นานาทัศนะกับการประชุมสองสภา 2556: รศ.ดร. อักษรศรี พานิชสาส์น
  2013-03-15 19:01:20  cri

12.03.2013

บทสัมภาษณ์รศ.ดร. อักษรศรี พานิชสาส์น: อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, กรรมการที่ปรึกษาศูนย์ยุทธศาสตร์ไทย-จีน สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติและนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้เดินทางไปเยือนประเทศจีน 31 มณฑล

ผู้สื่อข่าว: อยากสัมภาษณ์มุมมองของท่านต่อการประชุมสองสภาของจีน โดยเฉพาะประเด็นการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในการบริหารและพัฒนาของประเทศจีน

รศ.ดร.อักษรศรี: ก่อนอื่นดิฉันต้องขอแสดงความยินดีกับพี่น้องชาวจีนทุกท่านสำหรับผู้บริหารชุดใหม่ที่จะขึ้นมา ถือว่าเป็นผู้บริหารที่ผ่านการคัดเลือกแล้ว วิธีการแบบจีนอาจจะไม่ใช่เลือกตั้งและไปหย่อนบัตรแบบหลายประเทศ แต่วิธีการของจีนในการคัดเลือกที่จะได้ผู้นำชุดนี้มาก็ไม่ธรรมดา และแต่ละท่านที่ดิฉันติดตามประวัติก็ถือว่าเป็นมือดีระดับประเทศของจีน ทั้งท่านสีจิ้นผิงและท่านหลี่เค่อเฉียง โดยเฉพาะท่านหลี่เค่อเฉียง ว่าที่นายกรัฐมนตรี ในแง่ของดิฉันด้านเศรษฐศาสตร์ เท่าที่ตามท่าน ท่านเป็นมือดีทางด้านเศรษฐกิจของประเทศจีน ปริญญาตรี โท เอกก็เป็นด็อกเตอร์ทางด้านเศรษฐศาสตร์เพราะฉะนั้นก็ยิ่งเพิ่มความมั่นใจว่าต่อไปจากนี้เศรษฐกิจจีนก็คงไม่เกินจริงที่จะผงาดขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งของโลกในเร็ววัน ก็ถือว่าเป็นเรื่องดี และในเรื่องของพื้นฐานการศึกษา บุคลิก ประวัติการทำงานของคณะรัฐบาลจีนชุดนี้ก็ถือว่าเหมาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศจีนในสถานการณ์ปัจจุบัน

ผู้สื่อข่าว: สำหรับการเปลี่ยนแปลงผู้นำจีนในครั้งนี้ คิดว่าจะมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ไทย-จีนอย่างไรบ้าง

รศ.ดร.อักษรศรี: ก็น่าจะเป็นในทางบวก โดยเฉพาะท่านสีจิ้นผิง ท่านก็เคยมาเยือนเมืองไทยตั้งแต่สมัยที่ท่านเป็นรองประธานาธิบดี ส่วนท่านว่าที่นายกหลี่เค่อเฉียงถึงแม้จะไม่เคยมาแต่คิดว่าท่านก็รู้จักและคุ้นกับไทยและความเป็นอาเซียน คิดว่าเป็นนิมิตรหมายอันดีที่จะร่วมมือกัน และที่สำคัญพื้นฐานของความสัมพันธ์ไทย-จีนนั้นเรามีรากที่พูดว่าเป็นแต้มต่อก็ได้ คือเราไม่มีเรื่องบาดหมางหรือขัดแย้งกับประเทศจีนโดยตรง เรากลับจะมีประเด็นที่เราจะเสริมกันและกันได้ อย่างเช่น ง่ายๆเลยเรื่องของอนาคตประเทศจีน แผนพัฒนาเศรษฐกิจของจีนฉบับนี้ก็จะเดินหน้าในเรื่องของการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การพัฒนาพลังงานทางเลือก ประเทศไทยเราก็มีพืชพลังงาน มีมันสำปะหลัง และมีโอกาสจะส่งออกไปจีน จีนก็นำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศไทยก็อาจจะนำไปพัฒนาไปไม่ใช่แค่เป็นต้นน้ำเหมือนอุตสาหกรรมในอดีต แต่อาจจะเอาไปพัฒนาทำสิ่งที่เรียกว่าไบโอพลาสติก (พลาสติกชีวภาพ) อย่างนี้เป็นต้น ก็จะทำให้สิ่งที่จีนจะเดินหน้าไปในอนาคตกับสิ่งที่ไทยมีเราสามารถเสริมกันและกันได้ ก็ถือว่าเป็นโอกาสอันดี

ผู้สื่อข่าว: สำหรับในการประชุมครั้งนี้ซึ่งได้กล่าวถึงหลายหัวข้อด้วยกัน ท่านมีประเด็นไหนที่สนใจติดตามเป็นพิเศษไหมอย่างไร

