ระหว่างบรรทัด:บทบาทของสื่อมวลชนในการสร้างความเป็น "ประชาคมอาเซียน"
  2013-08-26 18:02:52  cri

ธงอาเซียน

กวี จงกิจถาวร ประธานเครือข่ายสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีป้า) สื่อมวลชนและคอลัมน์นิสอิสระ ให้สัมภาษณ์พิเศษ กับสถานีวิทยุ ซีอาร์ไอ เกี่ยวกับบทบาทของสื่อมวลชนในการสร้างประชาคมอาเซียน ที่ชาติสมาชิกทั้ง 10 ประเทศจะรวมกันเป็นหนึ่งเดียวภายใต้ชื่อ อาเซียน ภายในปีค.ศ. 2015 นั่นก็หมายถึงว่า มีเวลาเหลืออยู่อีกเพียงไม่ถึงสองปี

กวีเห็นว่า ประชาคมอาเซียน แม้จะมีความร่วมมือในมิติต่างๆทั้งด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม สังคมแล้ว แต่ก็ไม่อาจรวมกันได้เป็นหนึ่งเดียวได้อย่างสมบูรณ์ หากสื่อมวลชนของประเทศต่างๆ ยังไม่มีความร่วมมือหรือมีความเข้าใจในบทบาทและสถานะของอาเซียนได้อย่างถ่องแท้

" อาจพูดได้ว่า ตอนนี้ แม้สื่อในอาเซียนจะมีเสรีภาพมากขึ้น เมื่อเทียบกับสถานการณ์ในอดีต โดยเฉพาะในพม่าที่มีความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ แต่ในภาพรวมก็ถือว่ายังน้อย การเป็นประชาคมอาเซียน สื่อมวลชนต้องมีความร่วมมือกันก่อน ถ้าสื่อไม่เขียนถึงการเป็นอาเซียน สังคมก็จะไม่เข้าใจ ถ้าเราย้อนดูการรวมกลุ่มสหภาพยุโรป จะเห็นว่า สื่อมีบทบาทสำคัญมากดังนั้น จากนี้ไปประเทศต่างๆต้องอาศัยสื่อมากขึ้นในการทำความเข้าใจเรื่องนี้ต่อคนในชาติ"

นอกเหนือจากประเด็นการสร้างความร่วมมือระหว่างสื่อมวลชนแขนงต่างๆในประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกันเองที่ยังไม่เข้มแข็งเพียงพอแล้ว เมื่อลงรายละเอียดถึงสื่อมวลชนในประเทศไทย กวีเห็นว่า ยังมีปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่สะท้อนว่ายังมีข้อจำกัดในการทำหน้าที่ นั่นคือ ตัวของนักข่าวและบก.ยังไม่มีความเข้าใจมากเพียงพอต่อความเป็นไปของประเทศในอาเซียน ทั้งในแง่ ประวัติศาสตร์ ความมั่นคง ด้านสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ส่วนใหญ่เวลาเขียนจะมองแต่มุมเศรษฐกิจ ทั้งๆที่ในทางปฏิบัติมีความร่วมมือที่กว้างขวางมากกว่านั้น ซึ่งอาเซียนจะอยู่ได้หรือไม่ ไม่ได้ขึ้นกับเศรษฐกิจเพียงด้านเดียว แต่ยังมีความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรมและการเมืองด้วย โดยเฉพาะด้านวัฒนธรรมเป็นพื้นฐานของการสร้างความมั่นคงให้กับอาเซียน คนในชาติต่างๆต้องมีความเข้าใจ สามารถชื่นชมในอัตลักษณ์และความแตกต่างระหว่างกันได้ แต่ในเวลานี้ภาพของอาเซียน ยังไม่ได้มีสิ่งที่ร่วมกันเพียงพอ เรามีแต่ธงและเพลงอาเซียนเท่านั้นที่พอจะเป็นสัญลักษณ์ได้ซึ่งก็ยังไม่ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง เแต่เรายังไม่มีอัตลักษณ์ร่วมของอาเซียน เรายังไม่มีสิ่งร่วมอื่น เช่น พาสปอร์ต หรือวีซ่าแบบเช็งเกนของยุโรป หรือสกุลเงินร่วม

กวีเห็นว่า ในช่วงเวลาสองปีที่ผ่านมาสื่อมวลชนไทย มีการนำเสนอข่าวคราวอาเซียน แต่มักจะเน้นเรื่องกระแสเศรษฐกิจเป็นหลัก ส่วนอีกด้านจะเน้นความน่ากลัวของการรวมเป็นอาเซียน ในเชิงว่า ไทยจะเสียเปรียบในการแข่งขันหรือไม่ อย่างไร อีกด้านหนึ่งการเป็นการสร้างความเข้าใจผิดว่า ไทยจะตามหลังชาติอื่นเพราะพูดอังกฤษไม่คล่อง กลายเป็นว่า การเตรียมความพร้อมสู่อาเซียน คือการรณรงค์ ให้ความสำคัญกับการสอนภาษาอังกฤษ ซึ่งในข้อเท็จจริง มีรายละเอียดด้านอื่นๆอีกมากกว่านั้น

