ก้าวสำคัญที่ต้องจับตาพัฒนาการด้านอวกาศและการบินของจีน ตอนที่ 2
  2013-07-16 14:12:44  cri
จีนได้เริ่มต้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงการอวกาศตั้งแต่ปี 2546 (2003) มีการทดลองหลายรูปแบบ ล่าสุดระหว่างวันที่ 11-26 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา จีนก็ประสบความสำคัญครั้งสำคัญ ในการส่งยานอวกาศเสิ่นโจว-10 พร้อมนักบินอวกาศ 3 คน ขึ้นสู่ห้วงอวกาศพร้อมทดลองเชื่อมต่อยานอวกาศ กับสถานีปฏิบัติการเทียนกง-1 ได้สำเร็จ ทั้งด้วยการเชื่อมต่ออัตโนมัติและการควบคุมด้วยมนุษย์

นอกจากนี้ยังทดลองทางวิทยาศาสตร์และฟิสิกส์อีกหลายเรื่องบนสภาวะไร้น้ำหนัก อีกทั้งได้ถ่ายทอดสดการเรียนการสอนทางไกลครั้งแรกกลับมายังพื้นโลกให้กับนักเรียนกว่า 330 คนในห้องประชุมที่โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่งได้ร่วมซักถาม ตอบคำถาม และถ่ายทอดสดการเรียนดังกล่าวทางสถานีโทรทัศน์ CCTV ไปทั่วประเทศ และทั่วโลก

ความสำเร็จครั้งนี้ เป็นการยืนยันความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์การบินและอวกาศของจีนอย่างมีนัยสำคัญ สิ่งที่ต้องจับตามองอย่างมากนั่นคือ แม้จีนจะพัฒนาตามหลังสหรัฐและรัสเซีย ซึ่งเริ่มทดลองการเชื่อมต่อยานอวกาศไปแล้วตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1960 และขณะนี้ก็มีสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station: ISS) ซึ่งเป็นความร่วมมือของหลายประเทศ แต่ถือว่าจีนมีพัฒนาการที่ก้าวหน้า โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะมีสถานีอวกาศเป็นของตนเอง นักบินอวกาศสามารถอยู่อาศัยได้นานหลายเดือน ซึ่งจีนคาดหมายว่าจะทำให้สำเร็จให้ได้ภายในปี 2563

หากย้อนมองพัฒนาการด้านอวกาศของโลกจะพบว่า มีบันทึกในประวัติศาสตร์โลกครั้งแรกว่าประมาณปี ค.ศ.1232 ในยุคราชวงศ์ จิน กลุ่ม Chin Tartars ซึ่งเป็นชนเผ่าเร่ร่อนในภาคเหนือของจีน เป็นผู้คิดค้นจรวดเพื่อใช้ป้องกันเมืองจากการรุกรานของชาวมองโกล โดยภาพเขียนที่ถูกบันทึกไว้อธิบายข้อมูลเกี่ยวกับการยิงจรวดและอาวุธที่ติดไปด้วยเพื่อทำลายศัตรู

ภาพเขียนกำลังจุดจรวด / และภาพระเบิดที่บรรจุติดไปกับจรวดด้วย

หลังจากนั้น ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 อังกฤษซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านปืนใหญ่ ได้พัฒนาจรวดโดยใช้โมเดลพื้นฐานของอินเดีย ซึ่งใช้ดินปืน ดังนั้นจะพบว่า พัฒนาการของจรวดยุคแรก ไม่ได้เป็นเทคโนโลยีสู่อวกาศ แต่เน้นเพื่อเป้าหมายทางการทหารเป็นสำคัญ

ต่อมา รัสเซีย ก็ได้พัฒนาบุกเบิกการคิดค้นและพัฒนาจรวดเพื่อใช้ขนส่งในอวกาศ และมีพัฒนาการหลังจากนั้นอย่างต่อเนื่อง จนสามารถส่งดาวเทียมSputnik ซึ่งเป็นดาวเทียมดวงแรกของโลกขึ้นสู่อวกาศเป็นผลสำเร็จ

นอกจากนี้กลุ่มประเทศต่างๆก็เริ่มหันมาให้ความสำคัญเรื่องการสำรวจอวกาศเช่นกัน เช่น สหรัฐ เยอรมัน แคนาดา ญี่ปุ่น มีการทดลองหลายรูปแบบ รวมทั้งความพยายามในการส่งสิ่งมีชีวิต สัตว์ต่างๆ ขึ้นไปด้วย อาทิ สุนัข และลิง เป็นต้น

รัสเซียกับสหรัฐ จัดว่าเป็นคู่แข่งกันมาโดยตลอดในการพัฒนาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและอวกาศ จนกระทั่งต่อมา สหรัฐพัฒนาและสามารถจัดตั้งองค์กรอวกาศแห่งชาติได้ในปี 1958 ที่รู้จักในชื่อ NASA (Tha National Aeronautices and Space Administration)

