หลังจากประกาศแผนการปฏิรูประบบการปกครองฮ่องกงแล้ว นาย คริส แพตเทนจึงเดินทางมาเยือนปักกิ่งในวันที่ 22 เดือนตุลาคม หมายจะใช้เรื่องที่เกิดขึ้นมากดดันจีน จะให้จีนมีข้อเสนอค้านบนพื้นฐานของแผนดังกล่าว แต่จีนยืนหยัดจะปฏิบัติตามหลักการที่กำหนดไว้ในแถลงการณ์ร่วมระหว่างจีน-อังกฤษในการดำเนินการ เนื่องจากเห็นว่า การเลือกตั้งประจำปี 1994/1995 เกี่ยวพันถึงเสถียรภาพในช่วงเปลี่ยนผ่าน จึงควรมีการปรึกษากับจีน เพื่อให้มีความคิดเห็นที่ตรงกัน อังกฤษไม่ควรกระทำโดยลำพังฝ่ายเดียว โดยที่ยังไม่มีการหารือกับจีน ดังนั้น จีนขอให้นาย คริส แพตเทน เปลี่ยนแปลงท่าที และให้ประกาศถอนแผนการปฏิรูประบบการปกครองฮ่องกง
แต่นาย คริส แพตเทน เพิกเฉย มิได้ใส่ใจในคำชี้แนะ และคำเตือนของฝ่ายจีน
จีนจึงได้เตรียมมาตรการรองรับไว้สองประการ คือ ประการแรก จะยืนหยัดในจุดยืนของตนเอง และพยายามรักษาพื้นฐานแห่งความร่วมมือระหว่างสองฝ่าย และอีกประการหนึ่งคือ หากในที่สุดเกิดสถานการณ์ที่ระบบการปกครองเชื่อมต่อกันไม่ได้ก่อนและหลังฮ่องกงกลับคืนสู่จีน จีนก็จะใช้วิธีการของตนเอง
อังกฤษเห็นว่าจีนได้ปฏิเสธแผนการปฏิรูประบบการปกครองของนาย คริส แพตเทนอย่างเด็ดขาด และแผนนี้ก็ถูกสื่อมวลชนวิจารณ์อย่างรุนแรง ดังนั้น จึงเสนอให้มีการเจรจาผ่านช่องทางการทูต เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง
ระยะเวลาประมาณ 2 เดือนหลังจากนั้น ทั้งสองฝ่ายได้ปรึกษาหารือหลายครั้ง เรื่องการให้ข่าวเกี่ยวกับการเจรจา และผู้ที่จะเป็นตัวแทนในการเจรจา ในที่สุด ก็ตกลงจะให้ตัวแทนรัฐบาลทั้งสองฝ่ายเริ่มการเจรจาที่กรุงปักกิ่งในวันที่ 22 เมษายน ปี1993
การเจรจาระหว่างจีนกับอังกฤษครั้งนี้ใช้เวลานานถึงครึ่งปี โดยมีการเจรจาถึง 17 รอบ ซึ่งขั้นตอนก็เต็มไปด้วยความสลับซับซ้อน อย่างไรก็ตาม จีนพยายามรักษาความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่ายด้วยความจริงใจ และพยายามเสนอข้อคิดเห็นที่สมเหตุสมผล รวมทั้งมีการผ่อนปรนในหลายเรื่อง แต่น่าเสียดายที่อังกฤษไม่ยอมละทิ้งแผนการปฏิรูประบบการปกครองของนายคริส แพตเทน ตอนท้ายๆ เรื่องที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น คือ อังกฤษหยุดการเจรจาโดยลำพังฝ่ายเดียวอย่างกะทันหัน จากนั้น อังกฤษนำแผนการปฏิรูประบบการปกครองฮ่องกงเข้าพิจารณาในสภานิติบัญญัติฮ่องกง เป็นผลให้อังกฤษแยกทางกันเดินกับจีนตั้งแต่บัดนั้น และก้าวไปสู่การเผชิญหน้าในที่สุด
ต่อมา จีนและอังกฤษก็ได้ประกาศรายละเอียดในการเจรจาที่ผ่านมา แต่เนื่องจากมีจุดยืนที่แตกต่างกัน ต่างฝ่ายจึงต่างว่าไปตามเรื่องของตัวเอง
ปลายเดือนกันยายน ปี 1993 จีนได้ตีพิมพ์การพูดคุยอันสำคัญ 3 บทของนายเติ้ง เสี่ยวผิง เกี่ยวกับปัญหาฮ่องกง โดยบทที่ 1 พูดคุยกับนายกรัฐมนตรีมาร์กาเรต แธตเชอร์ของอังกฤษ เมื่อวันที่ 24 กันยายน ปี1982 บทที่ 2 พูดคุยกับนายเจฟฟรี เฮาร์ รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ปี 1984 และบทที่ 3 พูดคุยกับคณะที่ปรึกษาของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ปี 1984
