สวมแว่นส่อง "สองสภาจีน" กับ รศ.พรชัย ตระกูลวรานนท์
  2012-03-09 16:54:18  cri

ช่วงพิเศษส่อง "สองสภาจีน" วันนี้เราได้รับเกียรติจากท่าน รศ.พรชัย ตระกูลวรานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการและวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งท่านเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญและสนใจในด้านจีนศึกษาเป็นพิเศษ โดยมีผลงานทางวิชาการและงานวิจัยออกตีพิมพ์เป็นหนังสือ รวมถึงงานเขียนบทความทางวิชาการเผยแพร่ในวารสารและหนังสือพิมพ์อย่างต่อเนื่อง อาทิ คอลัมน์คลื่นบูรพา หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ซึ่งวันนี้ท่านได้สละเวลามาร่วมพูดคุยและแสดงความคิดเห็นต่อ "รายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล" ที่นายกรัฐมนตรีจีน นายเวินเจียเป่าได้กล่าวในพิธีเปิดงานการประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน เมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมาว่า

รศ.พรชัย:ต้องใช้คำว่าตื่นเต้นกับการประชุมเที่ยวนี้ เพราะนี่อาจจะเป็นครั้งแรกที่มีการระบุอย่างชัดเจน ที่มีการเน้นว่าจีนจะสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ แล้วก็ลดการพึ่งพิงการส่งออก สองเรื่องนี้ผมว่าเป็นเรื่องใหญ่และเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะผมเชื่อว่าเพื่อนนักวิชาการทั่วโลกที่สนใจเรื่องจีนคงรู้สึกเหมือนผม ว่าตลอดช่วงเวลายี่สิบปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนเติบโตขยายตัวอย่างรวดเร็วมาก แม้ว่าเราดูจากภายนอกในฐานะเป็นผู้เฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในจีนจะรู้สึกยินดีด้วยก็ตาม แต่ก็อดไม่ได้ที่จะเป็นห่วง เพราะว่าธรรมชาติมีความขัดแย้งอยู่คู่หนึ่ง ว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่การเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งต้องรวมศูนย์ทรัพยากรทั้งหลายที่จีนมีอยู่

จะเอื้ออำนวยให้เกิดการจัดสรรรายได้แล้วก็แบ่งปันผลประโยชน์ภายในสังคมจีนได้อย่างทั่วถึง พูดง่ายๆ ว่ายิ่งพัฒนารวดเร็วมากเท่าไหร่ เราผู้ที่เฝ้ามองอยู่ข้างนอก ก็ยิ่งเกรงว่าจะเกิดปัญหาทางสังคม ความแตกต่างทางชนชั้นภายในประเทศจีนเพิ่มมากขึ้น คือ ผมเข้าใจว่า ในคำกล่าวรายงานของท่านนายกรัฐมนตรีเวินเจียเป่ามีอยู่สามส่วนด้วยกัน ส่วนที่หนึ่งเรื่องของการรายงานกิจการที่ผ่านมาในรอบปี 2011 ส่วนที่สองเรื่องของข้อสังเกตปัญหาที่เกิดขึ้นและแผนงานที่จะแก้ไขในปี 2012 ส่วนที่สามคือแผนงานและงบประมาณที่จะลงทุนใหม่ๆ

ผมตื่นเต้นใน่สวนที่สองที่เป็นข้อสังเกตและแผนงานในอนาคต รัฐบาลจีนเองก็ยอมรับและเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วก็ได้มีการพิจารณาปรับเปลี่ยนเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านั้น

