จีนปริทรรศน์: 10 บาร์เด็ดดนตรีสดในปักกิ่ง (2)
  2012-08-01 17:19:27  cri

4. East Shore Jazz Bar

บาร์แจ๊ซอันดับหนึ่งของปักกิ่งแห่งนี้ตั้งอยู่หลังโค้งสะพานของทะเลสาบโฮ่วไห่ สถานที่ท่องเที่ยวยามราตรีที่มีชื่อเสียงที่สุด ด้วยบรรยากาศบาร์นับร้อยที่เรียงอยู่รายรอบพื้นที่น้ำกลางเมืองที่มีมาแต่โบราณกาล ขับกล่มให้บรรยากาศรื่นรมย์และมีเอกลักษณ์ในทุกฤดูกาล

"อิสต์ ชอร์" มองเห็นได้โดยง่ายจากตัวอักษรคำว่า "Jazz" ที่ติดหราอยู่บนตัวอาคารทรงเก่าแก่ชั้นที่ 2 โดยทางขึ้นมีบานประตูและบันไดที่ก่อสร้างด้วยไม้นำทางขึ้นไปสู่สวรรค์ของคนรักดนตรีแจ๊ซ

ปกติทุกค่ำคืนเมื่อเดินผ่านม่านผ้าสักกะหลาดสีแดงเข้าไป ราวสามทุ่มเศษดนตรีสดอันเป็นมีรากเหง้ามาจากเสียงคร่ำครวญของคนผิวดำจะถูกบรรเลงสลับกัน ทั้งชาวจีน ยุโรป ญี่ปุ่นและอเมริกา บางวงเป็นวงชั้นนำของประเทศนั้นๆ ด้วยซ้ำ ทั้งนี้เป็นเพราะเจ้าของบาร์แห่งนี้เป็นนักดนตรีแจ๊ซที่มีชื่อเสียงของประเทศ จึงมีสายสัมพันธ์อันดีกับคนคอเดียวกันจากทั่วโลก สามารถเชิญวงที่ไม่คาดคิดว่าจะเดินทางมาเล่นในบาร์กลางกรุงปักกิ่งได้ ให้ลูกค้าได้สัมผัสกับโลกแห่งเสียงเพลงแจ๊ซได้ที่นี่เพียงที่เดียว

ในช่วงเทศกาลแจ๊ซประจำปี วงที่ลงมาจากเวทีใหญ่ใน "จง ซาน กง หยวน" ก็จะทยอยกันมาเปิดคอนเสิร์ตแบบกระชับมิตรที่นี่ คนที่ติดใจจากเครื่องเสียงและห้องหับอันโอ่โถง ก็สามารถตามมาฟังบรรยากาศดิบแบบแจ๊ซขนานแท้ได้ที่นี่

อย่าลืมว่า "แจ๊ซ" นั้น เกิดจากผับบาร์ของชุมชนในยามที่ว่างจากการงานยามค่ำคืน ดังนั้นการได้มานั่งชิดขอบเวทีชนิดเห็นทุกเรียวนิ้วที่ประจงดกลงบนคีย์เปียโน สีหน้าอันเคลิบเคิ้ลมของนักเป่าแซกโซโฟน มืออันพลิกพลิ้วของผู้เล่นดับเบิ้ลเบส ปลายนิ้วที่ขยับราวล่องหนของนักกีตาร์ และจังหวะจะโคนของกลองที่ควบคุมโดยข้อมือที่สะบัดพลิ้วและปลายเท้าที่เหยียบเขย่งอยู่หน้ากลองและฮิตแฮตนั้นย่อมได้อารมณ์พิลึกพิลั่นของความเป็นแจ๊ซอย่างแท้จริง

และวิเศษไปเหนืออื่นใด เมื่อมีเครื่องดื่มที่ถูกใจอยู่ในมือ ให้คอยยกจิบสัลบกับปรบเมื่อดนตรีแต่ละช่วงโยนจังหวะให้กันในแบบที่ภาษานักฟังเรียกว่า "แจ๊ซ ทอล์ก"

ความพิเศษของ "อิสต์ ชอร์" ที่นอกจากจะมีวงจากนานาชาติแวะเวียนกันมาแสดงฝีมือแล้ว ที่นี่ยังไม่เก็บค่าผ่านประตูให้เสียอารมณ์ แต่ด้วยจำนวนที่นั่งอันจำกัดจำเขี่ย การจะมาที่นี่ในวันศุกร์-เสาร์จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องจองล่วงหน้า แต่ถ้าหากมาแต่หัวค่ำหน่อยก็น่าจะลืมปัญหานี้ได้ ยิ่งถ้าพกคนที่รู้ใจมาด้วย ขอแนะนำโต๊ะเล็กๆ ที่ริมหน้าต่างกระจกใส ซึ่งสามารถมองทะลุออกไปเห็นเวิ้งน้ำอันกว้างใหญ่ของโฮ่วไห่ และแสงไฟหลากสีของราตรีที่ไม่มีวันวายของผับบาร์ที่ประชันแสงกันอยู่รายรอบ

