วันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา นายเล ลงมิงห์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนามเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนอย่างเป็นทางการที่สำนักงานเลขาธิการอาเซียนในกรุงจากาตาร์ แทน ด.รสุรินทร์ พิศสุวรรณที่ครบวาระการทำงานแล้ว โดยจะทำหน้าที่เป็นเวลา 5 ปี
ช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ จีนกับประเทศสมาชิกอาเซียนบางประเทศ ซึ่งรวมทั้งเวียดนามด้วย มีความขัดแย้งในปัญหาทะเลจีนใต้ การรับตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนของนายเล ลงมิงห์ ซึ่งเป็นชาวเวียดนามจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์จีน-อาเซียนมากน้อยเพียงใดนั้นจึงกลายเป็นประเด็นที่ผู้คนทั้งหลายให้ความสนใจอย่างมาก ก่อนเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน นายเล ลงมิงห์ เคยกล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์ที่ความขัดแย้งในปัญหาทะเลจีนใต้นับวันยิ่งมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น และผันผวนแปรปรวน อาเซียนต้องพยายามให้บรรลุข้อตกลงกับจีนในการกำหนดตารางเวลาการเจรจา เพื่อกำหนดหลักการการปฏิบัติของทุกฝ่ายในทะเลจีนใต้ ซึ่งทั้งนี้จะต้องเป็นไปบนพื้นฐานแห่งการเคารพแถลงการณ์ว่าด้วยปฏิบัติการของทุกฝ่ายในทะเลจีนใต้ ในขณะเดียวกัน อาเซียนก็ต้องรักษาความเป็นกลาง และความเที่ยงธรรมอย่างที่แล้วๆ มา
สื่อมวลชนเห็นว่า ด.รสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียนเป็นชาวไทย ซึ่งประเทศไทยไม่เคยมีความขัดแย้งในปัญหาทะเลจีนใต้กับจีน ด้วยเหตุนี้ ต่อความขัดแย้งในปัญหาทะเลจีนใต้ ด.รสุรินทร์ พิศสุวรรณ จึงไม่ได้เร่งให้อาเซียนรีบแก้ไขปัญหานี้ แต่หลังจากนายเล ลงมิงห์ ชาวเวียดนามเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน สถานการณ์อาจเปลี่ยนไป ซึ่งเห็นได้จากนายเล ลงมิงห์ ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนได้หยิบยกประเด็นความขัดแย้งในปัญหาทะเลจีนใต้ขึ้นมาพูด ทั้งนี้อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์จีน- อาเซียนในระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์แสดงความเห็นว่า บทบาทสำคัญของเลขาธิการอาเซียนอยู่ที่การประสานงานภายในกลุ่มประเทศอาเซียน และไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างประเทศสมาชิก แต่ไม่มีอำนาจในการชี้ขาดหรือตัดสินการแก้ไขปัญหาที่ตกค้าง และความขัดแย้งที่มีความสลับซับซ้อน นอกจากนี้ เลขาธิการอาเซียนต้องคำนึงถึงผลประโยชน์โดยรวมของอาเซียน มากกว่าผลประโยชน์ของประเทศใดประเทศหนึ่ง ดังนั้น ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ซบเซา ประเด็นเกี่ยวกับการพิทักษ์ผลประโยชน์โดยรวม และส่งเสริมการพัฒนาของอาเซียน อีกทั้งการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไรนั้น จึงจะเป็นประเด็นที่เลขาธิการอาเซียนต้องพิจารณาอย่างเร่งด่วน ด้วยสาเหตุดังกล่าวนี้ ถึงแม้ว่านายเล ลงมิงห์ อาจเร่งให้อาเซียนอภิปรายปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ แต่จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ และผลประโยชน์ระหว่างจีน-อาเซียนโดยรวมไม่มากนัก (YIM/cai )