ถ้ามองแบบนักวิเคราะห์และนักวิชาการชาวตะวันตกในช่วงสองสามวันนี้ที่ผมได้สืบค้นดู เค้าคาดการณ์อยู่แล้วว่าจีนจะต้องปรับลดเป้าหมายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจลงมา เขามองว่าสืบเนื่องจากวิกฤตทางเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ถึงตรงนั้นจะเป็นเหตุผลจริงก็ตาม แต่ผมก็ยังคิดว่าตรงนั้นเป็นโอกาสดี เพราะถ้าลดเป้าลงมาเป็น 7.5 จะทำให้จีนมีโอกาสและมีเวลาในการสร้างเสถียรภาพ โดยเฉพาะเสถียรภาพเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจภายใน และยิ่งเน้นย้ำว่าจะไม่พึ่งพาการเจริญเติบโตจากการส่งออก ก็แปลว่าจะมีการพัฒนากำลังในการบริโภคภายในประเทศจีนที่ผมถือว่าสำคัญมาก เพราะมันเป็นกลไกในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในประเทศจีนเพิ่มมากขึ้น ตรงนี้จะเปิดโอกาสให้สามารถเกลี่ยและกระจาย แม้ยังไม่เกิดความเท่าเทียมระหว่างคนรวยกับคนจน แต่อย่างน้อยทำให้มีความสามารถการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น เงินทองก็จะวนเวียนอยู่ในประเทศ การใช้ทรัพยากร ผลผลิตทางอุตสาหกรรม ทางเกษตรกรรม ก็จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตภายในประเทศให้ดีขึ้น ก็จะช่วยทำให้ประโยชน์ที่ได้จากการพัฒนาทางเศรษฐกิจตกไปถึงมือของผู้คนทั่วๆไป

ซีอาร์ไอ:การที่สื่อมวลชนต่างประเทศได้ให้ความสนใจต่อการเปิดประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน มีความเห็นว่าระบอบสภาผู้แทนฯนี้ นอกจากจะมีความสอดคล้องกับระบอบการเมืองของจีนในปัจจุบันแล้ว ยังเป็นระบอบการเมืองที่มีความร่วมสมัยและเปี่ยมไปด้วยศักยภาพ ในมุมมองส่วนตัวของอาจารย์รู้สึกว่าการประชุมสองสภาฯ นี้ มีความสำคัญต่อจีน ต่อประเทศไทย และต่อระดับโลกอย่างไร

รศ.พรชัย:ขอแยกตอบเป็นสองส่วนนะครับ ส่วนที่หนึ่งผมไม่ค่อยเชื่อว่าผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศรวมถึงตัวผมด้วย รู้หรือเข้าใจจริงๆ ว่าสองสภานี้คืออะไร ที่ประชุมพรรคคืออะไร เหตุที่เป็นอย่างนั้นเพราะจีนได้พัฒนากลไกและโครงสร้างทางการเมืองที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ซึ่งสอดคล้องกับข้อเท็จจริงทางสังคม แล้วก็เงื่อนไขตทางประวัติศาสตร์ ใครที่อ้างว่าตนเข้าใจสองสภา เข้าใจพรรค เข้าใจกลไล ผมคิดว่ายังต้องใช้เวลาระยะใหญ่ ในเวลาเดียวกันการที่บอกว่าเข้าใจ คือเอารูปแบบหรือโมเดลการประชุมสภาในแบบโลกตะวันตก ในแบบสังคมที่เรียกว่าเสรีประชาธิปไตยทุนนิยมมาจับ แล้วก็มีความรู้สึกว่าหลายปีที่ผ่านมานี้ จีนเปิดโอกาาสให้มีการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น มีการประชุมที่กว้างขวาง มีความพยายามในการจัดให้มีการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น ก็ไปเข้าใจว่าใกล้กับแบบที่รู้จัก ในส่วนตัวผมคิดว่าจีนยังจำเป็นต้องรักษาเอกลักษณ์ของกลไกการบริหารประเทศ และการรับฟังความคิดเห็นในแบบการประชุมสองสภาต่อไปอีกระยะยาวพอสมควร เพราะจีนมีเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ที่เป็นการเฉพาะ ในทางกลับกันผมคิดว่าหลายประเทศในซีกโลกตะวันออก โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เวลานี้หลายแห่งก็เริ่มเรียนรู้กลไกวิธี กลไกการบริหารราชการบ้านเมืองและงานการเมืองแบบของจีนอย่างสนอกสนใจมาก นี่คือความเห็นที่ผมตั้งข้อสังเกตุเกี่ยวกับความเข้าใจของโลกภายนอกต่อการประชุมสองสภา หรือการประชุมพรรคที่จะเกิดขึ้น

