ย้อนกลับมาที่ร้านจำหน่ายทอฟฟี่ ที่ปีนี้เป็นปีมังกรทอง คาดว่าน่าจะมีคนจัดงานแต่งงานกันมาก ถามเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งซึ่งเพิ่งจัดงานแต่งงานเมื่อวานซืนนี้ เธอบอกว่า ราคาทอฟฟี่ยังไม่ปรับเพิ่มขึ้น ที่รู้ เพราะปกติเธอและเพื่อน ๆ ชอบซื้อทอฟฟี่มารับประทาน แต่ที่ขึ้นราคาอย่างน่ากลัวคือดอกไม้ เพราะวันที่เธอแต่งงานหลังวันวาเลนไทน์ไม่นาน(ทั้งที่ผ่านมากว่า 10 วัน) ร้านดอกไม้กลับพากันขึ้นราคา โดยอ้างเหตุผลวาเลนไทน์ทำให้ดอกไม้ขาดตลาด นี่แหละ ข้ออ้างในการขึ้นราคาของพ่อค้าแม่ค้า ไม่ว่าชาติไหน ไม่ต่างกัน เวลาจะขึ้นราคาสินค้าล้วนมีข้ออ้างชนิดที่ลูกค้าต้องยอมจำนน
ทอฟฟี่แต่งงานนอกจากบรรจุมาในถุงผ้าแดงลายทองโปร่งใส มีรูปหัวใจเป็นสัญลักษณ์แล้ว ยังมีที่บรรจุมาในกล่องฉลุสีแดงสดใส ใส่ถุงกระดาษขนาดจิ๋วรูปหัวใจ ล้วนสวยเก๋ไก๋ด์ ชนิดที่ว่า รับประทานทอฟฟี่หมดแล้ว สะสมไว้เป็นของที่ระลึกได้อย่างสบาย ๆ
ส่วนตัวท็อฟฟี่ที่อยู่ข้างในก็มีทั้งรูปลักษณ์ รสชาติสารพันเน้นหวาน หอม มัน อร่อย ยิ่งถ้าเผื่อเป็นช็อกโกแลตเกรดดี ๆ ด้วยแล้ว นอกจากจะเลิศหรูแสดงรสนิยมของคู่บ่าวสาวแล้ว ของเหล่านี้ ยังเป็นเครื่องแสดงฐานะของคู่แต่งงานและครอบครัวไปโดยปริยาย
ตอนนี้ได้ทอฟฟี่เป็นของฝากหรือได้รับในฐานที่เป็นขนมแต่งงาน ก็รู้สึกสุขใจ เพราะความหมายของมันเมื่อเป็นของฝาก ตามความเชื่อคือความหอมหวานของมิตรภาพที่ผู้มอบมีต่อเรา ส่วนในฐานะขนมแต่งงาน ทอฟฟี่คือความหอมหวาน หวานชื่นในชีวิตคู่ ที่คู่สมรสจะมีให้กันตลอดไป
เหลือบดูสถิติการผลิตทอฟฟี่ของจีนที่มีการผลิตกันทั่วประเทศที่เว็บไซต์ www.askci.com รวบรวมไว้
ปรากฏว่า ปี 2011 ที่ผ่านมา มียอดการผลิต 2,227,946.92ตัน เพิ่มขึ้น 24.17 % เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยพื้นที่ที่มีการผลิตทอฟฟี่มากเป็น 3 อันดับแรกของจีน คือ กวางตุ้ง 522,123.24 ตัน ฮกเกี้ยน 293,611.17 ตัน หูเป่ย 245,251.90 ตัน อุตสาหกรรมผลิตทอฟฟี่ก่อให้เกิดการจ้างงานและรายได้มหาศาล เพราะอย่างที่ว่า ตามปกติคนจีนก็นิยมชมชอบของขบเคี้ยวชนิดนี้ ด้วยเหตุที่ปีนี้เป็นปีมังกร คนจีนนิยมแต่งงาน ต้องจับตากันต่อไปว่า ยอดการผลิตทอฟี่ของปีนี้จะเพิ่มกว่าปีที่แล้วมากน้อยแค่ไหน
ในจีนทอฟฟี่ใช่แค่ขนมธรรมดา ๆ มีทั้งคุณค่ามูลค่าและความหมาย แต่ที่ผู้ใหญ่จีนและผู้ใหญ่ไทยเตือนเหมือนกันคือ กินทอฟฟี่แล้ว กินน้ำตามมาก ๆ บ้วนปาก หรือแปลงฟัน จะได้ไม่ฟันผุยังไงล่ะคะ
อินทนิล ปลดเปลื้อง
26 กุมภาพันธ์ 2555