เสวนานุกรมความรู้ ธ.กรุงเทพ "จัดทัพ-ปรับทิศรับการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจจีน"
  2013-11-29 19:08:57  cri

กรุงเทพฯ – 27 พฤศจิกายน 2556 เวลา 13.00 น. ธนาคารกรุงเทพ จัดงานเสวนานุกรมความรู้ ภายใต้หัวข้อ"จัดทัพ-ปรับทิศรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของจีน" ณ ห้องประชุม ชั้น 30 ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ ถนนสีลม

ภายในงานมีการกล่าวต้อนรับวิทยากรและแขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมงานโดย นายชาติศิริโสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธ. กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และการปาฐกถาพิเศษหัวข้อ"บทบาทของอาเซียนในภูมิภาคเอเชียผ่านมุมมองของจีน" โดยนายนิ่ง ฟู่ขุย เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย นายนิ่ง ฟู่ขุยกล่าวว่า มีมิตรสหายบางท่านพูดถึงความเปลี่ยนแปลงของจีนว่าจีนเปลี่ยนไวมาก ไม่ได้ไปเยือนไม่กี่เดือนก็ตามไม่ทันแล้ว ปัจจุบันเศรษฐกิจจีนอยู่อันดับสองของโลก การเปลี่ยนแปลงของจีนนอกจากจะเป็นการเปลี่ยนเพื่อประเทศของตนแล้ว ยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการพัฒนาให้กับประเทศอื่นๆ จีนเป็นคู่ค้าและหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญของอาเซียน ความสัมพันธ์ของจีนกับอาเซียนได้ปรับจากยุคทองเข้าสู่ยุคเพชร ไทยถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคนี้ที่ผลักดันความร่วมมือกับจีนมาตลอด จีนให้ความสำคัญกับไทยและอยากช่วยให้ไทยพัฒนา กลายเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมของอาเซียน จีนคาดหวังให้ประเทศต่างๆมีทัศนะคติที่ต่อการพัฒนาของประเทศและรักษาความสัมพันธ์ของไทยจีนให้ยั่งยืนตลอดไป

หลังจากนั้นจึงเริ่มการเสวนาในหัวข้อ "จัดทัพ-ปรับทิศรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของจีน" โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ 4 ท่าน ให้เกียรติมาบรรยายในงาน

วิทยากรท่านแรก ได้แก่ ศาสตราจารย์ จู ลี่ (朱立 ) กรรมการบริหารสถาบันวิจัยเศรษฐศาสตร์ภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และการเงินมณฑลยูนนาน บรรยายเรื่อง"โอกาสและความท้าทายจากการปฏิรูปเศรษฐกิจจีน" หลังจากปี ค.ศ. 1978 จนถึงปีที่แล้ว มูลค่าเศรษฐกิจของจีนในตลาดโลก เติบโตจาก 1.8% มาอยู่ที่ 11.5% (อันดับ 2 ของโลก) ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจจีนเริ่มชะลอการเติบโต ส่วนหนึ่งมาจากการที่จีนเน้นการอดออมและการลงทุนสูง ระยะหลังมีการผลิตล้นตลาดในบางอุตสาหกรรม มีการกู้ยืมและหนี้สินเพิ่มขึ้น สมัยก่อนรัฐฯจะเน้นอัตราการเติบโตเชิงปริมาณ แต่ ณ ปัจจุบันเน้นการเติบโตที่เหมาะสม เพิ่มการจ้างงานให้มากยิ่งขึ้น และเปลี่ยนมาสนับสนุนการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เน้นการศึกษา ค้นคว้า วิจัยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้านความท้าทายในตอนนี้ หลายท่านอาจจะไม่ทราบว่าจีนต้องพึ่งทรัพยากรจากทั่วโลก เช่น ก๊าซ, น้ำมัน โดยจีนแซงหน้าสหรัฐอเมริกาขึ้นมาเป็นประเทศที่มีความต้องการปิโตรเลียมมากที่สุดในโลก เรื่องสิ่งแวดล้อมก็ยังเป็นหัวข้อหลัก จากการพัฒนาและเติบโตของประเทศที่ผ่านมา สิ่งแวดล้อมของจีนได้รับผลกระทบมาก เป็นความท้าทายอีกเรื่องหนึ่งที่จะสร้างความสมดุลและสมบูรณ์ รวมถึงการร่วมมือกับรัฐบาลท้องถิ่นในการกำหนดยุทธศาสตร์ต่างๆ การกระจายความเป็นเมืองที่บางครั้ง รัฐบาลท้องถิ่นอาจไม่เข้าใจ "ความเป็นเมือง" ที่แท้จริง การเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจนี้มีผลกระทบต่ออัตราการจ้างงาน ซึ่งบางอุตสาหกรรมเน้นที่คุณภาพมากกว่าการเพิ่มการจ้างงาน รวมถึงปัญหาฟองสบู่ทางเศรษฐกิจและการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน แนวทางที่รัฐบาลจีนจะนำมาใช้สามารถดูได้มติการประชุมฯ โดยครั้งที่ผ่านมา มีการวางแผนเพิ่มกลไกภาคการตลาด ลดบทบาทการแทรกแซงของภาครัฐบาล จากเมื่อก่อนที่รัฐเป็นคนกำหนดความสัมพันธ์ของเศรษฐกิจและภาคการตลาด กำหนดส่วนแบ่งการผลิตต่างๆ ทำให้รัฐวิสาหกิจได้เปรียบกว่าที่อื่น เปลี่ยนมาเพิ่มสภาพแวดล้อมในการแข่งให้สมเหตุสมผลมากขึ้น กระตุ้นเงินทุนภายนอก-ในให้ไหลได้อย่างคล่องตัว ล่าสุดได้มีการประกาศให้หยุนนานและกว่างซีเป็นพื้นที่นำร่อง สร้างศูนย์กลางด้านการเงินกับภูมิภาคอาเซียน จะประสบความสำเร็จหรือมีผลอย่างไรบ้าง ก็ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องต่อไป