ส่วนที่สอง ผมเชื่อว่าการประชุมสองสภาฯในคราวนี้แม้จะยังไม่เสร็จสิ้นยุติเห็นภาพรวมที่ชัดเจนทั้งหมดก็ตาม ลำพังเพียงสองวันที่ผ่านมาเราได้เห็นอะไรมากขึ้น ในวันแรกผมเชื่อว่าประโยชน์ทีสังคมภายนอก โลกตะวันตก หรือประเทศในภูมิภาคนี้เพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดเช่นประเทศไทยก็ดี ได้ประโยชน์ คือ เราได้เห็นแล้วว่าทิศทางทางการเมืองเศรษฐกิจ สังคม ของจีนจะดำเนินไปในแนวไหน จากเมื่อวานวันที่สองเราได้เห็นมากขึ้นในนโยบายทางต่างประเทศในการทูตที่จะเน้นความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนต่อประชาชน หรือการทำงานร่วมกัน การไปมาหาสู่ร่วมกัน ในทางวัฒนธรรม ในด้านการศึกษาที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นลำพังเพียงการประชุมสองวันที่ผ่านมา

ผมเชื่อว่าโลกภายนอกได้ประโยชน์และเห็นความชัดเจนมากขึ้น ว่าในอนาคตอันใกล้นี้จีนกับบทบาทต่อโลกภายนอกจะพัฒนาจะเปลี่ยนแปลงหรือจะมีส่วนร่วมเพิ่มเติมมากน้อยแค่ไหน อันนี้เป็นประโยชน์มากครับ

ซีอาร์ไอ:จากการสำรวจประเด็นความสนใจของชาวจีนต่อหัวข้อการประชุมสองสภาฯ ประเด็นที่ได้รับความสนใจในอันดับต้นๆเลยก็จะเป็นเรื่องที่ใกล้ชิดกับความเป็นอยู่ของคนจีน อาทิ การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การควบคุมตลาดอสังหาริมทรัพย์ ราคาสินค้า ความปลอดภัยด้านอาหารและยา สำหรับอาจารย์ให้ความสนใจในเรื่องใดหรือเห็นว่าคนไทยควรให้ความสนใจเรื่องใดเป็นพิเศษ

