หม่า ไห่เต๋อ - ชาวต่างชาติคนแรกที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน

2021-06-24 08:19:21 | CMG
Share with:

หม่า ไห่เต๋อ - ชาวต่างชาติคนแรกที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน_fororder_活动标识

ปีนี้เป็นวาระครบรอบ 100 ปีแห่งการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ท่ามกลางกระบวนการปฏิวัติ การสร้างสรรค์ การปฏิรูปและการพัฒนาอันยาวนานของประชาชนจีนภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน มีชาวต่างชาติจำนวนหนึ่งก็ได้มีส่วนร่วมและสร้างคุณูปการสำคัญด้วย  นายหม่า ไห่เต๋อถือเป็นตัวแทนที่โดดเด่นของพวกเขา

หม่า ไห่เต๋อ - ชาวต่างชาติคนแรกที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน_fororder_1

หม่า ไห่เต๋อมีชื่อเดิมว่าจอร์จ ฮาเทม(George Hatem)  เกิดเมื่อวันที่ 26 กันยายน ค.ศ. 1910 ในครอบครัวผู้อพยพชาวอาหรับในเมืองบัฟฟาโล มลรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 1933 จอร์จ ฮาเทมซึ่งเพิ่งได้รับปริญญาเอกด้านการแพทย์ได้ยินว่ามีโรคเขตร้อนทางตะวันออกชนิดหนึ่งกำลังแพร่ระบาดในเมืองเซี่ยงไฮ้ของจีน ความเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกันกระตุ้นให้เขาตัดสินใจที่จะเดินทางข้ามมหาสมุทรมายังประเทศจีน เพื่อบรรเทาความทุกข์ทรมานจากโรคภัยไข้เจ็บแก่ผู้คนที่ตกทุกข์ได้ยาก

ระหว่างที่เขาพำนักอยู่ที่นครเซี่ยงไฮ้ จอร์จ ฮาเทม ได้รู้จักกับมาดามซ่ง ชิ่งหลิงและชาวต่างชาติในจีนที่มีหัวก้าวหน้า เช่น แอกเนส สเมดลีย์(Agnes Smedley) เรวี แอลลี(Rewi Alley)และคนอื่นๆ ภายใต้อิทธิพลของพวกเขา จอร์จ ฮาเทมเริ่มอ่านหนังสือลัทธิมาร์กซ์และศึกษาปัญหาเกี่ยวกับการปฏิวัติจีน คลินิกที่เขาเปิดมักจะกลายเป็นสถานที่ติดต่อและจัดการประชุมของเจ้าหน้าที่ใต้ดินของพรรคคอมมิวนิสต์

เมื่อ ค.ศ. 1936 ด้วยคำแนะนำของมาดามซ่ง ชิ่งหลิง ชาวต่างชาติสองคนได้ปรากฏตัวในที่ตั้งกองบัญชาการสูงสุดของกองทัพแดงกรรมกรและชาวนาแห่งประเทศจีน คนหนึ่งชื่อเอ็ดการ์ สโนว์ (Edgar Snow) อีกคนก็คือ จอร์จ ฮาเทม จากนั้นไม่กี่เดือน เอ็ดการ์ สโนว์เสร็จสิ้นการสัมภาษณ์และเดินทางออกไปจากพื้นที่ภาคเหนือของมณฑลส่านซี ต่อมาเขาได้เขียนหนังสือเรื่อง "ดาวแดงเหนือประเทศจีน" ที่สั่นสะเทือนทั่วโลก ส่วนจอร์จ ฮาเทมสมัครใจอยู่ในกองทัพแดงกรรมกรและชาวนาจีนต่อไป และได้กลายเป็นที่ปรึกษาฝ่ายสาธารณสุขของกองทัพแดง

