จีนปริทรรศน์: ในวันแห่งความสำเร็จ
  2013-01-21 11:10:34  cri

เช้าตรู่วันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา ขณะที่ฟ้าเพิ่งสางม่านหมอกควันที่ปกคลุมกรุงปักกิ่งออกให้เห็นแสงเงินแสงทองของอรุณรุ่ง ท้องถนนยังมียวดยานแล่นไปมาไม่มากนัก คนกวาดถนนกำลังเริ่มเก็บก้นบุหรี่แรกของวันที่ทิ้งโดยหนุ่มออฟฟิศคนหนึ่งที่รีบก้าวหยับๆ เดินงุดหน้าไปยังสถานีรถไฟใต้ดินอย่างเร่งรีบ สวนกับคู่สามีภรรยาชราที่เดินเชื่องช้าอย่างเฉียดฉิวจะชนไหล่ แต่ก็ไม่วายปลายเท้าไปสะกิดเอาล้อรถลากจ่ายตลาดของยายเฒ่าจนเสียศูนย์ ไม่มีเสียงเล็ดลอดทำนองขอโทษขอโพยออกจากจากฮูตหนาของเสื้อกันหนาวที่ปกคลุมใบหน้าของหนุ่มนั้น ขณะที่หญิงชราก็ไม่ได้อินังขังขอบ เพียงทรงตัวให้รถลากพลาสติกราคา 20 หยวนนั้นใหม่และเดินต่อไป

นี่อาจเป็นฉากหนึ่งที่เกิดขึ้นประจำวันสำหรับคนตื่นเช้าหลายๆ คนในกรุงปักกิ่ง แต่กลับเป็นภาพที่ไม่ชินตาสักเท่าไรสำหรับคนตื่นสายอย่างผม ที่ยืมมองภาพเหล่านี้ผ่านแสงสลัวของยามเช้าที่หนาวเหน็บกว่าลบ 5 องศาเซลเซียสอยู่ที่ริมฟุตปาธของถนนย่าชานเมืองซึ่งเป็นที่พักอาศัยมาหลายปี

ชายชราผู้เป็นสามีเหลือบมองมาทางผมแวบหนึ่งด้วยหางตา แต่ไม่ใช่ด้วยความสนใจ เพียงเพราะภาพของผมที่ยืมหอบช่อดอกไม้พะรุงพะรังถึงสองช่อคงทำให้แกแปลกตา หรือไม่ก็สีสันของมันที่โดดเด่นออกมาจากความหม่นมัวสลัวรางของเมืองหดหู่ในหน้าหนาวและม่านหมอกพิษก็เป็นได้ที่เตะตาแก

สักพักผมได้รถแท็กซี่จริงๆ เสียที ก่อนหน้านี้ที่วิ่งมาเทียบ 2 ครั้ง ล้วนมีแต่แท็กซี่ผีไม่มีใบเสร็จ และไม่ปลอดภัยจึงไม่เลือกใช้บริการ

หลังบอกจุดหมายปลายทางว่าให้ไป "เหลียน เหอ ต้า เสวีย" หรือ "มหาวิทยาลัยเหลียนเหอ" คนขับก็แค่ขานรับคำว่ารู้จัก จากนั้นก็ไม่มีการเจราใดกันเกิดขึ้นอีก จนกระทั่งรถมาจอดนิ่งสนิทที่หน้าทางเข้า

ตอนแรกนึกว่ามาผิดงาน หรือไม่ก็ผิดที่ พอมองดูที่ป้ายก็ชัดเจนว่าเป็น "มหาวิทยาลัยเหลียนเหอ" แต่ทำไมบรรยากาศดูเงียบเชียบไม่เหมือนว่ามีงาน "รับปริญญา" เกิดขึ้นเลยสักนัด