รศ.พรชัย:ที่จริงแล้วผมเข้าใจว่า ความกังวลของประชาชนชาวจีนทั่วไป มีรากฐานมาจากเรื่องเดียวคือเรื่องเงินเฟ้อ เพราะเงินเฟ้อนำไปสู่ปัญหาเรื่องสินค้าอุปโภคบริโภคราคาแพง ปัญหาอสังหาริมทรัพย์จีน ขยับตัวติดต่อกันมาห้าปีกว่าแล้วถ้าจำไม่ผิด ทำให้ผู้ที่ทำมาหากิน โดยเฉพาะคนที่จบการศึกษา เริ่มทำงานใหม่ๆ ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็จะทำงานห่างไกลจากภูมิลำเนาเดิมค่อนข้างมาก โอกาสที่คู่สมรสใหม่ที่เพิ่งทำงานสักประมาณสามสี่ปี จะจับจองซื้อห้องชุดสัก 60 ตร.ม.ยากมากเกือบจะเป็นไปไม่ได้ แต่ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องอสังหาฯ เรื่องราคานั่นนี่ ทั้งหมดนี้ผมไม่อยากใช้คำว่าเป็นกฎตายตัวทางเศรษฐกิจ เพราะที่ผ่านมาหลายครั้ง จีนก็มีตัวอย่างให้เห็นว่ากฏตายตัวทางเศรษฐกิจแบบที่ฝรั่งหรือชาติตะวันตกใช้บางทีก็ใช้ไม่ได้ในจีน แต่ก็มีกฏพื้นฐานบางอย่างเช่นถ้าหากเศรษฐกิจขยายตัวเงินเฟ้อต้องเกิดแน่ อันนี้ก็เป็นขั้วแตกต่างสองขั้วอย่างที่ผมพูดในส่วนที่หนึ่ง ถ้าหากเราสามารถควบคุมอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ประมาณ 7.5 ผมเชื่อว่าเงินเฟ้อรวมตลอดไม่ว่าในสองไตรมาสแรกของปีนี้หรือภาพรวมของทั้งปีก็ดี จีนน่าจะคุมได้อยู่ที่ประมาณ 4 หรือ 4 กว่าเล็กน้อย ซึ่งตรงนั้นหากเราคิดถึงตำแหน่งงานที่ที่ประชุมรับปากว่าจะสร้างเพิ่มอีก 9ล้านตำแหน่งงาน ผมเชื่อว่าอัตราการมีงานทำกับรายได้ที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ความสามารถในการอุปโภคบริโภคภายในประเทศดีขึ้น ตรงนั้นจะเป็นตัวควบคุมเงินเฟ้อไปด้วยได้ในตัว ถ้าหากปัญหาเรื่องเงินเฟ้อสามารถถูกกำกับหรือควบคุมได้ อัตราสำรองเงินสดของธนาคารแบบที่รัฐบาลตั้งใจว่าจะผ่อนปรนทำงานได้ดี พวกธุรกิจขนาดเอสเอ็มอี วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ขยายตัวได้ คนมีงานทำเพิ่มขึ้น ผมเชื่อว่าจะทำให้สภาพการณ์ต่างๆ ดีขึ้นตามลำดับ อันนี้ไม่พูดถึงในกรณีที่อาจจะมีภัยพิบัติสาธารณะ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับสภาพดินฟ้าอากาศ ความเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลนะครับ พูดถึงเฉพาะในระบบกลไกทางเศรษฐกิจจีน ผมเชื่อว่าน่าจะไปได้ แล้วก็ความวิตกกังวลหรือความห่วงใยตรงนั้นน่าจะลดลงได้เป็นส่วนที่ผมเดาใจแทนพี่น้องประชาชนชาวจีนนะครับ ส่วนที่ผมสนใจเป็นพิเศษ คือ ในเงื่อนไขสภาพเศรษฐกิจที่จีนกำลังพยายามจะปรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ อันหนึ่งที่ผมสนใจมากและอยากเห็นให้มีการเร่งรัด เริ่งดำเนินการ คือ ความแตกต่างระหว่างภาคตะวันออกกับตะวันตก คือผมยังห่วงเรื่องเมืองกับชนบทน้อย เพราะเวลานี้ชุมชนชนบทกึ่งๆ กว่าครึ่งก็ถูกปรับเปลี่ยนมาเป็นเมืองแล้ว โดยนโยบายเรื่องสัมมโนประชากรของจีน คือก่อนหน้านี้จะมีประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงเรื่องระบบทะเบียนราษฎร์ ให้สามารถย้ายโอนจากประชาชนที่อยู่ในเขตชนบทเป็นประชาชนที่อยู่ในเขตเมือง ประกอบกับในหลายเขต กระบวนการที่ศัพท์ทางวิชาการเรียกว่า "นคราภิวัฒน์" หรือที่ภาษาจีนใช้คำว่า 城镇化 ก็ดำเนินไปค่อนข้างไว ฉะนั้นถ้าความขัดแย้งระหว่างเมืองกับชนบทในเขตตะวันออกเบาบางลง แต่ความแตกต่างระหว่างตะวันออกกับตะวันตกยังคงสูงอยู่ ตรงนั้นผมคิดว่ามีประชาชนจีนอยู่จำนวนเยอะมากเหมือนกันนะครับ สามร้อยกว่าล้านคน ซึ่งยังจะเป็นโจทย์สำคัญว่าจะต้องเร่งเข้าไปยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างเร่งด่วนเหมือนกัน ฉะนั้นเสียงจากพื้นที่แถบนั้นยังอาจจะไม่ได้ถูกถ่ายทอดปรากฏทางสื่อมวลชนหลักๆภายในประเทศ เรามักจะได้ยินแต่เรื่องชาวบ้าน ที่อยู่ในเขตชุมชนแออัดในแถบตะวันออกที่อยู่ตามชานๆ เมืองใหญ่ที่มีความเจริญแล้วแต่ตนเองยังมีปัญหาอยู่ ข่าวแบบนี้เราได้ยินเยอะ แต่ข่าวที่ลึกเข้าไปในเสฉวนในซินเจียงก็ดี ในที่อื่นๆ ก็ดี ผมอยากเห็นกระบวนการในการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เข้มข้นยิ่งขึ้น ในเวลาเดียวกันก็เพื่อที่จะได้กลบประเด็นข่าวความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งบางครั้งก็มีให้เห็น ซึ่งสื่อต่างชาติก็โหมประโคมข่าวมากเป็นพิเศษ

