การเพาะพันธุ์
การสืบพันธุ์ของหมีแพนด้าในต่างประเทศต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญจีน
ความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างจีนกับต่างประเทศ ที่สำคัญที่สุดก็คือการเพาะพันธุ์หมีแพนด้า ซึ่งเทคโนโลยีของจีนอยู่ระดับชั้นนำของโลก
หมีแพนด้าตัวเมียปีหนึ่งมีช่วงตกไข่เพียงครั้งเดียว และสั้นมากเพียง 2 วัน พลาดไปแล้วก็ต้องรออีกหนึ่งปี ก่อนเข้าสู่ช่วงตกไข่ของหมีแพนด้า สวนสัตว์ต่างประเทศมักจะเชิญผู้เชี่ยวชาญจีนไปช่วย
เมื่อปี 2005 หมีแพนด้าเหม่ยเซียงและเทียนเทียนในสวนสัตว์วอชิงตันออกลูกตัวหนึ่งชื่อไท่ซาน แต่หลังจากนั้นหลายปีก็ไม่มีลูกเพิ่มอีก ปีนี้ทางสวนสัตว์จึงเชิญผู้เชี่ยวชาญจากจีนไปช่วย จนได้ลูกหมีแพนด้าตัวที่ชื่อเป่าเปา
หมีแพนด้าคู่ที่ไปอยู่ออสเตรเลียเมื่อปี 2009 จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีลูก ปีนี้ทางสวนสัตว์ส่งคนมาศึกษาในจีนและเข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศเกี่ยวกับหมีแพนด้าซึ่งจัดขึ้นที่เมืองเฉิงตูด้วย
ส่วนเทคโนโลยีที่ทันสมัยของต่างประเทศก็มีส่วนช่วยต่อการอนุรักษ์หมีแพนด้าด้วย เช่น สร้อย GPS คล้องคอหมีแพนด้าที่ถูกปล่อยไปในป่าล้วนนำเข้าจากต่างประเทศ
ความร่วมมือระหว่างจีนกับต่างประเทศ ทำให้สองฝ่ายสามารถศึกษาเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตทั้งจีนและต่างประเทศ
คิดบัญชี
หมีแพนด้าช่วยเพิ่มรายได้ให้กับสวนสัตว์
ค่าใช้จ่ายสำหรับการเลี้ยงหมีแพนด้าตัวหนึ่งถือว่าไม่น้อยทีเดียว ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ของสวนสัตว์ Edinburgh อังกฤษคำนวณให้ฟังว่า ก่อนอื่น ทางสวนสัตว์ได้ใช้งบประมาณ 250,000 ปอนด์(ราว 400,000 ดอลลาร์สหรัฐ) ตกแต่งหอหมีแพนด้า รวมทั้งห้องนอน ห้องครัว คลินิกและสนามด้วย นอกจากนี้ จ่ายเงิน 1 ล้านดอลลาร์เข้ากองทุนอนุรักษ์หมีแพนด้าของจีน ส่วนค่าใช้จ่ายของการปลูกและนำเข้าไม้ไผ่ปีหนึ่งคิดเป็น 70,000 ปอนด์(ราว 110,000 ดอลลาร์สหรัฐ) เนื่องจากไม้ไผ่ 85% ซื้อจากบริษัทเยอรมัน ซึ่งมีสวนไผ่อยู่ในประเทศเนเธอแลนด์ ทุกๆ 2 อาทิตย์จะขนส่งไม้ไผ่จากเนเธอแลนด์มาเก็บในโกดังที่มีอุณหภูมิและความชื้นเหมาะกับการรักษาความสดของไม้ไผ่ และไม้ไผ่อีก 15% ปลูกในสวนไผ่ของสวนสัตว์ Edinburgh ซึ่งปลูกโดยวิธีธรรมชาติ ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง เฉพาะเรื่องไม้ไผ่แต่ละปีต้องใช้จ่ายเงิน 70,000 ปอนด์ นอกจากนี้ ทางสวนสัตว์ยังต้องซื้อประกันให้หมีแพนด้าตัวละ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ด้วย ซึ่งคิดรวมแล้วไม่น้อยที่เดียว
แต่หมีแพนด้าก็ได้สร้างรายได้ให้กับสวนสัตว์มากพอสมควร เนื่องจากมีผู้ชมมากเกินไป จึงต้องนัดเวลาล่งหน้า บัตรเข้าชมใบละ 16 ปอนด์(ราว 25 ดอลลาร์สหรัฐ)และยังมีของที่ระลึกต่างๆ เช่น ตุ๊กตาหมีแพนด้า เสื้อยืด ผ้าเช็ดหน้า ปากกา แม่เหล็กติดตู้เย็น หน้ากาก เป็นต้น โดยเฉพาะตุ๊กตาขายดีที่สุด อาทิตย์หนึ่งขายได้ 5,000 ตัว
สื่อมวลชนอังกฤษรายงานว่า ตั้งแต่หมีแพนด้าคู่หนึ่งย้ายไปอยู่ในสวนสัตว์ Edinburgh เมื่อปลายเดือนธันวาคมปี 2011 เป็นต้นมา จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 51% รายได้ของสวนสัตว์เพิ่มจาก 5 ล้านปอนด์(ราว 7.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)เป็น 15 ล้านปอนด์(ราว 23.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ก่อนหน้านี้สมาคมสวนสัตว์ในพระราชูปถัมภ์สก็อตแลนด์ ซึ่งเป็นเจ้าของสวนสัตว์ Edinburgh มีบัญชีขาดดุลถึง 1.2 ล้านปอนด์ จนต้องกู้เงินจากธนาคาร แต่ปี 2013 มีบัญชีเ้กินดุลถึง 2.4 ล้านปอนด์
ประวัติการส่งหมีแพนด้าไปอยู่ต่างประเทศ
ค.ศ.685 ราชวงศ์ถังมอบหมีแพนด้าให้แก่ต่างประเทศ
ค.ศ.1936-1945 รัฐบาลก๊กมิ่นตั๋งมอบหมีแพนด้าให้แก่ประเทศตะวันตก 14 ตัว
ทศวรรษ 1950 จีนเคยมอบหมีแพนด้าให้แก่เกาหลีเหนือ
ทศวรรษ 1970 หมีแพนด้าได้รับความนิยมจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก จีนมอบให้แก่สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฝรั่งเศสและประเทศอื่นๆ
ทศวรรษ 1980 จำนวนหมีแพนด้าในจีนลดลงอย่างรวดเร็ว จีนหยุดมอบให้กับต่างประเทศ
ค.ศ.1984 เทศบาลนครลอสแอนเจลิสเช่าหมีแพนด้าจากจีนไปตระเวนจัดการแสดงในสหรัฐฯ
ตั้งแต่ปี 1992 เป็นต้นมา จีนหยุดอนุมัติให้ต่างประเทศเช่าหมีแพนด้าไปจัดแสดง เปลี่ยนเป็นรูปแบบร่วมกันวิจัยระยะยาว
หมีแพนด้าในต่างประเทศ
แคนาดา 2 ตัว
สหรัฐอเมริกา 15 ตัว
ฝรั่งเศส 2 ตัว
อังกฤษ 2 ตัว
สเปน 3 ตัว
ออสเตรีย 3 ตัว
ไทย 2 ตัว
ญี่ปุ่น 8 ตัว
สิงคโปร์ 2 ตัว
ออสเตรเลีย 2 ตัว
เบลเยียมกับมาเลเซียได้เซ็นสัญญาร่วมกันวิจัยกับจีนแล้ว แต่ยังไม่ได้ส่งหมีแพนด้าไป