คำพูดของเติ้ง เสี่ยวผิงนั้น แม้พูดตอนเจรจาปัญหาฮ่องกงกับอังกฤษในทศวรรษ 1980 ก็ตาม แต่เมื่อมาตีพิมพ์ในปี 1993 ก็ยังคงมีความหมายสำคัญยิ่ง การพูดคุย 3 บทนี้ได้รับความสนใจมากจากสื่อมวลชนทั้งจีนและต่างประเทศ ผู้คนต่างตระหนักดีว่า นั่นเป็นการเตือนอังกฤษว่า อย่าวางตัวเป็นปรปักษ์กับจีน
เนื้อหาหลักของการพูดคุยของเติ้ง เสี่ยวผิงคือ หากเกิดความไม่สงบในฮ่องกงในช่วงเปลี่ยนผ่าน จีนก็ต้องพิจารณาอีกครั้งถึงเวลาและวิธีการในการรับเอาฮ่องกงคืน จีนกำลังเฝ้าสังเกตช่วงเปลี่ยนผ่านของฮ่องกงอยู่ หวังว่าจะไม่เกิดปัญหาอะไรขึ้นในช่วงนั้น แต่จีนต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม อังกฤษไม่สนใจคำเตือนของจีน ได้นำแผนการปฏิรูประบบการปกครองฮ่องกงเข้าสู่สภานิติบัญญัติฮ่องกง และสภานิติบัญญัติฮ่องกงได้ผ่านแผนดังกล่าวในเดือนมิถุนายนปี 1994
จีนจึงได้ประกาศมาตรการตอบโต้ทันที โดยแถลงอย่างเป็นทางการว่า ตามแถลงการณ์ร่วมระหว่างจีน-อังกฤษ อำนาจในการบริหารฮ่องกงของอังกฤษจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 มิถุนายน ปี1997 และอำนาจอธิปไตยในการปกครองฮ่องกงจะกลับคืนสู่รัฐบาลจีนในวันที่ 1 กรกฎาคม ปี1997 ซึ่งจะทำให้สภาเขตชุดสุดท้าย สภาบริหาร และสภานิติบัญญัติฮ่องกงที่เป็นองค์กรการปกครองของอังกฤษสิ้นสุดลง พร้อมกับการหมดอำนาจการปกครองของอังกฤษในฮ่องกง และในที่สุด องค์กรปกครองบริหารเขตบริหารพิเศษฮ่องกงก็จะถูกจัดตั้งขึ้นตามมติของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน และกฎหมายพื้นฐานเขตบริหารพิเศษฮ่องกงในวันที่ 1 กรกฎาคม ปี1997 เป็นต้นไป
คำแถลงของจีนแสดงให้เห็นว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกงชุดสุดท้ายในระยะเปลี่ยนผ่านไม่สามารถทำงานต่อไปได้หลังฮ่องกงกลับคืนสู่จีน เพราะอังกฤษไม่ทำตามข้อตกลง ดังนั้น จีนจึงจำเป็นต้องใช้วิธีการของตนเอง
เดือนมีนาคม ปี 1996 คณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งเขตบริหารพิเศษฮ่องกงได้ตั้งสภานิติบัญญัติเขตบริหารพิเศษฮ่องกงเฉพาะกิจขึ้น โดยสภานิติบัญญัติเฉพาะกิจนี้จะทำหน้าที่ของสภานิติบัญญัติเขตบริหารพิเศษฮ่องกงอย่างเป็นทางการนับตั้งแต่วันที่ฮ่องกงกลับคืนสู่จีนในวันที่ 1 กรกฎาคม ปี 1997 จะทำหน้าที่เป็นเวลา 1 ปี และจะสิ้นสุดหน้าที่หลังมีการจัดตั้งสภานิติบัญญัติเขตบริหารพิเศษฮ่องกงชุดที่หนึ่งแล้ว
โดยหลักแล้ว งานเหล่านี้ถือเป็นเรื่องของจีนโดยแท้ อังกฤษไม่มีสิทธิ์ในการแทรกแซง อย่างไรก็ตาม จีนยังหวังว่า อังกฤษจะให้ความร่วมมือกับงานเตรียมการต่างๆ เกี่ยวกับการจัดตั้งเขตบริหารพิเศษฮ่องกง โดยจะอำนวยความสะดวกบางอย่างให้ แต่จีนก็รู้ดีถึงท่าทีไม่ให้ความร่วมมือของอังกฤษเมื่อมีการจัดตั้งคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งเขตบริหารพิเศษฮ่องกงเมื่อ 2 ปีที่แล้ว จึงมิได้คาดหวังอะไรมากนักเมื่อจะจัดตั้งสภานิติบัญญัติเขตบริหารพิเศษฮ่องกงเฉพาะกิจในครั้งนี้