ซีอาร์ไอ:การขยายตัวเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของจีน ทำให้เกิด "กระแสบูรพาภิวัฒน์" ร้อนและแรงขึ้นเรื่อยๆ อาจารย์คิดว่าสังคมและประชาชนจีนในปัจจุบันมีการปรับตัวให้สอดคล้อง หรือมีบทบาทสำคัญอย่างไร

รศ.พรชัย:คือบูรพาภิวัฒน์ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องซึ่งมีมาแล้วแต่ไหนแต่ไร ผมยกตัวอย่างประเทศไทย ไทยเราก็อยู่บนกึ่งกลางเส้นทางการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมระหว่างจีนกับอินเดีย เพียงแต่ว่าหลังยุคอาณานิคมเป็นต้นมา ตะวันตกมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น เลยทำให้ดูเหมือนอิทธิพลทางตะวันออกลดน้อยถอยลง แต่ในปัจจุบันเนื่องจากว่ามีปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งในสหรัฐอเมริกาและในยุโรป ผมไม่ใช่กำลังจะบอกว่าเนื่องจากฝรั่งมีปัญหาจีนก็เลยจะเข้ามาแทนที่ แต่ผมกำลังจะบอกว่าโดยสภาพปกติดั้งเดิมในทางภูมิรัฐศาสตร์ชายฝั่งทะเลของจีนที่ยาวเหยียดขนาดนี้ ตำแหน่งแห่งที่ใกล้กับเอเชียตะวันออก ใกล้กับเอเชียใต้ ในฝั่งตะวันตกใกล้เข้าไปในเอเชียกลาง ต่อเนื่องเข้าไปได้ถึงในตะวันออกกลาง โดยภูมิรัฐศาสตร์ "บูรพาภิวัฒน์" ที่มีจีนเป็นศูนย์กลางเป็นเรื่องปกติ แต่เกิดผิดปกติในยุคอาณานิคม เพราะยุคนี้ความเปลี่ยนแปลงกำลังทหารและสงครามสมัยใหม่มาทำให้กระแสบูรพาภิวัฒน์มาชะงักไป นี่คือมุมมองแบบหนึ่ง อีกแบบหนึ่งคือ หลังจากที่จีนประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ จีนก็เริ่มมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับภายนอกเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันอิทธิพลบทบาททางเศรษฐกิจ ทางวัฒนธรรม การไปมาหาสู่กันระหว่างภาคประชาชนก็นำพาจีนให้เป็นที่รับรู้เพิ่มเติมกว้างขวางขึ้นในระดับนานาชาติ แต่ข้อสังเกตุเกี่ยวกับบูรพาภิวัฒน์ของผมก็คือ พร้อมๆ กับการที่จีนก้าวออกไปมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น จีนก็จะถูกคาดหวังให้ต้องแบกรับความรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้นด้วย ตัวอย่างง่ายๆ ในตอนนี้เลยก็คือ ตะวันตก ในยุโรปก็ดี เช่น เยอรมนีกับสหรัฐอเมริกาก็เรียกร้องอย่างยิ่ง เนื่องจากจีนมีผลประโยชน์อยู่ในยุโรป ในแอฟริกา ในหลายบริษัทของสหรัฐอเมริกา บัดนี้เศรษฐกิจทางนั้นไม่ดี จีนจะต้องมาพิจารณาเรื่องเงินหยวน พิจารณาเรื่องความช่วยเหลือความรับผิดชอบที่มีต่อองค์การระหว่างประเทศ อะไรต่อมิอะไรที่เพิ่มมากขึ้น ฉะนั้นต้องถามคำถามว่าจีนมีความพร้อมหรือไม่ อันนั้นเป็นเรื่องของบูรพาภิวัฒน์ในภาครัฐ จริงๆ ยังมีบูรพาภิวัฒน์ในภาคประชาชน พวกเราส่วนใหญ่มักนึกถึงเป็นอันดับแรกเลยก็คือเรื่องคนจีนโพ้นทะเล คือคนจีนโพ้นทะเลอาจเป็นประชากรนอกประเทศที่ใหญ่ที่สุดที่ประเทศหนึ่งประเทศใดเคยมีมา เข้าใจว่าอินเดียจะไล่หลังนะครับ เพราะอินเดียก็มีคนอินเดียทีอยุ่ต่างประเทศเยอะพอสมควรอยู่เหมือนกัน ในกรณีอันนี้เดิมสมัยหนึ่ง ความเป็นจีนที่จะต้องไปอยู่ในประเทศอื่นในฐานะคนส่วนน้อยนี้ความรู้สึกภาคภูมิใจไม่ค่อยมี แต่มาในระยะหลังเมื่อจีนพัฒนาและเปิดสู่โลกภายนอกเพิ่มมากขึ้น

