"ท่านกำลังรับฟังสถานีแห่งความอร่อย เลอ ปลาแดก เอฟเอ็ม 107.7 มาฟังเพลงเพราะกับเราเคล้าไปกับอาหารอีสานรสเลิศที่ท่านหารับประทานที่อื่นไม่ได้...นอกจากที่นี่"
สิ้นเสียงหล่อคลาสสิกของพิธีกร ท่วงทำนองเสียงกีตาร์ใสสะอาดที่ปราศจากลูกเล่นจากเอฟเฟ็กต์รุงรังอันเป็นเอกลักษณ์ของยุคซิกตี้ดังกระจ่างออกมาจากลำโพงต่อเองซึ่งซื้ออะไหล่ทุกชิ้นมาจากบ้านหม้อ
หากใครไม่ได้เป็นลูกค้าประจำ หรือไม่ได้ใส่ใจ ก็คงไม่รู้ว่าสถานีวิทยุที่ออกอากาศอยู่นี้มีสถานีส่งสัญญาณอยู่ที่ชั้นสองของร้าน "เลอ ปลาแดก" และคนที่จัดรายการก็ใส่แว่นกลมๆ เดินไปเดินมาอยู่ในร้านในฐานะเจ้าของนั่นเอง
"คลื่นของเราออกอากาศได้ประมาณ 5 ตารางกิโลเมตร ซึ่งจริงๆ ถ้ายืดเสาขึ้นอีกหน่อย ก็คงเพิ่มได้ถึง 10 ตารางกิโลเมตร อาศัยช่องว่างทางกฎหมายควบคุมคลื่นความถี่ที่ยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ออกอากาศขนาดเล็กที่เรียกว่า "วิทยุชุมชน" นี้"
นี่เป็นคำอธิบายของคุณนพคุณ กุลสุจริต หรือพี่ป๋อม นักจัดรายการเพลงหนึ่งเดียวประจำร้านอธิบายให้ฟัง ก่อนจะหายตัวไปที่ชั้นสองอีกครั้ง
"บางครั้งพี่เค้าต้องวิ่งลงมาดูลูกค้าด้วยนะคะว่าอารมณ์ไหน ถ้าเห็นว่าเว่าลาวกันแซวซะ ก็จะเปิดลูกทุ่งอีสาน บางคืนลูกค้าสนุก เราก็จะเปิดเพลงที่มันเร้าใจให้เขาได้เต้นกันสนุกสนาน แต่อย่างวันนี้ที่ฝนกำลังจะเทลงมาอย่างนี้ก็คงต้องเป็นเพลงที่เกี่ยวกับสายฝน" สิ้นเสียงคุณวิภาณฎา กุลสุจริต หรือที่ทุกคนรู้จักกันในนาม "พี่น้อย" อธิบายให้ฟังถึงการจัดเพลงของร้าน ซึ่งมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร เพลง Rhythm of the Rain ก็ดังขึ้นพร้อมกับสายฝนเป๊าะแปะลนหลังคาสังกะสีนอกร้าน และเกลียวลมที่พัดกรูจนแมกไม้เขียวขจีภายในสวนโยกย้ายส่ายไหว
นี่คือเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของร้าน "เลอ ปลาแดก" ที่ใครได้มานั่งฟังจะติดอกติดใจไปตามๆ กัน นอกจากการเลือกเพลงที่เข้ากับบรรยากาศแล้ว กิมมิกหรือเสน่ห์ของรายการวิทยุประจำร้านแห่งนี้ก็คือช่วงโฆษณาสถานีวิทยุและโฆษณาร้านที่ทำออกมาแบบย้อนยุค ฟังแล้วทำให้นึกไปถึงสมัยคุณแม่ยังสาว ซึ่งก็เข้ากับของแต่งร้านมากมายที่ล้วนเป็นของย้อนยุค
พี่น้อยกับพี่ป๋อม หรืออีกฉายาที่แปะอยู่หน้าเมนูของร้านว่า "หนุ่มอุบลกับสาวอุดร" เป็นคนรักของเก่าคลาสสิกกันทั้งคู่และเก็บสะสมกับมายาวนาน โดยเฉพาะของที่ทำจากสังกะสีและเครื่องเล่นวิทยุโบราณ ซึ่งจะเห็นว่าประดับตกแต่งอยู่ทุกซอกมุมของร้าน ซึ่งครั้งหนึ่งทั้งคู่เคยมากวาดเอาไปจากเมืองอี้อู มณฑลเจ้อเจียง แต่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากที่ค่อยๆ เก็บมาตลอดชีวิต
"ตอนนี้ถ้าจะเอาของในโกดังทั้งหมดมาแต่งร้านก็คงแต่งได้ถึง 3 ร้านเลยทีเดียว เลยกำลังมองหาทำเลเหมาะกันอยู่" พี่น้อยเอ่ยขึ้น หลังจากที่เห็นว่าสงสัยกับจำนวนข้าวของที่มากมาย
ส่วนที่ของสะสมมีวิทยุโบราณจำนวนมากนั้นก็เป็นหนึ่งในตำนานส่วนตัวของทั้งคู่ ที่พอมาจัดวางอยู่ภายในร้านเลยทำให้วิทยุเหล่านี้กลายเป็นเรื่องราวของร้านไปโดยปริยาย ดังนั้นเมื่อถูกถามถึงจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเฉลยอดีตของทั้งคู่ออกมาในเรื่องราวที่มาที่ไป
"ชิ้นที่พี่ภาคภูมิใจที่สุดก็คือ วิทยุที่มีตัวอักษรของกรมโฆษณาการ ซึ่งเป็นกรมที่ก่อนจะกลายมาเป็นกรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน ที่เราชอบวิทยุก็เพราะเคยทำงานกันอยู่ที่วิทยุกรมประชาสัมพันธ์ ก่อนที่จะออกมาเปิดร้านนี้กัน เป็นความผูกพันอย่างหนึ่ง จนอยากจะทำวิทยุโบราณแบบนี้ออกมาขายบ้าง"