นอกจากผ่านงานด้านสื่อมวลชนมาแล้ว พี่ป๋อมที่ใครแรกเห็นก็ต้องรู้สึกได้ว่าคนๆ นี้ ต้องไม่ธรรมดา ต้องชอบอะไรในทางศิลปะแน่นอน ยิ่งมารู้ว่าร่ำเรียนมาทางด้านจิตรกรรม และสุดท้ายหันเหมาถ่ายภาพนิ่ง จนได้เป็นถึงช่างภาพในงานพระราชพิธี จึงย่อมต้องมีรสนิยมทางศิลปะไม่ธรรมดาแน่นอน เพราะทุกอย่างสะท้อนออกมาจากการออกแบบร้าน ทั้งการเลือกเฟอร์นิเจอร์ การจัดวางของสะสม ซึ่งทำให้บ้านไม้ขนาดสองชั้นนี้เต็มไปด้วยพื้นที่ใช้สอยและบรรยากาศที่อบอุ่นเป็นกันเอง
ดังนั้นจึงไม่แปลกเมื่อพี่น้อยเล่าว่าพี่ป๋อมทำงานออกแบบร้านอาหารมาหลายร้าน
"ตอนที่เราทำร้านของเราเอง ก็ได้ไอเดียว่า อะไรที่คิดให้คนอื่นแล้วเขาไม่เอา เราก็จะเอามาใช้หมด อย่างจานชามสังกะสีพวกนี้ เจ้าของร้านอื่นๆ บอกว่ามันดูไม่สมราคา ดูก๋องแก๋ง เราก็เอามาใช้จนเป็นเอกลักษณ์ของร้าน"
ไม่เพียงเอามาใช้เสริฟอาหารนานาชนิดเท่านั้น แต่จานชามสังกะสีเหล่านี้ยังถูกนำไปประดับอยู่ตามฝาผนัง ซึ่งถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าแต่ละชินมีลวดลายไม่เหมือนกัน ส่วนที่ซ้ำๆ ถูกนำไปร้อยกันเป็นโมบายบังตาอยู่หน้าร้าน แถมยังส่งเสียงยามลมพัดกระทบกันด้วย
และเนื่องจากของสะสมมีจำนวนมาก พี่ป๋อมจึงออกแบบโต๊ะรับประทานอาหารให้เป็นตู้กระจก นั่งทานข้าวไปก็สามารถมองของน่ารักๆ ที่จะพาเราย้อนนึกไปหาอดีตของตัวเองได้เสมอ อย่างโต๊ะตัวหนึ่งที่เต็มไปด้วยเทปคลาสสิก ซึ่งแต่ละม้วนนับถอยหลังไปได้หลายสิบปี เห็หน้านักร้อง เสียงเพลงที่เคยตะโกนร้องทุกวันตอนหนุ่มสาวก็ลอยฟุ้งขึ้นในความทรงจำทันที
ซึ่งนี่ก็เป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของร้าน
ส่วนชื่อร้านนั้น แขกไปไทยมา(ลาวก็ด้วย) มักจะถามกันเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นมาอย่างไร เพราะดูเหมือนเป็นส่วนผสมที่ไม่ลงตัวเลยทีเดียวระหว่างความเป็นอาหารอีสาน และตัวอักษร "Le" ที่แปะอยู่ด้านหน้าชื่อร้านนี้พี่น้อยเฉลยว่า เกิดจากการไปเยี่ยมพี่ชายซึ่งใช้ชีวิตอยู่ที่ฝรั่งเศส แล้วหลายวันผ่านไปก็นึกถึงอาหารไทย โดยเฉพาะอาหารอีสาน เพราะเธอและครอบครัวก็เลือดเนื้อเชื้อไขแผ่นดินที่ราบสูงขนานแท้ จึงอยากกินอะไรแซ่บๆ ก็เลยไปซื้อมาทำกินกัน แต่ด้วยของไม่ครบก็เลยต้องปรับสูตรบ้าง เพื่อให้ได้รสชาติที่ใกล้เคียงที่สุด
หลังจากกลับมาเมืองไทยแล้ว ทั้งคู่ก็เลยเกิดแรงบันดาลใจว่าทำไมไม่เปิดร้านอาหารอีสานเองเสียเลย แล้วทำสูตรให้แตกต่างจากพื้นเพเดิมๆ เพิ่มสีสันความเป็นฝรั่งเศสเข้าไป ใส่เครื่องปรุงให้มีความเป็นฟิวชั่นฟู้ดส์หรือจะเรียกได้ว่าเป็น "อาหารอีสานพันธุ์ใหม่ที่ไฉไลขึ้น ทั้งรูปลักษณ์และรสชาติ"
"ร้านของเราถ้าแปลตรงตัวก็ต้องบอกว่าเป็น "ปลาแดกตัวผู้ เพราะ "Le - เลอ" ในภาษาฝรั่งเศสจะใช้นำหน้าสิ่งที่เป็นเพศชาย"
นอกจากชื่อแล้ว สัญลักษณ์รูปไก่ของร้าน ก็นำเอามาจากสัญลักษณ์ของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งนำเอาไปประดับที่ชื่อร้าน แกะฉลุอยู่ที่พนักเก้าอี้ รวมถึงของสะสมที่เป็นรูปไก่มากมายทั้งที่อยู่ในตู้ แขวนไว้ตามขื่อ หรือวางอยู่ในโต๊ะกระจก
"มีหลายคนถาม แต่ขอบอกว่าไม่เกี่ยวกับปีเกิดพวกพี่ ที่เราเลือกเอาไก่มาเป็นสัญลักษณ์ก็เพราะว่า หนึ่งคือมันเป็นสัญลักษณ์ของประเทศฝรั่งเศส สองคือ ไก่เป็นสัตว์ที่ตื่นเช้า เป็นตัวแทนของความขยันด้วยนั่นเอง"
นี่คือลูกเล่นหรือเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของร้านอาหารอีสานล้ำรสแห่งนี้