ระหว่างบรรทัด :ความคิดความเชื่อเชิงปรัชญาของชาวไทยจากวรรณคดีเรื่อง "ลิลิตพระลอ"
  2013-12-06 15:52:37  cri
"เสียงลือเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย

เสียงย่อมยอยศใคร ทั่วหล้า

สองเขือพี่หลับไหล ลืมตื่น ฤาพี่

สองพี่คิดเองอ้า อย่าได้ ถามเผือ"

เชื่อว่าโคลงบทนี้จะเป็นที่คุ้นเคยสำหรับชาวไทย เพราะมักจะได้ยินการ

นำมากล่าวถึงกันบ่อยครั้ง โคลงบทนี้ปรากฎในหนังสือจินดามณีของพระโหราธิบดี สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ถือเป็นผลงานชั้นครูและกลายเป็นแบบอย่างของฉันทลักษณ์โคลงสี่สุภาพ ในการวางคำเอกเจ็ดโทสี่ ตลอดจนสัมผัสและกำหนดจำนวนคำที่มีความสอดคล้องของการใช้ภาษา ได้อย่างไพเราะ สละสลวย เป็นการสนทนาระหว่างพระเพื่อนพระแพงและพี่เลี้ยง นางรื่น นางโรย กล่าวขวัญถึงความสง่างามของ "พระลอ" กษัตริย์เมืองสรวง ซึ่งมีกิตติศัพท์ระบือไกลไปทั่วทั้งแผ่นดิน จนใครๆ ก็อยากเห็นอยากชื่นชมพระบารมี

โศกนาฎกรรมจากความรักในเรื่อง "ลิลิตพระลอ" ที่ประพันธ์ด้วยร่ายสุภาพและโคลงสุภาพตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ไม่เพียงจะสร้างความประทับและตราตรึงใจผู้อ่านด้วยเนื้อหา การผูกเรื่องได้อย่างสนุกสนาน รันทด ซาบซึ้งใจในเรื่องราวของความรักซึ่งมีหลากหลายรูปแบบทั้งรักระหว่างหนุ่มสาว/ นาย-บ่าว/ แม่-ลูก/ เจ้า-ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน แต่ยังมีความงดงามของการใช้ภาษาและถ้อยคำได้อย่างไพเราะจับใจ นอกจากนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของการสะท้อนวิถีชีวิต วัฒนธรรม และสังคมในยุคสมัยที่ผู้ประพันธ์แต่งขึ้นด้ว

ความน่าสนใจดังกล่าวนี้เองทำให้ เยี่ยน จื่อ หรือ อรพินท์ นักศึกษาปริญญาโทมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศ ปักกิ่ง สาขาภาษาและวรรณคดีไทย สนใจจะศึกษาวิเคราะห์งานวรรณคดีชิ้นเอกนี้ ในด้านความคิดความเชื่อเชิงปรัชญาของชาวไทยในยุคนั้น และสืบค้นต่อว่า ความคิดดังกล่าวส่งอิทธิพลปรากฎในงานวรรณกรรมยุคต่อๆมาอย่างไรบ้าง

อรพินท์เล่าว่า การศึกษางานชิ้นนี้ยากมากสำหรับชาวจีน เพราะตนเองมีข้อจำกัดเรื่องการใช้ภาษาไทย ซึ่งต้องอ่านจากวรรณกรรมที่เป็นร้อยกรอง มีคำที่เป็นภาษาโบราณจำนวนมาก แล้วค่อยมาถอดความหมายเป็นร้อยแก้วอีกครั้ง ก่อนจะทำความเข้าใจเรื่องราวทั้งหมด โชคดีที่มีอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นอาจารย์คนไทยซึ่งมีความรู้และเชี่ยวชาญงานวรรณกรรมไทยเป็นอย่างดีให้คำแนะนำ อีกทั้งมีงานศึกษาวิจัยของคนอื่นๆ รวมทั้งคู่มือลิลิตพระลอ ที่ได้ถอดความเป็นร้อยแก้วแล้ว ทำให้การวิจัยทำได้ง่ายขึ้น

