ถึงสิ้นเดือนปี 2012 นี้ ดิฉันจะเกษียณอายุแล้วค่ะ ในรายการครั้งที่แล้ว ดิฉันกับคุณรพีพรรณ วงษ์กรวรเวชคุยถึงเคล็ดลับในการดำรงชีวิตหลังเกษียณอายุให้มีความสุข วันนี้จะขอนำแผนการชีวิตหลังเกษียณอายุตัวเองมาคุยกันต่อคะ
ทางซีอาร์ไอเรามีสโมสรสำหรับผู้สูงอายุ โดยแบ่งแยกเป็นสมาคม15 สมาคม เช่น การเขียนพู่กัน วาดภาพ ร้องเพลง หมากรุกหมากล้อม เต้นรำ รำไทเก๊ก เล่นปิงปอง การเดินแฟชั่นโชว์ ถ่ายรูป เป็นต้น ผู้เกษียณอายุจากซีอาร์ไอเข้าเป็นสมาชิกได้ทุกคน จ่ายค่าสมาชิกเพียง 10 หยวนต่อปี เท่ากับ 50 บาทไทยต่อหนึ่งปี เหมือนเข้าฟรีค่ะ
เพราะว่า ทางการรัฐบาลและซีอาร์ไอต่างได้จัดงบโดยเฉพาะซึ่งสโมสรซีอาร์ไอมีพื้นที่จัดกิจกรรมที่กว้างใหญ่ หน้าร้อนเปิดเครื่องปรับอากาศ หน้าหนาวมีฮีตเตอร์ และแต่ละสมาคมจะเชิญครูอาจารย์มาสอนตั้งแต่ความรู้พื้นฐานจนถึงระดับสูง
การเรียนการสอนจัดการอย่างสนุกสนาน ไม่เคร่งครัด ซึ่งแต่ละวิชามีเทคนิคฝีมือไม่น้อยทีเดียว เช่น การเขียนพู่กัน การวาดภาพ หากไม่มีพื้นฐานเริ่มต้นจากศูนย์ กว่าจะได้มีผลงานสวยๆออกมาแบบไม่น่าเกลียดไม่ใช่เรื่องง่ายๆ
นอกจากมีการเรียนการสอนแล้ว สโมสรจะเน้นจัดกิจกรรมส่วนรวม เช่น ผู้ที่เข้าร่วมสมาคมร้องเพลง ร้องดีหรือไม่ดีไม่เป็นไร ขอให้มีส่วนร่วมก็เกิดประโยชน์แล้ว แต่เวลาจัดการแสดง ต้องคัดเลือกผู้ที่เข้าร่วมการแสดง
กิจกรรมของทุกสมาคม ส่วนใหญ่ไม่เน้นความรวดเร็วและว่องไว จึงเป็นที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้สูงอายุ เช่น การรำไทเก็ก เป็นการออกกำลังกายแบบอ่อนนุ่มเชื่องช้า และเป็นการฝึกออกกำลังกายมาจากภายใน และเป็นการควบคุมกระบวนการหายใจให้ช้าลง ลึกขึ้น และมีความสมดุล ดังนั้น ผู้ที่รำไทเก็ก แม้จะรำผิดรำถูกก็ได้ประโยชน์
แต่ละสมาคมจะจัดการเรียนการสอนหรือกิจกรรมประมาณสัปดาห์ละครั้ง ครั้งละ 2-3 ชั่วโมง หากรู้สึกน้อยไปก็สมัครเข้าร่วมหลายสมาคมก็ได้ นอกจากนี้สโมสรยังจะจัดการแข่งขัน การประกวดและการแสดงปีละหลายครั้งในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ วันตรุษจีน วันชาติจีน หรือเหตุการณ์ที่สำคัญ ผู้ที่ยังไม่เก่งจะเน้นความสนุกสนาน เน้นมีความก้าวหน้า แต่ผู้ที่มีฝีมือเทคนิคดีมักจะภูมิใจและมีความสุขเมื่อได้รับรางวัลหรือชนะการแข่งขัน
สโมสรแบบนี้เพื่อส่งเสริมให้ผู้ที่เกษียณอายุมีกิจกรรมสังคมกับเพื่อนฝูง เพิ่มสีสันให้ชีวิตมีความหลากหลายและมีชีวิตชีวา ทั้งๆที่ไม่ต้องทำงานแล้ว แต่ต้องศึกษาความรู้ใหม่ๆเข้าสมองเรื่อยๆ ช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อมได้ด้วย
ดิฉันตั้งใจไปสมัครอย่างน้อยสองสมาคม หนึ่งคือ เขียนพู่กัน และสองคือเล่นปิงปอง เพราะการเขียนพู่กันเขียนถึงได้อายุกว่า 90-100 ปี เป็นกิจกรรมแบบสงบ และการเล่นปิงปองเป็นกีฬาหนึ่งที่ดิฉันมีพื้นฐานซึ่งเล่นตั้งแต่เด็ก ที่สำคัญมีเพื่อนสนิทเล่นอยู่