รศ.ดร.อักษรศรี: น่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของประเทศจีนในแง่ที่ว่าจะลดการพึ่งพาภายนอก คือแทนที่เศรษฐกิจจีนจะไปพึ่งกับการส่งออก การค้า การลงทุนจากต่างประเทศ ก็จะชัดเจนว่าจีนจะหันมาเน้น Domestic Consumption คือการบริโภคในประเทศมากขึ้นเพื่อที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งอันนี้ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างจะชัดเจน และที่สำคัญผู้นำจีนไม่ได้คิดจะโตวันโตคืนเหมือนสมัยก่อนแล้ว ที่โตแบบตัวเลขสองหลัก ซึ่งเขาก็พูดชัดเจนว่าโตแค่ 7.5% ไม่ได้เน้นการเติบโตเชิงปริมาณแต่เน้นเชิงคุณภาพ โตไปและดูแลสิ่งแวดล้อมไป โตไปและดูแลคุณภาพชีวิตไป ก็เป็นทิศทางที่น่าจะเป็นข่าวดีหรือเป็นเรื่องที่น่าพึงปรารถนา เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน

ผู้สื่อข่าว: โดยปกติแล้วท่านติดตามข่าวประชุมสองสภาหรือติดตามข่าวความเคลื่อนไหวของจีนจากสื่อใดบ้าง

รศ.ดร.อักษรศรี: มีทั้งสื่อจีนโดยตรง อันนี้สำคัญมาก แต่ก็ขอเรียนด้วยความเคารพว่าก็จะแห้งๆ หรืออาจจะเป็นสื่อของรัฐก็จะมีแต่ภาพและข้อเท็จจริง และยังตามสื่อทางตะวันตกด้วย อย่างตอนหลังก็ค่อนข้างจะตามสื่อในฮ่องกง เช่นเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ ก็จะมีมิติของความเห็น ไม่ใช่แค่ว่าตอนนี้ประชุม NPC จะมีคนมาประชุมกี่คนแค่นั้น สื่อตะวันตกก็จะมีการวิเคราะห์ด้วย สื่อไทยก็น่าสนใจ ดิฉันตื่นเช้ามาสื่อแรกที่บริโภคทั้งหลายทั้งปวงก็จะเป็นข่าวเกี่ยวกับประเทศจีน ดิฉันก็ติดตามเรื่องเมืองจีนมานานแล้วตั้งแต่ปีพ.ศ. 2535 ก็ติดตามการเคลื่อนไหวของจีนทุกวัน คือจีนเปลี่ยนเร็วถ้าดิฉันหยุดตามเรื่องจีนแค่สัปดาห์เดียวก็ไม่ทันแล้ว การเปลี่ยนแปลงไปไวมาก

ผู้สื่อข่าว: สำหรับคนที่เพิ่งจะเริ่มติดตาม ถ้าหากยังไม่คุ้นกับภาษาจีนหรือยังไม่คล่องกับภาษาอังกฤษ อยากจะแนะนำสื่อใดบ้างคะ

รศ.ดร.อักษรศรี: ตอนนี้ต้องเรียนว่าสื่อไทยหลายๆค่าย ไม่ว่าจะเป็น ผู้จัดการ, กรุงเทพธุรกิจ, โพสต์ทูเดย์ ฯลฯก็หันมาจับข่าวจีนมากขึ้นติดตามความเคลื่อนไหวจีนมากขึ้น อีกสื่อหนึ่งที่ตอนนี้ค่อนข้างสนับสนุนและคิดว่าจะต้องให้กำลังใจให้พยายามมากขึ้นคือของซีอาร์ไอซึ่งเป็นสื่อจีนโดยตรง ก็เป็นโอกาสดีที่ได้มีการทำซีอาร์ไอภาคภาษาไทย นำเสนอข้อมูลข่าวสารเป็นภาษาไทย ทราบว่ามีคลื่นวิทยุและบางส่วนก็ถ่ายทอดเสียงโดยตรงมาจากปักกิ่ง ถือว่าเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สะดวกมาก

ผู้สื่อข่าว: ท่านมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการนำเสนอข่าวของสื่อไทยอย่างไรบ้าง

รศ.ดร.อักษรศรี: สิ่งที่สำคัญเลยคือการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับประเทศจีนที่ถูกต้องเพราะหลายๆอย่างของประเทศจีนจะมีลักษณะเฉพาะ จะไม่เหมือนประเทศตะวันตก อย่างเช่นระบบการปกครองของจีน กระทรวงหรือหน่วยงานของจีนต่างๆ สื่อไทยต้องทำการบ้านมากกว่านี้ อย่างวิธีการเรียกคณะผู้นำจีน ระบบพรรคคอมมิวนิสต์เป็นอย่างไร การประชุมสองสภาต่างกับการประชุมรัฐสภาของประเทศไทยอย่างไร มีนัยยะสำคัญอะไร เหล่านี้ก็ต้องทำการบ้าน ดิฉันเองเรียนโดยส่วนตัวก็ดีใจที่มีสมาคมผู้สื่อข่าวเค้าจัดอบรมเกี่ยวกับประเทศจีน ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับประเทศจีน ดิฉันก็ได้รับเกียรติเชิญให้เป็นวิทยากร ก็พยายามที่จะให้สื่อมวลชนไทยได้ทราบและเห็นโครงสร้างการปกครองและระบบเศรษฐกิจของประเทศจีนซึ่งมีลักษณะเฉพาะมากๆ ก็โดดเด่นและมีความเป็นพิเศษไม่เหมือนใคร เขาก็ได้เรียนรู้เพื่อที่จะนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องให้คนไทยได้รับรู้รับทราบ

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040