" ยากที่สุดคือ ภาษาไทย แล้วต้องเดินทางไปกลับเมืองไทยหลายครั้ง เพื่อค้นหาข้อมูลและอ่านจากเอกสารงานอื่นๆของไทยที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก เนื่องจากในจีนหนังสือที่วิจัยเรื่องลิลิตพระลอมีน้อยมากและการอ้างอิงทฤษฎีที่จะวิเคราะห์การผสมผสานความเชื่อเหล่านี้ ก็ยังไม่มีทฤษฎีอ้างอิงอย่างตรงๆ ก็ต้องหาข้อมูลเพิ่ม

ประทับใจที่สุดคือ ภาษาของวรรณกรรมไทย เป็นภาษาที่ไพเราะ สละสลวยดีมาก ช่วยยกระดับการใช้ภาษาไทยของตัวเองได้เยอะ อ่านแล้วรู้สึกอบอุ่นใจ แฝงคติการดำรงชีวิต และสอนให้คนอ่านหลายๆด้าน"

อรพินท์ ได้อ้างถึงบทบาทของวรรณคดีที่มีต่อสังคมจากงานเขียนของ ศ. ดร.เจตนา นาควัชระ ใน วรรณคดีวิจารณ์และวรรณคดีศึกษาว่า " ถ้าเราไม่รู้จักวรรณคดีแล้ว เราก็ไม่อาจที่จะรู้จักลักษณะที่แท้จริงของสังคมได้ ทั้งนี้เพราะวรรณคดีชี้ให้เห็นถึงสังคมทั้งในส่วนกว้างและส่วนลึก วรรณคดีแสดงให้เห็นถึงชีวิตในแง่มุมต่างๆ และในขณะเดียวกันก็สามารถที่จะสกัดเอาแก่นแท้ของสังคมนั้นออกมาให้เห็นได้ นักประพันธ์ที่ดีก็คือนักประพันธ์ที่พยายามเสาะหาหลักษณะและความหมายที่แท้จริงของสังคมของตน แล้วนำมาแสดงออกในวิธีการที่ชี้ให้เห็นว่า เขามีความสนใจและรับผิดชอบต่อสังคมนั้นๆ อย่างแท้จริง งานประพันธ์แปบบนี้จึงมิใช่แต่เพียงเป็นเรื่องบันเทิงเริงรมย์ แต่เป็นสิ่งที่จะกระตุ้นปัญญาความนึกคิดให้แก่ผู้อ่าน มีคุณค่าในทางการศึกษา"

ผลของการศึกษาของอรพินท์ ค้นพบว่า มีความคิดความเชื่อเชิงปรัชญาที่ผสมผสานกันอย่างหลากหลายของชาวไทยในยุคนั้น ทั้งคติเกี่ยวกับเรื่อง "ผี" ซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิมของท้องถิ่นตั้งแต่อดีตกาล ผนวกกับความเชื่อและพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู รวมทั้งค่านิยมความเชื่อเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่เป็นศาสนาประจำชาติไทย และการเชื่อในเรื่อง กฎแห่งกรรม ที่ไม่มีใครสามารถหลีกพ้นได้

ลิลิตพระลอ เป็นเรื่องราวที่มีฉากหลังเป็นท้องถิ่นล้านนา ทางภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งคติความเชื่อการนับถือผีของชาวบ้านในถิ่นนี้มีอยู่ดั้งเดิมแล้วตั้งแต่ก่อนที่อิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์และพุทธจะเข้ามาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิแห่งนี้

โลกทัศน์ของชาวล้านนาเข้าใจว่า โลกของมนุษย์กับผีนั้นซ้อนกันอยู่และเกี่ยวข้องกัน โดยเชื่อว่ามีผีอยู่มากมายทุกหนแห่ง ทั้งในป่า แม่น้ำ ภูเขา ทุ่งหญ้า และหมู่บ้าน ผีบ้านผีเรือน ผีเหล่านั้นในเวลาปกติมีใจเป็นกลางๆ ไม่ให้ดีให้ร้ายแก่ใคร ยกเว้นเวลาโกรธ หรือมีคนไปทำสิ่งที่ไม่ดี

