หน้าร้อนอย่างนี้ท่านนึกถึงอะไร แน่นอนหลายคนอาจจะบอกว่า ชายทะเล เพราะลมเย็นชื่นใจ บางท่านอาจจะไปน้ำตก ส่วนคนขี้เกียจหน่อยก็คงคิดว่านอนเปิดแอร์อยู่บ้านดีกว่า ผิดกับพวกนักช้อปทั้งหลายที่คงพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เปิดแอร์อยู่บ้านก็เปลืองไฟแย่ ร้อนอย่างนี้ก็ต้องไปเดินห้างสิดีที่สุด ประหยัดด้วยได้ดูอะไรสวยๆ งามๆ ด้วย
แล้วคุณล่ะ อยากหนีร้อนไปพึ่งเย็นที่ไหนบ้าง
สำหรับผมที่อยู่กรุงปักกิ่งที่กลางวันร้อนระอุเฉียด 40 กว่าองศาเซลเซียส เพิ่งหนีร้อนไปพึ่งแอร์ในโรงภาพยนตร์มา สาเหตุก็เพราะว่าอาทิตย์มีการนำเอาภาพยนตร์จีนฟอร์มยักษ์ปีของปีที่แล้วเรื่อง "เจี้ยนต่างเว่ยเย่" หรือ "ภารกิจอันยิ่งใหญ่ในการก่อตั้งพรรค" มาเปิดฉายอีกครั้ง ทำให้ผมอยากดูขึ้นมาบ้าง ก็เลยฉวยโอกาสช่วงเที่ยงของวันอังคารที่ผ่านมา ซึ่งการงานพอว่างมือบ้างไปเยี่ยมเยียนโรงภาพยนตร์ในประเทศจีนเป็นครั้งแรกในชีวิตมา ก็เลยอยากนำประสบการณ์ของหนังเรื่องนี้มาเล่าสู่ท่านฟังอีกครั้ง
ก่อนหน้านี้ก็ตั้งใจว่าจะ และว่าจะอยู่หลายรอบ แต่ภาษายังอ่อนด้อย กลัวว่าจะไปเลือกเอาฉบับที่ไม่มีซับไตเติ้ลภาษาอังกฤษเข้าจะทำให้เสียดายเงินค่าตั๋ว
บังเอิญว่าได้อ่านประวัติศาสตร์ช่วงการปฏิวัติซินไฮ่มาบ้าง และก็เคยไปเดินชมพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของจีนมาบ้าง อีกทั้งประสบการณ์การทำงานที่ซีอาร์ไอช่วงหลายปีมานี้ก็พอรับรู้เรื่องราวเหล่านี้บ้าง ก็เลยพอกล้อมแกล้ม อาจจะไม่เข้าใจภาษาร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เนื้อหาเข้าใจมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์แน่นอน
สำหรับคนจีนดูเรื่องนี้เข้าใจได้ไม่ยาก เพราะส่วนใหญ่ก็เป็นสิ่งที่บรรจุอยู่ในแบบเรียนทั้งนั้น ที่แตกต่างก็เนื่องจากประวัติศาสตร์ในหนังสือได้ออกมาโลดแล่นในจอภาพยนตร์ มีดาราดังทั่วฟ้าเมืองจีนมาสวมบทบาทเป็นบุคคลสำคัญต่างๆ ก็เท่านั้น ทำให้ภาพในสองแจ่มชัดขึ้น
ด้านค่าตั๋วก็พอๆ กับที่เมืองไทย วันที่ไปดูเสียแค่ 35 หยวนเท่านั้นโรงภาพยนตร์ก็อยู่ในห้างเหมือนกัน คือมีขนาดไม่ใหญ่นักจุได้ราวสองร้อยกว่าคน มีแถวละ 24 ที่นั่ง ทั้งหมด 11 แถวเห็นจะได้ ที่นั่งก็สบาย เพียงแต่พิงแล้วเอนไม่ค่อยได้มาก และที่ไม่ต่างกันก็เห็นจะเป็นเรื่องโฆษณาสินค้าก่อนฉายหนัง มีมากพอๆ กัน
