์ไม่นาน   เนื่องจากจักรพรรดิจูหยวนจางทรงมีโอรสหลายองค์ที่เคยกรำศึกมากับจักรพรรดิจูหยวนจางเป็นเวลาช้านาน  หลังจูหยวนจางขึ้นครองราชย์แล้ว ก็ทรงแต่งตั้งโอรสเหล่านี้เป็นเจ้า และให้แยกย้ายกันอยู่ตามท้องที่ต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร เพื่อให้ช่วยป้องกันเมืองหลวง เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น   แต่ในการที่จักรพรรดิจูหยวนจางตั้งจูหยุ่นเหวิน ราชนัดดาขึ้นมาเป็นรัชทายาท  ก็เป็นธรรมดาที่บรรดาอาที่เคยผ่านการสงครามมามากแล้วจะไม่เห็นหลานชายคนนี้อยู่ในสายตา    จูหยุ่นเหวินรัชทายาทที่จูหยวนจางทรงแต่งตั้งได้ขึ้นครองราชย์เมื่อค.ศ.1399 มีชื่อรัชสมัยว่า  เจี้ยนเหวิน  ขณะขึ้นครองราชย์  จักรพรรดิเจี้ยนเหวินมีพระชนมายุเพียง 21 พรรษา สำหรับบรรดาพระปิตุลาของพระองค์ที่เคยผ่านสมรภูมิมากับพระราชบิดาอย่างโชกโชนและก็มีกำลังทหารอยู่ภายใต้การบังคับบัญชา ย่อมไม่อาจยอมรับโอรสแห่งสวรรค์องค์นี้ได้    โดยเฉพาะเอี้ยนหวาง โอรสองค์ที่ 4 ของจูหยวนจาง  เอี้ยนหวางมีอายุ 39 ปี  นับได้ว่าอยู่ในวัยที่บรรลุวุฒิภาวะโดยสมบูรณ์  และมีประสบการณ์ทั้งในฐานะแม่ทัพและนักปกครองยิ่งกว่าโอรสทุกองค์ของจูหยวนจาง   ทั้งนี้จะเห็นได้จากการที่จูหยวนจางไว้วางพระทัยให้เอี้ยนหวางเป็นผู้บัญชาการกองกำลังทหารทั้งหมดในภาคเหนือของอาณาจักร  โดยมีปักกิ่งเป็นศูนย์กลางของการบังคับบัญชา หรือฐานที่มั่นสำคัญทางการทหาร   เพื่อป้องกันและต่อต้านการรุกรานของชนเผ่ามองโกล  

ความจริง ตอนปลายพระชนม์ชีพ จูหยวนจางก็พอจะคาดการณ์ได้ว่า   บรรดาโอรสของพระองค์คงจะไม่ยอมรับรัชทายาทที่พระองค์ตั้งขึ้นนี้ เมื่อใกล้จะสิ้นพระชนม์จึงได้มีพระราชโองการห้ามไม่ให้โอรสของพระองค์คนใดเดินทางมาร่วมพระราชพิธีศพของพระองค์ในเมืองหนานจิง  แต่เอี้ยนหวางไม่ยอมปฏิบัติตาม  โดยอ้างว่าพระราชโองการดังกล่าวเป็นของปลอม   ได้ออกเดินทางตรงมายังเมืองหลวงหนานจิง ในทันทีที่จูหยวนจางสิ้นพระชนม์  แต่ก็ถูกยับยั้งโดยพระราชโองการของจักรพรรดิองค์ใหม่    โดยจักรพรรดิองค์ใหม่ได้ส่งกองทัพมาสกัดกั้นไว้  เอี้ยนหวางจึงจำเป็นต้องถอยทัพกลับไปตั้งหลักที่ปักกิ่ง ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของตน 

  • เสียงข่าวประจำวัน (19-04-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (19-04-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (19-04-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (18-04-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (18-04-2567)

郑元萍