ระหว่างฟอรั่มครั้งนี้ ผู้แทนที่เข้าร่วมการประชุมได้แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับประเด็นหลักต่างๆ เช่น "การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับสิทธิมนุษยชน" "การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกับสิทธิมนุษยชน" "ยุคสารสนเทศกับสิทธิมนุษยชน" นายหลัว หาวไฉ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศจีนระบุว่า การที่ฟอรั่มครั้งนี้ตั้งประเด็นหลักว่า "วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อมกับสิทธิมนุษยชน" เป็นการสอดคล้องกับความต้องการด้านการพัฒนาของมนุษย์ในปัจจุบัน
ผู้แทนที่เข้าร่วมการประชุมมีความเห็นว่า ด้วยการหารือเกี่ยวกับผลการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างกัน ได้เปิดทางใหม่ให้แก่การส่งเสริมกิจการสิทธิมนุษยชนของประเทศต่างๆ ศ.เอลิซาเบธ คาร์ดอส คาโพนี จากสถาบันวิจัยปัญหาระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยคอร์วีนัสแห่งบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี ระบุว่า
"การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเป็นความรับผิดชอบของชาติ แต่ถ้าไม่เอาใจใส่สิ่งแวดล้อม ก็จะไม่มีทางที่จะคุ้มครองได้ เราตระหนักว่า สิทธิทางสิ่งแวดล้อมเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ซึ่งรวมถึงการมีสิ่งแวดล้อมที่ดี ระดับชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี และอาหารที่เพียงพอ เป็นต้น สิทธิดังกล่าวทั้งหมดนี้มีความแนบแน่นกับศักดิ์ศรีของมนุษย์"
ฟอรั่มสิทธิมนุษยชนปักกิ่งจัดขึ้นทุกปีที่กรุงปักกิ่งตั้งแต่ปี 2008 โดยสถาบันวิจัยสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศจีนกับกองทุนการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศจีนร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงาน บุคคลที่มีชื่อเสียงด้านสิทธิมนุษยชนระดับโลกต่างมาเข้าร่วมงานอย่างจริงจังและกว้างขวาง เพื่อร่วมแลกเปลี่ยน ทำความเข้าใจ ระดมความคิดอันมีประโยชน์ และหาฉันทามติ โดยถือเอาฟอรั่มนี้เป็นเวทีและกิจกรรมสำคัญสำหรับการแลกเปลี่ยนและดำเนินความร่วมมือด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
(YIM/LING)