อารมณ์ความรู้สึกของคนมาชมก็คงจะเหมือนที่คิดว่าอุตส่าห์เสียเงินค่าตั๋วแล้ว ยังต้องมานั่งดูโฆษณาเหมือนดูโทรทัศน์ที่บ้าน สู้ดูดีวีดียังดีกว่า เพราะไม่ต้องมานั่งหงุดหงิดกับสิ่งที่ไม่ได้ตั้งใจเสียเงินมาเพื่อดู เพราะคอหนังที่เมืองไทยก็หยิบยกเรื่องนี้มาเป็นหัวข้อสนทนาทั้งในโลกออนไลน์และวงสนทนาทางเรื่องเกี่ยวกับสิทธิด้วย ว่าทางโรงภาพยนตร์เอาเปรียบลูกค้าเกินไป รับเงินสองต่อ คือค่าบัตรเข้าชมของเรา แล้วก็จะสปอนเซอร์โฆษณา
นอกจากเรื่องนี้ที่เห็นว่าต่างกันอีกเรื่องก็คือ คนจีนเข้าโรงหนังช้ากว่าคนไทย เพราะวันนั้นหนังฉายไปประมาณ 10 นาทีแล้วยังมีคนทยอยเดินเข้ามาอีกเยอะทีเดียว ทำให้เสียสมาธิในการดู ส่วนเรื่องใช้โทรศัพท์ในแรงภาพยนตร์ก็มีบ้างประปรายพอกัน ไม่ได้คุยนาน คงเป็นธุระด่วนคุยเสร็จแล้วก็รีบวาง
หงุดหงิดเรื่องคนเดินไปมามากกว่าเรื่องอื่น
แต่ว่าระบบเสียงของโรงภาพยนตร์จีนจะแน่นกว่า เพราะกระหึ่มมาก ขนาดอีกเรื่องที่ฉายอยู่ในโรงติดกันยังเล็ดเข้ามานิดหน่อย
สรุปแล้วก็ไม่ต่างอะไรกันมากนัก ที่สำคัญหลบร้อนได้เป็นอย่างดี ยิ่งดูรอบหลังอาหารกลางวันด้วย ทำให้เผลอสัปหงกไปหลายครั้งทีเดียว
สำหรับเรื่องนี้ความรู้ประวัติศาสตร์เบื้องต้นสำคัญทีเดียว เพราะถ้าเราไม่เคยอ่านหนังสือมาก่อน ไม่เคยไปพิพิธภัณฑ์ 4 พฤษภาฯ ไม่เคยไปชิงเต่า และเซี่ยงไฮ้มาก่อน จะดูเข้าใจได้ตลอดรอดฝั่งค่อนข้างยาก เพราะว่าหนังเรื่องนี้ตัดฉากเร็วมาก จนขนาดคนที่พอมีพื้นยังรู้สึกได้ว่าติดตามเรื่องไม่ค่อยทัน
และเวลามีการเพิ่มตัวละครใหม่เข้ามา ในหนังจะใช้วิธีขึ้นตัวอักษรบอกชื่อตัวละครในเรื่อง ซึ่งคนที่ไม่รู้ภาษาจีนก็จะค่อนข้างลำบาก และแม้ถึงอ่านออกก็ตาม แต่ไม่รู้ว่าคนคนนั้นเป็นใคร มีบทบาทสำคัญอย่างไรในประวัติศาสตร์ห้วงเวลานั้นก็ค่อนข้างจะเข้าใจได้ยากแน่นอน
แต่ที่บทบาทเด่นๆ ในเรื่องไม่ต้องอ่านชื่อให้รู้ก็พอมีบ้าง อย่าง "ปูยี" จักรพรรดิองค์สุดท้าย เพราะในเรื่องก็แต่งตัวเป็นจักรพรรดิเห็นๆ อย่าง "หยวนซื่อไข่" ที่รับบทโดยโจวเหวินฟะ ก็รู้ได้ทันที ดร.