การอนุรักษ์อักษรศิลป์ในยุคสมัยแห่งการใช้คีย์บอร์ดเขียนหนังสือ (1)
  2012-09-12 17:20:38  cri

ทุกวันนี้ในชีวิตประจำวันของชาวจีน นอกจากต้องเซ็นชื่อในกรณีรับพัสดุไปรษณีย์ รูดบัตรเครดิตหรือเซ็นสัญญากับคู่ค้า แทบจะไม่มีโอกาสใช้ปากกาเขียนภาษาจีน ไม่ว่าอยู่ออฟฟิศหรือบ้านใช้คอมพิวเตอร์พิมพ์งานสะดวกกว่าใช้ปากกาเขียนทั้งนั้น เมื่อเดินตามท้องถนนหรือตรอกซอกซอยในตัวเมือง ตัวอักษรบนป้ายร้านค้าเกือบทุกแห่งเป็นตัวพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์ แม้กระทั่งกลอนคู่ที่ติดสองข้างประตูบ้านช่วงตรุษจีน ซึ่งในอดีตนิยมเขียนด้วยพู่กันขณะนี้กลายเป็นตัวพิมพ์ไปแล้วส่วนใหญ่ ¬-นับได้ว่าอักษรศิลป์ที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมสูงและสืบทอดจากสมัยโบราณของจีนกำลังเลือนหายไปจากชีวิตประจำวันของชาวจีน

 

กระทรวงศึกษาธิการจีนส่งเสริมอักษรศิลป์ในการศึกษาภาคบังคับ

เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงศึกษาธิการจีนออกหนังสือเวียนให้เปิดสอนวิชาอักษรศิลป์ในช่วงการศึกษาภาคบังคับ เนื้อหาระบุว่า โรงเรียนประถมต้องเปิดสอนวิชาศิลปะการเขียนอักษรจีน โดยสอนเด็กชั้นป.1 – ป.3 ใช้ปากกาฝึกเขียนอักษรจีนให้บรรจงและสวยงาม และสอนนักเรียนชั้นป.4 ขึ้นไปให้รู้จักใช้พู่กันเขียนอักษรศิลป์อย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงเรียนต่อสัปดาห์ และให้นักเรียนลอกเลียนลายมือของนักเขียนอักษรศิลป์ชื่อดัง และเพิ่มเติมความรู้เกี่ยวกับอักษรศิลป์ด้วย

ข้อกำหนดของกระทรวงศึกษาธิการดังกล่าวทำให้อักษรศิลป์ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากทั่วทั้งสังคมจีน เว็บไซต์ sina ซึ่งเป็นหนึ่งในเว็บไซต์ยอดนิยมของจีนได้สำรวจความเห็นของชาวเน็ตกว่าหมื่นคน โดยกว่า 80% สนับสนุนสอนวิชาอักษรศิลป์ให้เด็กนักเรียนในโรงเรียน เชื่อว่าเป็นมาตรการสืบทอดวัฒนธรรมจีนอันดีงาม จำเป็นต้องให้คนรุ่นหลังเรียนรู้วิธีการเขียนอักษรจีนให้สวยงาม อักษรศิลป์เป็นศิลปะระดับชาติชนิดหนึ่งของจีน มีอิทธิพลลึกซึ้งยาวไกลต่อวิวัฒนาการของวัฒนธรรมชนชาติฮั่น การฝึกเขียนอักษรศิลป์จะทำให้จิตใจมีความสงบ บ่มเพาะนิสัยให้ดียิ่งขึ้นได้ พร้อมฝึกความอดทนให้ด้วย ลายมือเป็นเอกลักษณ์ที่สะท้อนถึงนิสัยใจคอของผู้เขียน คนที่ได้รับการศึกษาดีควรเขียนตัวอักษรให้สวยงาม

แต่ก็มีชาวเน็ตไม่น้อยคัดค้านข้อกำหนดที่ให้โรงเรียนจัดสอนวิชาคัดลายมือเขียนพู่กัน โดยเห็นว่า ในยุคสมัยแห่งสารสนเทศ คนปัจจุบันเคยชินกับการใช้คีย์บอร์ดพิมพ์ตัวอักษรมานานแล้ว ลายมือไม่สวยก็ไม่เห็นเป็นไรเลย ขณะนี้ วิชาต่างๆ ได้สร้างภาระหนักหน่วงให้เด็กนักเรียนพอสมควรแล้ว ทำไมยังต้องบังคับให้เรียนวิชาที่ไม่เกี่ยวพันกับการสอบเข้าโรงเรียนมัธยมด้วย การเรียนเขียนอักษรศิลป์หรือไม่ต้องดูว่าเด็กมีความสนใจมากน้อยเพียงไร ถ้าชอบก็พัฒนาเป็นงานอดิเรกได้เช่นเดียวกับเรียนเปียโน บัลเลย์และคอมพิวเตอร์

