การปราบปรามการทุจริตอย่างมีประสิทธิผล ต้องยึดระบบเป็นอันดับแรก
  2013-03-12 13:34:49  cri
ระหว่างการประชุมประจำปีขององค์กรอำนาจรัฐและองค์กรปรึกษาการเมืองสูงสุดของจีน หรือ "การประชุมสองสภาฯ" ณ กรุงปักกิ่ง ผลการสำรวจประเด็นร้อน "การประชุมสองสภาฯ" ซึ่งจัดทำโดยสื่อมวลชน ปรากฏว่า ประเด็นการปราบปรามการทุจริตและส่งเสริมความซื่อสัตย์สุจริตติดอันดับต้นๆ ประเด็นร้อนที่ประชาชนสนใจมากติดต่อกันมาหลายปี

สำหรับประเด็นนี้ นายหลี่ ปิน ข้าราชการระดับผู้ว่าการมณฑล สมาชิกสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติมีข้อเสนอว่า หัวใจสำคัญในการถ่วงดุลอำนาจ คือ บริหารเงินทุน ทรัพยากร และสินทรัพย์สาธารณะให้ดี โดยให้ดำเนินการตามข้อกำหนดของระบอบและกฎหมาย เขาระบุว่า

"อำนาจการปกครองรวมศูนย์อยู่ที่เงินทุน ทรัพยากร และสินทรัพย์สาธารณะ รวมกัน 3 ด้าน ซึ่งมักจะเกิดปัญหามากที่สุดระหว่างการกระจาย การบริหาร การดำเนินการ การกำกับดูแล และการค้าขาย ด้วยเหตุนี้ สำหรับการปรับเปลี่ยนอำนาจหน้าที่ของรัฐนั้น จึงควรเพิ่มการถ่วงดุลอำนาจใน 3 ด้านดังกล่าวให้เข้มแข็งขึ้น รวมถึงการสร้างระบบที่เกี่ยวข้อง โดยอันดับแรก ต้องทำการสำรวจเงินทุน ทรัพยากร และสินทรัพย์สาธารณะให้แน่ชัดทุกด้าน เพื่อปูทางไปสู่การค้าขายอย่างเป็นระบบระเบียบ"

นายกาน อี่เซิ่ง สมาชิกสภาปรึกษาการเมืองประชาชน ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมาธิการตรวจสอบวินัยแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีข้อเสนอว่า ควรนำการสร้างระบบการปราบปรามการทุจริตและส่งเสริมความซื่อสัตย์สุจริตกับการปฏิรูประบบการปกครองมาหลอมรวมเข้าด้วยกันอย่างแนบแน่น ทำการจัดสรร ถ่วงดุล และตรวจสอบอำนาจด้วยระบบ เขามีข้อเสนออีกว่า การปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นของข้าราชการไม่ควรพึ่งพาวินัยของพรรคฯ ทางเดียว หากควรเพิ่มกระบวนการนิติบัญญัติที่เกี่ยวข้องมากขึ้น เขาระบุว่า

"การสร้างและปรับระบบ ซึ่งเปรียบเสมือนกรง ให้สมบูรณ์ขึ้นนั้น นอกจากต้องสืบสานประสบการณ์ส่วนที่ดีในช่วงที่ผ่านมา พร้อมกันนี้ยังจะต้องเรียนรู้วิธีการดีๆ บางอย่างของโลกด้วย เพื่อสร้างระบบที่สอดคล้องกับสภาพที่เป็นจริงของจีนและใช้ได้ผลจริงขึ้น เวลานี้ในต่างประเทศ ข้อกำหนดเกี่ยวกับการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์โดยทั่วไปล้วนเป็นข้อกำหนดโดยนิติบัญญัติของรัฐ พนักงานของรัฐในฐานะพลเมืองทั่วๆ ไปก็มีสิทธิบางอย่าง แต่ในฐานะข้าราชการกลับมีอภิสิทธิ์พิเศษกว่า ซึ่งในประเทศจีนควบคุมโดยวินัยของพรรคฯ จากนี้ไปยังต้องปรับขึ้นสู่ระดับกฎหมาย แก้ไขด้วยกระบวนการนิติบัญญัติของรัฐ"

นายก่ง ฟู่เหวิน สมาชิกสภาปรึกษาการเมืองประชาชน ผู้ซึ่งศึกษานิติศาสตร์มาเป็นเวลานานปีระบุว่า เวลานี้จีนต้องเพิ่มกระบวนการนิติบัญญัติด้านการป้องกัน การลงโทษ และการตรวจสอบการทุจริตให้เข้มงวดกวดขันมากขึ้น เพื่อปราบปรามอย่างมีประสิทธิผลจากแง่ของกฎหมาย

นายเหริน หลางเซิ่ง รองประธานคณะกรรมาธิการงานระบอบกฎหมายแห่งคณะกรรมการประจำสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีนระบุว่า ระยะ 5 ปีข้างหน้า สภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจะมุ่งปรับกระบวนการนิติบัญญัติว่าด้วยการปราบปรามการทุจริตให้ดีขึ้น เพื่อสร้างระบบการลงโทษและการป้องกันการทุจริตที่แท้จริงขึ้น

(YIM/LING)

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040