ซุนยัดเซน ก็ดูออก เพราะคัดตัวแสดงมาได้ละม้ายคล้ายตัวจริงมาก สองคนที่ผมไม่เคยเห็นรูปมาก่อน แต่พอปรากฏตัวในเรื่องก็รู้ได้ทันทีว่าเป็นใครก็คือ หลี่ ต้าเจา กับ เฉิน ตู้สิ้ว ซึ่งมีบทบาทขับเคลื่อนขบวนการนักศึกษาในมหาวิทยาลัยปักกิ่งให้ออกไปเดินขบวนเรียกร้องตามท้องถนน เพื่อให้รัฐบาลในยุคนั้นไม่ยอมรับสนธิสัญญาแวร์ซายด์ที่ทำให้จีนต้องเสียดินแดนให้กับญี่ปุ่น และสองคนนี้ยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ในการนำเอาลัทธิการปกครองแบบคอมมิวนิสต์จากรัสเซียเข้ามาเผยแพร่ด้วย และที่ดูยังไงก็รู้ว่าดาราคนนี้แสดงเป็นใครก็คือ บทของเหมา เจ๋อตง แค่เห็นแต่งตัวก็รู้ได้ทันที คนที่รับบทโจว เอินไหล สมัยหนุ่มก็มีส่วนคล้ายมาก รวมถึงชาวต่างชาติที่รับบทเป็นเลนิน ผู้นำรัสเซียในยุคนั้นด้วย เหมือนกันกับตัวจริงยังกะแกะ
นอกจากดาราดังทุกคนทั่วฟ้าเมืองจีนอยากมีส่วนร่วมในภาพยนตร์สำคัญเรื่องนี้แล้ว ก็ต้องยอมรับฝีมือการคัดเลือกตัวแสดงของทีมงานด้วย เพราะไม่ใช่ว่าจะเอาทุกคนมาแสดง โดยที่บุคลิกและหน้าตาไม่สมบทบาทได้
นอกจากนี้สถานที่ก็เหมือนจริงมาก ฉากปักกิ่งในยุคนั้นดูไม่ออกเลยว่าเป็นโรงถ่าย ดูไปก็สงสัยว่าคงไปปิดถนนและสถานที่ถ่ายในสถานที่จริงๆ เป็นแน่ อย่างฉาก "หงโหลว" หรืออาคารเรียนของมหาวิทยาลัยปักกิ่งที่เหมาเจ๋อตงเคยไปทำงานในห้องอ่านหนังสือ ก็เหมือนสถานที่จริงมาก
มีเพียงสองฉากเท่านั้นที่ดูปลอมมาก นั่นก็คือฉากที่หอไหว้ฟ้าเทียนถาน ตอนที่หยวนซื่อไข่ไปกราบฟ้าเพื่อสถาปนาตัวเองเป็นจักรพรรดิราชวงศ์ใหม่แทนปูยี และฉากการประชุมสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์รุ่นก่อตั้งครั้งที่สองในทะเลสาบแห่งหนึ่งของหางโจว ดูแล้วรู้เลยทันทีว่าเป็นเทคนิกคอมพิวเตอร์แน่นอน เพราะทำออกมาได้ไม่แนบเนียนนัก ซึ่งจริงๆ แล้วใช้ฉากมุมแคบเข้าช่วยก็ได้ แต่ดูเหมือนผู้กำกับจะจงใจโชว์ภาพกว้างให้ดูอลังการยิ่งใหญ่ จึงออกมาแล้วดูเหมือนไม่จริง
สำหรับการดำเนินเรื่องมีการนำเอาภาพเหตุการณ์จริงในอดีตมาแทรกไว้ตามจุดต่างๆ ของเรื่องด้วย อย่างช่วงการเดินขบวนของนักศึกษา หรือการทำสงครามปฏิวัติ ซึ่งทางผู้กำกับคงพยายามจะทำให้คนดูเกิดความเชื่อว่านี่คือเรื่องจริง ต้องการให้คนอินไปกับประวัติศาสตร์เสมือนจริงเรื่องนี้ อีกทั้งยังต้องการให้เห็นรายละเอียดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทราบว่าบ้านเมืองในยุคเมื่อร้อยปีที่แล้วเป็นอย่างไร
