จริงเมืองต่างๆ ที่ตั้งเป้าหมายแห่งความสุขนั้น ความเข้าใจต่อความสุขก็ไม่เหมือนกัน ซึ่งทำให้การวางแผนพัฒนามีความแตกต่างกัน เช่น เมืองเจียงอิน แรกๆ ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ถึงปี 2010 จีดีพีเฉลี่ยต่อคนจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2005 นอกจากนี้ ยังเสนอให้สร้างสังคมที่ทำให้ทุกคนมีงานทำ ทุกครอบครัวมีรายได้ที่น่าพอใจ ทุกมุมเมืองมีสิ่งแวดล้อมที่ดี ทุกวันมีจิตใจเบิกบาน ทุกคนมีสุขภาพแข็งแรง
ส่วนเขตผิงกู่กรุงปักกิ่งได้วางแผนสร้างเมืองที่มีความสุข โดยจะค่อยๆ ดำเนินนโยบายให้การบริการฟรี 18 รายการ รวมทั้งการศึกษาภาคบังคับ 12 ปี อีกทั้งจะเปิดเผยบัญชีใช้จ่ายทางราชการต่อสาธารณะด้วย
มณฑลหูเป่ยได้สรุปปัจจัยที่ส่งผลต่อการประเมินความสุขให้เป็น 7 ประการ ได้แก่ สุขภาพ ฐานะทางเศรษฐกิจ ครอบครัว อาชีพ การประกันสังคม การศึกษา และสิ่งแวดล้อม
สรุปแล้วว่า ถึงแม้เมืองต่างๆ อาจแตกต่างกันในรายละเอียดของการบรรลุเป้าหมายการสร้างเมืองที่มีความสุขก็ตาม แต่ก็มีเนื้อหาหลักที่คล้ายคลึงกัน เช่น เศรษฐกิจเติบโตอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง การลงทุนเพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเพิ่มมากขึ้น สังคมมีความเสมอภาคและเสถียรภาพ ถือเป็นประเด็นที่ผู้บริหารท้องถิ่นต่างเห็นว่าเป็นสิ่งสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการสร้างเมืืองที่มีความสุข
อย่างไรก็ตาม ความสุขที่ระบุในเอกสารของรัฐบาลมิอาจเป็นตัวแทนความรู้สึกแท้จริงของคนได้ กล่าวได้ว่าสำหรับทุกคนแล้ว คำอธิบายง่ายๆ และตรงๆ ของคำว่า"ความสุข"นั้น คงหมายถึงคุณภาพชีวิต ซึ่งรวมทั้งความรู้สึกส่วนบุคคล ตลอดจนสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตและการพัฒนาของมวลชน ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถแยกเป็นประเด็นย่อยและวัดตามปริมาณและดัชนีที่กำหนดไว้ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการกำหนดนโยบายของรัฐบาล และนโยบายก็จะกลับมาส่งผลต่อดัชนีต่างๆ เช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการแบ่งความสุขไว้เป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นปัจจัยรอบตัว เช่น สุขภาพ ฐานะทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม การศึกษา วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม และอีกส่วนหนึ่งเน้นความรู้สึกของคน เช่น มนุษยสัมพันธ์ ครอบครัว ความเชื่อมั่นต่อสังคม และการประเมินคุณค่าของตัวเอง เป็นต้น
เมื่อปี 2006 นายชิว เสี่ยวหัว ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเคยกล่าวว่า ต่อไปจีนจะเพิ่มเติมดัชนีความสุขเข้าอยู่ในการรวบรวมสถิติต่างๆ แต่จนถึงทุกวันนี้ รัฐบาลกลางยังไม่เคยทำการประเมินด้านนี้ แต่พื้นที่ต่างๆ เริ่มก่อตั้งระบบประเมินความสุขของเมือง โดยค่อยๆ เพิ่มสัดส่วนของดัชนีเกี่ยวกับความสุขให้มากขึ้น เพราะแต่ก่อนจีนถือจีดีพีเป็นเครื่องวัดอย่างเดียวในการประเมินระดับการพัฒนา ต่อมารัฐบาลท้องถิ่นนับวันให้ความสำคัญกับความสุขและความพึงพอใจของประชาชน เวลากำหนดดัชนีความสุขนั้น จึงแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งประกอบด้วยรายได้ถัวเฉลี่ยของคนทำงาน รายได้สุทธิถัวเฉลี่ยของเกษตรกร และซีพีไอหรือดัชนีราคาผู้บริโภค อีกส่วนหนึ่งประกอบด้วยคุณภาพชีวิต การประเมินการพัฒนาของตนเอง สภาพทางจิต และความเสมอภาคของสังคม