ค.ศ. 1937 จอร์จ ฮาเทมติดตามโจว เอินไหล ไปทำงานที่มณฑลหนิงเซี่ย เมื่อเห็นว่าพี่น้องผู้ชายชนเผ่าหุยในท้องถิ่นส่วนใหญ่มีนามสกุล "หม่า"  เขาจึงเปลี่ยนคำเรียกชื่อภาษาจีนของตนว่า "ฮาเทม - ไห่เต่อหมู่" เป็น "หม่า ไห่เต๋อ" เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ของปีเดียวกัน หม่า ไห่เต๋อได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน เขากล่าวว่า “ตั้งแต่บัดนี้ ข้าพเจ้าสามารถมีส่วนร่วมในภารกิจปลดปล่อยอันยิ่งใหญ่ครั้งนี้ในฐานะเป็นเจ้าของประเทศแทนที่จะเป็นแขกรับเชิญคนหนึ่ง ข้าพเจ้ารู้สึกปลื้มปิติยินดีเป็นอย่างยิ่ง "

หม่า ไห่เต๋อไม่เพียงแต่อุทิศตนให้กับภารกิจปลดปล่อยประเทศของประชาชนจีนเท่านั้น หากยังใช้ความพยายามอย่างแข็งขันเพื่อช่วงชิงความเข้าใจและการสนับสนุนการปฏิวัติจีนจากประชาคมระหว่างประเทศซึ่งรวมถึงสหรัฐอเมริกาอีกด้วย  นอกจากงานทางการแพทย์แล้ว ในช่วงเวลาที่พำนักในเหยียนอัน หม่า ไห่เต๋อยังเคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประจำหน่วยกิจการต่างประเทศของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนและสำนักข่าวซินหัวด้วย และมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในกิจการต่างประเทศและการประชาสัมพันธ์สู่ภายนอก

เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1937 หม่า ไห่เต๋อช่วยสำนักข่าวซินหัวก่อตั้งภาคภาษาอังกฤษและเริ่มออกอากาศเผยแพร่ข่าวสารภาษาอังกฤษสู่ต่างประเทศ เขายังมักจะเขียนบทความให้แก่ “ข่าวสารจีน” ซึ่งเป็นสิ่งพิมพ์ประชาสัมพันธ์สู่ภายนอกที่จัดพิมพ์โดยคณะกรรมการกลางพรรค ในขณะนั้น ในช่วงสงครามต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่นและสงครามปลดปล่อยประเทศ หม่า ไห่เต๋อเคยต้อนรับนักข่าว นักการทูต และเจ้าหน้าที่ทหารจากต่างประเทศจำนวนมากที่ไปเยี่ยมเยียนเหยียนอัน ซึ่งรวมถึงทีมสังเกตการณ์ทหารสหรัฐฯ ที่พลเอกโจเซฟ สติลเวลล์ ผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐฯประจำประเทศจีนส่งไปยังเหยียนอันในปี 1944 เขาสามารถแนะนำสภาพในพื้นที่ปลดแอกให้ผู้มาเยือนได้รับทราบอย่างกระตือรือร้นโดยผสมผสานประสบการณ์ที่แท้จริงของตนเอง จึงได้รับผลลัพธ์ที่ดีมาก

หลังจากการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อปี 1949 หม่า ไห่เต๋อได้ยื่นขอแปลงสัญชาติเป็นพลเมืองจีนทันที และกลายเป็นชาวต่างชาติคนแรกที่ได้สัญชาติประเทศจีนใหม่ เขาภูมิใจในสิ่งนี้มาก  ปี 1950 หม่า ไห่เต๋อได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุขของสาธารณรัฐประชาชนจีน เขาอุทิศตนให้กับการสร้างสรรค์กิจการสาธารณสุขของจีนใหม่ที่คึกคัก โดยยังคงยืนหยัดปฏิบัติงานในแนวหน้าแห่งการรักษาพยาบาลเพื่อให้บริการผู้ป่วยด้วยตนเอง

ในช่วง 10 ปีต่อจากนั้น หม่า ไห่เต๋อนำทีมแพทย์ไปยังเขตชนบท ทิ้งรอยเท้าไว้ในทั่วประเทศยกเว้นมณฑลไต้หวันและทิเบต ต่อมาเขาทุ่มเทกำลังให้กับการรักษาโรคเรื้อน