ปกติถ้าเป็นที่เมืองไทย เวลา 7 โมงเช้าแบบนี้คนต้องแห่มากันเต็มไปหมดแล้ว ทั้งตัวผู้จบการศึกษาที่ใส่ชุดครุยเรียบกริบเดินกรุยกรายไปมา ญาติพี่น้องที่หอบหิ้วเหมารถกันมาจากต่างจังหวัด ช่างภาพที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม เพราะงานนี้รับเงินเหนาะๆ เด็กนักศึกษาที่ยังเรียนอยู่มารวมตัวกันทำกิจกรรมขายของหารายได้ และบูมเรียกเงินจากบัณฑิตหมาดๆ บรรยากาศของพื้นที่มหาวิทยาลัยก็เปี่ยมไปด้วยอารมณ์แห่งความแช่มชื่นยินดี มีซุ้มดอกไม้ประดับประดามากมายให้ถ่ายรูปวันประทับใจ มีร้านขายช่อดอกไม้ที่ไว้ซื้อมอบให้แก่กันในวันแห่งความสำเร็จ

แต่ที่นี่กลับไม่มีอะไรเลย

ทุกอย่างอยู่ในสภาพปกติ แม้กระทั่งยามหนุ่มน้อยสองคนที่ยืนมองคนและรถผ่านเข้าออกอย่างขี้เกียจก็ยังเปิดปากหาวจนไออุ่นพุ่งพวย ด้วยว่าไม่มีเหตุการณ์อะไรให้พวกเขาได้ตื่นเต้นแม้แต่สักเล็กน้อย

สุดท้ายเมื่อทนคาดเดาไปต่างๆ นานาไม่ได้แล้ว ก็เลยต้องโทรศัพท์ไปถึงรุ่นน้องที่จะรับปริญญาวันนี้เพื่อถามว่าจริงๆ แล้ววันนี้มีงานจริงๆ หรือเปล่า ถ้ามีควรเดินไปทางไหน หรือว่าเขาเตรียมสถานที่สวยงามไว้ข้างใน หรือเพราะหนาวเกินไปเลยจัดกลางแจ้งไม่ได้ ต้องไปฉลองกันในห้องประชุมหรือโรงยิมใหญ่ๆ

"ไม่ผิดที่ ไม่ผิดงาน" คือคำตอบที่ได้จากปลายสาย

เมื่อเดินขึ้นตึกมาที่ห้องประชุมแล้ว จึงค่อยเห็นบรรยากาศแห่งความชื่นมื่นที่กรุ่นๆ อยู่บ้าง เพราะบรรดานักศึกษาจบใหม่กำลังช่วยกันจัดชุดครุยให้เข้าที่ จัดองศาหมวกว่าควรเอียงเท่าไรจึงจะสวย และคนที่เรียบร้อยแล้วก็ถ่ายรูปกันเองด้วยกล้องจากโทรศัพท์มือถืออย่างเพลิดเพลิน ไม่มีญาติมิตรมหาศาล ไม่มีซุ้มดอกไม้ ไม่มีช่างภาพมืออาชีพวิ่งตามถ่ายทุกซอกทุกมุมราวกับดาราฮอลลิวูด ไม่มีเสียงบูมดังสนั่น ไม่มีอะไรที่เหมือนกับงานรับปริญญาที่เมืองไทยเลย

เรียกได้ว่า "ไม่มีพิธีรีตอง"

จะมีบ้างก็แค่คณาจารย์ขึ้นกล่าวถึง การเรียนที่ผ่านมา และบอกกล่าวถึงอนาคตที่ยังยืนรออยู่ข้างหน้า พร้อมยินดีที่ทุกคนสามารถผ่านมาจนถึงวันนี้ได้ ขอบคุณเพื่อนอาจารย์ เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย และขอบคุณนักศึกษาก็เพียงเท่านี้

ส่วนนักศึกษาที่เพิ่งเรียนจบก็จะนั่งกันเป็นระเบียบในห้องประชุม มีเสียงสนทนาเล็ดลอดออกมาบ้าง แต่ก็ดูเหมือนไม่เคร่งขรึมทรงเกียรติจนออกเครียดเหมือนเมืองไทย บางคนที่มีญาติมิตรมาร่วมแสดงความยินดี ก็สามารถเข้ามานั่งในห้องประชุมนี้ได้ด้วยในส่วนที่กันไว้