เมื่อศาสนาพราหมณ์เข้ามา ทำให้มีคติความเชื่อในการแบ่งและแยกแยะระหว่างผีดีและผีร้ายชัดเจนขึ้น ผีดีก็จะถูกเรียกว่าเป็น เทวดา หรือมีภพภูมิที่ดีขึ้นกว่าผีทั่วไป ขณะที่ผีร้าย ไม่เป็นคุณกับใครและหลายๆครั้งก็ยังฉ้อฉล หลอกลวงให้โทษแก่คนทั่วไปด้วย

ลิลิตพระลอ ได้สะท้อนคติเกี่ยวกับการนับถือผี ซึ่งเชื่อมโยงไปกับความเชื่อและพิธีกรรมต่างๆ ในศาสนาพราหมณ์มากมาย อาทิความเชื่อเรื่องทวยเทพต่างๆ ความเชื่อทางไสยศาสตร์ การทำคุณไสย เวทย์มนต์ อิทธฤทธิ์ปาฏิหารย์เหนือธรรมชาติ การทำเสน่ห์ การเซ่นไหว้และแก้บน ต่ออำนาจลึกลับ การเสี่ยงทาย และโชคลาง

คติเรื่องผี ปรากฎชัดเช่น ตอนที่ พระเพื่อนพระแพง ขอความช่วยเหลือจากปู่เจ้าสมิงพราย ซึ่งถือเป็นผีที่มีบารมีเป็นเทวดาประจำขุนเขาให้ทำเสน่ห์เพื่อชักจูงให้พระลอได้มาพบและรักกัน โดยบนบานจะถวายสิ่งของล้ำค่าตอบแทน

ชาวไทยยังให้ความสำคัญกับผีบรรพบุรุษและผีบ้านผีเมือง ซึ่งเชื่อว่าคนที่ตายไปแล้ว วิญญาณจะยังคงวนเวียนคอยช่วยเหลือคุ้มครองลูกหลานด้วยความรักและห่วงใย โดยเฉพาะเมื่อยามประสบภัย เช่นตอนที่ฝ่ายพระลอ สามารถแก้ยาเสน่ห์ที่ปู่เจ้าสมิงพรายทำกับพระลอได้ถึงสองครั้งแล้วสร้างมณฑลพิธีป้องกันพระลอไว้ โดยให้ผี ยักษ์ ปีศาจและเทวดาต่างๆคอยปกปักรักษาไม่ให้ได้รับอันตราย ปู่เจ้าสมิงพรายจึงต้องแก้เกมด้วยการปลุกผีต่างๆของฝ่ายตนไปต่อสู้และโจมตีคืน ไม่ว่าจะเป็น ผีป่า ผีน้ำ ผีถ้ำ ฯลฯ จนเกิดเป็นสงครามกองทัพผีครั้งใหญ่ เกิดความสูญเสียครั้งร้ายแรงจนเสียบ้านเสียเมือง

คติเกี่ยวกับผียังมีบทบาทสำคัญอีกหลายตอนรวมทั้งตอนที่ชาวไทยจะรู้จักดีคือ "พระลอตามไก่" ปู่เจ้าสมิงพรายใช้เล่ห์เรียกผีให้เข้าสิงไก่ ไปล่อลวงพระลอที่เห็นความงดงามแล้วเกิดความอยากได้ไก่ตัวนั้น จนหลงกลให้เดินทางเข้าเมืองสรองเพื่อไปพบพระเพื่อนพระแพง

นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเรื่องโชคลางและการเสี่ยงทาย เช่น ตอนที่ ทั้งพระลอ พระเพื่อนพระแพง และพี่เลี้ยงคือนางรื่นนางโรย ต่างมีความฝันแล้วตื่นเช้ามาก็มีการทำนายฝัน ซึ่งนำไปสู่เรื่องเดียวกันคือตีความว่า ท้ายสุดแล้วพระลอก็ได้ได้มาสมรักกับพระธิดาทั้งสองพระองค์