หม่า ไห่เต๋อยังได้รับเชิญให้ไปเยือนสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆหลายครั้ง เคยเข้าร่วมการประชุมระดับนานาชาติมากมาย เขามักจะใช้ประสบการณ์และสิ่งที่ได้เห็นได้ยินด้วยตนเองในการประชาสัมพันธ์แนะนำจีนใหม่อย่างมีชีวิตชีวา ได้ทำงานมากมายก่ายกองเพื่อส่งเสริมความเข้าใจและมิตรภาพระหว่างประชาชนจีนกับประชาชนประเทศต่างๆ ทั่วโลก

หนึ่งเดือนก่อนที่เขาจะเสียชีวิต หม่า ไห่เต๋ออดทนต่อความเจ็บปวดจากโรค ได้เรียกประชุมเจ้าหน้าที่รับผิดชอบในการป้องกันและรักษาโรคเรื้อนจากมณฑลยูนนาน กุ้ยโจวและอื่นๆ เพื่อศึกษาประเด็นความร่วมมือกับต่างประเทศ บนเตียงคนไข้ในโรงพยาบาล หม่า ไห่เต๋อซึ่งป่วยหนักยังขอให้ภรรยาอ่านเอกสารและจดหมายเกี่ยวกับโรคเรื้อนให้เขาฟังด้วย

เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1988 หม่า ไห่เต๋อเสียชีวิตด้วยอาการป่วยที่ปักกิ่ง ก่อนเสียชีวิตเขาพูดด้วยความรู้สึกอันซาบซึ้งกับญาติและเพื่อนๆ ของเขาว่า “ถ้าให้เริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง ผมยังคงต้องเลือกหนทางนี้อย่างไม่ต้องสงสัยเลย” ตามความปรารถนาของเขา อัฐิส่วนหนึ่งถูกวางไว้ในสุสานการปฏิวัติปาเป่าซาน ส่วนหนึ่งถูกลอยในแม่น้ำเหยียนเหอของจีน และยังมีอีกส่วนหนึ่งถูกนำกลับไปที่บ้านเกิดในสหรัฐอเมริกาโดยญาติของเขาในต่างประเทศ

หม่า ไห่เต๋อเดินทางมาประเทศจีนเมื่อ ค.ศ. 1933 จนกระทั่งเสียชีวิต เขาอาศัยและทำงานในประเทศจีนเป็นเวลายาวนาน เขากลายเป็นชาวต่างชาติคนแรกที่เข้าร่วมกองทัพแดงกรรมกรและชาวนาแห่งประเทศจีน ชาวต่างชาติคนแรกที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน  ชาวต่างชาติคนแรกที่เข้าร่วมสัญชาติแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งยังเป็นชาวต่างชาติเพียงคนเดียวที่ได้สัมผัส 4 ช่วงเวลาประวัติศาสตร์แห่งการปฏิวัติจีน ได้แก่ การปฏิวัติที่ดิน สงครามต่อต้านญี่ปุ่น สงครามปลดปล่อย และการสร้างสรรค์สังคมนิยม หม่า ไห่เต๋อเป็นนักสู้ลัทธิสากลอย่างแท้จริง เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ยอดเยี่ยม และเป็นนักการทูตพลเรือนที่โดดเด่น ด้วยประสบการณ์ที่เต็มเปี่ยมและไม่เหมือนใคร หม่า ไห่เต๋อได้สร้างสะพานแห่งความเข้าใจซึ่งกันและกันและมิตรภาพระหว่างประชาชนจีนกับประชาชนสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ

เมื่อปี 2009 หม่า ไห่เต๋อได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งใน "100 คนที่สร้างความซาบซึ้งใจแก่ประชาชนจีนตั้งแต่การก่อตั้งจีนใหม่"  นอกจากนี้ เขายังได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็น "สุดยอดนักต่อสู้" เมื่อวันที่ 25 กันยายน ปี 2019 อีกด้วย

YIM/LU

  • เสียงข่าวประจำวัน (19-04-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (19-04-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (19-04-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (18-04-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (18-04-2567)

陆永江