เมื่ออาจารย์คนสำคัญกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว คณะบดีก็จะเดินลงจากเวที มายืนที่หน้าทางเดินระหว่างยกพื้นกับอัฒจรรย์ที่นักศึกษานั่งอยู่ โดยหันหลังให้ ขณะที่นักศึกษาจะลุกกันมาทีละแถว ซึ่งคาดจากสายตาไม่น่าจะเกินแถวละ 10 คน ซึ่งพวกเขาจะมายืนเป็นแนวหันหลังให้เวที จากนั้นก็จะก้าวไปยืนต่อหน้าคณบดีทีละคน อาจารย์ก็จะจับมือแสดงความยินดี มอบปริญยาบัตรและวุฒิบัตรให้ จากนั้นก็จะเอื้อมมือไปย้ายเชือกติ่งบนกลางหมวกจากด้านซ้ายมาเป็นด้านขวา ทำนองเป็นสัญลักษณ์ว่านักศึกษาได้ก้าวข้ามผ่านสู่ความสำเร็จแล้ว จากนั้นคนที่รออยู่ในแถวก็จะเขยิบเข้ามายืนแทน ทำเช่นนี้ไปจนครบแถว คณบดีก็จะไปยืนตรงกลางถ่ายภาพหมู่ร่วมกันกับนักศึกษา

งานวันนี้มีราว 10 แถว ใช้เวลามอบไม่เกิน 1 ชั่วโมง ซึ่งรวมถึงการถ่ายภาพหมู่ของคณาจารย์และนักศึกษาจบใหม่ทุกคน การประกาศรายชื่อนักศึกษาที่ได้เกียรตินิยม รายชื่อนักศึกษาที่ได้รับทุนพิเศษ รายชื่ออาจารย์ขวัญใจนักศึกษา การมอบเงินพิเศษแก่นักศึกษาและอาจารย์ และเชิดชูเกียรติอาจารย์ที่ทำหน้าที่ในเทอมที่ผ่านมาได้ดี

ต่อมาทราบจากรุ่นน้องในภายหลังว่า การรับปริญญาที่นี่จะแยกกันรับ ไม่ได้เป็นพิธีใหญ่แบบทุกคณะมารวมกัน และงานในวันนี้ก็เฉพาะเอกสอนภาษาจีนเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาไทยมหาวิทยาลัยบูรพา เอกภาษาจีน ที่มาแลกเปลี่ยน 2 ปี รวมถึงนักศึกษาไทยที่มาเรียนเอง นักศึกษาต่างชาติและจีนเองก็มีเล็กน้อย

 

นอกจากนี้ก็มีหลายคนที่เรียนจบ แล้วไปขอใบรับรองเสร็จแล้วก็บินกลับบ้านเกิดเมืองนอน โดยไม่ใส่ใจรอร่วมพิธีนี้ก็มีมากเช่นกัน

และเมื่อเสร็จพิธีในห้องประชุมแล้ว ทุกคนก็จะแยกย้ายกันไปบันทึกภาพประทับใจกับมุมต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ซึ่งก็ทำไม่ได้นานมากนัก เพราะอากาศยังเย็นอยู่มาก แม้จะเป็นเวลาสายแล้วก็ตาม อีกทั้งชุดครุยที่ใส่กันอยู่ก็บางเบาเหมาะจะแลกกับชุดที่เมืองไทยที่หนาและหนักไม่เข้ากับอากาศที่นั่นสักเท่าไร

"ที่เมืองจีน ไปเช่าชุดครุยกันที่ไหน มีย่านแบบท่าพระจันทร์เมืองไทยไหม"

"โอ๊ย ไม่หรอกค่ะ พวกเราซื้อจากเถาเป่า(ร้านค้าออนไลน์) กันทั้งนั้น"