ความภาคภูมิใจของคนจีนโพ้นทะเล และลูกหลานของคนจีนโพ้นทะเลเพิ่มมากขึ้น แล้วก็เลยทำตัวคล้ายๆ กับผู้สื่อสารทางวัฒนธรรมของประเทศจีนไปในตัว ประกอบกับนโยบายการทูตภาคประชาชนของรัฐบาลจีนในช่วงระยะสิบปีหลังมานี้ ผมเชื่อว่าได้ผลมาก โดยเฉพาะเรื่องส่งเสริมการศึกษาภาษาจีน โดยเฉพาะเรื่องส่งเสริมให้ทุนการศึกษานักศึกษาต่างชาติเข้ามาศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี หรือในระดับวิจัยปริญญาโท ปริญญาเอกในประเทศจีนก็ดี อันนี้ได้ผลมาก และผมเห็นว่าเรื่องแบบหลังนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเรื่องความสัมพันธ์เกี่ยวข้องระหว่างประชาชนต่อประชาชน ที่ไม่มีเรื่องผลประโยชน์หรือความขัดแย้งทางเศรษฐกิจหรือการแก่งแยงทางทรัพยกรธรรมชาติอะไรเข้ามาเกี่ยวข้อง คือมีความสัมพันธ์กันแบบบริสุทธิ์ใจอันนี้น่าสนใจและต้องเร่งส่งเสริมครับ

ซีอาร์ไอ:การที่จีนยึดนโยบายทางการทูตอย่างสันติ แล้วก็ตั้งมั่นที่จะหันมาส่งเสริมวัฒนธรรมให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ด้วยการสนับสนุนโครงการวัฒนธรรมที่เอื้อประโยชน์ต่อประชาชนมากขึ้น อาจารย์มีทัศนะอย่างไรต่อการที่รัฐบาลจีนจะหันมามุ่งให้ความสำคัญกับนโยบายการแลกเปลี่ยนทางการศึกษา การเผยแพร่วัฒนธรรมจีนมากขึ้น

รศ.พรชัย:เป็นเรื่องที่เมื่อครู่ผมทิ้งท้ายไว้ แต่สถานการณ์ ณ ปัจจุบัน เท่าที่ผมคุ้นเคยและติดตามข่าวสารการทูตภาคประชาชนหรือการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของจีน ส่วนใหญ่ยังดำเนินการแบบรัฐต่อรัฐ จริงๆ ประเทศจีนมีองค์กรภาคประชาชนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน เช่น บรรดาสมาคมอยุ่เยอะมาก ผมตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลจีนยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากองค์กรเหล่านั้นเต็มที่เท่าไหร่นัก ในการติดต่อสื่อสารกับภาคประชาชน ในต่างประเทศ ในหลายประเทศจะมีความแตกต่างแล้วก็แยกกันอย่างชัดเจน ผมตัวอย่างเช่น เวลาพูดถึง "ฮั่นป้าน" หรือ "สถาบันขงจื๊อ" คนก็ยังรู้สึกว่าเป็นเรื่องรัฐบาลจีน ผมอยากจะเห็นหน่วยงานแบบฮั่นป้าน ซึ่งมีบทบาทเยอะๆ แต่เป็นหน่วยงานที่ดำเนินการโดยองค์กรภาคประชาชน ที่อุดหนุนโดยรัฐบาล แต่ไม่ใช่จัดการโดยรัฐบาล ตรงนั้นจะทำให้กิจการขยายตัวได้ไวมากขึ้น แล้วก็จะทำให้เรื่องการศึกษา เรื่องแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม เรื่องความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชน อันนี้จะก้าวหน้าเยอะ

