จีนปริทรรศน์: สารพันต้นตอและการแก้ปัญหารถติด
  2012-10-15 16:29:23  cri

ปัญหาของเมืองใหญ่ย่อมหนีไม่พ้น "รถติด" โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วนที่ทุกคนต้องแข่งกันออกไปทำงานและเดินทางกลับบ้าน หรือแม้กระทั่งยามเที่ยงวันที่เป็นเวลาออกไปพักผ่อนรับประทานอาหารก็ตาม

กรุงปักกิ่งซึ่งมีถนนที่กว้างใหญ่และการวางผังเมืองที่เป็นระเบียบชัดเจนมาตั้งแต่สมัยโบราณก็หนีไม่พ้นปัญหาโลกแตกนี้เช่นกัน จนใครๆ ที่เคยมาเยือนที่นี่ต่างพูดกันเป็นเสียงเดียวกันทำนองว่าแสนเสียดายความเป็นเมืองจักรยานที่ปัจจุบันถูกแทนที่ด้วยรถยนต์จำนวนมหาศาล

เหตุหนึ่งเพราะชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เศรษฐกิจที่พุ่งทะยานแบบก้าวกระโดด ทำให้ธนบัตรและเครดิตการ์ดพอกพูนในกระเป๋าชาวจีนมากขึ้น การเป็นเจ้าของรถสักคันจึงไม่เป็นเรื่องยากอีกต่อไป เพราะว่ารถยนต์นั้นเป็นมากกว่ายานพาหนะในสายตาคนทั่วไป ด้วยว่าเป็นเสมือนเครื่องแสดงฐานะของตนในวงสังคม จนเกิดตรรกะที่ว่า

"คนขี่จักรยาน = จน" ส่วน "คนขับรถยนต์ = รวย"

ครั้งหนึ่งในรายการโทรทัศน์แนวบันเทิงประเภทหาคู่รายการหนึ่ง มีหญิงสาวสวยจากมหาวิทยาลัยการแสดงปักกิ่งได้หลุดคำกล่าวที่ทำให้สังคมสะเทือนว่า "ให้นั่งร้องไห้บนเบาะหน้าบีเอ็มดับเบิ้ลยู ดีกว่าไปนั่งร้อนซ้นอยู่หลังอานจักรยาน" ซึ่งสะท้อนแนวความคิดของคนรุ่นใหม่ที่รักสบายและรักวัตถุมากกว่าจิตใจ

และ "รถยนต์" เป็นหนึ่งในศาสดาแห่งความร่ำรวยที่คนจีนยุคปัจจุบันบูชาอย่างสุดจิตสุดใจ

นอกจากนี้ การไม่สามารถครอบครองที่ดินก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีส่วนให้ปริมาณรถเพิ่มขึ้นในท้องถนนด้วย เพราะชาวจีนทุกคนในเมืองใหญ่ที่ซื้อบ้านแบบอาคารสูงสามารถครอบครองได้อย่างมากกว่าก็แค่ชั่วชีวิตเดียว เพราะจำกัดไว้ที่ 50-70 ปี เท่านั้น ทุกคนจึงหันมาซื้อรถยนต์ด้วยเพื่อส่งเสริมภาพฐานะของตน ยิ่งเป็นยี่ห้อระดับหรู ยิ่งเป็นที่มั่นใจในการอวดโอ้ได้ แม้ว่ารถยนต์ในจีนจะมีกำหนดอายุการใช้งานก็ตาม แต่ก็สามารถเรียกเงินคืนได้ส่วนหนึ่ง เพื่อซื้อรถคันใหม่

แต่สิ่งที่ทำให้ปริมาณรถในเมืองจีนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วก็คือ การกลายเป็นโรงงานผลิตรถยนต์ของโลก ไม่ว่าจะเป็นโฟล์กสวาเก้น ซีตรอง บูอิค ฮอนด้า โตโยต้า เปอโย ซึ่งจะเห็นได้ว่ารถยนต์รุ่นใหม่ของยี่ห้อเหล่านี้ที่เราไม่เคยเห็นในเมืองไทยวิ่งกันให้วุ่นบนท้องถนน

อีกอย่างคือ เมื่อจีนรับเอาความรู้ในกรรมวิธีการผลิตแบบมืออาชีพมาอย่างครบถ้วนแล้ว ก็สร้างแบรนด์รถยนต์ยี่ห้อของตัวเองขึ้นมาบ้าง จากแรกเริ่มเดิมทีที่ผลิตแต่รถขนาดใหญ่จำพวก รถบรรทุก รถยนต์โดยสาร และรถตู้ ค่อยพัฒนาจนสามารถผลิตรถยนต์ส่วนบุคคลที่มีสมรรถนะดีออกมาแข่งกับยี่ห้อดังของโลกได้

แน่นอนว่ารถยี่ห้อจีนย่อมใช้กลยุทธ์ในการตั้งราคาให้ต่ำกว่ารถยนต์สัญชาติอื่น เพื่อประโยชน์ทางการตลาดในฐานะที่มาทีหลัง ความศรัทธาของแบรนด์รอยัลตี้ยังไม่มี ทั้งด้วยความเป็นหน้าใหม่ และชื่อชั้นของความเป็นรถยนต์จีนเองอีกต่างหาก ที่ขนาดว่าคนจีนด้วยกันยังต้องคิดแล้วคิดอีกเมื่อเปรียบเทียบกับยี่ห้อดังในการตัดสินใจซื้อ แต่พอมาพิจารณาข้อสุดท้ายที่ว่า "ถูกกว่าลิบลับ" ก็เลยทำให้เป็นช้อยซ์ที่ถูกเลือกได้