การเสี่ยงทาย อาทิตอนพระลอเสี่ยงทายน้ำที่แม่น้ำกาหลงเพื่อดูว่า อนาคตจะเป็นเช่นไร โดยอธิษฐานว่า ถ้าปรากฎว่า แม่น้ำไหลวนไม่ได้ไหลไปในทิศทางปกติ

ความเชื่อเกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์ก็ปรากฎในหลากหลายตอนตลอดท้องเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดเกี่ยวกับ "สมมุติเทพ" กษัตริย์ผู้ครองแผ่นดินที่จะมีบารมีเหนือกว่าบุคคลธรรมดาทั่วไป ทำให้ต้องใช้ผู้มีฤทธิ์มากกว่าหมอผีธรรมดาในการทำคุณไสยพระลอ

ส่วนความเชื่อในศาสนาพุทธ ก็ปรากฎอยู่มากในผลงานวรรณคดีชิ้นเอกนี้ ทั้งเรื่อง กฎแห่งกรรม การทำความดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว การทำบุญ และเรื่องไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความไม่เที่ยงของสรรพสิ่ง

อรพิน ผู้วิจัยงานชิ้นนี้ ได้ศึกษาเพิ่มเติมไปถึงอิทธิพลของความคิดความเชื่อดังกล่าวที่ปรากฎในงานวรรณกรรมยุคต่อๆมา ทั้งอยุธยาตอนปลาย ในยุครัตนโกสินทร์และวรรณกรรมปัจจุบัน พบว่า มีแทรกอยู่หลายเรื่อง อาทิ ขุนช้างขุนแผน พระอภัยมณี รามเกียรติ์

ผลงานอมตะ ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ในเรื่อง "สี่แผ่นดิน" ก็มีตอนที่กล่าวถึงความเชื่อเกี่ยวกับการอธิษฐานและการบนบานศาลกล่าว

นอกจากนี้ยังมีผลงานนวนิยายและวรรณกรรมร่วมสมัยหลายเรื่อง ที่โด่งดังจนนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์ ก็ได้สอดแทรกคติเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินเรื่องราว โดยเฉพาะเรื่องของไสยศาสตร์ ความลึกลับและความเชื่อเรื่องผี อาทิ จินตวีร์ วิวัธน์ ประพันธ์นวนิยายเรื่อง อมฤตาลัย / ใต้เงาปิรามิด

แก้วเก้า ประพันธ์เรื่อง "นางทิพย์" และมีภาคต่อคือเรื่อง "มนตรา" ที่พูดถึงเรื่องของความรักต่างภพภูมิระหว่างมนุษย์กับเทพธิดา นอกจากนี้ยังมีเรื่อง "แต่ปางก่อน" เรื่องการกลับชาติมาเกิด "เงาพราย"

ทมยันตี ก็เคยเขียนนวนิยายแนวนี้ อาทิ ฌาณ และ จิต แล้วใช้อีกนามปากกาว่า ลักษณาวดีเขียนเรื่อง "บาดาล" จุลลดา ภักดีภูมินทร์ เขียนเรื่อง "บ่วง" กิ่งฉัตร เขียนเรื่อง "เพรงเงา"

ความคิดความเชื่อดังกล่าวข้างต้น ได้ผสมผสานกันอยู่ในชีวิตของชาวไทยอย่างมิอาจแยกขาดจากกันได้และกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย สอดแทรกอยู่ในพิธีกรรมและประเพณี การจัดงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานบุญ งานศพ งานแต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ ฯลฯ

ข้อมูลอ้างอิงเพิ่มเติม

เยี่ยน จื่อ. 晏梓 ความคิดความเชื่อเชิงปรัชญาของชาวไทยจากวรรณคดีเรื่อง "ลิลิตพระลอ".วิทยานิพนธ์ สาขาภาษาและวรรณคดีไทย ภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง

ภาพประกอบจาก www.painaidii.com และplovey.weloveshopping.com

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040