ซึ่งต่อมาสหรัฐก็ได้พัฒนาจนกระทั่งสามารถส่งดาวเทียมที่ใช้ในการสื่อสารดวงแรกขึ้นสู่อวกาศ นั่นคือ Telstar ในปี 1962 จากนั้น ก็มีโครงการที่โด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกนั่นคือ โครงการ อพอลโล (Apollo) โดย Apollo 11 นำนักบินอวกาศไปเหยียบดวงจันทร์ได้สำเร็จเป็นครั้งแรก ในปี 1969 (แม้ว่าจะเกิดโศกนาฎกรรมครั้งใหญ่กับ Apollo 13 ที่เกิดเหตุระเบิดระหว่างทางจากถังออกซิเจนรั่ว ก็ตาม)

นานาชาติ ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและค้นคว้าอวกาศเพิ่มขึ้น แต่ได้เปลี่ยนรูปแบบจากต่างคนต่างพัฒนาก็จะเริ่มมาให้ความร่วมมือและทำงานร่วมกันมากขึ้น โดยเฉพาะด้านงานวิจัยค้นคว้าเนื่องจากต้องใช้เงินทุนและงบประมาณจำนวนมหาศาล ดังนั้น ในเวลาต่อมาจึงมีการสร้างห้องทดลองในอวกาศ เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์ได้ปฏิบัติการนอกโลกได้เป็นระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น จนกระทั่งเกิดสถานีอวกาศนานาชาติขึ้น (International Space Station :ISS) โดยเป็นความร่วมมือของหน่วยงานด้านอวกาศจากชาติต่างๆ 5 กลุ่มคือ ประเทศ สหรัฐ รัสเซีย แคนาดา ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป เพื่อใช้เป็นห้องทดลองวิจัยอย่างถาวรในอวกาศ

ประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญและพยายามพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้ง อินเดียและกลุ่มประเทศในโลกตะวันออกกลาง เช่น อิหร่าน ที่ล่าสุดประกาศไว้ว่ามีแผนจะส่งมนุษย์อวกาศคนแรกขึ้นสู่ห้วงอวกาศให้ได้ในปีเดียวกันกับจีนจะสร้างสถานีอวกาศคือ 2020 เช่นกัน หลังจากประสบความสำเร็จในการทดลองส่งลิงไปท่องอวกาศแล้วเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา สำนักงานการบินอวกาศแห่งชาติจีนและองค์การความร่วมมือทางอวกาศเอเชียแปซิฟิก (APSCO) ได้ลงนามเกี่ยวกับความร่วมมือด้านข้อมูลตัวเลขการตรวจวัดพื้นผิวโลก ซึ่งหมายความว่า จากนี้ไป จีนจะให้ความร่วมมือให้ข้อมูลต่างๆ กับ APSCO อย่างเป็นทางการ

ช่วงเวลาใกล้เคียงกัน จีนยังได้ทดลองและเริ่มปฏิบัติการด้านอื่นๆที่แสดงให้เห็นแสนยานุภาพ และศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ที่สำคัญอีกหลายเรื่อง ได้แก่ การส่งเรือดำน้ำเจียวหลง ปฏิบัติการในทะเลจีนใต้ เพื่อวิจัยทางวิทยาศาสตร์ใต้ทะเล

เรือดำน้ำเจียวหลง

นอกจากนี้ จีนยังได้ส่ง เรือเหลียวหนิง เรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของจีน ออกสู่ทะเลบริเวณน่านน้ำทะเลโป๋ไห่เพื่อให้ เครื่องบินรบเจียน - 15 ได้ทดลองปฎิบัติการฝึกบินขึ้นจากลานบินบนเรือ และลงจอดอย่างปลอดภัย

 

เรือเหลียวหนิงและเครื่องบินรบเจียน

สำหรับจีนแล้ว เป้าหมายที่วางไว้ในการพัฒนาด้านอวกาศ ต้องการจะพัฒนาให้มีสถานีอวกาศเป็นของตัวเองให้ได้ภายในปี 2020 (2563 ) ซึ่งหมายถึงอีกภายใน 7 ปีข้างหน้า ดังนั้นความสำเร็จในปฏิบัติการครั้งล่าสุดนี้ จึงถือเป็นก้าวสำคัญที่จะไปความฝันที่ตั้งไว้เพื่อให้เป็นจริง ซึ่งทั่วโลก ก็กำลังจับตามองความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับจีน ที่ไม่เพียงแต่จะมีบทบาทในเวทีของเศรษฐกิจโลกเท่านั้น

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040