อีกทั้งผู้กำกับยังต้องการใช้ภาพเหตุการณ์จริงนี้มาเป็นจุดขั้นระหว่างเหตุการณ์อื่นๆ มากมายที่บรรจุอยู่ในหนังเรื่องนี้ คืออย่างเช่น ขณะกล่าวถึงหยวนซื่อไข่อยู่ดีๆ ยังไม่ทันเห็นจุดหักอะไร ก็ตัดไปฉายให้เห็นแค่จักรพรรดิปูยีในวัย 11 จวบ เอาเชือกว่าวมัดหางเปียขุนนางให้วิ่งโต้ลมจนว่าวขึ้นไปลอยอยู่บนท้องฟ้า ขณะเดียวกันกับเครื่องบินที่ทันสมัยก็ถล่มระเบิดใส่ไม่ไกลจากพระราชวังกู้กง จนพระมารดาของจักรพรรดิต้องกอดจักรพรรดิน้อยร่ำไห้ว่า "ขอให้เราได้อยู่อย่างปลอดภัยเถอะ" คือหมายความว่า จะเอาอำนาจราชบัลลังก์ก็เอาไป แต่ขอให้ได้มีชีวิตอยู่สืบต่อไปก็พอแล้ว
จริงๆ แล้วฉากนี้ก็กินใจมาก ประทับใจที่ทางทีมงานสร้างเอาว่าวที่ดูเป็นของโบราณมาเทียบกับเครื่องบินรบ ซึ่งว่าวก็เป็นตัวแทนการปกครองที่ล้าหลัง ส่วนเครื่องบินหมายถึงโลกสมัยใหม่ที่กำลังคืบคลานมา และการปกครองแบบใหม่ที่ทรงฤทธานุภาพมากกว่าวาจาสิทธิ์ของลูกมังกร
แต่เมื่อพิจารณาใคร่ครวญและชั่งใจหลายครั้ง ก็รู้สึกว่าไม่ชอบที่เอาภาพเหตุการณ์จริงมาแทรก เพราะมันทำให้เรื่องดูเป็นสารคดีมากกว่าจะเป็นภาพยนตร์ และการตัดฉากที่เร็วเกินไปจนไม่เห็นพัฒนาการของตัวละคร ก็เลยยิ่งทำให้ เรื่อง "เจี้ยนต่างเว่ยเย่" หรือ "ภารกิจอันยิ่งใหญ่ในการก่อตั้งพรรค" นี้ กลายเป็นอีกหนึ่งภารกิจในการเผยแพร่ประวัติศาสตร์จีนยุคใกล้ หรือประวัติศาสตร์ร่วมสมัยนี้มากเกินไป
ซึ่งเดาเอาว่าผู้กำกับคงเหนื่อยกับการพยายามรวมเอาเรื่องราวของตัวละครสำคัญต่างๆ ในยุคนั้นมารวมเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะทุกคนล้วนมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง การยึดมั่นในประวัติศาสตร์จนเกินไป จนลืมไปว่าสุนทรียศาสตร์ของภาพยนตร์ก็คือความบันเทิง ทำให้เข้าใจได้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ตั้งใจให้เป็นการปลุกใจไปนิดหนึ่ง ไม่เหมือนเรื่อง "60 ปีสถาปนาประเทศจีน" ซึ่งเรื่องนั้นค่อนข้างเดินเรื่องได้ดีกว่า
คนที่เข้าไปนั่งอยู่หน้าจอในโรงภาพยนตร์จะรู้สึกว่าเหมือนมีคนหลายคนผลัดกันเข้ามานั่งข้างๆ แล้วเล่าเรื่องราวของตัวเองให้ฟัง พอเรากำลัทำท่าจะสนใจ เขาก็จากไปแล้วเปลี่ยนสลับให้อีกคนเข้ามาเล่าต่อ ซึ่งเป็นคนละเรื่องเดียวกัน
ถ้าผู้กำกับจับเอาใครสักคนที่สำคัญ หรือสองคนก็ได้มาเป็นตัวดำเนินเรื่องหลัก อย่าง "เฉิน ตู้สิ่ว" และ "หลี่ ต้าเจา" ก็ได้ ส่วนเหมา เจ๋อตง คงเอามาเป็นหลักไม่ได้ เพราะในช่วงนั้นยังไม่มีบทบาทอะไรมาก เพราะยังเป็นนักศึกษา มีเพียงช่วงท้ายเรื่องที่เขาเป็นตัวแทนไปเข้าร่วมประชุมลับกับกรรมการบริหารพรรค และร่วมร่างกฎพรรคคอมมิวนิสต์ชุดแรก ในเรื่องนี้เขาจึงควรมีบทไม่เด่นนัก