การเขียนพู่กันจีนมีประวัติความเป็นมายาวนานคู่กับประเทศจีน ถือเป็นศิลปะขั้นสูงของชนชาติจีน การเขียนพู่กันจีนเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ไม่เพียงแต่สื่อสารความคิดของผู้เขียน ยังแสดงถึงลักษณะเส้นสายที่มีจังหวะการเขียนและองค์ประกอบของตัวหนังสือที่งดงาม บ่งบอกถึงลักษณะนิสัยของเจ้าของลายมือ และเป็นการฝึกสมาธิ ฝึกความละเอียดประณีตอย่างหนึ่งอีกด้วย
ดิฉันรู้จักคุณย่าอายุ 96 ปีท่านหนึ่ง ท่านหัดเขียนพู่กันตั้งแต่เด็ก เขียนมาหลายสิบปีแล้ว คุณย่าเคยไปใช้ชีวิตอยู่กรุงเทพฯ 15 ปี ไปอยู่กับลูกสาวซึ่งเป็นอาจารย์สอนภาษาจีนในหลายสถาบัน ในช่วงนั้น คุณย่าอายุกว่า 80 ปีแล้ว แต่สุขภาพแข็งแรง และเคยได้ถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพในการประกวดการเขียนพู่กันจีน
มีข้อมูลมากมายระบุว่า การเขียนพู่กันจีนเป็นการออกกำลังกายและใจอย่างหนึ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ เพราะสามารถฝึกสมาธิ ฝึกการหายใจ ฝึกทักษะการสังเกตและความอดทนให้ดีขึ้น ทำให้มีประสิทธิภาพสูงในการทำกิจกรรม นอกจากนี้ยังสามารถใช้การเขียนพู่กันจีนในการผ่อนคลายความเครียดได้อีกด้วย
คุณย่าย้ายกลับนครเซี่ยงไฮ้จากกรุงเทพฯเมื่อปีที่แล้ว ท่านยังเขียนพู่กันทุกวัน ดิฉันได้ไปเยี่ยมคุณย่าที่นครเซี่ยงไฮ้เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี้ และร่วมฉลองวันเกิดครบ 96 ปีของคุณย่า สุขภาพของคุณย่ายังแข็งแรง สมองและความจำดี กับข้าวกับปลาก็ทานได้เหมือนเราทุกอย่าง นอนหลับดี ช่วยเหลือตัวเองได้ ดิฉันเชื่อว่า คุณย่าจะมีอายุยืนกว่า100 ปีแน่นอน คุณย่าแนะนำประสบการณ์อายุยืนซึ่งมีข้อหนึ่งก็คือ เขียนพู่กันทุกวัน
ผลการวิจัยของผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์สรุปว่า ใน 20 อาชีพที่ทำให้อายุยืนนั้น นักเขียนพู่กันจีนอยู่อันดับแรก เพราะเวลาเขียนพู่กัน ต้องใจจดใจจ่อกับตัวหนังสือที่เขียนอยู่ โดยไม่มีความวิตกกังวล ไม่คิดผลได้ผลเสีย นักเขียนพู่กันที่มีชื่อเสียงของจีนมีอายุยืนเกือบทุกคน เช่น คุณหลิ่ว กงเฉวียน (柳公权) คุณโอวหยัง สวิ๋น (欧阳询) คุณอวี๋ ซื่อหนัน (虞世南) นักเขียนพู่กันสมัยราชวงศ์ถังที่ห่างจากปัจจุบันกว่า 1,200 ปี มีอายุยืนถึง 87 ปี 84 ปี และ80 ปี และนักเขียนพู่กันจีนในยุคปัจจุบัน ยิ่งมีอายุยืน ส่วนใหญ่มีอายุยืนกว่า 90 ปี และมีหลายคนมีอายุกว่า 100 ปี ที่สำคัญแม้ว่าพวกเขาอายุยืน แต่สมองยังแจ่มใส ยังเขียนพู่กันได้ดี
เวลาอยู่กรุงเทพฯ คุณย่าเขียนพู่กันทุกวันที่บ้าน ทำให้ลูกศิษย์ของลูกสาวบังเอิญพบเห็น พากันชื่นชมลายมือสวยและเกิดความคิดอยากหัดเขียนพู่กันกับคุณย่า คุณย่าเกรงใจว่าไม่เคยเป็นครู คงสอนไม่เป็น แต่ยินดีสอนฟรีโดยไม่รับค่าตอบแทนแต่อย่างใด จนถึงปัจจุบัน ลูกศิษย์หลายคนยังเก็บรักษาตัวหนังสือที่คุณย่าเขียนให้เป็นที่ระลึก
น่ายกย่องจริงๆ คุณย่าน่ารักมาก หากบรรดาผู้สูงอายุใช้ชีวิตเหมือนคุณย่า ลูกหลานจะภาคภูมิใจ ครอบครัวมีความสุขมีความปรองดอง สังคมก็สงบเรียบร้อย