เอาง่ายๆ ว่ารถขนต์ยี่ห้อ "เชอรี่" ที่เมืองจีนซื้อได้ในราคาเพียง 30,000 หยวน เศษๆ หรือไม่เกิน 200,000 บาทเท่านั้น

และยิ่งมามีนโยบายส่งเสริมให้คนภายในประเทศซื้อรถมากขึ้น โดยให้การลดอัตราภาษีเมื่อ 2 ปีเศษที่ผ่านมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศนั้น ก็ยิ่งทำให้ถนนในกรุงปักกิ่งกลายเป็นโชว์รูมรถยนต์เร็วขึ้นอย่างทันตา

อีกทั้งในตัวเมืองไม่มีพื้นที่จอดรถที่เพียงพอ รถยนต์ราคาแพงแค่ไหนก็ต้องมาแย่งกันจอดริมถนน บาทวิถี หรือแม้กระทั่งบริเวณทางโค้งไฟแดง ซึ่งทำให้เกิดการกีดขวางการจราจร เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งล้วนเป็นสาเหตุสำคัญของรถติดอีกด้วย

แต่จีนนั้นถนัดในการกำหนดนโยบายแบบ "เปิดด้านหนึ่ง ปิดด้านหนึ่ง"

กล่าวคือ เมื่อเปิดให้คนสามารถครอบครองรถได้ง่ายดายขึ้นแล้ว ก็ไปจำกัดในด้านอื่น เช่น การยื่นขอใบอนุญาตขับขี่รถยนต์นั้นมีหลายขั้นตอนตามาตรฐานสากลเลยทีเดียว คือต้องไปเรียนตามชั่วโมงเวลาในโรงเรียนสอนขับรถยนต์ที่ได้รับการยอมรับจากทางการ แล้วยังต้องมีการสอบข้อเขียน และภาคปฏิบัติที่เข้มงวดอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีการปิดด้วยการตั้งกำแพงภาษีรถยนต์นำเข้าให้สูงลิบลิ่ว เพื่อประกันให้บริษัทรถยนต์ภายในประเทศมีรายได้มั่นคง

มีการบังคับใช้กฎหมายจราจร โดยจำกัดจำนวนวันขับรถตามเลขท้ายทะเบียนรถ เพื่อไม่ให้มีรถบนท้องถนนมากเกินไป ห้ามรถบรรทุกขนาดใหญ่เข้าในตัวเมืองตามกำหนดเวลา อีกทั้งหากต้องการใช้ทางด่วนก็มีเรียกเก็บค่าผ่านทางหลายด่านตามระยะทางที่รถขึ้นไปวิ่ง

และเมื่อปัญหารถติดในเมืองทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ทางการก็ออกมาประกาศนโยบายการเป็นเจ้าของรถคัวแรกที่ต้องไปต่อคิวจับสลากก่อน โดยกำหนดว่าเดือนหนึ่งๆ จะให้มีปริมาณรถยนต์คันใหม่เพิ่มขึ้นบนท้องถนนได้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นการควบคุมหนึ่งที่ได้ประสิทธิภาพสูง

อีกทั้งคนที่มีรถยนต์อยู่แล้ว แต่ต้องการซื้อคันที่สอง ก็ต้องเสียภาษีเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันจำนวนรถที่เพิ่มมากขึ้น และป้องกันการซื้อเพื่อเก็งกำไรด้วยเช่นกัน

นี่คือที่มาและปัญหาจากการเพิ่มจำนวนรถยนต์ขึ้นมากเกินกว่าพื้นที่ถนนจะรับไหว ซึ่งมีการหลากหลายวิธีในการรับมือกับปัญหา อย่างเช่นการกำหนดนโยบายต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดโครงการด้านการขนส่งสาธารณะเพื่อเข้ามาช่วยบรรเทาปัญหารถติดด้วย เช่นการเพิ่มจำนวนสายรถไฟใต้ดินให้ครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาระยะยาวได้เป็นอย่างดี แต่ก็เป็นโครงการลงทุนที่ใช้เม็ดเงินสูง และเป็นไปได้ไม่เร็วเท่าปริมาณรถที่วิ่งออกจากโรงงานในปัจจุบัน ที่สำคัญการมีจำนวนสายรถไฟเพิ่มมากขึ้นเท่าใดนั้น กลับไม่ได้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้รถยนต์ของคนจีน เพราะว่าคนที่ซื้อรถขับก็เพราะไม่ต้องการไปเบียดเสียดกับคนจำนวนมากนั่นเอง เพราะเคยมีการการสำรวจคนขับรถที่ติดอยู่บนท้องถนนในชั่วโมงเร่งด่วนว่าทำไมไม่ลงไปใช้บริการรถไฟใต้ดินแทนจะได้ไปถึงที่หมายเร็วขึ้น เกือบทุกปากบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่อยากแย่งชิงและเบียดเสียด ยอมนั่งตากแอร์อยู่ในรถ ฟังเพลงสบายๆ รอให้ขยับเขยื้อนไปทีละน้อยยังดีกว่า

1 2
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040