เรื่องเป็นไปอย่างที่จีนคาดคิดเอาไว้ไม่มีผิด อังกฤษต่อต้านการจัดตั้งสภานิติบัญญัติเฉพาะกิจนี้ เช่นเดียวกับตอนที่มีการจัดตั้งคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งเขตบริหารพิเศษฮ่องกงในครั้งก่อน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีการเลือกสมาชิกสภานิติบัญญัติเขตบริหารพิเศษฮ่องกงเฉพาะกิจขึ้นแล้ว อังกฤษก็ไม่ยอมให้สภานิติบัญญัติเฉพาะกิจนี้จัดการประชุมที่ฮ่องกง สภานิติบัญญัติเฉพาะกิจนี้จึงต้องไปทำงานที่เมืองเซินเจิ้นแทน จนกระทั่งฮ่องกงกลับคืนสู่จีนแล้ว จึงได้ย้ายกลับไปที่ฮ่องกง
วันนี้ มาทบทวนประวัติการกลับคืนสู่จีนของฮ่องกง ความวุ่นวายที่รุนแรงที่สุดคือ องค์กรปกครองฮ่องกงไม่สามารถเชื่อมต่อกันได้ ก่อนและหลังฮ่องกงกลับคืนสู่จีน เนื่องจากอังกฤษไม่ปฏิบัติตามแถลงการณ์ร่วม และข้อตกลงต่างๆ ที่ลงนามกับจีนไว้แล้ว เพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์อันไม่พึงปรารถนาเช่นนี้ จีนได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ แต่ก็ไม่ประสบผล ช่วงเวลานั้น สื่อมวลชนส่วนใหญ่เห็นว่า เป็นเพราะสาเหตุส่วนตัวของนายคริส แพทเทน ทำให้เกิดสถานการณ์เช่นนี้ แต่จีนเห็นว่า ยังมีเบื้องหลังที่ลึกกว่านั้น
หลังปี 1989 อังกฤษเสนอให้เร่งพัฒนาประชาธิปไตยในฮ่องกง แต่ก็ยังปรึกษากับจีนก่อน เพื่อให้ทุกอย่างสอดรับกับกฎหมายพื้นฐานเขตบริหารพิเศษฮ่องกง อย่างไรก็ตาม พอมาถึงปี 1992 อังกฤษเริ่มไม่คำนึงถึงข้อตกลงต่างๆ ที่ลงนามกับจีนไว้ และไม่ปรึกษากับจีน แต่ได้เสนอแผนการปฏิรูประบบการปกครองฮ่องกงที่ละเมิดแถลงการณ์ร่วม และข้อตกลงต่างๆ กับจีน ทำให้เกิดปัญหาขัดแย้งกันขึ้น
สาเหตุที่อังกฤษเปลี่ยนนโยบายที่เคยร่วมมือกับจีนไปมากมายถึงขนาดนั้น คงมิใช่เป็นเพราะสาเหตุส่วนตัวของนายคริส แพธเทนเท่านั้น แต่ต้องมีเหตุผลระหว่างประเทศที่ลึกซึ้งเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน
ในต้นทศวรรษ 1990 เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในยุโรปตะวันออก และเกิดการสลายตัวของสหภาพโซเวียต สิ่งนี้ทำให้ผู้นำอังกฤษประเมินสถานการณ์และพัฒนาการของจีนผิดพลาดไป พวกเขาเห็นว่า ข้อตกลงต่างๆ เกี่ยวกับปัญหาฮ่องกงนั้น อังกฤษเสียเปรียบจีนอยู่มาก จึงถือโอกาสนี้พลิกเรื่อง สิ่งนี้เป็นสาเหตุอันแท้จริงที่ทำให้อังกฤษสร้างปัญหาความขัดแย้งกับจีนในประเด็นการปฏิรูประบบการปกครองฮ่องกง
วันที่ 1 กรกฎาคม ปี 1997 พิธีส่งมอบอำนาจการปกครองฮ่องกงกลับคืนสู่จีนจัดขึ้นที่ฮ่องกง ธงชาติจีนค่อยๆ ถูกเชิญขึ้นสู่ยอดเสาบนผืนแผ่นดินฮ่องกง ชาวจีนทั่วโลกอดรู้สึกตื้นตันใจไม่ได้ ที่ได้ประจักษ์กับตาตัวเองถึงการสิ้นสุดประวัติศาสตร์ที่ดินแดนของจีนถูกยึดครองโดยต่างชาติ คืนวันนั้น ฝนกระหน่ำลงมาอย่างหนัก นี่เป็นฝนที่นำมาซึ่งความสดชื่น ชะล้างความอัปยศอันยาวนานนับศตวรรษของจีนให้หมดไป และทำให้ฮ่องกงต้อนรับอนาคตใหม่ของตัวเอง
(yim/cai)