เก่าเล่าไป ใหม่บอกมา:รถไฟใต้ดินกรุงปักกิ่ง (2)
  2013-03-19 11:48:01  cri

เมื่อประชาชนใช้บริการรถไฟใต้ดินกรุงปักกิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ทำอย่างไรจึงจะรับประกันเรื่องความปลอดภัยในการเดินทางให้กับผู้โดยสารนับ 10 ล้านคนในแต่ละวันได้จึงเป็นสิ่งที่ประชาชนสนใจ และแน่นอนบรรดาเจ้าพนักงานชาวรถไฟใต้ดินปักกิ่งต่างให้ความสำคัญ และทุ่มเทกำลังกายใจอย่างเต็มที่ในการพัฒนาระบบและบริการให้ดีพร้อมสมบูรณ์ขึ้น เพื่อให้ผู้โดยสารทุกคนสามารถเดินทางถึงจุดหมายปลายได้อย่างปลอดภัย

โดยในด้านการตรวจสอบและบำรุงรักษา กรุงปักกิ่งมีขบวนรถไฟใต้ดินให้บริการรวมกว่า 3,360 ขบวน ทั้งหมดเป็นรถระบบกระแสไฟฟ้าสลับ ซึ่งมีกลุ่มคนที่ได้ชื่อว่าเป็นหมอรักษารถ หรือก็คือเจ้าหน้าที่ช่างนับพันคน ที่จะออกปฏิบัติหน้าที่ดูแลตรวจเช็คสภาพความพร้อมของขบวนรถในตอนกลางดึก และไปเสร็จสิ้นในตอนเช้ามืดของทุกวัน ซึ่งนอกจากการตรวจรายวันแล้ว ยังมีการตรวจรายสัปดาห์ รายเดือนและอื่นๆ อีก โดยในช่วงเช้ามืดราวตี 4 พนักงานขับรถจะทำการ "ลองรถ" โดยพนักงานตรวจบำรุงก็จะคอย "ขนาบข้าง" อยู่ด้วยตลอด เพื่อดูว่ามีการทำงานผิดปกติอย่างใดหรือไม่

ในด้านเทคนิค รถไฟใต้ดินกรุงปักกิ่งในปัจจุบันทั้งหมด 16 สาย นอกจากสาย 5 สาย 13 และสายปาทงแล้ว ที่เหลือได้ใช้ระบบ CBTC ควบคุมการเดินรถโดยอัตโนมัติผ่านโครงข่ายสื่อสารไร้สาย โดยตามมาตรฐานสากลแล้ว ทุกระยะทาง 300 กิโลเมตร เกิดความล่าช้า 1 ครั้งภายในเวลาไม่เกิน 5 นาที จัดว่าอยู่อันดับแนวหน้าในระดับสากลแล้ว หรืออาจกล่าวได้ว่า เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว อัตราความขัดข้องของระบบสัญญาณรถไฟใต้ดินกรุงปักกิ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำ

นอกจากนี้ยังได้พัฒนาในเรื่องการย่นระยะเวลาห่างของรถไฟแต่ละขบวนด้วย โดยสายปาทงจากเดิมห่างกันขบวนละ 5 นาที ปัจจุบันเหลือเพียง 2 นาที 50 วินาที หรือสาย 1 จากเดิม 3 นาที ก็เหลือเพียง 2 นาที 5 วินาที และปัจจุบันกำลังพัฒนาระบบในส่วนของสาย 5 ให้สามารถเหลือเพียง 2 นาที และเพื่อตอบสนองในเรื่องความรวดเร็ว ตัวรถจึงทำจาสแตนเลส ที่มีน้ำหนักเบาและช่วยประหยัดพลังงาน รวมถึงได้มีการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับแบบไดนามิกบนตัวรถด้วย หากขบวนรถมีรอยแตกชำรุด ก็จะสามารถแจ้งเตือนให้รู้ได้ล่วงหน้า ช่วยป้องกันการเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้

บริษัทบริหารงานการรถไฟใต้ดินกรุงปักกิ่งให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันปัญหาความขัดข้องที่เกิดกับขบวนรถ ร้อยละ 50 เกิดจากความขัดข้องของประตูรถ หลักๆ แล้ว คือ ผู้โดยสารกระแทกหรือเบียดกับประตูรถ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ขึ้น พนักงานควบคุมรถต้องเปิดประตูแล้วพยายามปิดใหม่อีกครั้ง ทำให้ต้องเสียเวลาไปอย่างน้อย 5-10 วินาที เมื่อรถขบวนหน้ายังไม่ออกจากสถานี ขบวนหลังที่ตามมาก็ไม่สามารถเคลื่อนออกตัวได้ ทำให้เวลาที่ล่าช้านั้นทบซ้อนขึ้นไป เกิดความล่าช้าในการเดินทางตลอดทั้งสายนั่นเอง

และแม้ว่าการเปิดเส้นทางใหม่ทำให้จำนวนผู้โดยสารรถไฟใต้ดินกรุงปักกิ่งเพิ่มขึ้นจนสร้างสถิติใหม่อย่างที่กล่าวถึง แต่ผู้โดยสารหลายคนกลับรู้สึกว่าความเบียดเสียดนั้นลดน้อยลง อาทิ สาวแซ่จาง ที่อาศัยอยู่เขตทงโจว ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงปักกิ่งว่า "รู้สึกว่าตอนนี้นั่งสาย 1 กับสายปาทงไม่แน่นเหมือนแต่ก่อนแล้ว แต่ก่อนมาเปลี่ยนขึ้นสาย 1 ที่สถานีกั๋วเม่าทีไร เป็นต้องตกอยู่ในสภาพเหมือนกับถูกดันลอยเข้าไปทุกที แต่เดี๋ยวนี้กลับไม่เป็นอย่างนั้นแล้ว"

จั้นหมิงฮุย ผู้อำนวยการศูนย์บัญชาการคมนาคมขนส่งรถไฟใต้ดินกรุงปักกิ่ง ชี้แจงว่าเป็นผลพวงจากการเปิดเส้นทางใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาอีกเช่นกัน เพราะผู้โดยสารได้กระจายกันไปไม่ต้องมารวมกระจุกผ่านเส้นทางเก่าเหมือนเดิม ทำให้แรงกดกันในเส้นทางเก่าได้รับการผ่อนคลายลง ซึ่งในส่วนของความปลอดภัยสำหรับผู้โดยสารนั้น ก็ได้มีการติดตั้งกล้องจำนวนมากคอยตรวจจับดูแลความเรียบร้อยด้วย

ดังนั้น หากดูจากเมืองใหญ่ต่างๆ อาทิ ลอนดอน ปารีส นิวยอร์ก โตเกียว มอสโก เมื่อเมืองเหล่านั้นได้พัฒนาถึงระดับหนึ่งแล้ว ความสมบูรณ์ของระบบเครือข่ายรถไฟใต้ดินที่เชื่อมโยง ย่อมนำมาซึ่งการให้บริการขนส่งผู้โดยสารจำนวนมากมายมหาศาล ที่มากกว่าการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งปัจจุบันการขนส่งรถไฟใต้ดินของกรุงปักกิ่งก็กำลังมุ่งไปในทิศทางนี้ และเชื่อได้แน่ว่าปริมาณการขนส่งรถไฟใต้ดินกรุงปักกิ่งโดยเฉลี่ยต่อวัน จะสูงกว่าการขนส่งด้วยรถโดยสารสาธารณะได้ในอนาคตอันใกล้นี้

เก่าเล่าไปใหม่บอกมา โดย วังฟ้า 羅勇府

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040