สำหรับความเป็นมาของเทศกาลล่าปานั้น มีเรื่องเล่าและที่มาหลายสาย ตามความเชื่อของพุทธศาสนิกชนของจีน เล่ากันว่า นี่เป็นประเพณีมาจากอินเดียโบราณเพื่อรำลึกวันตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ซึ่งตรงกับวันขึ้น 8 ค่ำเดือน 12 ในปฏิทินจันทรคติของจีน ในช่วงการบำเพ็ญทุกรกิริยา พระองค์เสวยแต่ข้าวต้มหรือโจ๊กธัญพืช ต่อมา ผู้คนจึงถือเอาวันสำคัญทางศาสนานี้เป็นวันรับประทานโจ๊กล่าปาสืบต่อมา
นอกจากการบอกเล่าความเป็นมาสายศาสนาแล้ว ยังมีนิทานพื้นบ้านกล่าวถึงที่มาของการกินโจ๊กล่าปา และเป็นนิทานที่ผู้ใหญ่นิยมบอกเล่าเพื่อสั่งสอนเด็กๆ ให้มีความประพฤติอันดีงาม ซึ่งมีเนื้อความดังต่อไปนี้
นานมาแล้ว มีเกษตรกรสองตายายอาศัยอยู่ในชนบทที่เงียบสงบแห่งหนึ่ง ทั้งคู่เป็นคนขยันขันแข็ง ทั้งสี่ฤดูไม่เคยว่างเว้นในการเพาะปลูกพืชไร่ ยุ้งฉางของพวกเขาจึงเต็มไปด้วยธัญพืชชนิดต่างๆตลอดทั้งปี นอกจากนี้ ต้นพุทราที่พวกเขาปลูกไว้ที่ลานบ้าน ก็ออกผลที่ทั้งกรอบทั้งหวานหอมเต็มต้น สามารถนำไปขายได้เงินเป็นจำนวนมาก ช่วยให้มีชีวิตอยู่อย่างสุขสบาย
สองตายายทำงานยุ่งเหนื่อยหนักตลอดทั้งปี เพื่อหวังเป็นทุนให้ลูกชายสองคนมีทรัพย์สมบัติไปขอสาวแต่งงาน จะได้มีเชื้อสายสืบทอดวงศ์ตระกูล ขณะที่สองตายายแก่ชราลงทุกวัน ลูกชายก็เริ่มเติบโตเป็นหนุ่มขึ้นเรื่อยๆ และในวันที่ตาจะสิ้นลม ก็ได้กำชับกับลูกชายว่า ต้องขยันขันแข็งทำไร่ทำนาอย่างตายาย คุณยายก็ฝากให้ดูแลต้นพุทราที่ปลูกไว้ เมื่อเก็บผลไปขายได้สตางค์ ก็ให้เก็บไว้ดีๆสำหรับแต่งงาน อย่านำไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเกิน
เมื่อสองตายายเสียชีวิตเหลือเพียงพืชพันธุ์ธัญญาหารเต็มยุ้งฉางและต้นพุทราที่ลานบ้าน พี่ชายจึงบอกแก่น้องชายว่า ตอนนี้เราสองคนมีผลิตผลมากมายจนใช้ไม่หมดแล้ว ปีนี้ไม่ต้องทำงานหรอก กินเหล้าให้สบายใจดีกว่า น้องชายได้ยินแล้วดีใจมาก พี่น้องสองคนนี้มีแต่กินๆดื่มๆตลอดทั้งปี ถึงปีที่สอง พี่ชายบอกว่า ปีนี้พุทรายังออกผลดีอยู่ ถึงไม่ทำอะไร เราก็ยังมีลูกพุทราไว้กิน น้องชายก็เห็นชอบและทำตามพี่ชายเหมือนเดิม
เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว สองพี่น้องนับวันก็ยิ่งเกียจคร้าน เอาแต่ดื่ม กิน เที่ยวเล่น ปล่อยชีวิตเสเพลไปวันๆ เพียงไม่กี่ปี พืชผลที่พ่อแม่ตรากตรำสะสมไว้ก็ถูกใช้หมด ต้นพุทราก็ออกผลสู้ปีก่อนไม่ได้แล้ว เพราะขาดการดูแลเอาใจใส่ ในคืน 8 ค่ำเดือน 12 ของปีหนึ่ง ในบ้านแทบไม่มีอะไรเหลือให้รับประทานอีกแล้ว สองพี่น้องหิวจนทนไม่ไหว จึงกวาดเอาพืชผลที่ตกค้างอยู่ในยุ้งไม่เว้นแม้แต่ตามซอกเล็กซอกน้อย ได้ข้าวเปลือก ถั่วแดง พุทราแห้ง และอื่นๆมาอย่างละนิดละหน่อย จึงนำมาต้มรวมกันเป็นโจ๊ก