และพิเศษไปยิ่งกว่านั้นคือในทุกวันอาทิตย์จะเปิดโอกาสให้นักดนตรีมือใหม่ได้มีโอกาสขึ้นเวทีกับรุ่นใหญ่หรือเพื่อนที่เล่นประจำอยู่แล้ว หรือ "แจมมิ่ง เดย์" ทั้งนี้เพื่อให้นักดนตรีมีโอกาสพัฒนาฝีมือของตน และสักวันอาจจะมีโอกาสขึ้นไปยืนประจำบนเวทีของ "อิส ชอร์" หรือแม้กระทั่งขยับไปอยู่แนวหน้าของประเทศเลยก็ได้

ใครอยากเห็นคนเต้นแท๊ปเป็นจังหวะแจ๊ซ หรือเด็กแว่นอายุ 14-15 มานั่งดีดเปียโนชนิดมืออาชีพที่เป็นผู้ใหญ่ยังอาย ก็แวะมาได้ทุกวันที่นี่........"อิสต์ ชอว์ แจ๊ซ บาร์"

"พื้นที่สำหรับคนหัวใจแจ๊ซ"

5. VA Bar

VA นั้นย่อมาจากคำว่า "Vanguard" ซึ่งก็คือพันธุกรรมหนึ่งของสายดนตรีแจ๊ซ ดังนั้นโดยชื่อเสียงเรียงนามเช่นนี้ก็เป็นการประกาศตัวเองอย่างเต็มภาคภูมิแล้วว่าที่นี่ คือ "ดนตรีสถานอันมีดนตรีแจ๊ซเป็นแนวหน้า" อ้าแขนรอแฟนเพลงจากทุกแห่งหนที่ต้องการเสพสัมผัสแจ๊ซจีนแบบแท้ๆ

ที่ว่า "แจ๊ซจีน" ก็เพระว่าวงส่วนใหญ่ที่เล่นอยู่ VA เป็นวงแจ๊ซสายพันธ์จีนแทบทั้งสิ้น นานๆ จึงจะมีวงจากต่างประเทศมาเยี่ยมเยือน ด้วยเพราะที่นี่มีขนาดกระทัดรัด เวทีก็ไม่ได้ใหญ่โต แต่เมื่อได้เข้าไปนั่งอยู่ภายในก็จะทำให้รู้สึกว่าอบอุ่นไปด้วยความเป็นกันเอง และยังได้รับบรรยากาศแปลกใหม่ของทางดนตรีแจ๊ซแบบจีนที่หาฟังที่อื่นใดได้ยาก

"วีเอ บาร์" ตั้งอยู่ถัดจากปากซอย "อู่ เต้า หยิง หู ถ้ง" เข้าไปไม่ถึงยี่สิบก้าว การเดินทางก็สะดวกสะบาย เพราะสามารถมาได้ทั้งรถไฟใต้ดินสายที่ 2 และสาย 5 ซึ่งจะมาตัดกันพอดีที่สถานียงเหอกง หรือ "วัดลามะ" ซึ่งนั่นก็หมายความว่า สำหรับนักท่องเที่ยวแล้ว กลางวันเดินเที่ยวโดยรอบ พอตกกลางคืนก็แวะมานั่งชิวดนตรีแจ๊ซได้ที่นี่พอดิบพอดี

และที่นี่ยังปลอดบุหรี่อีกด้วย นับได้ว่าเป็นบาร์แห่งแรกก็ว่าได้ที่ห้ามสูบบุหรี่จริงจังภายในร้าน โดยจัดโต๊ะไว้ให้สิงขี้ยาพิเศษที่ด้านนอก

ด้วยความที่ "วีเอบาร์" มีนักดนตรีแจ๊ซชาวจีนมาชุมนุมกันบ่อยครั้งนี่เอง จึงได้ยินไปถึงหู "โทนี่ ลากาโตส" (Tony Lakatos) นักเป่าแซกโซโฟนอันดับหนึ่งของยุโรปในยุคของเราเมื่อครั้งเดินทางมาร่วมแสดงคอนเสิร์ตที่กรุงปักกิ่ง เขาจึงขนผู้ร่วมวงทั้งหมดมาร่วมแจมกัน ซึ่งก็คือวงบิ๊กแบนด์ชื่อ "Hessischer Rundfunk" จากแฟรงก์เฟิร์ตมาเต็มวง เพื่อเป็นการอุ่นเครื่องก่อนขึ้นเวทีใหญ่ และที่สำคัญเขาต้องการที่จะฟังทางดนตรีแจ๊ซแบบจีนว่ามีกลิ่นไอและลักษณะเฉพาะตัวอย่างไรบ้าง