"งี้ก็แพงแย่ดิ"

"ถูกมากต่างหาก แค่ 150 หยวนเอง"

นี่คือบทสนทนาที่ทำให้รู้ว่าชุดครุยพร้อมหมวกนี้ราคาตกเป็นเงินไทยแล้วแค่ราว 750 บาทเท่านั้นเอง แถมยังเอากลับไปดูต่างหน้าที่บ้านได้ตลอดชีวิต ไม่เหมือนแบบวิถีนิยมที่เมืองไทยที่ราคาค่าเช่าสูงลิบลิ่ว แถมเอากลับบ้านก็ไม่ได้ ทำขาด ทำแหว่งก็ต้องเสียค่าปรับ แถมก่อนหน้าไม่รู้ใครมาก่อนแล้วบ้าง ซึ่งเป็นธุรกิจที่ผูกขาด และมีการเชื่อมโยงกับระเบียบของมหาวิทยาลัยที่เอื้อให้ด้วย บัณฑิตไทยจึงไม่มีทางเลือก จำต้องเช่าชุดครุยเก่าๆ มาใส่ ถ้าไม่มีเงินตัดเก็บไว้ที่บ้านเอง

สังเกตดูแล้ว เหมือนกับว่า ที่นี่ไม่ได้ให้ค่ากับพิธีรีตองที่มากมาย เรียนจบก็คือเรียนจบ เรียนจบแล้วก็ต้องออกไปพบเจอชีวิตจริงนอกมหาวิทยาลัย ซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายมากมายรออยู่เบื้องหน้า ไม่มีความจำเป็นที่ต้องเอาเงินเยอะแยะมาละลายไปกับพิธีกรรมนี้ เพราะกว่าจะจบมาได้ก็ต้องเสียค่าหน่วยกิตไปมากแล้ว

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาดูดีๆ แล้วจะได้ถึง การไม่ได้ยกย่องว่าการศึกษาคือความศักดิ์สิทธิ์วิเศษวิโสแต่อย่างใด ซึ่งก็แปลก เพราะสังคมจีนเองก็คล้ายกับไทย ที่การศึกษาสมัยก่อนกันไว้ให้เฉพาะชนชั้นเจ้านาย คนชั้นล่างไม่มีสิทธิ์มีความรู้ เพราะจะให้เกิดปัญหาในการปกครอง แต่พอโลกเปลี่ยนยุค การศึกษาเริ่มเป็นของทุกคน และใครๆ ก็มีสิทธิ์เข้าถึงการศึกษาแล้ว จีนได้หลุดพ้นกรอบนี้ได้อย่างน่าคิด เช่นพิธีรีองตองเล็กๆ น้อยๆ ในวันจบการศึกษาที่เพิ่งได้เห็นมา ขณะที่เมืองไทยยังไม่หลุดจากรอบเดิมที่ว่าจากศึกษาในระดับอุดมศึกษายังเป็นวุฒิที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นหนึ่งในบันไดการก้าวขึ้นสู่สังคมชั้นสูง โดยเฉพาะในอุดมคติของคนชั้นล่าง ดังนั้นพิธีการจึงสำคัญมาก และให้ค่ามากด้วย ญาติพี่น้องที่ขายนาส่งเสียมา ก็หวังจะได้เชิดหน้าชูตา และลืมตาอ้าปากในอนาคต โดยลืมไปว่าเสร็จพิธีนี้แล้ว เดินออกไปนอกรั้วมหาวิทยาลัยอาจจะต้องตกงานเตะฝุ่นกันอีกนาน

ดังนั้น มองๆ ดูแล้ว การฉลองแต่พอเป็นพิธีแบบนี้ มีทั้งความหมายและให้ความคิดเรื่องการวางเฉย ขณะที่วางแผนเพื่อเดินออกไปเผชิญกับชีวิตที่แท้จริงเบื้องนอก ที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงและการแข็งขันในยุคสมัยนี้ได้ดียิ่งกว่า

(พัลลภ สามสี)

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040