" เวลารายงานจะเป็น ไทยได้อะไรจากอาเซียน ลาว สิงคโปร์จะได้อะไรจากอาเซียนฯลฯ แต่ไม่ได้รายงานในมุมว่า อาเชียน ในการเป็นองค์กรร่วม จะเป็นอย่างไรในภาพรวมจากนี้ไป หรือแต่ละประเทศจะต้องเสียสละอะไรเพื่อให้ความเป็นอาเซียนมั่นคงได้มากขึ้น

ประชาคมอาเซียนจะเป็นหนึ่งเดียวไม่ได้ ถ้าสื่อยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องนี้มากเพียง พอ ไม่ได้หยิบยกสาระแท้ๆ ของอาเซียนมานำเสนอ การรวมของยุโรป แต่ละประเทศต้องเฉือนอธิปไตยของตนเพื่อเพิ่มอำนาจกำลังต่อรองในนามสหภาพยุโรป แต่ในอาเซียน ไม่มีทาง... แต่ละประเทศ ไม่ยอม ยังยืนยันที่จะสงวนประโยชน์ตัวเองให้มากที่สุด ดังนั้น สื่อมีหน้าที่จะต้องนำเสนอเนื้อหาต่างๆให้รอบด้านมากที่สุด"

กวีเห็นว่า จากนี้ไป ความหมายของประเทศ ที่วัดด้วยพรมแดนทางภูมิศาสตร์ จะลดลงไปเรื่อยๆ ดังนั้น ไม่ว่าจะเกิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นในประเทศหนึ่งของอาเซียน จะเป็นเรื่องที่ประเทศอื่นๆ ได้รับผลกระทบด้วย ไม่อาจแยกส่วน แบบโดดเดี่ยวได้อีกต่อไป

นี่จึงเป็นสิ่งท้าทายที่รออยู่ข้างหน้า

" เขตแดนประเทศคือ คนที่อยู่ข้างหน้าเรา ข้างหลังและข้างๆ เรา แต่ไม่ใช่พรมแดนอีกต่อไป ถ้าเราไม่เข้าใจเขา เราก็ไม่สามารถสานความสัมพันธ์ได้ราบรื่นต่อไป

คนที่อยู่ข้างหน้าเรา อาจเป็นมาเลเซีย อาจเป็นลาว อาจเป็นพม่า กัมพูชา คำถามคือ เราเข้าใจทำความเข้าใจพวกเขาได้มากน้อยแค่ไหน "

ประธานซีป้ายังเห็นว่า ขณะนี้ รัฐบาลไทยมีสิ่งท้าทายใหม่ในการดำเนินนโยบายภายใต้กรอบอาเซียน โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กับจีน ญี่ปุ่น เดิมเราให้ความสำคัญกับสหรัฐมาก แต่ขณะนี้ สถานการณ์ในเวทีโลกเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ญี่ปุ่นเริ่มทวีความสำคัญมากขึ้น ยิ่งเมื่อมีปัจจัยเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศ และความร่วมมือแบบทวิภาคีมาเกี่ยวข้องด้วย ยิ่งทำให้การกำหนดนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มีความซับซ้อนมากขึ้น ไทยจะวางบทบาทอย่างไรระหว่าง จีนกับญี่ปุ่น เพราะอยู่ในภูมิภาคเดียวกัน ซึ่งเขาเห็นว่า นโยบายของรัฐบาลไทยในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ยังไม่ดีเพียงพอ เพราะ ยังไม่สามารถช่วงชิงบทบาทนำผลประโยชน์มาให้ชาติได้เต็มที่จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศในเวลานี้

"น่าเสียดายที่ตอนนี้ ไทยไม่ได้มีบทบาทนำในอาเซียนเหมือนอดีต 46 ปีที่ผ่านมาอีกต่อไปแล้ว ก่อนหน้านี้เรามีบทบาทสำคัญหลายเรื่อง ทั้งความร่วมมือด้านความมั่นคงและด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากปัญหาการเมืองภายในประเทศของไทยเอง แต่สภาพที่เราเป็นอยู่ขณะนี้ ก็ยังมีโอกาส ในฐานะประเทศผู้ประสานงานอาเซียน ซึ่งเหลือเวลาอีก 20 เดือน ที่เราต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพราะไทยมีความสัมพันธ์แบบทวิภาคีที่ดีที่สุดกับจีนในเวลานี้"

กวีเห็นว่า ไทยต้องวางแนวทางสองบทบาทคือ ในความเป็นประเทศไทย และอีกบทบาทคือหนึ่งในสมาชิกอาเซียน เพราะต่อไปประชาคมอาเซียนจะถูกอ้างอิงเป็นหนึ่งเดียวที่มีประชากร 630 ล้านคน (แม้ในทางปฏิบัติอาจไม่เป็นอย่างนั้น)

ด้วยเหตุนี้ สื่อมวลชน ในฐานะหนึ่งในสถาบันหลักของสังคม ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้เท่าทันและติดตามความเปลี่ยนแปลง ความเคลื่อนไหวในทุกมิติของสถานการณ์โลก เพื่อสามารถรายงานข้อมูลข่าวสารได้อย่าง ลึก รอบด้าน และทำให้ประชาชนผู้รับข่าวสารได้รับประโยชน์สูงสุด และจะเป็นส่วนสำคัญในการเตรียมความพร้อม นำพาประเทศ ก้าวเข้าสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนได้อย่างสมภาคภูมิ...ในที่สุด

โสภิต หวังวิวัฒนา เรียบเรียง

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040