ท่านที่สอง ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร. จาง ยู่หลิน (张育林)รองผู้อำนวยการสถาบันด้านการบริโภคและการจัดจำหน่าย สถาบันวิจัยการค้าระหว่างประเทศและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ กระทรวงพาณิชย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน บรรยายเรื่อง"โอกาสใหม่เชิงธุรกิจในอุตสาหกรรมบริการและภาคเศรษฐกิจหลักของจีน"โดยพื้นฐานแล้ว อุตสาหกรรมภาคบริการของจีนแบ่งเป็นสองส่วน คือ 1. เพื่อการผลิต เช่น การเงิน, การคมนาคม, โลจิสติกส์สมัยใหม่, เทคโนโลยีชั้นสูง, อีคอมเมิรซ์ ฯลฯ 2. เพื่อการบริโภค เช่น การแลกเปลี่ยนซื้อขาย, วัฒนธรรม, ท่องเที่ยว, ดูแลสุขภาพ, กฎหมาย, ครอบครัว, กิจกรรมกีฬา ฯลฯ โดยส่วนแรกต้องการใช้ความรู้ วิชาการและเทคนิคค่อนข้างมาก เหมาะกับเศรษฐกิจเมือง ด้านส่วนที่สองมักจะประสบปัญหาล้นและไม่เพียงพอควบคู่กันไป ยกตัวอย่างเช่น ร้านโชห่วยที่มีมากเกินไปในบางพื้นที่ และร้านค้าปลีกค้าส่งที่ไม่เพียงพอในบางพื้นที่ อุตสาหกรรมภาคบริการของจีนมีสัดส่วนอยู่ที่ 44.6% ของ GDP ซึ่งถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของโลกที่ 60% ถึงแม้ว่าความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจมหภาคจะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภาคบริการโลจิสติกส์ รวมถึงรายได้และแนวคิดในการพัฒนา แต่เราจะเห็นได้ว่ายังมีโอกาสในช่วงความต่าง 15.4% ถือเป็นจำนวนมหาศาลเมื่อเทียบกับสัดส่วนและจำนวนของประชากรในประเทศจีน