คือจริงๆ แล้วภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องการชี้ให้เห็นถึงเชื้อไฟแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองของจีน มูลเหตุที่ผลักดันให้จีนเลือกเส้นทางการปกครองอย่างในปัจจุบันนี้ จักรพรรดิที่ไร้เดียงสา ข้าราชบริพารที่หวังอำนาจบาตรใหญ่ ความอ่อนด้อยในการเมืองระหว่างประเทศ การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าการรักและหวงแหนประเทศชาติ อีกทั้งยังฉายให้เห็นความก้าวหน้าทางด้านการศึกษาในยุคนั้น การวิวาทะอย่างเปิดเผยระหว่างอาจารย์และลูกศิษย์ และระหว่างอาจารย์ด้วยกัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการยอมรับกันได้ทางวิชากา
ซึ่งการศึกษาแบบสมัยใหม่ทำให้ชาวจีนเห็นโลกมากขึ้น และมีความเป็นสากลมากขึ้น จริงๆ แล้วในหนังก็ชี้ให้เห็นแล้วว่า ได้ทดลองการปกครองมาหลากหลายรูปแบบ ขนาดว่าล้มราชบัลลังก์ไปแล้วหลายปี ก็ยังรื้อฟื้นขึ้นมาอีก สุดท้ายก็ยังไม่เหมาะ ดร.ซุนยัดเซน ก็ลองปกครองแบบสาธารณรัฐแล้ว แต่เขาก็ควบคุมอำนาจทหารไม่อยู่ ไม่มีเงินสนับสนุน และอาวุธที่จะมาต่อสู้
ส่วนเหตุการณ์ที่ทำให้ทุกอย่างเดือดปุดขึ้นมาก็คือ การออกไปเดินขบวนประท้วง และการแยกกันไปปราศรัยในที่ต่างๆ ของกรุงปักกิ่งโดยขบวนการนักศึกษาและอาจารย์ต่อกรณีสนธิสัญญาแวร์ซายน์ที่ไม่เป็นธรรม
ฉากเด่นฉากหนึ่งคือ นักศึกษาพากันเดินขบวนไปยังบ้านหลังหนึ่ง ซึ่งมีพวกชนชั้นปกครองหลบเหตุการณ์อยู่ ตอนแรกนักศึกษาเอาไข่ดิบขว้างใส่ตัวบ้าน แต่ก็ไม่มีใครมาเปิด พอสักพัก ด้วยแรงยุยงและแรงผลักของจิตวิทยามวลชน ผู้นำนักศึกษาคนหนึ่งจึงปีนกำแพงหวังจะข้ามไป แต่พอชะโงกหน้าลงไปกลับเห็นกองทหารจำนวนมากรออยู่อย่างเงียบเชียบ เขาจึงถอยกรูดลงมา จากนั้นศึกษาก็เปลี่ยนแผนด้วยการเอาไม้มากระทุ้งประตูบ้าน จนสามารถแง้มออกได้เหลือเพียงโซ่เหล็ก ผู้นำอีกคนก็เข้าไปส่องดูเห็นทหารมากมายดักรอ ตอนแรกก็ตกใจ ตอนหลังเขาก็พยายามพูดเกลี้ยกล่อมให้นักศึกษาเข้าไปให้ได้ ประโยคเด็ดของฉากนี้คือคำพูดของหัวหน้ากลุ่มนักศึกษาที่ว่า "พวกเราทุกคนล้วนรักประเทศ คุณก็เป็นคนจีน คุณทนเห็นประเทศเป็นอย่างนี้ได้หรือ เปิดทางให้เราเถอะ พวกเราทุกคนรักประเทศจีน ใช่ไหมทุกคน" ว่าแล้วเสียงนักศึกษาที่ฮึกเหิมอยู่ข้างนอกก็ประสานเป็นเสียงเดียวกันอย่างกึกก้องว่า "ว่ออ้ายกั๋ว" ซึ่งแปลว่าฉันรักประเทศ แล้วผู้นำสาวอีกคนก็แทรกเข้าไปพูดถามกับเหล่าทหารว่า "หนี่อ้ายกั๋วมา" – พวกคุณรักประเทศไหม
