เก่าเล่าไป ใหม่บอกมา:การนับอายุแบบจีน
  2012-04-24 16:56:44  cri

การนับหรือบอกอายุของชาวจีนในหลายๆ พื้นที่จะมีด้วยกันสองแบบ ได้แก่ แบบซวีซุ่ย(虚岁) และโจวซุ่ย(周岁) โดยซวีซุ่ยเป็นการนับอายุตามแนวคิดที่มีมาแต่โบราณของชาวจีน ที่เชื่อว่าการที่สตรีตั้งครรภ์นั้นหมายถึงว่าชีวิตน้อยๆ ในครรภ์นั้นได้ถือกำเนิดขึ้นมาแล้ว ดังนั้นระยะเวลาตั้งครรภ์ร่วมสิบเดือนพอเด็กคลอดออกมาจึงเริ่มนับอายุเป็นหนึ่งขวบ และเมื่อเวียนมาครบรอบวันเกิดอีกครั้งย่อมถือว่าโตขึ้นอีกปี ซึ่งหากเด็กคลอดออกมาในช่วงครึ่งปีแรก ซวีซุ่ยจะมากกว่าโจวซุ่ยหนึ่งปี หากคลอดในช่วงครึ่งปีหลัง ซวีซุ่ยจะมากกว่าโจวซุ่ยสองปี

ยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นสมมุติว่า ทารก ก. คลอดในเดือนห้าตามปฏิทิตจันทรคติจีน พอคลอดออกมาแล้วก็จะมีอายุซวีซุ่ยเท่ากับหนึ่งขวบทันที พอมาถึงวันตรุษจีนในปีถัดไป ทารก ก. ก็จะมีอายุซวีซุ่ยเท่ากับสองขวบตามอย่างจีน แต่โจวซุ่ยจะแค่หนึ่งขวบ เพราะฉะนั้นหากเด็กคลอดในปลายปี ซวีซุ่ยก็จะมากกว่าโจวซุ่ยเป็นสองเท่า คือ ถ้ายกตัวอย่างแบบสุดโต่งโดยสมมุติว่า ทารก ข. คลอดในเดือนสิบสองวันสุดท้ายของปีพอดีเลย พอคลอดออกมาซวีซุ่ยเท่ากับหนึ่งขวบ พอรุ่งขึ้นอีกวันเป็นวันขึ้นปีใหม่แล้ว ทารก ข. ก็จะกลับกลายเป็นสองขวบไปในทันทีนั่นเอง

นอกจากการนับอายุสองแบบดังที่กล่าวไปแล้ว ชาวจีนยังมีวันเกิดสองแบบอีกด้วย หนึ่งเป็นวันเกิดตามปฏิทินจันทรคติ และอีกหนึ่งคือวันเกิดตามปฏิทินสุริยคตินั่นเอง ซึ่งปฏิทินจันทรคติ หรือ "หยินลี่阴历" นั้นก็คือถือเอาการที่พระจันทร์หมุนโคจรรอบโลก จากเต็มดวงค่อยๆ เปลี่ยนเป็นเว้าแหว่งไปถือเป็นหนึ่งรอบ ซึ่งหากคำนวณตามหลักวิทยาศาสตร์แล้วการหมุนโคจรครบหนึ่งรอบนั้นใช้เวลาเท่ากับ 29 วัน 12 ชั่วโมง 44 นาที 3 วินาที หรือก็คือหนึ่งปีสิบสองเดือนนั้นเท่ากับ 354 วัน เดือนใหญ่มี 30 วัน เดือนเล็กมี 29 วัน

ส่วนปฏิทินสุริยคติ หรือ "หยางลี่ (阳历)" ถือเอาการที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ โดยเดือนใหญ่มี 31วัน เดือนเล็กมี 30วัน โดยและในเดือนกุมภาพันธ์จะมีความพิเศษ 28 วัน สี่ปีครั้งมี 29 วัน ซึ่งคำนวณระยะเวลาการโคจรครบรอบแล้วหนึ่งปีจะเท่ากับ 365 วัน 5 ชั่วโมง 48 นาที 46 วินาที ทำให้ปฏิทินจันทรคติและสุริยคติมีความต่างกันอยู่ 11 วัน

ตามบันทึกทางประวัติศาสตร์ ประเทศจีนนั้นได้มีการใช้ปฏิทินรายวัน (日历) มาตั้งแต่ในรัชสมัยหย่งเจินปีที่ 1 (ค.ศ.805) แห่งฮ่องเต้ถังซุ่นจง (唐顺宗)แล้ว โดยเริ่มใช้กันในราชสำนักก่อน เพื่อลงบันทึกรายวันเรื่องงานบ้านงานเมือง เรื่องราวสำคัญๆ ในพระราชวัง และพระราชดำรัสหรือพระบรมราชโองการของฮ่องเต้ที่จะลงรายละเอียดหนึ่งวันต่อหนึ่งหน้า ซึ่ง "ปฏิทินราชสำนัก" นี้หนึ่งปีจะมี 12 เล่ม โดยแต่ละเล่มมีจำนวนหน้าเท่ากับจำนวนวันในแต่ละเดือน และแต่ละหน้ามีระบุวันเดือนปีที่แน่ชัด

และเพราะการใช้ปฏิทินนำความสะดวกสบายมาสู่ชีวิตประจำ การใช้งานจึงขยายจากฮ่องเต้มาสู่ขุนนาง และได้ผ่านการปรับปรุงรูปแบบต่างๆ จนเป็นที่แพร่หลายในหมู่ราษฎรชาวจีนในที่สุด และภายหลังการก่อตั้งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นในปี ค.ศ. 1949 ในการประชุมสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งชาติสมัยที่หนึ่ง ระหว่างวันที่ 21-30 กันยายน ค.ศ. 1949 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบประกาศให้ใช้ปีคริตสศักราชตามอย่างสากลนับแต่นั้นเป็นต้นมา

เก่าเล่าไปใหม่บอกมา โดย วังฟ้า 羅勇府

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040