วิทยากรท่านที่สาม ได้แก่ ดร. จาง กว๋อโหย่ว (张国有) รองประธานสภามหาวิทยาลัยปักกิ่ง บรรยายเรื่อง "บริหารวัฒนธรรมที่แตกต่างภายในองค์กรผ่านการสื่อสารและการผสานวัฒนธรรม"ดร. จาง ได้เกริ่นนำสำหรับบุคคลที่สนใจไปลงทุนในประเทศจีนไว้ว่า 1. ควรสนใจการเมืองจีนให้มากๆ – การเมืองจีนไม่ได้มีเฉพาะเรื่องการเมืองอย่างเดียว ควรศึกษามติหรือนโยบายต่างๆที่กำหนดมาอย่างละเอียด และจะพบข้อมูลแนวทางซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนในอนาคตอย่างแน่นอน2. ไม่ควรสนใจตัวเลขการเติบโตมากเกินไป – อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจก็คล้ายกับการขึ้นภูเขา หากขึ้นสูงตลอดเวลาเปรียบได้ดั่งภูเขาชัน มีอันตรายสูง การเพิ่มขึ้นทุกๆ 1% มีความหมายจะต้องมีการพักตามขั้นบันไดหรืออาศัยการชะลอตัวบ้างเพื่อให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น3. การติดต่อสัมพันธ์กับคนจีน – การลงทุนในจีนไม่ว่ารูปแบบใดก็มิอาจหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับบริษัทจีนไปได้ เพราะฉะนั้นควรมีการติดต่อสัมพันธ์ รับประทานอาหารกับเพื่อนคนจีนในแวดวงต่างๆเพื่อให้ได้ข้อมูลในหลากหลายแง่มุม 4. วัฒนธรรม – หลากคนอาจไม่ได้ให้ความสำคัญเพราะเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ทุน, ผลิตภัณฑ์หรือสิ่งที่จับต้องได้ ในความเป็นจริงแล้ว วัฒนธรรมเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เศรษฐกิจของหลายประเทศขับเคลื่อนได้ด้วยวัฒนธรรม ใช้วัฒนธรรมของประเทศตนเองในการขับเคลื่อน วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ออกมาโดยธรรมชาติ ไม่ได้ตั้งใจหรือจงใจแสดงออกและแต่ละประเทศก็แตกต่างกันไป อันดับแรกในการใช้วัฒนธรรมเป็นปัจจัยช่วยให้เกิดความสำเร็จในการลงทุนในต่างประเทศคือ "ภาษา" การเข้าใจและสามารถสื่อสารด้วยภาษาท้องถิ่นทำให้เพิ่มความมั่นใจในการทำกิจกรรมต่างๆ ส่วนกรณีตัวอย่าง (case study) ที่นำมากล่าวถึงในครั้งนี้ คือ บริษัท Lenovo (联想) ของประเทศจีนที่ได้ทำการควบรวมกิจการกับบริษัท IBM ภายหลังจากการควบรวม บริษัทฯมีจำนวนพนักงานที่เป็นคนจีนมากถึง 2 ใน 3บริษัท Lenovo ซึ่งไม่มีประสบการณ์ในระดับสากลทำการปรับเปลี่ยนเพื่อการบริหารที่มีประสิทธิภาพCEO คนเก่าของ Lenovo ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งและให้นายสตีเฟ่นวาร์ดจาก IBM มานั่งเก้าอี้แทน, ปรับสัดส่วนของผู้บริหารระดับสูงให้มีชาวต่างชาติ 9 คนจาก 16 คน (คิดเป็น 56%) ถึงแม้จะมีการปรับกลยุทธ์แล้วบางส่วน Lenovo ยังคงประสบปัญหาในการทำงานอันเนื่องมาจากวัฒนธรรมที่แตกต่าง อย่างเช่น ในที่ประชุม คนจีนจะสงวนท่าทีและไม่ค่อยแสดงความคิดเห็นต่อหน้า แต่เมื่อไม่เห็นด้วยหรือคิดต่างจะมาพูดภายหลังการประชุม ทำให้ฝั่งอเมริกาไม่พอใจ หรือบางส่วนนับถือระบบอาวุโส ทำให้ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นก่อนผู้บังคับบัญชา รวมถึงปัญหาด้านภาษาที่อาจจะฟังได้ไม่ถนัด พูดไวไป ไม่แน่ใจในเนื้อหา ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นกลัวเสียหน้า ฯลฯ สุดท้ายหลังจากการพูดคุย ทำความเข้าใจและปรับเปลี่ยนต่างๆ บริษัทได้มีข้อตกลงเพื่อใช้เป็นกติกาในการประชุม ดังนี้ 1. ทุกคนที่เข้าร่วมประชุมต้องแสดงความคิดเห็น 2. หัวหน้าต้องคอยตรวจสอบว่าพนักงานที่เข้าประชุมทุกคนฟังเข้าใจหรือไม่ 3. เนื่องจากใช้ภาษาอังกฤษในการประชุม จึงอนุญาตให้ฝ่ายจีนมีเวลาในการนำเสนอมากขึ้น นอกจากนี้ยังกำหนดว่าในที่ประชุมไม่มีระดับตำแหน่งคือทุกคนเท่ากันหมด บริษัทLenovo ใช้เวลา 5 ปีในการปรับวัฒนธรรมองค์กรถึงจะเริ่มลงตัวแต่ถึงอย่างไร ปัญหาที่เกิดมาจากวัฒนธรรมก็ยังมีมาเรื่อยๆให้ต้องเรียนรู้และปรับตัวอยู่เรื่อยๆ

ปิดท้ายด้วยนายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) มาเล่าประสบการณ์และเกร็ดความรู้จากการเดินทางด้วยตนเอง "มองจีนจากคาราวานเอเชีย"

การเสวนาดำเนินรายการโดยนายสุวัชชัย ทรงวานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน)หลังจากการบรรยายโดยวิทยากร ช่วงสุดท้ายของการเสวนามีการถามตอบ ผู้เข้าฟังสามารถเขียนคำถามส่งไปให้ผู้ดำเนินรายการและวิทยากรช่วยกันแสดงความคิดเห็น โดยงานในครั้งนี้มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมมากเต็มความจุของห้องประชุมฯ

เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040