สำหรับท่านผู้ฟังที่มีพื้นฐานการเรียนภาษาจีน จะทราบว่าในภาษาจีน ตัวอักษรตัวเดียว ถ้าใช้ในบริบทต่างกัน ความหมายก็จะไม่เหมือนกัน อีกด้านหนึ่งศัพท์จีนที่ออกเสียงเดียวกัน ก็สามารถเขียนออกมาเป็นตัวอักษรจีนที่หน้าตาไม่เหมือนกันได้หลายตัว และมีความหมายแตกต่างกันไปด้วย นับได้ว่า ภาษาจีนเป็นภาษาที่เรียนยากที่สุดก็ว่าได้ สำหรับคนจีนที่คุ้นเคยกับการใช้แป้นคีย์บอร์ดพิมพ์งาน เนื่องจากพิมพ์ตัว Pinyin เข้าคอมฯแล้ว คอมฯจะตั้งเรียงตัวอักษรทุกตัวตาม Pinyin ให้เลือกใช้ นานวันเข้าผู้พิมพ์ที่เคยชินกับการเลือกคำแต่ไม่มีโอกาสใช้ปากกาเขียน ก็มีความเป็นไปได้ที่จะลืมว่าตัวอักษรที่มีลายขีดเขียนสลับซับซ้อนเขียนอย่างไร ถ้ามองในแง่นี้ การฝึกเขียนอักษรศิลป์มีส่วนช่วยโดยตรงต่อการเขียนภาษาจีนให้ถูกต้องและคล่องแคล่ว

 

วิกฤตการเขียนภาษาจีนในยุคสมัยสารสนเทศ

ในประวัติศาสตร์จีนเคยเกิดการปฏิรูปวิธีการเขียนหนังสือ 2 ครั้ง ตั้งแต่สมัยชุนชิวจั้นกั๋วซึ่งปรัชญาเมธีขงจื่อดำรงชีวิตอยู่จนถึงทศวรรษ 1950 คนจีนใช้พู่กันเป็นเครื่องเขียนหลักเป็นเวลานานกว่า 2,000 ปี พู่กัน น้ำหมึกและกระดาษได้สะท้อนถึงอุดมคติและโชคชะตาของปัญญาชนสมัยโบราณ จนถึงทศวรรษ 1950 ซึ่งประเทศจีนใหม่สถาปนาขึ้นไม่นาน ปัญญาชนหัวใหม่รณรงค์ให้ทิ้งวัฒนธรรมดั้งเดิมและนำเข้าวัฒนธรรมตะวันตก ดังนั้น Pinyin จึงถูกประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมา ตัวอักษรแบบเก่าถูกตัดทอนเป็นตัวอักษรย่อที่ลายขีดเขียนน้อยลงและเขียนง่าย ดินสอและปากกากลายเป็นเครื่องเขียนที่ได้รับความนิยมทั่วไป พู่กันค่อยๆ ถูกทิ้งห่างออกจากชีวิตประจำวันของชาวจีน

พร้อมๆ กับคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ตค่อยๆ แพร่หลายและเป็นที่นิยมใช้ในจีนเมื่อทศวรรษ 1990 ไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ได้ปรับเปลี่ยนวิธีเขียนหนังสือของมวลชนอีกครั้ง คีย์บอร์ดกลายเป็น "เครื่องเขียนยอดนิยม" เข้าแทนที่ปากกา ตัวอักษรที่พิมพ์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นระเบียบบรรจงดีและอ่านสะดวกก็จริง แต่การเขียนหนังสือที่แท้จริงเริ่มสูญหายไปจากรากฐานของประเทศจีน เพราะคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงต่อวิถีทางการทำงานและการเรียนหนังสือ และได้กระทบ "การเขียนตัวอักษรจีน" อย่างรุนแรง ชาวจีนจำนวนมากบ่นว่า เวลาหยิบปากกาขึ้นมาเขียนหนังสือจริง มักจะลืมคำศัพท์ที่ต้องใช้ว่าเขียนอย่างไร นอกจากนี้ ลายมือของวัยรุ่นมีแนวโน้มหยาบและอ่านยากมากขึ้นเรื่อยๆ

ในยุคสมัยสารสนเทศ ความสามารถในการเขียนตัวหนังสือของผู้คน โดยเฉพาะเยาวชนและเด็กๆ ลดลงอย่างชัดเจน เป็นสิ่งที่น่ากังวลของทั่วทั้งสังคม เพราะตัวอักษรจีนเป็นเสมือนยานพาหนะที่แบกรับวัฒนธรรมจีนและพันธุกรรมของประชาชาติจีน คำสั่งที่ให้โรงเรียนประถมสอนเขียนอักษรศิลป์ของกระทรวงศึกษาธิการจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง การอบรมให้เด็กนักเรียนมีความเคยชินกับการเขียนหนังสือด้วยมือนั้น เป็นวิธีการอนุรักษ์อักษรจีนที่ได้ผลและควรดำเนินการเร่งด่วน เพื่อเตือนให้คนจีนตระหนักถึงความไม่ประมาทต่อการสูญหายภาษาของตนเอง และประกันให้วัฒนธรรมจีนรักษาความเป็นตัวของตัวเองท่ามกลางกระแสวัฒนธรรมอันหลากหลายของโลก

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040