ซีอาร์ไอ:สุดท้ายนี้อาจารย์มีความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอย่างไรต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาฯทั้งสองของจีน

รศ.พรชัย:ผมรู้สึกชื่นชมและรู้สึกว่าคราวนี้คึกคักกระฉับกระเฉง แล้วก็ประเด็นชัดเจนมากขึ้น สมัยก่อนที่เราดูการประชุมสองสภารู้สึกว่าเป็นพิธีกรรมเฉยๆ ทุกอย่างจัดไว้อย่างเรียบร้อยหมดแล้ว แล้วก็ว่ากันไปตามประเพณี รู้ว่าตอนจบจะเป็นอย่างไร แต่คราวนี้ผมเห็นมีการแสดงความคิดเห็นนอกการประชุมกับสื่อมวลชนเยอะมาก วันก่อนผมดูซีซีทีวีช่อง 4 เห็นผู้แทนจากซินเจียงหรืออย่างไร กำลังพูดถึงปัญหาเด็ก ปัญหาผู้หญิง ความยากจนให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวอย่างกระฉับกระเฉงและเปิดเผย ผมเห็นว่าเป็นเรื่องซึ่งเปลี่ยนไปในทางที่ดีมากขึ้น ทำให้เห็นว่าอันนี้เป็นการประชุมปรึกษาหารือกันจริงๆ แล้วก็จะเป็นประโยชน์จริงๆ

ซีอาร์ไอ:สำหรับวันนี้ต้องขอขอบพระคุณ รองศาสตราจารย์ พรชัย ตระกูลวรานนท์เป็นอย่างยิ่งที่สละเวลามาร่วมพูดคุย ให้มุมมองและแง่คิดต่างๆ เกี่ยวกับการประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีนชุดที่ 11 ครั้งที่ 5 และการประชุมสภาปรึกษาการเมืองแห่งชาติจีนชุดที่ 11 ครั้งที่ 5 ปี 2012 ในวันนี้

(LING/LEI/YIM)

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
时政
v สมาชิกสภาปรึกษาการเมืองเรียกร้องให้อนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมมากขึ้น 2012-03-09 13:53:32
v ปักกิ่งเพลินเพลิน: บทสัมภาษณ์รายการพิเศษส่องสองสภาจีน "ส่องนโยบายการต่างประเทศจีน ผ่านมุมมองคนรุ่นใหม่ไทย (1)" 2012-03-08 16:46:59
v นักวิชาการไทยชื่นชมรายงานผลการดำเนินงานของรัฐบาลปี 2012 และระบบสภาผู้เเทนประชาชนของจีน 2012-03-08 16:28:51
v เพื่อนผู้ฟังให้ความสนใจการประชุมสองสภาของจีน 2012-03-08 14:30:37
v การประชุม"สองสภา"ของจีนปี 2012 พิสูจน์การพัฒนาของโลกตะวันออก 2012-03-07 15:38:34
v จีนจะดำเนินนโยบายการคลังอย่างรอบคอบ ส่งเสริมให้เศรษฐกิจพัฒนาอย่างมั่นคงและรวดเร็ว 2012-03-07 13:59:53
v สื่อมวลชนไต้หวันให้ความสนใจต่อรายงานผลการดำเนินงานของรัฐบาลจีน 2012-03-07 13:13:58
v สวมแว่นส่อง "สองสภาจีน" กับ ศ. ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ (1) 2012-03-06 21:53:10
v สื่อมวลชนต่างชาติสนใจผลการดำเนินงานของรัฐบาลจีน 2012-03-06 17:31:04
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040