ทำให้วันนั้นใครที่บังเอิญแวะเวียนไปที่ "วีเอบาร์" เข้าก็เป็นต้องตกตะลึงที่วงบิ๊กเนมยักษ์ใหญ่จากยุโรปมาขึ้นเวทีเล็กๆ ในบาร์หน้าวัดลามะแห่งนี้ เพราะโทนี่ได้บอกเพื่อนที่แนะนำร้านว่าอย่าได้ไปป่าวประกาสมากนักว่าเขาจะย่องมาเล่นที่นี่ เพราะจะเป็นการผิดสัญญากับทางผู้จัดที่เชิญเขามา จะบอกได้ก็แต่เพื่อนๆ ที่สนิทสนมกันและเป็นคอแจ๊ซขนานแท้เท่านั้น

และคืนนั้น "โทนี่ ลากาโตส" ก็ใส่ไม่ยั้ง คนดูก็ได้นั่งชนิดจ่อๆ หน้าเวที เสียงดนตรีจากเครื่องเป่า กลองเบส เปียโนลอยมาสดๆ ชนิดไม่ต้องพึ่งพาอุปกรณ์ขยายเสียง เมื่อสมาชิกวงทยอยขึ้นไปยืน ปรากฎว่าล้นจนแทบไม่มีที่ยืน แต่ "ขนาดย่อมไม่ใช่ปัญหา" โทนี่และสมาชิกวงดนตรีจากสถานีวิทยุสาธารณะเฮสเสของเยอรมนี ใช้วิธีสัลบกันขึ้นไปเมื่อถึงคิวเล่น ช่วงที่ใครโซโล คนที่ไม่ได้เล่มก็จะลงมานั่งคอย และทุกคนก็ใส่เต็มทุกเม็ดตลอดกว่าสองชั่วโมง ก่อนขึ้นเวทีจริงที่ The National Center of the Performing Arts

6. School Bar

ในบ้านไหนเมืองไหนก็ย่อมต้องมีพื้นที่สำหรับคนรุ่นใหม่ มีแหล่งบันเทิงพิเศษที่ให้ชาวอินดี้มาเจอกัน ซึ่งสำหรัยที่กรุงปักกิ่งแล้วนั้น "สคูล บาร์" คือจุดนัดหมายสำคัญ

ที่นี่เป็นศูนย์รวมของเด็กแนวที่แต่งตัวกันแบบเท่ๆ และโฉบเฉี่ยว บางคนก็แต่งแบบไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน พอใจและมั่นใส่ก็หยิบจับใส่ออกจากบ้าน ด้วยเชื่อมั่นในตัวเองว่าสักวันหนึ่งตนเองจะกลายเป็นผู้นำแฟชั่นในแนวที่ชอบนี้บ้าง

ดังนั้นในช่วงวันศุกร์และเสาร์ ซึ่งไม่รวมช่วงปิดเทอม เพราะจะลามมาแน่นเอาวันอื่นๆ ด้วย และมีวัยรุ่นจีนแนวๆ มุ่งตรงกันมาที่นี่จำนวนมาก

สาเหตุที่นี่เกิดเป็นที่นิยมขึ้นมาก็เพราะว่า "สคูล บาร์" มีหุ้นส่วนร้านเป็นสมาชิกวงร็อกอินดี้ของจีน ซึ่งผ่านการออกอัลบั้มมาแล้ว อีกทั้งขึ้นไปเข่นอารมณ์ความสะใจมาแล้วทุกเวทีคอนเสิร์ตสำคัญๆ เลยทำให้ชื่อเสียงของเขาเป็นที่รู้จักและถือได้ว่าเป็น "ไอดอล" ของดนตรีแนวอินดี้ที่พยายามสร้างทางของตัวเองให้ฉีกไปจากกระแสหลักทั้งของจีนและโลก เมื่อบรรดาสาวกแฟนคลับทราบว่าวง "Joy Side" มาเป็นส่วนหนึ่งในการเนรมิตบาร์นี้ขึ้นมา จึงมาอุดหนุนและรอฟังเพลงที่พวกเขาเล่นสดๆ

แต่ที่ "สคูล บาร์" ไม่ได้มีดนตรีสดเล่นทุกวัน โดยมากจัดขึ้นเมื่อมีกิจกรรม หรือโอกาสสำคัญ และปกติทุกวันก็จะเปิดเพลงอินดี้สลับกันไปกับการโชว์เปิดแผ่นของดีเจทั้งจีนและเทศ

สำหรับคอดนตรีอินดี้ที่ต้องการติดตามวงที่ตนเองชื่นชอบก็สามารถตรวจสอบจากเว็บไซต์ของบาร์แห่งนี้ก่อนไปก็ได้

สถานที่ตั้งของ "สคูล บาร์" อยู่ถัดจาก "วีเอ บาร์" เข้าไปใน "อู่ เต้า หยิง หู ถ้ง" ไม่ไกลนัก สามารถโดยสารรถไฟใต้ดินมาได้อย่างสะดวกสบาย เลือกลงได้ทั้งสถานียงเหอกงหรืออันติ้งเหมินก็ได้

พัลลภ สามสี

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040