เท่านั้นทหารก็ยอมเปิดทางให้นักศึกษาผ่านเข้าไป
ทุกคนรักประเทศหมด แต่จุดยืนและหน้าที่ รวมถึงจุดมุ่งหมายไม่เหมือนกัน คนที่เป็นทหารก็คงคับข้องใจ แต่ด้วยหน้าที่และระเบียบ พวกเขาจึงต้องฟังคำสั่งของเจ้านายเพียงเท่านั้น แต่เหตุการณ์นี้ก็ทำให้เห็นว่า เมื่อถึงเวลาที่จะแสดงความรักต่อประเทศชาติของตน ก็ต้องกล้าคิดเอง ตัวเองอาวุธครบมือจะกล้าทำร้ายนักศึกษาที่ไร้อาวุธและออกมาแสดงความรักประเทศได้หรือ
ฉากนี้เรียกน้ำตาและขนที่ลุกเกลียวบนท่อนแขนได้อย่างชะงัด
อีกฉากหนึ่งที่ประทับใจไม่รู้ลืมคือ ฉากที่เหล่าอาจารย์พยายามโต้คารมกันบนเวทีเกี่ยวกับว่าจีนจะเดินหนทางไหนในการปกครองประเทศ เขาถกเถียงกันว่า แบบอังกฤษก็ดี แบบอเมริกาก็ดี แบบเยอรมนีก็ดี หรือแบบญี่ปุ่นก็ดีทั้งนั้น เราจะเลือกเป็นแบบไหน สุดท้ายก็มีอาจารย์เฉินตู้สิ้วลุกขึ้นมาพูดว่า แบบที่ดีที่สุดคือ ต้องเลียนแบบการปกครองของรัสเซีย เพื่อความเสมอภาคในสังคม นั่นก็คือ การนำเอาหลักมาร์กซิสต์มาใช้ในการปกครอง ซึ่งตอนนั้นก็นับว่าเป็นเรื่องใหม่อย่างยิ่งสำหรับจีน
ฉากนี้นับได้ว่าเป็นต้นกำหนดของพรรคคอมมิวนิสต์เลยก็ว่าได้ เพราะอาจารย์เหล่านี้ได้ทำการศึกษาวิธีการปกครองแบบนี้มาพอสมควร การพูดบนเวทีครั้งนั้นก็เหมือนกับว่าได้ประกาศให้สาธารณชนทราบ จนในที่สุดเหตุการณ์ต่างๆ ก็สุกงอมจนนำไปสู่การสถาปนาพรรคขึ้นอย่างแท้จริง
สำหรับผู้ที่ชื่นชอบประวัติศาสตร์จีน เรื่องนี้สนุกกว่าดูหนังประวัติศาสตร์โบราณ เพราะเรื่องนี้ใกล้ตัวกว่า และการเปลี่ยนแปลงของจีนก็มีผลกระทบไปทั่วโลก การได้เรียนรู้และทำความเข้าใจเส้นทางการเติบโตของประเทศจีนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
แม้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะมีจุดด้อยในบางด้าน แต่จุดเด่นก็มากกว่า ไม่มีอะไรที่ดีร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก ก็เหมือนระบบการปกครองนั่นแหละ รับรองว่าเสียเงินซื้อตั๋วเข้าไปชมหรือหาแผ่นดีวีดีมาดู รับรองว่าไม่ผิดหวังแน่นอนครับ และไม่ต้องกังวลกับพื้นฐานประวัติศาสตร์จีนมากนัก เพราะไม่ถึงขนาดย่างน้อยภาพยนตร์ก็ยังมีภาษาพิเศษส่วนตัวอยู่ เนื้อเรื่องและภาพจะค่อยๆ อธิบายให้เราทราบเองได้
พัลลภ สามสี